สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคประสาทแบบยํ้าคิดยํ้าทำ

 (Obsessive-Compulsive Disorders)

โรคประสาทแบบย้ำคิดย้ำทำเป็นสภาวะที่ความวิตกกังวลถูกแก้ไขโดยการคิดหรือกระทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ เป็นเวลานาน

ระบาดวิทยา

อุบัติการของโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่พบค่อนข้างน้อย คือ น้อยกว่าร้อยละ ๕ ของผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกทางจิตเวช พบในผู้ชายเท่าๆ กับผู้หญิง และเมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคอื่นทางจิตเวชพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูง เชาวน์ปัญญาดี และระดับการศึกษาสูงกว่า (Goodwin และ Guze ค.ค. ๑๙๗๙) อาการมักเริ่มในวัยรุ่นหรือคนวัยผู้ใหญ่ แต่อาจพบในวัยเด็กได้ (Ingram และคณะ ค.ศ. ๑๙๗๖, DSM-IIl)

สาเหตุและกลไกของการเกิดอาการ

๑. ปัจจัยทางจิตวิทยา เชื่อว่าบุคคลที่เป็นโรคนี้มักมีบุคลิกภาพแบบเจ้าระเบียบหรือสมบูรณ์แบบ (Mathis และคณะ ค.ศ. ๑๙๗๒, Ingram และคณะ ค.ศ. ๑๙๗๖) เขาต้องการความถูกต้องสมบุรณ์ทั้งจากตัวเองและจากผู้อื่น โดยทั่วไปจะชอบสังคม เป็นที่ชอบพอของคนอื่น ทำงานหนัก และเชื่อถือได้ แต่จะวิตกกังวลเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่ดีตามที่คาดหวัง และจะตัดสินใจ ลำบากแต่เมื่อตัดสินใจแล้วจะยืนกรานอยู่กับการตัดสินใจนั้น มักจะสงสัยในตนเองและคนอื่น จะพยายามทำอะไรให้สมบูรณ์ที่สุดโดยไม่ใช่เพื่องาน แต่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น คนจำพวกนี้ เมื่อเกิดความวิตกกังวล ความวิตกกังวลนั้นจะถูกแทนที่ด้วยความคิดหรือการกระทำซ้ำๆ อยู่เป็นเวลานาน ทำให้เกิดโรคประสาทแบบยํ้าคิดย้ำทำ (Mathis และคณะ ค.ศ. ๑๙๗๒)

๒. ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ มีผู้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างบิดามารดาของผู้ป่วยโรค ประสาทแบบย้ำคิดย้ำทำกับผู้ป่วยโรคทางจิตเวชอื่น พบว่าบิดามารดาของผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราการเป็นคนเจ้าระเบียบหรือสมบูรณ์แบบสูงกว่า (Lo ค.ศ. ๑๙๖๗) นอกจากนั้นยังพบว่าบุคคลในครอบครัวของคนที่ป่วยด้วยโรคประสาทแบบนี้ป่วยด้วยโรคเดียวกันมากกว่าประชากรทั่วไป (Brown ค.ศ. ๑๙๔๒) และในฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ถ้าคนใดคนหนึ่งเป็นโรคประสาท แบบนีอีกคนมีโอกาสเป็นด้วยมากกว่าแฝดที่เกิดจากไข่คนละใบ (inouye ค.ศ. ๑๙๖๕) คือ ในแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ถ้าคนใดคนหนึ่งป่วยอีกคนจะป่วยด้วยร้อยละ ๘๐-๙๐ แต่ถ้าเป็นแฝดที่เกิดจากไข่คนละใบอีกคนมีโอกาสป่วยด้วยไม่ถึงร้อยละ ๕๐ (Goodwin และ Guze ค.ศ. ๑๙๗๙)

ลักษณะทางคลีนิค

การคิดซ้ำๆ (obsession) คือ การไม่สามารถกำจัดความคิด ภาพพจน์ หรือแรงผลักดันต่างๆ ออกไปจากสมอง แม้จะรู้ว่าเป็นความคิดหรือความรู้สึกที่เหลวไหลหรือไม่มีเหตุผลแต่ก็ไม่อาจหยุดคิดได้

