สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคลีเจียนแนร์

ที่มา:ไพรัช  ศรีไสว, สมชัย บวรกิตติ

โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaire’s disease) หรือ โรคลีจิโอเนลลา (legionellosis) เป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียทรงแท่งแกรมลบในจีนัส ลีจิโอเนลลา ซึ่งขณะนี้พบเชื้อมากกว่า ๓๐ สปีศีส์ จากจำนวน ๓๓ สปีศีส์ มี ๑๖ สปีศีส์ที่ก่อโรคในคนได้ ตัวที่พบเป็นสาเหตุบ่อยที่สุดได้แก่ ลีจิโอเนลลา ป์นิวโมฟิลา (Legionella pneumophila )

เชื้อก่อโรค

ลีจิโอเนลลา เป็นแบคทีเรียชนิดงอกเจริญได้ในธรรมชาติ (saprophyte) พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในน้ำในดิน เชื้อเพาะเลี้ยงขึ้นในอาหารที่มีศิย์สเทอีน หรือ charcoal-yeast extract (CYE) รังเชื้อที่สำคัญมีหลายแห่ง เนื่องจากชอบงอกเจริญในนํ้าอุ่น น้ำร้อน (๒๐-๔๕ องศาเศลเสียส) จึงมักพบอาศัยอยู่ในหอลดอุณหภูมิ (cooling tower) (รูปที่ ๑) ซึ่งทำหน้าที่ระบายความร้อนให้แก่น้ำที่ใช้ในระบบทำความ

ตารางที่ ๑. โรคลีเจียนแนร์ ที่เคยรายงานในประเทศไทย

พ.ศ. ๒๕๒๗ ไพรัช ศรีไสว และคณะ รายงานผู้ป่วย ๑ ราย (อาชีพนักศึกษา)

หญิงไทยอายุ ๑๙ ปี เป็นโรคปอดอักเสบร่วมกับวัณโรคปอด และพุลโมนารีย์โนคาร์ดิโอสิส

MAT 1: 10-1:160 L. pneumophila serogr. 3

IHA 1:10-1:40    L. pneumophila serogr. 3

IFAT 1:16-1:64    L. pneumophila serogr. 3

พ.ศ. ๒๔๒๗ เดชา ตันไพจิตร และคณะ รายงานผู้ป่วย ๓ ราย (ไม่แจ้งอาชีพและสัญชาติ)

หญิงอายุ ๒๔ ปี เป็นโรคปอดบวม IFAT 1:64-1:512      L. pneumophila

ชายอายุ ๖๔ ปี       เป็นโรคปอดบวมร่วมกับมะเร็งปอด IFAT 1:128-1:1,204 L. pneumophila

ชายอายุ ๘๓ ปี      เป็นโรคปอดบวมร่วมกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและวัณโรคปอด

IFAT 1:1,204-1:64 L.pneumophila

พ.ศ. ๒๕๒๙ บัณฑิต ชุณหสวัสดิกุล และคณะ รายงานผู้ป่วย ๑ ราย (ไม่แจ้งอาชีพ)

ชายจีนอายุ ๗๘ ปี เป็นโรคปอดอักเสบร่วมกับมะเร็งปอดIFAT 1:256-1:128 L. jordanis

พ.ศ. ๒๕๓๐ ไพรัช ศรีไสว และคณะ รายงานผู้ป่วย ๓ ราย (ไม่แจ้งอาชีพ)

หญิงไทยอายุ ๑๖ ปี เป็นโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน IFAT < 1:8 – 1:128

L. pneumophila serogr. 3

หญิงไทยอายุ ๕๖ ปี เป็นโรคปอดอักเสบร่วมกับวัณโรคปอดและเบาหวาน

IFAT 1:8 – 1:128 L. pneumophila serogr. 3

ชายไทยอายุ ๒๗ ปี เป็นโรคปอดอักเสบร่วมกับวัณโรคเยื่อหุ้มปอด

IFAT 1:8 – 1:128 L. pneumophila serogr. 3

พ.ศ. ๒๕๓๒ เจริญ ชูโชติถาวร และคณะ รายงานผู้ป่วย ๑ ราย (ไม่แจ้งอาชีพ)

