สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคที่เกิดจากเชื้อรา

โรคเชื้อราที่ติดต่อระหว่างสัตว์และคน (fungal zoonoses ) เป็นโรคที่พบได้เสมอเช่นเดียวกับกรณีของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่เกิดจากเชื้อไวรัส (viral zoonoses) เชื้อแบคทีเรีย (bacterial zoonoses) และปาราสิต (parasitic zoonoses) โรค ติดต่อที่เกิดจากเชื้อรามีผู้ให้ความสนใจน้อยมาก แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังไม่เคยจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวข้องกับโรคนี้เลย เท่าที่ปรากฏพบเพียงหนังสือ World Health Organization Technical Report ลำดับที่ 637 เรื่อง Parasitic Zoonoses และ WHO Technical Report ลำดับที่ 682 เรื่อง Bacterial and Viral Zoonoses หนังสือทั้งสองเล่มนี้จัดพิมพ์สรุปผลการประชุมระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตร (FAO) แห่งสหประชาชาติ

การจำแนกบุคคลที่มีโอกาสติดโรคได้จากสัตว์

บุคคลที่มีโอกาสติดโรคได้จากสัตว์โดยทั่วไปมีอยู่ 7 ประเภทด้วยกัน คือ

1. เกษตรกร บุคคลเหล่านี้มีโอกาสติดโรคจากสัตว์ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่ายิ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เพราะเป็นอาชีพที่มีความใกล้ชิดกับสัตว์อยู่ตลอดเวลาจึงมักมีโอกาสสัมผัสกับสัตว์และสิ่งขับถ่ายจากสัตว์อยู่เสมอ

2. ผู้ค้าสัตว์และผลิตภัณฑ์ของสัตว์  บุคคลในกลุ่มนี้เป็นพ่อค้าคนกลางที่ซื้อขายสัตว์เพื่อฆ่าจำหน่าย นอกจากนี้ยังรวมถึงพนักงานโรงงานฆ่าสัตว์และพ่อค้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ซึ่งได้แก่ กระดูก เขา และหนังสัตว์ เป็นต้น

3. นักนิยมไพร บุคคลในกลุ่มนี้บางท่านทำงานคลุกคลีกับสัตว์ป่าอยู่เสมอ ได้แก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือนักล่าสัตว์ป่า หรือบุคคลที่มีอาชีพจับสัตว์ป่าขาย ทั้งนี้รวมทั้งพ่อค้าสัตว์ป่าด้วย

4. คนรักสัตว์และนักสังเคราะห์สัตว์ บุคคลในกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีใจอารีต่อสัตว์ บางคนเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อนเล่นหรือเฝ้าบ้าน เช่น การเลี้ยงสุนัข และแมว แม้กระทั่งสัตว์ป่าบางประเภท เช่น ลิง ชะนี และหมี เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมทั้งคนที่ทำงานในสวนสัตว์ต่างๆ ด้วย

5. ผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาลสัตว์และศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ บุคคลในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ ได้แก่สัตวแพทย์นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ช่วยสัตวแพทย์ในสถานพยาบาลสัตว์และห้องปฏิบัติการวิจัยโรคสัตว์หรือศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ การติดเชื้อ อาจเกิดขึ้นในระหว่างตรวจสัตว์ป่วยผ่าซากหรือการนำส่งซากสัตว์ป่วย เป็นต้น

6. ผู้ที่ทำงานทางด้านระบาดวิทยา บุคคลเหล่านี้มักเป็นเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะสัตวแพทยสาธารณสุขที่ออกไปทำงานภาคสนามในชนบท

7. ผู้ที่อยู่ในระหว่างการอพยพลี้ภัย บุคคลในกลุ่มนี้มักมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายครอบครัวอย่างกระทันหันภายในระยะเวลาสั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ กรณีของผู้อพยพลี้ภัยในประเทศต่างๆ เช่น เขมร ลาว และญวนอพยพมาอยู่ตามชายแดนไทย บุคคลเหล่านี้มีโอกาสติดเชื้อได้จากความเป็นอยู่ที่ขาดแคลนแออัด และในภาวะเครียดในค่ายพักผู้ลี้ภัย