การกระทำซ้ำๆ (compulsion) คือ การกระทำที่มีจุดมุ่งหมายอย่างซ้ำๆ และทำอยู่เป็นเวลานาน  โดยที่ผู้ป่วยรู้ว่าเป็นการกระทำที่เหลวไหล และตนไม่พอใจที่จะกระทำ ทั้งยังมีความต้องการจะต่อต้านไม่ให้กระทำด้วย แต่ก็ต่อต้านไม่สำเร็จ เพราะการกระทำช่วยลดความตึงเครียดทางอารมณ์ของตน

ตัวอย่างเช่น ความคิดบางอย่างอยู่ๆ ก็ผุดขึ้นมาในสมองซ้ำๆ ทำให้กระแสความคิดตามปกติหยุดชะงักลง และผู้ป่วยเกิดความรู้สึกตึงเครียดกับความคิดของตน เช่น การคิดถึงเรื่องสกปรกลามก ความไม่ดีทางศาสนา และเรื่องเหลวไหลต่างๆ อาจมีมโนภาพเกี่ยวกับเรื่องเพศ เรื่องที่น่ารังเกียจ หรือเรื่องรุนแรง เช่น ลูกถูกฆ่า รถคว่ำ หรือพ่อแม่ร่วมเพศกัน ฯลฯ อาจคิดซ้ำๆ เกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เช่น การปิดประตู ความสะอาดของร่างกายจากการอาบน้ำ ทำให้ต้องตรวจสอบหลายๆ ครั้ง หรือต้องใช้เวลาอาบน้ำนานเกินควร จนเหนื่อยหรือจนเป็นที่พอใจของตนจึงจะหยุดกระทำ อาจเกิดแรงกระตุ้นซ้ำๆ เกี่ยวกับการทำร้ายตนเอง การทำร้ายผู้อื่น หรือการกระทำซึ่งน่าอับอาย หรืออาจคิดซ้ำๆ เกี่ยวกับอันตรายของบางสิ่ง เช่น เชื้อโรค ของมีคม หรือสถานการณ์ที่คับขัน ตลอดจนกระทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ

ความคิดซ้ำๆ ที่มักเกิด คือ ความคิดเกี่ยวกับการกระทำรุนแรง เช่น การฆ่าลูกของตนเอง หรือการฆ่าตนเอง การติดเชื้อจากการสัมผัสผู้อื่นหรือวัตถุต่างๆ รวมทั้งการคิดว่าจะขับรถชนคนให้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนการกระทำซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นบ่อย คือ การล้างมือ การนับ การตรวจสอบ และการสัมผัส

เมื่อผู้ป่วยพยายามจะต่อต้านการกระทำซ้ำๆ นั้น เขาจะเกิดความรู้สึกตึงเครียด ซึ่งจะบรรเทาลงถ้าปล่อยให้การกระทำซ้ำๆ เกิดขึ้น  แต่หลังจากที่ต่อต้านการกระทำซ้ำๆ ไม่ได้บ่อยครั้งเข้า เขาก็จะกระทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ โดยไม่มีความต้องการจะต่อต้านมันอีก

ผู้ป่วยโรคประสาทแบบย้ำคิดย้ำทำมักมีอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวลได้บ่อย มักหลีกสถานการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับความคิดซ้ำๆ ของตน เช่น การคิดซ้ำๆ ว่าจะติดเชื้อ ก็ทำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนอื่นหรือวัตถุที่ตนคิดว่ามีเชื้อโรค