หญิงจีน อายุ ๓๙ ปี เป็นโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน

MAT 1:20-1:320 L. pneumophila serogr. 2

MAT 1:40-1:320 L. pneumophila serogr. 3

MAT 1:40-1:640 L. pneumophila serogr. 6

MAT = microagglutination test; IHA = indirect hemagglutination test; IFAT = indirect fluorescent antibody test

เย็นของเครื่องปรับอากาศชนิดหน่วยกลาง (central air-conditioning), ในระบบน้ำอุ่นที่ใช้ในอาคารบ้านเรือน (หัวฝักบัว, อ่างน้ำวน ฯลฯ) ในธรรมชาติ พบเชื้อนี้ได้จากนํ้าในทะเลสาบ, คู (ร้อยละ ๒๐.๖), คลอง (ร้อยละ ๒๗.๙), หนอง บึง (ร้อยละ ๒๖.๙) และน้ำพุร้อน (ร้อยละ ๓๘.๗), พบได้ทุกฤดูกาล และในทุกภูมิภาคของโลก ในประเทศไทย ประภาวดี ติษยาธิคม และคณะ ได้ทำการตรวจหาเชื้อ ลีจิโอเนลลา ใน ๗ จังหวัด แยกได้เชื้อจากนํ้าในหอลดอุณหภูมิถึงร้อยละ ๕๗ และจากหนองบึง คลอง แม่น้ำ ทะเลสาบ และน้ำที่กลั่นตัวในเครื่องปรับอากาศได้ร้อยละ ๒๑.๘; เชื้อที่พบในหอลดอุณหภูมิเป็นเชื้อ serogroup ๑ ร้อยละ ๕๐ และร้อยละ ๑๐ ในแหล่งน้ำอื่น

วิทยาการระบาด

การระบาดของโรคลีเจียนแนร์ที่จุดชะนวน ความสนใจแก่วงการแพทย์คืออุบัติการโรคเมื่อปี ๒๕๑๙ เมื่อกลุ่มทหารผ่านศึกและครอบครัวไปร่วม ประชุมสังสรรค์กันที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการศึกษาย้อนหลังพบว่าเชื้อนี้เคยเป็นสาเหตุของโรคในมนุษย์ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแล้วว่าโรคนี้เกิดขึ้นประปราย และระบาดเป็นช่วงๆ ตลอดปี โดยส่วนใหญ่เกิดในต้นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน กลุ่มคนที่ติดโรคง่ายได้แก่ ผู้สูงอายุเพศชาย, คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง, ไตล้มเหลว, เบาหวาน, โรคเอ็ชไอวี, วัณโรคปอด, โรคปอดเรื้อรัง, และคนที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราจัด

สำหรับประเทศไทย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านไป โรคลีเจียนแนร์ ได้เป็นที่รู้จักของแพทย์ไทยบ้างแล้ว โดยมีรายงานรายแรกในปี ๒๕๒๖ และมีรายงาน ประปรายในช่วงปี ๒๕๒๖-๒๕๓๒ (ตารางที่ ๑). ไพโรจน์ อุ่นสมบัติ อ้างในตำราโรคติดเชื้อระบบการหายใจ (สมชัย บวรกิตติ และคณะบรรณาธิการ, ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๑) ว่าเคยมีผู้ป่วยเด็ก อายุ ๕ ปี เป็นโรคลีเจียนแนร์ แต่ไม่ได้อ้างเอกสารไว้

นอกจากนั้นยังเคยมีการศึกษาตรวจสอบสีรัมของผู้ที่บริจาคเลือด ๒๙๘ ราย และผู้ป่วยโรคปอดอักเสบหาสาเหตุไม่ได้ ๙๐ ราย ของโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยวิธีไมโครแอกกลูติเนชั่น และอินไดเร็คต์ ฮีแมกกลูติเนชั่นต่อเชื้อลีจิโอเนลลา sero gr 1,2,3,5 และ 6 พบ ว่ามีไตเตอร์ sero gr 2,3 < ๑:๒๐

