สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย

(Organic Psychotic Conditions)

เป็นกลุ่มของโรคซึ่งประกอบด้วยความผิดปกติในการรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคล ความจำ ความสามารถในการเข้าใจ การคำนวณ และการตัดสินใจ รวมทั้งยังอาจผิดปกติในอารมณ์ บุคลิกภาพ และการรับรู้ความรู้สึกต่างๆ (perception) อันเป็นผลมาจากโรคของสมอง หรือโรคทางกายอื่น ๆ ซึ่งทำให้การทำงานของสมองผิดปกติไป ชื่อเดิมคือ Organic brain syndromes

ความรุนแรงของโรคขึ้นกับอัตราเร็วของการดำเนินโรค ตำแหน่งของโรคในสมองหรือระบบประสาทกลาง ระยะเวลาที่ป่วย ขอบเขตและความรุนแรงของการทำลายสมอง ตลอคจนสภาวะทางสังคม บุคลิกภาพเดิม และเชาวน์ปัญญาของผู้บ่วยก่อนเกิดอาการ

กลุ่มโรคนี้อาจแบ่งเป็น ๒ ชนิดตามลักษณะอาการ และการดำเนินของโรค คือ

๑. ชนิดเฉียบพลัน ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษต่าง ๆ กันได้แก่ Acute organic reaction, Acute brain syndromes, Delirium หรือ Symptomatic psychosis ผู้ป่วยจะมีอาการตื่นเต้นกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข และมักมีอาการประสาทหลอน ร่วมกับความหลงผิด การดำเนินของโรคค่อนข้างสั้น อาจเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันก็หายเป็นปกติได้

๒. ชนิดเรื้อรัง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Chronic organic reaction, Chronic brain syndromes หรือ Dementia ลักษณะสำคัญของกลุ่มโรคชนิคนี้คือ จะมีการเสื่อมของเชาวน์ปัญญาอย่างรุนแรง การดำเนินของโรคจะเป็นไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้ง และโอกาสจะหายเป็นปกติมีน้อยมาก

ประวัติ

เราไม่ทราบประวัติความเป็นมาว่า ลักษณะของโรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกายนี้ เป็นที่รู้ว่าแตกต่างจากโรคทางจิตใจอย่างอื่นเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด แต่ทราบว่ามีรายงานผู้ป่วยที่เป็น dementia รวมทั้งมีการพบความสัมพันธ์ระหว่างอาการกับความผิดปกติในสมองและเยื่อหุ้มสมองตั้งแต่ ค.ศ.๑๖๑๕ และต่อมาก็มีรายงานคล้ายๆ กันนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บุคคลแรกๆที่เกี่ยวข้องกับรายงานเหล่านี้ได้แก่ William Salmon (ในปี ค.ศ. ๑๖๙๔) Giovanni Battista Morgagni (ในปี ค.ศ. ๑๗๖๑) Antoine Laurant Jesse Bayle (ในปี ค.ศ. ๑๘๒๒) Louis Florentin Calmeil (ในปี ค.ศ. ๑๘๒๖) และ Korsakov (ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๗-๑๘๙๑)

จากรายงานต่าง ๆ เกี่ยวกับอาการของโรคนี้แสดงให้เห็นว่า การเสียการรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคล รวมทั้งความจำและเชาวน์ปัญญาเสื่อมลง เป็นอาการสำคัญ ซึ่งอาจพบร่วมกับโรคของสมอง หรือโรคของร่างกายส่วนอื่นก็ได้

ระบาดวิทยา

มีการศึกษาเกี่ยวกับระบาดวิทยาของสภาวะนี้น้อยมาก ทำให้ไม่สามารถบอกอุบัติการของโรคได้แน่นอน อย่างไรก็ตามกลุ่มโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดได้ทุกวัยและทุกเพศ แต่บางโรคพบมาก หรือพบเฉพาะในบางวัย เช่นโรค Senile dementia พบเฉพาะในวัยชรา และอัตราจะเพิ่มขึ้น ในคนที่อายุมากขึ้น โรค Presenile dementia พบมากในระยะปลายของวัยกลางคน และโรคที่เกิดจากอุบัติเหตุทางสมองมักพบในคนที่มีอายุน้อย เพราะคนพวกนี้มีความล่อแหลมต่ออุบัติเหตุ มากกว่าคนสูงอายุ โรคบางโรคมีอุบัติการสูงขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่นโรค Senile dementia ปัจจุบันมีอุบัติการสูงขึ้น เนื่องจากคนมีอายุยืนยาวขึ้น และโรคซิฟิลิสของสมอง (General paralysis of the insane) มีอุบัติการต่ำลง เนื่องจากโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ ตั้งแต่ระยะเป็นใหม่ ๆ