ชนิดของโรคที่เกิดจากเชื้อราที่ติดต่อระหว่างสัตว์และคน

การจำแนกชนิดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งสามารถติดต่อระหว่างสัตว์และคนอาจทำได้ดังนี้ คือ

ก. โรคที่เกิดจากเชื้อรา สำหรับโรคที่เกิดจากเชื้อราโดยตรงสามารถพบได้ง่ายเช่นเดียวกับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และหนอนพยาธิ เช่นโรคภูมิแพ้ (allergic disease) โรคนี้เกิดจากตัวเชื้อราหรือสปอร์ของเชื้อรารวมทั้งเศษของเชื้อราที่ ติดค้างอยู่ (fungal debris) อย่างกรณีของโรคที่เรียกว่า farmer’s lung หรือโรคหืด (asthma ) โรคนี้เกิดจากเชื้อราในสัตว์ สำหรับกรณีของการติดโรคจากเชื้อรา (fungal infection) หรือที่เรียกว่า mycoses นั้นเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเรา ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ

การติดเชื้อราบนผิวหนัง (cutaneous mycoses) การติดเชื้อราบนชั้นของผิวหนังส่วน epidermis นั้น บางคนนิยมเรียก dermatomycosis ส่วนมากเป็นเชื้อราในกลุ่มของ Microsporum spp. และ Trichophyton spp. เชื้อทั้งสองนี้เป็นสาเหตุของโรค ขี้กลากในคนและสัตว์

การติดเชื้อราตามอวัยวะต่างๆ (deep or systemic mycoses) การติดเชื้อราแบบนี้มักเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงเนื่องมาจากผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น วัณโรค โรคมะเร็ง หรือการใช้ยาปฏิชีวนะและยาที่ลดภูมิต้านทานของร่างกายบางชนิด ทำให้เชื้อราที่ชอบฉวยโอกาส (opportunistic fungi) เขารุมซํ้าเติมได้อย่างกรณีของโรคคริปโตคอคโคซิส (cryptococcosis) โรคแอสเปอรจิลโลซีส (aspergillosis) เป็นต้น นอกจากนี้อาจเกิดการติดเชื้อราประเภท Pathogenic fungi โดยตรงได้แก่โรค ฮีสโตพลาสโมซีส เป็นต้น

ข. โรคที่เกิดจากสารพิษของเชื้อรา ( niycotoxicosis)

โรคที่เกิดจากสารพิษของเชื้อราแบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ โรคที่เกิดจากสารพิษของเชื้อราโดยตรง (Disease caused by mycotoxins) ได้แก่ โรคที่เกิดจากเห็ดมีพิษ (mushroom poisoning) และโรค alimentary toxic aleukia ที่เกิดจากสารพิษ จากเชื้อฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) โรคที่เกิดจากสารพิษของเชื้อราชนิดนี้ไม่ค่อยจะมีความเกียวข้องกับโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำหรับโรคอีกประเภทหนึ่ง คือ โรคที่อาจเกี่ยวเนื่องกับสารพิษจากเชื้อรา ได้แก่ โรคตับแข็งในเด็กอินเดีย (Indian childhood cirrhosis ) โรคมะเร็งของตับและกลุ่มอาการไรย์ (Reyes syndrome) เป็นต้น เราอาจได้รับสารพิษของเชื้อราในรูปของ metabolites จากผลิตภัณฑ์สัตว์ในรูปของอาหารประเภทเนื้อ นม และไข่ จากสัตว์ทีได้รับสารพิษจากเชื้อราที่ปะปนอยู่ใน อาหารดังแผนภูมิ (รูปที่ 43.1)

จะเห็นได้ว่านอกจากคนเราได้สารพิษจากเชื้อราจากการปนเปื้อนในอาหารที่ใช้บริโภคประจำ ยังอาจได้รับสารพิษจากเชื้อราผ่านผลิตภัณฑ์สัตว์ได้อีกทางหนึ่งด้วย ถึงแม้ว่าสารพิษที่ได้รับเป็นจำนวนค่อนข้างน้อยแต่ก็มักได้รับเป็นประจำตลอดเวลา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า