กลวิธานการเกิดโรค

การแพร่เชื้อเกิดทางอากาศหายใจ (airborne transmission) โดยเชื้อจะแขวนลอยอยู่ในฝอยละอองน้ำซึ่งปลิวล่องลอยอยู่ในอากาศ ที่พบบ่อยเป็นการแพร่กระจายเชื้อจากฝอยละอองน้ำของระบบน้ำอุ่นและของหอลดอุณหภูมิ ในช่วง ๒ ทศวรรษที่ผ่านไปได้เกิดการระบาดของโรคนี้ในหลายประเทศเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาและกลุ่มนักท่องเที่ยวที่พำนักอยู่ในโรงแรมรวมทั้งการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมทางสังคมขององค์กรต่างๆ (social organization) ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงแรมหรืออาคารซึ่งมีหอลดอุณหภูมิที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี

ลักษณะเวชกรรม

-ไข้สูง ๓๙-๔๐ องศาเศลเสียส

-ไอแห้ง มักไม่มีเสมหะ

-ปอดอักเสบ

การวินิจฉัยโรคอาศัยการตรวจสีรัมโดยวิธี I FAT ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระดับภูมิคุ้มกัน (ระดับแอนติบอดีย์ขึ้น ๔ เท่าและสูงตั้งแต่ ๑:๑๒๘ ขึ้นไป), และหรือเพาะแยกเชื้อได้จากเสมหะ

การรักษา

ยา อีรีย์โธรมัยศิน ฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างน้อยวันละ ๓-๔ กรัม ให้เป็นเวลา ๓ สัปดาห์ ยาอื่นอาทิ แอซิโธรมัยศิน ใช้ใด้ผลดีในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีการศึกษาในคน

ข้อสังเกต โรคนี้พบได้เป็นรายๆ ในประเทศไทย แต่ทว่าอาจมีโอกาสแพร่กระจายเป็นการระบาดได้ เพราะมีผู้ศึกษาพบเชื้อ Legionella pneumophila ในหอลดอุณหภูมิหลายแห่ง รวมทั้งในน้ำพุ คลอง และบึง ในแทบทุกภาคของประเทศ

หอลดอุณหภูมิ

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นจะอธิบายหลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กก่อน เครื่องปรับอากาศมีส่วนสำคัญ ๒ ส่วน ส่วนที่อยู่ภายในห้อง หรืออาคารเรียกว่าหน่วยปล่อยไอเย็น (evaporating unit) หรือคอยล์เย็น ส่วนที่อยู่ภายนอกเรียกว่า หน่วยคอนเดนซิ่งก์ (condensing unit) หรือคอยล์ร้อนซึ่งมีตัวถ่ายเทความร้อน เช่น ฟรีออนซึ่งสภาพเป็นของเหลวเมื่ออยู่ในคอยล์ร้อน แต่จะแปรสภาพเป็นก๊าซโดยลิ้นปรับความดันเมื่อถูกส่งเข้าสู่คอยล์เย็น ในการแปรสภาพนี้ก๊าซฟรีออนจะดึงความร้อนจากอากาศในห้องที่ถูกพัดลมดูดเข้ามา ทำให้อากาศที่พ่นกลับเข้าไปในห้องกลายเป็นอากาศเย็น ส่วนก๊าซฟรีออนจะถูกส่งไปอัดให้แปรสภาพเป็นของเหลว โดยคอมเพรสเซอร์ ซึ่งอยู่ในหน่วยคอนเดนซิ่งก์ ขั้นตอนนี้ก๊าซฟรีออนจะคายความร้อนออกไปสู่อากาศภายนอก โดยมีพัดลมช่วยดูดอากาศผ่านคอยล์ เครื่องปรับอากาศขนาดเล็กที่ใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป จะมีระบบการทำงานดังกล่าวนี้ (รูปที่ ๒)