สำหรับโรคหรือสภาวะที่ทำให้เกิดอาการแบบเรื้อรัง หรือ dementia ที่พบบ่อย คือ สภาวะแข็งตัวของเส้นโลหิตในสมอง (Cerebral arteriosclerosis) และความเสื่อมของสมองเนื่องจากวัยชรา (Senile .dementia) ส่วนในกลุ่มที่ทำให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน หรือ delirium มักจะพบร่วมกับโรคปอดบวม (Pneumonia) การติดเชื้อในกระแสโลหิต (systemic infections)

โรคหัวใจวาย (congestive heart failure) สภาวะไข้สูง การเสียสมดุลย์ของน้ำหรือสารต่าง ๆ ในร่างกาย การเป็นอัมพาต (stroke) สภาวะหลังผ่าตัด และสภาวะเป็นพิษจากสุราหรือยาบางอย่าง

สาเหตุ

กลุ่มโรคนี้พบว่า มีสาเหตุหรือเกิดร่วมกับสาเหตุทางสมอง และ สาเหตุทางกายอื่น ๆ หลายอย่างได้แก่

๑. สาเหตุทางสมอง

๑.๑ การติดเชื้อของระบบประสาทกลาง ได้แก่ Brain abcess, Meningoence­phalitis, Cerebral syphilis, Cysticercosis และ Toxoplasmosis ฯลฯ

๑.๒ เนื้องอกของสมอง

๑.๓ การกระทบกระเทือนของสมองจากแรงกระแทก

๑.๔ ความผิดปกติในระบบเส้นเลือดของสมอง ได้แก่โรค Cerebral arterios­clerosis, Cerebral thrombosis, Cerebral hemorrhage, SLE (Systemic lupus erythematosus) และ Polyarteritis nodasa

๑.๕ การเสื่อมสลาย (degeneration) ของสมอง เช่น โรค Senile dementia, Huntington’s chorea, Alzheimer‘s disease, Pick’s disease และ Jokob-Creutzfelt disease

๑.๖  ความผิดปกติในกระแสไฟฟ้าของสมอง เช่น โรคลมชัก ไ?๒. สาเหตุทางกายอื่นๆ

๒.๑ ความผิดปกติในการทำงานของต่อมไร้ท่อบางชนิด ได้แก่ ต่อม thyroid ต่อม adrenal และต่อม pituitary

๒.๒ ความผิดปกติในเมตาบอลิกและสาร (electrolytes) ในร่างกาย ซึ่งพบในสภาวะการทำงานของตับและไตล้มเหลว Wilson’s disease สภาวะเป็นกรดหรือเป็นด่างของร่างกาย (acidosis หรือ alkalosis) และ Porphyria

๒.๓ ความผิดปกติในโภชนาการ ได้แก่ สภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypogly­cemia) สภาวะขาดไวตามิน เช่น ไวตามินบี ๑ ไวตามินบี ๑๒ nicotinic acid และสภาวะขาดธาตุเหล็ก

๒.๔ การติดเชื้อ เช่น โรคไทฟอยด์ โรคปอดบวม

๒.๕ ความผิดปกติของระบบเส้นเลือด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจวาย

๒.๖ โรคมะเร็ง ได้แก่ โรคมะเร็งจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่กระจายไปสู่สมอง

๒.๗ สภาวะเป็นพิษจาก

-ยา ได้แก่ ยา amphetamine ยาสงบประสาทหรือยานอนหลับ ยาแก้อารมณ์เศร้า ยา steroids ยาหลอนประสาท และกัญชา ฯลฯ