การดำเนินของโรค

อาการของโรคอาจเกิดอย่างเฉียบพลันหรือค่อยๆ เกิด (Kringlen ค.ศ.๑๙๖๕) ในบางรายอาจมีอาการอยู่นานโดยไม่ทุเลาลงเลย แต่จะเสียความสามารถทางสังคมหรือไม่ก็ได้ หรือบางรายอาจมีอาการเป็นครั้งคราวและมีช่วงที่ไม่มีอาการเลย หรือมีช่วงที่อาการทุเลาแต่ไม่หายสนิทและสามารถทำหน้าที่ทางสังคมได้ (Goodwin และ Guze ค.ศ.๑๙๗๙) จากการศึกษาผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคนี้ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการรุนแรงเป็นครั้งคราว ซึ่งมักจะเป็นอยู่ไม่เกิน ๑ ปี (Pollitt ค.ศ.๑๙๕๗) แต่ในกรณีที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล การศึกษาเกือบทั้งหมดพบเหมือนกันว่า ผู้ป่วยมักมีอาการเรื้อรังอยู่หลายปี และมีอาการรุนแรงขึ้นเป็นระยะเมื่อร่างกายอ่อนเพลียหรือเจ็บป่วยทางกาย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นนานๆ ความรุนแรงของโรคมักค่อยๆ ลดลง (Ingram ค.ศ.๑๙๖๑,Lo ค.ศ.๑๙๖๗)

การวินิจฉัย

หลักเกณฑ์การวินิจฉัยของ Goodwin และ Guze ค.ศ.๑๙๗๙ ได้แก่

๑. มีความคิด ภาพพจน์ แรงผลักดัน หรือการกระทำซ้ำๆ ในลักษณะที่กล่าวแล้ว

๒. ผู้ป่วยรู้ว่าพฤติกรรมนั้นไร้สาระ

๓. การคิดซ้ำ หรือการกระทำซ้ำ เป็นสาเหตุสำคัญของความตึงเครียด หรือรบกวนหน้าที่ทางสังคม และบทบาทของบุคคลนั้น

๔. อาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางจิตอย่างอื่น

หลักเกณฑ์การวินิจฉัยของ DSM-III ได้แก่

๑. ถ้าเป็นการคิดซ้ำ(obsession)จะมีลักษณะดังนี้ คือ

๑.๑ เป็นความคิด ภาพพจน์ หรือแรงผลักดัน ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของ ego

๑.๒ เกิดขึ้นเอง

๑.๓ ผู้ป่วยรู้ว่าเป็นความคิดที่เหลวไหล หรือเป็นความคิดซึ่งตนไม่ต้องการ

๑.๔ ผู้ป่วยพยายามไม่สนใจ หรือพยายามจะไม่นึกถึงมัน

๒. ถ้าเป็นการกระทำซ้ำๆ (compulsion)จะมีลักษณะดังนี้ คือ

๒.๑ เป็นการกระทำที่มีจุดประสงค์ กระทำซ้ำ และกระทำอยู่นาน

๒.๒ การกระทำนั้นไม่จบในตัวเอง แต่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างหรือเพื่อป้องกันเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่างในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมนั้นไม่เกี่ยวข้องในวิธีที่เป็นไปได้กับสิ่งที่เป็นจุดประสงค์นั้น หรือเป็นกิจกรรมที่มากเกินไป

๒.๓ การกระทำนั้นกระทำเพราะรู้สึกคล้ายมีแรงบังคับ และผู้ป่วยมีความต้องการจะต่อต้านแรงบังคับนั้น (อย่างน้อยก็ในระยะที่ป่วยใหม่ๆ)

๒.๔ ผู้ป่วยมักรู้ว่าการกระทำนั้นเหลวไหล(ยกเว้นในเด็กเล็ก) และไม่ได้ทำให้ตนเกิดความพอใจจากการกระทำนั้นเลย  แต่เมื่อกระทำแล้วความตึงเครียดทางอารมณ์ โรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย หรือโรค Tourette’s disorder

การวินิจฉัยแยกโรค

ต้องแยกจาก

๑. นิสัยบางอย่าง เช่น การดื่มสุรา การเล่นการพนัน ฯลฯ นิสัยเหล่านี้ไม่จัดว่าเป็น compulsion เพราะผู้ทำได้รับความสุขจากการกระทำของตน

๒. การคิดซ้ำๆ เกี่ยวกับความเจ็บป่วยซึ่งเป็นเรื่องจริง หรือการคิดซ้ำๆ ในเรื่องที่ตัดสินใจลำบาก เช่น เรื่องการแยกจากคู่ครอง ฯลฯ ไม่ถือเป็น obsession