สำหรับระบบปรับอากาศแบบหน่วยกลางที่ใช้ในตึก หรืออาคารขนาดใหญ่ เช่นโรงแรม หรือโรงพยาบาล อากาศเย็นที่พ่นเข้ามาในห้องจะมาจากหน่วยควบคุมความเย็น (air handling unit) ซึ่งมีท่อน้ำเย็นจัด (chilled water) อยู่ภายใน น้ำเย็นดังกล่าวได้มาจากการปั้มน้ำผ่านเข้าไปในเครื่องทำน้ำเย็น (chiller) ซึ่งเทียบได้กับหน่วยปล่อยไอเย็นของเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก น้ำเย็นเกิดขึ้นเพราะความร้อนถูกดึงออกไปเพื่อแปรสภาพฟรีออนเหลวให้เป็นก๊าซ สำหรับความร้อนที่เกิดขึ้นที่หน่วยคอนเดนซิ่งก์ จากการที่ฟรีออนถูกอัดจนแปรสภาพเป็นของเหลว ไม่ได้ถูกระบายออกสู่อากาศภายนอกโดยพัดลมเหมือนเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก แต่จะถูกระบายออกโดยน้ำจากหอลดอุณหภูมิ ดังนั้นระบบนี้จึงมีท่อน้ำเข้าและออกจากหน่วยคอนเดนซิ่งก์ ไปยังหอลดอุณหภูมิ

ในระบบปรับอากาศแบบหน่วยกลางหอลดอุณหภูมิเป็นตัวนำความร้อนจากอาคารที่ใช้ระบบปรับอากาศถ่ายเทไปสู่บรรยากาศภายนอก โดยมี หลักการทำงานดังนี้คือ น้ำซึ่งรับความร้อนมาจากหน่วยคอนเดนซิ่งก์ จะถูกปั๊มขึ้นไปยังส่วนบนของหอลดอุณหภูมิ จากนั้นจะถูกปล่อยลงมาปะทะกับสิ่งกีดขวาง (fill) ทำให้น้ำแตกกระจายเป็นฝอยละออง ในขณะเดียวกันความร้อนจากฝอยละอองน้ำส่วนหนึ่งจะระเหยออกไป อีกส่วนจะถ่ายเทออกไปกับอากาศซึ่งถูกดูดเข้ามาจากภายนอกโดยพัดลมดูดอากาศขนาดใหญ่ซึ่งติดตั้งอยู่ตอนบนสุดของหอลดอุณหภูมิ น้ำซึ่งตกลงมายังที่รับน้ำตอนล่างของหอ จึงเป็นน้ำเย็นซึ่งจะถูกส่งออกไปหล่อเลี้ยงหน่วยคอนเดนซิ่งก์ ของเครื่องทำน้ำเย็นต่อไป สำหรับรายละเอียดในการทำงานของระบบปรับอากาศแบบหน่วยกลางดูได้จากรูปที่ ๓

การแพร่เชื้อลีจิโอเนลลาจากหอลดอุณหภูมิ

เนื่องจากน้ำในหอลดอุณหภูมิ มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการเจริญแบ่งตัวของลีจิโอเนลลา และจากหลักฐานการระบาดของโรคลีเจียนแนร์ในต่าง ประเทศหลายครั้งที่ผ่านมา สาเหตุเกิดเพราะการแพร่กระจายของเชื้อนี้จากหอลดอุณหภูมิ สำหรับในประเทศไทย ประภาวดี ติษยาธิคมและคณะ ได้ทำการศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยนำน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติต่างๆ และน้ำจากหอลดอุณหภูมิ ที่ติดตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด มาทำการตรวจเพาะเชื้อลีจิโอเนลลา ผลปรากฏว่าน้ำ ในแหล่งธรรมชาติพบเชื้อนี้เพียงร้อยละ ๒๑.๘ ของตัวอย่างน้ำทั้งหมด แต่น้ำจากหอลดอุณหภูมิ พบถึง ร้อยละ ๕๗ ของหอที่ตรวจทั้งหมด ฉะนั้น น้ำในหอลดอุณหภูมิจึงน่าจะเป็นรังโรคหรือแหล่งที่จะแพร่กระจายเชื้อนี้ได้มากที่สุด