-สุรา

-สารบางอย่าง เช่น ตะกั่ว แมงกานีส คาร์บอนไดซัลไฟด์ เมทีลคลอไรด์ เป็นต้น

การจำแนกโรค

เพื่อให้ง่ายในการเข้าใจสาเหตุ พยาธิสภาพของโรค และลักษณะของโรค องค์การอนามยโลก (lCD-9) และสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (DSM-III) จึงจัดจำแนกโรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกายในลักษณะที่คล้ายกันมาก ในที่นี้จะจำแนกให้เห็นเฉพาะแบบ ICD-9 ได้แก่

๑. Senile and presenile organic psychotic conditions หมายถึงกลุ่มโรคที่เกิคจาก การเสื่อมสลายของสมอง (atrophic change) ในวัยชรา (อายุตั้งแต่ ๖๕ ปีขึ้นไป) และก่อนวัยชรา (อายุต่ำกว่า ๖๕ ปี)

๒. Alcoholic psychoses หมายถึง กลุ่มโรคที่เกิดจากการดื่มสุรามากเกินไป

๓. Drug psychoses หมายถึง กลุ่มโรคที่เกิดจากการได้รับยาบางอย่างมากเกินไป เช่นยา amphetamine ยา barbiturate ยาประเภทฝิ่น และยาหลอนประสาท (LSD) ฯลฯ

๔. Transient organic psychotic conditions หมายถึง กลุ่มโรคที่มีอาการเลอะเลือนของระดับความรู้สึกตัว (clouded consciousness) สับสน การรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคลเสียไป มีการแปลสิ่งเร้าผิด และประสาทหลอน จากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม กล่าวง่าย ๆ ก็คือ เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการ delirium หรือมีอาการแบบเฉียบพลัน

๕. Other organic psychotic conditions (chronic) หมายถึง กลุ่มโรคที่มีอาการแบบเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการ dementia หรือ amnestic syndrome

ลักษณะทางคลีนิค

ลักษณะทางคลีนิคที่พบในโรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกายมีหลายแบบ เพื่อให้ง่ายในการวินิจฉัย และศึกษาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค จึงจัดเป็นพวก ๆ ดังนี้

๑. พวกที่มีอาการ delirium หรือมีอาการแบบเฉียบพลัน ในพวกนี้จะมีอาการและอาการแสดงที่สำคัญคือ

๑.๑ เสียการรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคล

๑.๒ ความจำใหม่ (recent memory) เลวลง

๑.๓ ช่วงความตั้งใจแคบลง หรือขาดความตั้งใจ

๑.๔ ความรู้สึกตัวเลอะเลือนไป

๑.๕ กิจกรรมและการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นหรือลดลง มีพฤติกรรมที่ต่อสู้หรือชวนวิวาท ไม่ร่วมมือ หรือมีท่าทางหวาดกลัว ระแวงสงสัย

๑.๖ อารมณ์เศร้า หรือหวาดกลัว บางรายอาจมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย หรือเฉยชา (flat)

๑.๗ อาจมีอาการหลงผิด

๑.๘ มีความผิดปกติในการรับรู้ความรู้สึก (perceptual disturbance) ได้แก่ มีการแปลสิ่งเร้าผิด และประสาทหลอน ซึ่งมักเป็นทางตา

๑.๙ พูดไม่รู้เรื่อง (incoherent speech) กล่าวคำซ้ำๆ หรือพูดไม่ชัด

๑.๑๐ ง่วงซึม หรือนอนไม่หลับ

จากลักษณะดังกล่าวทั้ง ๑๐ ข้อ ลักษณะในข้อ ๑.๑ และ ๑.๒ นับว่าเป็นลักษณะสำคัญที่สุดในการวินิจฉัย ผู้ป่วยควรจะมีลักษณะของข้อใดข้ออหนึ่งที่กล่าวเป็นอย่างน้อย จึงจะมั่นใจในการวินิจฉัยได้

ลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมักจะเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงของวัน เช่น ตอนเช้ามีอาการน้อย แต่ตอนกลางคืนมีอาการมาก เพราะฉะนั้การตรวจผู้ป่วยต้องคำนึงถึงลักษณะนี้ไว้ด้วย

