สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กระจกตาอักเสบ(Keratitis)

กระจกตาอักเสบ(Keratitis)
แผลกระจกตา(Corneal ulcer)
การอักเสบและเป็นแผลในกระจกตา เป็นภาวะที่พบได้เป็นครั้งคราวในคนทั่วไป หากเป็นรุนแรงอาจทำให้สายตาพิการหรือตาบอดได้กระจกตาอักเสบ

สาเหตุ
กระจกตาอักเสบ มักเกิดจากากรติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อโปรโตซัว หรืออาจเกิดจากภาวะตาแห้ง การถูกแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลต การระคายเคืองจากการใช้เลนส์สัมผัสหรือยาหยอดตา การแพ้ยากลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน ภาวะขนตาเก ผิวกระจกตาแห้งเนื่องจากปิดหนังตาไม่มิด

แผลกระจกตา มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือโปรโตซัว ภายหลังได้รับบาดเจ็บที่กระจกตา หรือจากการใช้เลนส์สัมผัสที่ไม่ถูกวิธี หรือการติดเชื้อไวรัส

หรืออาจเกิดจากกระจกตามีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคขาดวิตามินเอ ภาวะแทรกซ้อนของโรคริดสีดวงตา เยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ตาอักเสบจากเชื้อหนองใน หรือจากสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้กระจกตาอักเสบ

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา เคืองตา หรือรู้สึกคล้ายผงเข้าตา กลัวแสง น้ำตาไหล ตาแดง ตาพร่ามัว อาจมีขี้ตาสีเหลืองหรือเขียวในระยะที่กระจกตามีการอักเสบหรือเป็นแผลใหม่ๆ

สิ่งตรวจพบ
บริเวณรอบๆ ตาดำมักตรวจพบอาการตาแดง มีขี้ตาสีเหลืองหรือสีเขียว
มักพบกระจกตาขุ่นหรือเป็นแผลในรายที่มีแผลกระจกตา หรืออาจพบภาวะมีหนองขังอยู่ในช่องลูกตาหน้า หนังตาบนบวม รูม่านตาหดเล็ก

ภาวะแทรกซ้อน
อาจกลายเป็นแผลกระจกตาถ้ากระจกตามีอาการอักเสบรุนแรง ซึ่งถือเป็นภาวะร้ายแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ เช่น

ในระยะที่มีการติดเชื้ออักเสบ อาจทำให้เกิดการอักเสบภายในลูกตาอาจกลายเป็นม่านตาอักเสบ มีหนองขังอยู่ในช่องลูกตาหน้า ลูกตาอักเสบทั่วไปจนตาเสียได้ ถ้าเชื้อลุกลามเข้าไปในชั้นของกระจกตา และมักจะมีความรุนแรงมากถ้าเกิดจากเชื้อรา

แผลกระจกตาอาจกลายเป็นแผลลักษณะขุ่นขาว เรียกว่า ต้อลำไย ทำให้มองเห็นไม่ถนัด มักเกิดในระยะที่การอักเสบทุเลาลงแล้ว หรืออาจทำให้มองไม่เห็นหรือสายตาพิการได้ถ้าแผลเป็นมีขนาดใหญ่และอยู่ตรงกลางตาดำจนบดบังสายตา หรืออาจกลายเป็นสายตาเอียงได้ในบางราย

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วน เช่น มีอาการตาแดง มีขี้ตา ร่วมกับอาการปวดตา เคืองตารุนแรง หรือตาพร่ามัว หรือพบร่วมกับโรคเริมหรืองูสวัดที่บริเวณรอบตา หรือมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ตา ใช้ยาหยอดตาสตีรอยด์เป็นประจำ หรือใช้เลนส์สัมผัส และควรใช้ยาป้ายตาปฏิชีวนะ เช่น โทบราไมซิน แล้วปิดตาด้วยผ้าก๊อซก่อนนำส่งโรงพยาบาล

แพทย์จะใช้เครื่องมือส่องตรวจตา ทำการย้อมสีด้วยวิธี fluorescein staining และทำการตรวจหาเชื้อด้วยการย้อมเชื้อหรือเพาะเชื้อ เพื่อตรวจหาสาเหตุของโรค และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ในรายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียก็ให้ยาปฏิชีวนะ ในรายที่เกิดจากเชื้อไวรัสก็ให้ยาต้านไวรัส หรือในรายที่เกิดจากเชื้อราก็ให้ยาฆ่าเชื้อรา เป็นต้น และอาจให้ยาหยอดตาอะโทรพีน ชนิด 1%เช่นเดียวกับการรักษาโรคม่านตาอักเสบ และให้การแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

อาจต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาในรายที่การอักเสบทุเลาลงแล้วแต่กลายเป็นแผลเป็นจนทำให้สายตาพิการ แต่ประสาทตายังเป็นปกติดีอยู่ โดยตัดส่วนที่เป็นแผลเป็นออกไปแล้วเอากระจกตาปกติของผู้บริจาคมาใส่แทน จะทำให้ผู้ป่วยมองเห็นเป็นปกติได้

ข้อแนะนำ
ควรซักถามอาการให้ละเอียดและตรวจดูกระจกตาว่ามีลักษณะขุ่นมัวหรือเป็นแผลหรือไม่ เพราะกระจกตาอักเสบหรือเป็นแผลมักจะมีอาการตาแดง หรือมีขี้ตาคล้ายเยื่อตาขาวอักเสบจากแบคทีเรียหรือไวรัส แต่จะมีอาการปวดตา เคืองตารุนแรงกว่า และมีอาการตาพร่ามัวร่วมด้วย ดังนั้นจึงควรส่งผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด่วนหากมีประวัติและอาการชวนสงสัยว่าเป็นแผลกระจกตา

การป้องกัน
-ให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาด้วยยาต้านไวรัสโดยเร็วถ้าพบว่าเป็นโรคเริมหรืองูสวัดที่บริเวณตา
-ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อการโดนใบหญ้าหรือพืชผักบาดตา หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ควรป้องกันด้วยการสวมหน้ากากหรือแว่นตา
-ไม่ควรใช้ยาหยอดตาสตีรอยด์โดยไม่จำเป็น
-ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในผู้ที่ใช้เลนส์สัมผัส และขณะนอนหลับไม่ควรใส่เลนส์ชนิดนี้ด้วย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า