ในขณะที่หอลดอุณหภูมิทำงานจะมีฝอยละอองน้ำเกิดขึ้นจากการที่สายน้ำตกลงกระทบกับสิ่งกีดขวาง และมีกระแสลมถูกดูดผ่านละอองน้ำขึ้นไป ละอองน้ำขนาดเล็กจะถูกดูดขึ้นไปด้วยและถูกพัดพาออกไปสู่ภายนอกทางปล่องระบายลม หากน้ำในหอลดอุณหภูมิมีเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะลีจิโอเนลลา ป์นิวโมฟิลา ปนเปื้อนอยู่ด้วย โอกาสที่เชื้อจะติดไปกับละอองน้ำจึงเป็นไปได้สูง หากละอองน้ำมีขนาดเล็กเท่ากับหรือเล็กกว่า ๕ ไมโครเมตร กระจายออกไป คนที่สัมผัสและหายใจเข้าไป ละอองน้ำจะเข้าไปถึงถุงลมของปอดได้ การที่คนซึ่งได้รับเชื้อจะเกิดเป็นโรคหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งขึ้นกับจำนวนเชื้อในฝอยละอองน้ำที่หายใจเข้าไปว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด ถ้ามีมากโอกาสเกิดโรคก็จะมากด้วย อีกปัจจัยหนึ่งขึ้นกับผู้ที่ได้รับเชื้อว่าเป็นกลุ่มคนที่ติดเชื้อง่ายหรือไม่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

วิธีป้องกันการแพร่เชื้อลีจิโอเนลลาจากหอลดอุณหภูมิ

วิธีป้องกันการแพร่กระจายรวมทั้งการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อลีจิโอเนลลา

๑. สถานที่ติดตั้งหอลดอุณหภูมิ

ควรติดตั้งหอลดอุณหภูมิให้ห่างจากปากท่อรับอากาศดีของตัวอาคาร รวมทั้งของอาคารใกล้เคียง หรือห่างจากบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชน ถ้าเป็นไปได้ให้ติดตั้งอยู่บนส่วนที่เป็นหลังคาหรือส่วนที่สูงสุดของอาคาร ทิศทางลมให้นำมาพิจารณาด้วย โดยไม่ควรติดตั้งหอลดอุณหภูมิอยู่ในทิศทางที่ลมจะพัด ละอองน้ำไปยังอาคารใกล้เคียงได้ง่าย หากไม่สามารถ เลือกที่ติดตั้งที่เหมาะสมได้ ก็ควรย้ายปากท่อรับอากาศดีของอาคารนั้นๆ หรือแม้แต่อาคารใกล้เคียง เพื่อไม่ให้อยู่ในทิศทางลมจากหอลดอุณหภูมิจะพัดเข้ามา

๒. การติดตั้งแผงดักละอองน้ำ (drift eliminator)

เนื่องจากเชื้อลีจิโอเนลลา จะแพร่กระจายไปกับฝอยละอองน้ำจากปล่องระบายลมของหอลดอุณหภูมิ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ละอองน้ำออกไปจึงเป็น การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างดีที่สุด แผงดักละอองน้ำ (รูปที่ ๔) ได้ถูกออกแบบสร้างขึ้น และนำไปติดตั้งไว้บริเวณปากปล่องระบายลมใต้พัด ลมดูดอากาศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อลีจิโอเนลลา ยังสามารถลดมลภาวะในสภาพแวดล้อม เพราะฝอยละอองน้ำที่ปลิวออกมา อาจมีสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดน้ำ แร่ธาตุรวมทั้งสิ่งสกปรกปนเปื้อนอยู่ด้วย แผงดักละอองน้ำที่ดีต้องสามารถดักละอองน้ำไว้ได้เกือบทั้งหมด หรือ ปล่อยให้ผ่านออกไปให้น้อยที่สุด

๓.การบำรุงรักษาหอลดอุณหภูมิ

การบำรุงรักษาหอลดอุณหภูมิ หมายถึงการตรวจสอบส่วนประกอบต่างๆ การทำความสะอาด และการบำบัดน้ำเพื่อป้องกันเมือก ตะกรัน สนิม และควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อโรค แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อให้การถ่ายเทความร้อนมีสมรรถภาพสูงสุด แผนการบำรุงรักษาที่สำคัญมีดังนี้

