สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กระดูกซี่โครงหัก(Rib fracture)

มักเกิดจากแรงกระแทกด้วยการถูกตี ถูกเตะ หกล้ม กระแทกถูกพื้นหรือมุมโต๊ะ หรือถูกรถชน เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้มักเกิดที่บริเวณซี่โครงโดยตรง ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรงและค่อยๆ หายไปเอง ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงมักพบได้เป็นส่วนน้อย

อาการ
ขณะก้มงอ บิดตัวหรือหายใจแรงๆ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดขึ้น และจะรู้สึกเจ็บเมื่อใช้นิ้วกดถูกเบาๆ

ถ้ากระดูกหักรุนแรง ทิ่มแทงถูกเนื้อปอด อาจทำให้เกิดภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือปอดทะลุ หรือมีเลือดออกในโพรงเยื่อหุ้มปอด จนผู้ป่วยมีอาการหอบ ตัวเขียว ไอออกเป็นฟองเลือดสดๆ หรือช็อก หน้าอกเคาะโปร่ง หรือเคาะทึบ

ถ้ามีบาดแผลที่ผิวหนัง ทะลุถึงในปอด จะมีลมจากภายนอกผ่านบาดแผลเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มปอด ทำให้เกิดภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอดได้เช่นกัน

ถ้ากระดูกซี่โครงหักหลายแห่ง อาจทำให้เกิดภาวะอกรวน(flail chest) ผู้ป่วยมักมีอาการหอบ ตัวเขียว ช็อก และหายใจผิดปกติ คือ เวลาหายใจเข้าหน้าอกส่วนนั้นจะยุบลง และเวลาหายใจออกจะโป่งขึ้น ซึ่งจะตรงกันข้ามกับหน้าอกที่ปกติ ภาวะนี้มักเกิดในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

การรักษา
1. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากพบว่ามีอาการหอบ ตัวเขียว ช็อก หรือสงสัยมีลมหรือเลือดอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือสงสัยมีภาวะอกรวน หรือให้ใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซหนาๆ ปิดอุดรูรั่วถ้ามีแผลที่ผิวหนังทะลุถึงปอด หรือใช้ใช้มือกดบริเวณนั้นไว้หรือให้ผู้ป่วยนอนตะแคงให้ส่วนนั้นนับบนหมอน หรือใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าเช็ดตัวพับหลายทบวางบนส่วนนั้นแล้วใช้ผ้าพันไว้ไม่ให้หน้าอบยุบพองอีกถ้าผู้ป่วยมีภาวะอกรวน

2. ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ หรือเป็นกระดูกซี่โครงหักแบบธรรมดา แค่รู้สึกเจ็บปวดขณะเคลื่อนไหวหรือหายใจแรงๆ ควรให้ผู้ป่วยนอนพักและเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ไม่ควรหายใจเข้าออกแรงๆ และให้ยาแก้ปวด อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งอาจกินเวลานาน 1-2 สัปดาห์ และอาจกินเวลาเป็นเดือนๆ กว่าอาการปวดจะหายขาด โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าพันหรือเข้าเฝือกรอบหน้าอก แต่ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ถ้าภายใน 1-2 สัปดาห์อาการปวดยังไม่ทุเลาลง หรือมีอาการหายใจหอบ ไอเป็นเลือดสดๆ ซีด หรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า