๓. โรคจิต เช่น โรคจิตเภท อาจมีการกระทำซ้ำๆ แต่การกระทำนั้นสามารถอธิบายได้ว่าทำเนื่องจากความหลงผิดมากกว่าจะเกี่ยวกับความขัดแย้งกับ ego โรคจิตอื่นๆ เช่น โรคจิตทางอารมณ์ โรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย อาจมีการกระทำซ้ำๆ ด้วยเหตุผลเดียวกับโรคจิตเภท

๔. โรค Tourett’s disorder ซึ่งมีการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ จึงอาจดูคล้ายโรคประสาทแบบย้ำคิดย้ำทำ

การรักษา

๑. จิตบำบัด ให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่าสิ่งที่เขากลัว เช่น การฆ่าตัวตาย การทำร้ายผู้อื่น หรือการกระทำโดยขาดการควบคุมตนเอง ฯลฯ จะไม่เกิดขึ้น พร้อมทั้งอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร จะช่วยลดความกังวลของผู้ป่วย

๒. พฤติกรรมบำบัด มีประโยชน์ในการบรรเทากิจกรรมที่เป็นพิธีการต่างๆ(Marksและคณะ ค.ศ.๑๙๗๕)

๓. ยา ยาคลายความวิตกกังวลอาจมีประโยชน์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลมากๆ ในกรณีที่มีอารมณ์เศร้า การให้ยาแก้อารมณ์เศร้าชนิด tricyclic ยังไม่ทราบว่าให้ผลดีเพียงใด เพราะยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบ แต่ยา chlorimipramine ซึ่งเป็นยาแก้อารมณ์เศร้าชนิด tricyclic ตัวใหม่ มีผู้รายงานว่าให้ผลดีในการรักษาอารมณ์เศร้าในโรคประสาทแบบย้ำคิดย้ำทำบางราย (Goodwin และ Guze ค.ศ.๑๙๗๙)

๔. Lobotomy(prefrontal leucotomy) ได้ประโยชน์ในบางราย แต่ควรทำเฉพาะในรายที่มีอาการชัดเจน อาการรุนแรงมาก รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และผู้ป่วยเสียความสามารถโดยสิ้นเชิงจากการป่วยด้วยโรคนี้ (Goodwin และ Guze ค.ศ.๑๙๗๙,Ingram และคณะ ค.ศ. ๑๙๗๖)

การพยากรณ์โรค

      ในรายที่อาการไม่มากถึงขนาดต้องรักษาแบบผู้ป่วยใน การพยากรณ์โรคมักจะดี คือร้อยละ ๖๐-๘๐ มักจะหายหรือทุเลาขึ้นมากใน ๑-๕ ปีหลังจากการวินิจฉัย(Lo ค.ศ.๑๙๖๗, Pollitt ค.ศ.๑๙๕๗) แต่ในกรณีที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลการพยากรณ์โรคมักไม่ดี เพียง ๑ ใน ๓ หรือน้อยกว่านั้นที่อาการดีขึ้นเมื่อตรวจซ้ำในหลายๆ ปีต่อมาหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาลและร้อยละ ๕-๑๐ จะเป็นมากขึ้นจนกระทั่งหมดความสามาถในสังคม (Ingram ค.ศ.๑๙๖๑,Kringlen ค.ศ.๑๙๖๕,Rosenberg ค.ศ.๑๙๖๗)

การพยากรณ์โรคจะดีในกรณีที่

๑. อาการน้อย หรืออาการไม่ชัดเจน รวมทั้งมีการย้ำคิดในเรื่องที่เกี่ยวกับอันตรายจากสิ่งต่างๆ เป็นอาการเดิน และไม่มีอาการย้ำทำ(Ingram ค.ศ.๑๙๖๑, Kringlen ค.ศ.๑๙๖๕)

๒. อาการเกิดอยู่ไม่นานก่อนได้รับการรักษา (Pollitt ค.ศ.๑๙๕๗)

๓. บุคลิกภาพเดิมดี และไม่มีอาการของโรคนี้ในวัยเด็ก (Kringlen ค.ศ.๑๙๖๕)

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๑

ผู้ป่วยหญิงไทย โสด วัยสาว อายุ ๑๘ ปี ศาสนาพุทธ การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มาโรงพยาบาลด้วยอาการสำคัญคือ ย้ำคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศและการร่วมเพศมานาน ๑ ปี

