สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การคุมกำเนิดในระยะที่ให้นมแม่แก่ลูก

จะสังเกตเห็นว่าประจำเดือนของคุณแม่จะไม่มาตามปกติในระหว่างที่ให้นมแม่แก่ลูก เพราะจะมีการหลั่งโปรแลกตินเมื่อลูกดูดนมแม่อยู่ และฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้มีการหลั่งโปรเจสเตอโรน ทำให้ไม่มีการตกของไข่ในมดลูก จึงทำให้ไม่มีประจำเดือน คุณแม่จะกลับมามีประจำเดือนเหมือนเดิมก็ต่อเมื่อลูกเลิกกินนมแม่แล้ว จึงทำให้เริ่มมีไข่ตกอีก

การคุมกำเนิดตามธรรมชาติก็คือ การให้ลูกดูดนมแม่ แต่ต้องมีการดูดกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นจึงจะยับยั้งการตกไข่ได้ เพราะลูกอาจไม่ได้ดูดนมแม่อย่างสม่ำเสมอ หรือจากความเหนื่อยล้าทำให้มีการรบกวนการหลั่งน้ำนม ซึ่งอาจทำให้มีการตกไข่ได้แม้จะไม่มีประจำเดือน วิธีนี้จึงไม่ใช่วิธีการที่จะวางใจได้อย่างเต็มที่

นักวิจัยเรื่องนมแม่ ชื่อ ดร. ไนล์ นิวตัน(Dr. Niles Newton) ได้กล่าวไว้ว่า การให้ลูกดูดนมแม่อย่างไม่มีข้อจำกัด คือหัวใจสำคัญในการยับยั้งประจำเดือน กล่าวคือ
-ตลอดวันและคืนที่ทารกได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ และในเดือนแรกได้ดูดนมแม่บ่อยๆ อย่างน้อย 12 ครั้งต่อวัน

-อย่างน้อยทารกควรได้ดูดนมแม่วันละ 6-8 มื้อ รวมเป็นเวลา 80 นาทีต่อวัน โดยไม่มีการกำหนดเวลาตามนาฬิกา

-ในช่วงเวลา 21 นาฬิกา ถึง 6 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ทารกต้องได้ดูดนมแม่อย่างน้อย 1 มื้อ

จะเป็นการยับยั้งประจำเดือนของแม่ได้นานถึง 18 เดือน หากให้ลูกดูดนมแม่โดยไม่มีข้อจำกัดดังกล่าวนี้ เนื่องจากโปรแลกตินจะหลั่งเมื่อทารกดูดนมแม่ทุกมื้อ แต่จะทำให้ประจำเดือนมาเร็วขึ้นได้ถ้าบกพร่องในข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว อย่างเช่น ให้ลูกดูดนมตามตารางเวลา หรือจำกัดเวลาที่ลูกดูดนม

ปริมาณน้ำนมของแม่ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดแม้ประจำเดือนจะเริ่มมา การให้นมแม่กับลูกสามารถทำได้ต่อไปได้นานเท่าที่ต้องการ

ในช่วงนี้ ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย หากยังไม่ต้องการตั้งครรภ์ เนื่องจากการที่ลูกดูดนมแม่ไม่สามารถที่จะคุมกำเนิดได้ 100%

อาจทำให้น้ำนมแม่ลดลงได้ถ้ากินยาเม็ดคุมกำเนิด เพราะในยานี้มีเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน เอสโตรเจนเป็นตัวที่ทำให้น้ำนมลดน้อยลง แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อทารกมากมาย คุณแม่ไม่ควรกินยาเม็ดคุมกำเนิดหากยังไม่อยากให้น้ำนมลดปริมาณลง ควรหาวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย หรือใช้ไดอะแฟรมร่วมกับเจลลี่ฆ่าเชื้ออสุจิ

การตั้งครรภ์ในระหว่างที่ยังให้นมแม่แก่ลูก
น้ำนมของแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ควรให้ลูกกินนมแม่ต่อไปหรือไม่ ถ้าคุณแม่เกิดตั้งครรภ์ขึ้นอีกในระหว่างที่ให้นมแม่แก่ลูก

น้ำนมแม่จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสัปดาห์แรกๆ ของการตั้งครรภ์ แต่ต่อมาการผลิตน้ำนมอาจจะถูกยับยั้งได้เมื่อรกมีการพัฒนาขึ้น และผลิตเอสโตรเจนออกมาในปริมาณมาก หัวนมอาจจะเจ็บและเป็นแผล ในน้ำนมแม่จะมีปริมาณน้ำตาลลดลง และมีโซเดียมเพิ่มมากขึ้น น้ำนมแม่จะมีรสชาติเหมือนในระยะหย่านม

ขณะที่ลูกกินนมแม่อยู่และมีการตั้งครรภ์ขึ้น การจะให้ลูกกินนมแม่ต่อไปนานเท่าใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับอายุของลูก ทารกอาจจะค่อยๆ หย่านมไปเองเมื่ออายุมากกว่า 6 เดือน และได้รับสารอาหารจากแหล่งอื่นมากเพียงพอแล้ว จากการตั้งครรภ์เต้านมก็เริ่มผลิตน้ำนมได้น้อยลงไปด้วย

การศึกษาในอินเดียของโกโลแพน(Golopan) และบีลีวาดี(Belevady) พบว่า หญิงชนบทจะให้ลูกกินนมแม่จนคลอดลูกคนใหม่ เมื่อครรภ์แก่ไม่ว่าลูกจะดูดนมหรือไม่ก็ตาม ปริมาณของน้ำนมก็จะลดลงอย่างมาก แต่น้ำนมนั้นก็ยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญของลูกได้ เพราะมีไขมันและวิตามินอยู่มาก ส่วนใหญ่ลูกจะได้รับอาหารจากแหล่งอื่นด้วยและโตเกิน 1 ปีแล้ว ถ้าลูกเพิ่งมีอายุได้ 2-3 เดือนแล้วตั้งครรภ์ขึ้นใหม่ อาจทำให้ทารกเติบโตช้าได้ ถ้าให้นมแม่เพียงอย่างเดียว ควรให้นมผสมเสริมไปด้วย เพราะน้ำนมจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านปริมาณและส่วนประกอบในน้ำนม

จะมีผลต่อสุขภาพของแม่ หากมีการให้นมแม่ในระหว่างที่ตั้งครรภ์หลัง 5 เดือนไปแล้ว สุขภาพแม่จะทรุดโทรมหากได้รับอาหารไม่เพียงพอ เพราะการให้นมแม่ก็ต้องใช้พลังงานจากแม่อย่างมาก ในขณะที่ทารกในครรภ์ที่กำลังเจริญเติบโตก็ต้องการสารอาหารและพลังงานจากแม่ด้วยเช่นกัน อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ด้วย

คุณแม่ควรจะหย่านมทันทีหากมีประวัติแท้งและทราบว่าตั้งครรภ์ครั้งใหม่ขึ้นอีก เพราะหญิงตั้งครรภ์บางรายถ้าได้รับการกระตุ้นบริเวณหัวนมจะทำให้มดลูกเกิดการหดตัวและทำให้คลอดก่อนกำหนดได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า