๒. พวกที่มีอาการ dementia พวกนี้มีอาการและอาการแสดงที่สำคัญคือ

๒.๑ มีการเสื่อมของเชาวน์ปัญญา เป็นอาการแสดงที่สำคัญที่สุด

๒.๒ ความจำเสีย แรกๆ ความจำใหม่จะเสียก่อน ต่อมาความจำเก่าจะเสียด้วย ในการป่วยระยะแรก ๆ อาจไม่มีใครสังเกตความผิดปกติในเรื่องนี้ เพราะผู้ป่วยอาจใช้บันทึกช่วยความจำ หรือมีการสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ (confabulation)

๒.๓ ขาดความตั้งใจ และสมาธิ

๒.๔ คิดช้า คิดไม่ค่อยออก ความคิดคลุมเครือ และความคิดมีลักษณะง่ายๆ ตื้นๆ ไม่ลึกซึ้ง

๒.๕ อารมณ์ตื้น เปลี่ยนแปลงง่าย หรืออาจทื่อ ๆ (blunted) แต่ในที่สุดจะเป็นแบบเซ่อ ๆ และครึกครื้น

๒.๖ ขาคกำลังใจ (volition) และขาดการริเริ่ม

๒.๗ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ขาดการควบคุมตนเอง ขาดระเบียบ เช่น อาจกลายเป็นคนสกปรก ตะกละมูมมาม ขาดการควบคุมอารมณ์เพศซึ่งจะแสดงโดยมีท่าทางเจ้าชู้กรุ้มกริ่ม ชอบอวดอวัยวะเพศ หรือลวนลามเด็ก

๒.๘ การควบคุมอารมณ์เสียไป อาจมีปฏิกิริยาต่อความคับข้องใจอย่างทันทีทันใด และอย่างที่คาดไม่ถึง หรือมีปฏิกิริยาซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับความคับข้องใจ (catastrophic reaction)

๒.๙ การตัดสินใจเสีย เช่นอาจตัดลินใจลงทุนหรือทำกิจการใดโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ หรือเสียผลประโยชน์ ทำบุญเกินฐานะ หรือใช้จ่ายเงินโดยไม่เหมาะสม ฯลฯ ผู้ป่วยพวกนี้จะมีระดับความรู้สึกตัวดีและอาการจะดำเนินไปเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลานาน

๓. พวกที่มีอาการเสียความจำ (Amnestic syndrome) ได้แก่พวกที่มีการเสียความจำ ซึ่งมักจะเป็นความจำใหม่ ตลอดจนเสียความจำในขณะนั้น (immediate recall) โดยระดับความรู้สึกตัวเป็นปกติ หรือเชาวน์ปัญญาไม่เสื่อมลง (dementia) ด้วย

๔. พวกที่มีอาการเหมือนโรคทางจิตเวชที่เกิดจากสาเหตุทางจิตใจและอารมณ์, (func­tional) ได้แก่

๔.๑ มีอาการหลงผิดเป็นอาการสำคัญ โดยที่ระดับความรู้สึกตัว และความรู้ ความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ (cognitive function) เป็นปกติ

๔.๒ มีอาการประสาทหลอนเป็นอาการสำคัญ

๔.๓ มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์เป็นอาการสำคัญ ลักษณะคล้ายโรคจิตทางอารมณ์

๔.๔ มีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพเป็นอาการสำคัญ ร่วมกับมีอาการทางอารมณ์เป็นแบบอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ขาดการควบคุมอารมณ์ อารมณ์เฉยชาอย่างมากจนไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งใด ๆ เลย หรือระแวงสงสัย

ลักษณะทั้ง ๔ ข้อดังกล่าวเกิดในขณะที่ระดับความรู้สึกตัวเป็นปกติ มีความรู้ ความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ดี ซึ่งรวมเรียกว่า sensorium เป็นปกติ