๓.๑ การตรวจสอบ

หอลดอุณหภูมิควรได้รับการตรวจสอบทุกเดือน ทั้งการตรวจภายนอกและตรวจภายในรวมทั้งทำความสะอาดชิ้นส่วนต่างๆ หากจำเป็น ถ้าทำการตรวจสอบขณะที่ระบบกำลังทำงาน พนักงานจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันโดยเฉพาะควรสวมหน้ากาก ป้องกันฝอยละอองน้ำ เพื่อไม่ให้หายใจเข้าไปใน ทางเดินอากาศหายใจ สิ่งที่จำเป็นจะต้องตรวจสอบคือ ความสะอาดของน้ำในอ่างรองรับน้ำซึ่งอยู่ในส่วนล่างของหอลดอุณหภูมิ ให้สังเกตสีและกลิ่นของน้ำ ว่าสกปรก หรือมีลักษณะที่สงสัยว่าจะมีการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย มีการรั่วซึมของน้ำ และท่อน้ำอุดตันหรือไม่ หากมีอุปกรณ์เติมน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือสารกันสนิมชนิดอัตโนมัติ ต้องดูว่ายังทำงานได้ดีหรือไม่ ตรวจสอบแผงดักละอองน้ำว่ายังอยู่ในสภาพดีและไม่สกปรก

สำหรับการตรวจสอบอย่างละเอียด ควรทำเมื่อระบบหยุดทำงาน เช่นช่วงหยุดประจำปี หรือต้นฤดูร้อน ซึ่งนอกจากจะตรวจสอบตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังต้องตรวจสภาพหม้อนํ้า ปั๊มนํ้า แผงสิ่งกีดขวาง และอื่นๆ หากชำรุดต้องทำการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มใช้งาน

๓.๒ การบำบัดน้ำ (water treatment)

ตั้งแต่มีรายงานการพบเชื้อลีจิโอเนลลา ในหอลดอุณหภูมิ การบำบัดน้ำโดยตัวฆ่าเชื้อ (biocide = a chemical or physical agent that is capable of killing microorganisms) ถือว่ามีความสำคัญเท่าเทียมกับการใช้สารเคมีบำบัดเมือก, ตะกรัน, สนิมและอื่นๆ น้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในปัจจุบันจะเป็นชนิดที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อทั้งหมด (broad spec­trum) ซึ่งสามารถฆ่าหรือลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียได้ทุกชนิด รวมทั้งลีจิโอเนลลาด้วย

สารเคมีฆ่าเชื้อที่ใช้ได้แก่ก๊าซฆลอรีน,โสเดียม ฮัยโปฆลอไรท์, ฆลอรีนไดออกไซด์, กรดฮัยโปโบรมัส, โอโซน, และสารประกอบ stannous quaternary ammonium

การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อจะได้ผลดีต่อเมื่อน้ำยาได้มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง แต่ในหอลดอุณหภูมิมักจะมีสิ่งปนเปื้อนหลายชนิด เช่น เมือก ตะกรัน สนิม รวมทั้งสิ่งสกปรกอื่นๆ และเชื้อบางชนิด เช่นโปรโตซัว (protozoa) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันลีจิโอเนลลา จากน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำให้ไม่สามารถ ออกฤทธิ์ฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้เท่าที่ควร นอกจากนั้นโปรโตซัวยังเป็นที่ซึ่ง ลีจิโอเนลลาสามารถเจริญแบ่งตัวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย น้ำยาฆ่าเชื้อที่ดีจึงควรฆ่าเชื้อโปรโตซัวได้ด้วย สำหรับสารเคมีป้องกันสนิมและป้องกันการผุกร่อนของวัสดุก็เช่นกัน ถ้าจะให้ได้ผลดีสารดังกล่าวต้องได้สัมผัสกับผิวโลหะที่เป็นส่วนประกอบของหอลดอุณหภูมิโดยตรง เพราะฉะนั้นถ้าภายในหอลดอุณหภูมิสกปรก ผลก็จะไม่ได้ดีเท่าที่ควร

ในปัจจุบันมีการนำการฉายรังสีอุลตราไวโอเล็ตมาใช้ฆ่าเชื้อลีจิโอเนลลาในหอลดอุณหภูมิ และหน่วยปล่อยไอเย็น (control of micro-orga­nisms in cooling towers and evaporative condensers by ultraviolet disinfection).