ผู้ป่วยเกิดในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น บิดามารดาอายุ ๔๐ ปีเศษ บิดามีอาชีพประมง มารดาเป็นแม่บ้าน บิดาเป็นคนเฉยๆ ไม่ค่อยพูดคุยกับลูก ทำให้ลูกๆ กลัวและไม่อยากปรึกษาปัญหาต่างๆ กับบิดา มารดาก็ไม่เข้าใจลูก ลูกๆ จึงไม่สนิทสนมกับทั้งบิดาและมารดา ผู้ป่วยมีนิสัยคิดมาก เวลามีปัญหาก็เก็บไว้ในใจ ไม่สนิทกับพี่ๆ น้องๆ และค่อนข้างหงอยเหงามีพี่น้อง ๖ คน ผู้ป่วยเป็นลูกคนที่ ๓ มีพี่ชาย ๑ คน น้องชาย ๒ คน และน้องสาว ๑ คน เมื่ออายุประมาณ ๗-๘ ขวบ จำได้ว่าเวลาตนกลัวอะไรจะคิดเรื่องเพศจนเพลินแล้วหายกลัว เลยใช้วิธีนี้เรื่อยมา แรกๆ ก็คิดเพียงชายหญิงรักกัน ต่อมาคิดถึงว่าตนกำลังรักกับชายคนหนึ่ง แรกๆ จะคิดเมื่อเกิดความกลัวหรือรู้สึกเหงา แต่ในระยะ ๑ ปีมานี้คิดบ่อยขึ้น และคิดซ้ำๆ เกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นขณะกำลังเรียนหรือกำลังเล่น โดยเฉพาะถ้าเหนื่อยหรือเครียดจะยิ่งคิดมากขึ้น และคิดถึงการร่วมเพศของตนกับชายคนใดคนหนึ่งที่ตนกำลังพบเห็นหรือที่ปรากฎในมโนภาพ เมื่อคิดแล้วผู้ป่วยจะรู้สึกผิด เสียใจ และคิดว่าตนผิดปกติ แต่ไม่เคยสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองขณะที่คิดว่าตนกำลังร่วมเพศกับชายคนใด

ผู้ป่วยเคยได้ยินครูอธิบายว่า โรคฮีสทีเรียเกิดจากการคิดหมกมุ่นในเรื่องเพศ จึงกลัวว่าตนจะเป็นโรคนี้ ยิ่งได้อ่านหนังสือที่กล่าวถึงโรคฮีสทีเรีย ยิ่งเห็นว่าตนมีอาการเหมือนยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เวลาคิดเรื่องเพศมากๆ จะมีอาการเกร็งและสมองชา ซึ่งคล้ายอาการของโรคฮีสทีเรีย ทำให้ยิ่งกังวลและกลัวตัวเองจะแสดงอาการของโรคต่อหน้าคนอื่นๆ เช่น เวลาคุยกับเพื่อนชายซึ่งไม่ใช่คนรักในห้องรับแขก ผู้ป่วยจะรู้สึกอึดอัดมาก และรู้สึกว่าจะต้องรีบออกไปจากที่นั่น หรือจากห้องที่มีขอบเขตโดยเร็ว มิฉะนั้นตนอาจกระทำอะไรสักอย่างโดยไม่สามารถควบคุมได้ เช่น กอดชายที่ตนนั่งคุยด้วย หรือแสดงความต้องการทางเพศออกมา ผู้ป่วยตึงเครียดมากเพราะต้องพยายามต่อต้านความคิดซ้ำๆ นี้ ต้องจำกัดการสังคมลงโดยแยกตัวจากเพื่อน และหลีกเลี่ยงการคบเพื่อนชายฉันคนรัก เพราะคิดว่าตนจะเสียตัวได้ง่าย ไม่กล้าเดินทางตามลำพังหรือเดินทางเวลามืดค่ำ เพราะเกรงว่าจะเกิดอาการของความต้องการทางเพศออกมาโดยไม่มีใครช่วย และมีอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ รวมทั้งไม่มีสมาธิในการท่องหนังสือ และผลการเรียนเลวลงมากในระยะนี้