๓.๓ การทำความสะอาดและการเปลี่ยนถ่ายน้ำ

การทำความสะอาดหอลดอุณหภูมิเป็นระยะๆ รวมทั้งการใส่น้ำยาฆ่าเชื้อหรือสารกันสนิมที่ถูกต้อง และการระบายนํ้าที่ไหลเวียนในระบบออก (bleed – off) เพื่อลดปริมาณของตะกอนหรือสิ่งปนเปื้อน ทั้งที่เป็นอินทรีย์สาร และอนินทรีย์สาร ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นในน้ำเนื่องจากปริมาณนํ้าในระบบจะลดลงเรื่อยๆ จากการระเหยของน้ำ และมีละอองน้ำปลิวออกไปตลอดเวลา การเติมน้ำสะอาดเพื่อทดแทน (make­up) รวมทั้งการเปลี่ยนถ่ายน้ำทั้งระบบเป็นครั้ง คราวจะทำให้ระบบสะอาดอยู่เสมอ การเปลี่ยนถ่ายน้ำควรทำทุก ๓-๖ เดือน หรือแล้วแต่ว่าจะมีสิ่งสกปรกอยู่มากน้อยเพียงใด น้ำที่เปลี่ยนถ่ายออกมาต้องมี ที่รองรับ และมีท่อส่งไปยังระบบบำบัดนํ้าเสีย ไม่ควรถ่ายน้ำลงท่อหรือรางน้ำของหลังคาอาคารซึ่งระบายไปยังทางน้ำสาธารณะ เพราะน้ำดังกล่าวจะมีสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดน้ำ เชื้อโรคต่างๆ ปนเปื้อนอยู่ด้วย ถ้าระบบไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานและจะเริ่มใช้งานใหม่ จะต้องล้างทำความสะอาดหอลดอุณหภูมิทั้งระบบรวมทั้งใส่น้ำยาฆ่าเชื้อน้ำยากันสนิม ฯลฯ ให้เรียบร้อยก่อน

๓.๔ การตรวจนับจำนวนแบคทีเรีย (total bacteria count)

ควรส่งตัวอย่างน้ำจากหอลดอุณหภูมิตรวจนับจำนวนแบคทีเรียทุกเดือน ถ้าพบว่ามีจำนวนมากกว่ามาตรฐานที่กำหนด (เช่น ๕ X ๑๐๕ colony forming units ต่อน้ำ ๑ ลูกบาศก์เซนติเมตร สำหรับประเทศออสเตรเลีย) ให้ดำเนินตามแผนบำรุงรักษา จาก ข้อ ๓.๑ – ๓.๓ ตามความเหมาะสม หลังจากนั้นให้ส่งตัวอย่างน้ำตรวจนับแบคทีเรียซํ้าทุกสัปดาห์จนกว่าจะสามารถควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดได้

การทำลายเชื้อ ลีจิโอเนลลาในหอลดอุณหภูมิ

ในกรณีที่มีการระบาดของโรคลีเจียนแนร์ ในบริเวณที่มีหอลดอุณหภูมิติดตั้งอยู่ให้สงสัยหรือถือได้เลยว่าหอลดอุณหภูมินั้นเป็นต้นเหตุของการระบาด จึงควรนำตัวอย่างน้ำจากหอลดอุณหภูมิในบริเวณดังกล่าวไปตรวจเพาะเชื้อแล้วใส่น้ำยาทำลายเชื้อในหอลดอุณหภูมิและถังกักเก็บน้ำที่ใช้เติมทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอผลจากห้องทดลอง หลังจากนั้นให้ปล่อยน้ำออกจากระบบทั้งหมดเพื่อทำความสะอาด ภายในถังรวมทั้งอุปกรณ์ประกอบเสร็จแล้วเติมน้ำสะอาดเข้าไปใหม่พร้อมทั้งเปิดปั๊มให้น้ำหมุนเวียนแล้ว ถ่ายน้ำทิ้ง ทำซ้ำเช่นนี้อีก ๒-๓ ครั้ง หรือจนกว่าน้ำจะใสสะอาด