การตรวจสภาพจิตพบว่า ผู้ป่วยเป็นหญิงไทย วัยสาว หน้าตาน่ารัก แต่สีหน้าเครียดมากและไม่แจ่มใส สามารถเล่าปัญหาได้อย่างละเอียดลออและไม่วกวน มีความกังวลและตึงเครียดมากเกี่ยวกับการคิดซ้ำเรื่องการร่วมเพศและการเป็นโรคฮีสทีเรีย รวมทั้งเกรงว่าตนจะสำส่อนทางเพศ  แต่ไม่มีความหลงผิดและประสาทหลอน การรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคลดี ความจำและเชาวน์ปัญญาปกติ รู้ว่าตนเองป่วยทางจิต และต้องการให้แพทย์รักษา

การตรวจร่างกาย ตรวจระบบประสาท และตรวจทางห้องทดลองต่างๆ ไม่พบความผิดปกติทางร่างกาย

ได้ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคประสาทแบบย้ำคิดย้ำทำ(ซึ่งมีเฉพาะอาการย้ำคิด)

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๒

      ผู้ป่วยชายไทย โสด อายุ ๒๑ ปี กำลังเรียนชั้นปีที่ ๑ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ศาสนาพุทธ ภูมิลำเนาเดิมอยู่ภาคอีสาน มาโรงพยาบาลด้วยอาการคิดและกระทำอะไรซ้ำๆ นาน ๓ เดือน

ประมาณ ๔ เดือนก่อนผู้ป่วยมีเรื่องเสียใจและคิดมาก เนื่องจากเพื่อนหญิงซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งแยกไปมีคนรักใหม่ อีกประมาณ ๑ เดือนต่อมาเริ่มมีความกังวลเรื่องความสะอาดมาก ฟอกมือครั้งละนานๆ เพราะคิดว่ายังไม่สะอาด อาบน้ำก็ต้องอาบนานเป็นชั่วโมง ครั้งหนึ่งใช้น้ำประมาณ ๑ ตุ่มขนาดกลาง เวลาจับขันน้ำจะราดตัว ยกขึ้นมาแล้วก็วางลงแล้วยกขึ้นมาอีกหลายครั้งกว่าจะราดตัวได้ เวลานั่งปัสสาวะก็นั่งนานเพราะรู้สึกไม่สุด และมีความรู้สึกว่าปัสสาวะกระเด็นเปียกมือและขาระหว่างเข่าถึงปลายเท้า ต้องล้างน้ำซ้ำๆ เป็นชั่วโมง บางครั้งต้องให้คนอื่นช่วยล้างด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าสะอาดจริง ผู้ป่วยมีความรู้สึกเช่นนี้เฉพาะกับปัสสาวะ อุจจาระไม่รู้สึก ผู้ป่วยจึงมักกลั้นปัสสาวะทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดเป็นบางครั้ง เวลาแปรงฟันผู้ป่วยก็ต้องแปรงนานและแปรงซ้ำอยู่ที่เดียวจนเลือดไหล อาการมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มแรกเป็นเฉพาะพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสะอาด แต่ต่อมามีอาการเกือบทุกพฤติกรรม เช่น กินข้าวก็มีอาการคือ เมื่อตักอาหารแล้วยกช้อนขึ้นจะใส่ปาก ยกขึ้นมาได้นิดหนึ่งก็เอาลง แล้วยกใหม่ แล้วเอาลงหลายครั้งกว่าจะเอาข้าวใส่ปากได้ ยิ่งถ้ามีคนมองผู้ป่วยจะยกช้อนขึ้น แล้ววางลงบนจานพร้อมทั้งปล่อยมือด้วย แล้วจึงจับช้อนขึ้นมาใหม่ เวลายืนก็ยืนแล้วนั่งลงไปอีก ซ้ำๆ หลายครั้งกว่าจะยืนได้ เวลาจะเดินเดินไป ๒-๓ ก้าวก็ย้อนกลับมา แล้วเดินก้าวไปข้างหน้าใหม่ เวลาขึ้นบันไดขึ้นไปได้สัก ๒ ขั้นก็ก้าวย้อนลงมา ๑ ขั้น แล้วก้าวขึ้นไปใหม่ ต้องใช้เวลานานกว่าจะเดินหรือขึ้นบันไดไปถึงที่หมาย เวลาจะใส่เสื้อผ้าก็ใช้เวลานานกว่าจะทำสำเร็จ คือจับเสื้อขึ้นมาแล้วก็วางลง  แล้วยกขึ้นแล้ววางลงหลายครั้ง เวลาอ่านหนังสืออ่านได้ ๑ ย่อหน้าแล้วนึกว่ายังไม่ได้อ่านย้อนมาอ่านซ้ำอีก ถ้าตั้งใจอ่านหนังสือจะอ่านไม่ได้ หรือตั้งใจทำอะไรก็จะทำไม่ได้ แต่ถ้าไม่ตั้งใจทำจะทำได้อย่างสบาย เวลาพูดอะไรก็มักเก็บมาคิดว่าพูดแล้วหรือยัง ใครจะเข้าใจหรือเปล่าซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นครั้งละนานๆ