มาตรการป้องกันการระบาด โรคลีเจียนแนร์ในต่างประเทศ

หลายประเทศที่เคยมีการระบาดของโรคลีเจียนแนร์ จะมีมาตรการในการป้องกันการระบาดของโรคอย่างรัดกุม โดยออกเป็นกฎหมายหรือเทศ บัญญัติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับหอลดอุณหภูมิต้องนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดประเทศออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้นที่ให้ความสนใจค่อนข้างมาก เกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโรคลีเจียนแนร์ โดยถือว่าเป็นโรคติดเชื้อที่ต้องรายงาน และได้มีการออกกฎหมายบังคับให้เจ้าของอาคารหรือผู้ดูแล อาคารที่มีหอลดอุณหภูมิ ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันโรคลีเจียนแนร์ ซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันกับที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อวิธี ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อลีจิโอเนลลาจากหอลดอุณหภูมิ นอกจากนั้นยังต้องจดบันทึกรายการที่ได้ดำเนินการไปแล้วทุกครั้ง เช่น วัน เวลาที่ใส่หรือ เติมน้ำยาฆ่าเชื้อและสารเคมีต่างๆ วันเวลาที่ทำความสะอาดและเปลี่ยนถ่ายน้ำในหอลดอุณหภูมิ จำนวนแบคทีเรียที่นับได้ในตัวอย่างน้ำของแต่ละเดือน ฯลฯ และพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบได้ทุกเวลา สำหรับรายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับโรคลีเจียนแนร์และหอลดอุณหภูมิ รวมทั้งระเบียบข้อบังคับและแนวทางในการควบคุมการระบาดของโรค สามารถศึกษาได้จากเอกสารของ Public Health Division, Department of Human Services, เมืองเมลเบอร์น, รัฐวิคทอเรีย, ประเทศออสเตรเลีย ที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เนต ให้เจ้าของหรือผู้ดูแลอาคารที่มีหอลดอุณหภูมิรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลได้ทราบ (ชื่อเว็บไซต์ที่ใช้อ้างอิง คือ http://www.hna.ffh.vic.gov.au/phd/hprot/ env_hlth/ legion/ index.html, http; / / www.hna.ffh.vic.gov.au/phd/9903047/ index.html, และ http://WWW.multiline, com. au).

ในกรณีที่มีการระบาดของโรคลีเจียนแนร์ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามาจากหอลดอุณหภูมิที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี เจ้าของอาคารหรือผู้ดูแลอาคารนั้นจะต้องมีความผิดตามกฎหมายและต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอีกด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศซึ่งไม่เคยมีการระบาดของโรค ลีเจียนแนร์มาก่อน เช่น ประเทศสิงคโปร์เพื่อนบ้านของเราแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการป้องกันโรคลีเจียนแนร์ออกมาใช้แล้วเช่นกัน

มาตรการป้องกันการระบาดโรคลีเจียนแนร์ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยเท่าที่ทราบยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่เคยมีโรคนี้เกิดขึ้นในลักษณะของการระบาด จึงไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจเท่าที่ควร แต่ก็เคยมีข่าวนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ๒-๓ ราย ที่เดินทางออกจากประเทศไทยได้เกิดป่วยด้วยโรค ลีเจียนแนร์ ทำให้สงสัยว่าอาจได้รับเชื้อที่แพร่กระจายจากหอลดอุณหภูมิหรือน้ำที่ใช้ในโรงแรมในช่วงที่พำนักอยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร และเทศบาลนครใหญ่ๆ ควรมีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อวางมาตรการในการป้องกัน การแพร่กระจายของเชื้อ ลีจิโอเนลลา จากหอลดอุณหภูมิ ที่ติดตั้งอยู่ตามอาคารขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม, ศูนย์การค้า, โรงพยาบาล ฯลฯ มิฉะนั้น หากมีการระบาดของโรคขึ้นมาแล้ว นอกจากอาจมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ยังจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการท่องเที่ยวซึ่งประเทศไทยกำลังส่งเสริมอยู่ในขณะนี้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า