ผู้ป่วยรู้ดีว่าการกระทำและการคิดซ้ำๆ ดังกล่าวไร้สาระ แต่ก็ไม่สามารถหยุดกระทำหรือหยุดคิดได้ และถ้าพยายามต่อต้านจะรู้สึกตึงเครียดมาก

ผู้ป่วยเคยมีอาการกระทำซ้ำๆ ครั้งหนึ่งเมื่อ ๓ ปีก่อน คือซักผ้าซ้ำๆ อยู่ถึง ๔ ชั่วโมง จนมารดาต้องเตือนให้เลิก โดยมีผ้าเพียง ๑๐ ชิ้น เพราะคิดว่ายังไม่สะอาด ในครั้งนั้นผู้ป่วยมีความละอายที่ตนเอาหนังสือเล่มเก่าของตนไปเปลี่ยนกับหนังสือเล่มใหม่ของเพื่อน  โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเพื่อน

ผู้ป่วยเป็นลูกคนโตในจำนวน ๗ คน บิดาเป็นคนเจ้าระเบียบและสะอาดมาก จู้จี้กับลูกทุกคนจนลูกๆ ไม่ชอบ ผู้ป่วยปัสสาวะรดที่นอนจนอายุ ๑๐ ขวบ นิสัยเป็นคนเฉย และค่อนข้างแยกตัว เจ้าระเบียบ และสะอาดเรียบร้อย ประหม่าและตื่นเต้นง่าย ขาดความมั่นใจในตนเอง และไม่ค่อยมีเพื่อน มักหงุดหงิด โมโหง่าย และเอาแต่ใจตัว บิดาของผู้ป่วยเคยเป็นโรคจิตเมื่ออายุราวๆ ผู้ป่วยขณะนี้ มีอาการเพ้อฝันจะเป็นใหญ่เป็นโต จนต้องรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลโรคจิตแห่งหนึ่ง รักษาอยู่ประมาณ ๑๐ วันเศษก็หายขาด และไม่เป็นอีกเลย

การตรวจสภาพจิตพบว่า ผู้ป่วยเป็น่ชายไทย วัยหนุ่ม หน้าตาสมวัย แต่งกายเรียบร้อยมาก ผมสั้นหวีเรียบ และท่าทางสำรวม นั่งเข่าชิดหลังไม่พิงพนักเก้าอี้ มือประสานไว้ที่เข่า พูดจาสุภาพเรียบร้อย และระมัดระวังคำพูดและการแสดงออกทางอารมณ์มากพอควร สีหน้าค่อนข้างเครียด รู้สึกกังวลในอาการของตนเพราะทำให้ดูหนังสือไม่รู้เรื่อง และเสียเวลาในการทำอะไรแต่ละอย่างมากเกินไป ไม่มีความหลงผิด ไม่มีประสาทหลอน การรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคลดี ความจำและเชาวน์ปัญญาเป็นปกติ มีความรู้จักตนดี คือรู้ว่าตนป่วยทางจิต และต้องการรักษาให้หาย

การตรวจร่างกาย ตรวจระบบประสาท และตรวจทางห้องทดลอง ไม่พบความผิดปกติทางร่างกาย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า