การดำเนินของโรค

ในพวกที่มีอาการ delirium โดยทั่วไปหายเป็นปกติถ้าแก้ไขปัญหาที่เป็นตนเหตุได้ อาการจะเกิดอยู่ไม่นาน บางรายมีอาการอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน แต่ในบางรายที่โรคเกิดอยู่นาน อาจมีอาการ delirium อยู่ต่อไปอีกหลายวันหลังจากรักษาโรคที่เป็นสาเหตุเรียบร้อยแล้ว และในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็น dementia ได้ อาการ delirium จากพิษของยา หรือจากการขาดยามักจะหายไปภายใน ๒-๓ วันหลังหยุดยา

ในพวกที่มีอาการแบบ dementia อาการมักเกิดขึ้นช้า จนอาจไม่เป็นที่สังเกตในระยะแรก ๆ อาการที่พบก่อนผู้ป่วยจะเสียควานจำ เชาวน์ปัญญา และการรับรู้เวลา สถานที่และบุคคล

คืออาการอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ ขาดสมาธิ และขาดความระมัดระวัง การดำเนินของโรคเป็นไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้ง และไม่สามารถรักษาให้เชาวน์ปัญญากลับเป็นปกติได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามมีบางโรคอาจรักษาให้หายเป็นปกติ ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ เช่น dementia จากพิษของยา (ยานอนหลับและยาสงบประสาท), Hypothyroidism, Pernicious anemia, Subdural hematoma, Normal pressure hydrocephalus, Benign brain tumor และ recurrent hypoglycemia

การวินิจฉัย

เนื่องจากโรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกายอาจมีอาการและอาการแสดงเป็นหลาย ๆ แบบดังที่กล่าวแล้ว รวมทั้งอาจมีอาการเหมือนโรคที่เกิดจากสาเหตุทางอารมณ์หรือจิตใจด้วย จึงทำให้เป็นปัญหาในการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยบางราย แต่แม้จะมีปัญหาในการวินิจฉัย แพทย์ก็มีความจำเป็นจะต้องวินิจฉัยโรคนี้ให้ได้ และโดยเร็วที่สุด เพราะการพยากรณ์โรคของกลุ่มโรคนี้ ส่วนใหญ่ขึ้นกับความแม่นยำ และความรวดเร็วในการวินิจฉัยโรค ยิ่งวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องและรวดเร็วเพียงใด ผู้ป่วยก็จะปลอดภัยยิ่งขึ้นเท่านั้น และแม้แต่โรคที่มีอาการแบบ dementia บางโรคซึ่งโดยทั่วไปจะไม่สามารถทำให้สมองกลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติเหมือนเดิม ก็ยังรักษาได้ ถ้าโรคดำเนินไปไม่นานนัก

วิธีวินิจฉัยโรคนี้ก็อาศัยหลักเหมือนโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ คือต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจระบบประสาท ตรวจสภาพจิต ตรวจทางห้องทดลอง และตรวจพิเศษอื่น ๆ ลักษณะบางอย่างที่ตรวจพบอาจช่วยให้นึกถึงโรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย ได้แก่

๑. ผู้ป่วยมีอายุเกิน ๔๕ บี

๒. พบประวัติที่น่าจะนึกถึงสาเหตุทางร่างกาย เช่น มีประวัติการกระทบกระเทือนต่อสมอง การได้รับสารพิษ การติดสุรา ประวัติโรคลมชัก ประวัติการเป็นโรคหลังในวัยชรา (Senile dementia) ในครอบครัว

๓. ไม่พบปัญหาทางอารมณ์และจิตใจที่เกี่ยวข้องกับการป่วยครั้งนี้

๔. ตรวจพบความผิดปกติทางร่างกาย หรือระบบประสาท

๕. ตรวจพบว่ามีการเสียการรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคล ความจำเลวลง หรือเชาวน์ปัญญาเสื่อมลง

การตรวจทางห้องทดลองหรือการตรวจพิเศษที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย ได้แก่

๑. การตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ

๒. การตรวจดู optic fundi ด้วยกล้อง ophthalmoscope

๓. การเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อดูสี ความใส ความดัน ตลอดจนจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และสารในน้ำไขสันหลัง

๔. การถ่ายภาพรังสีของกระโหลกศีรษะ การตรวจคลื่นสมอง และการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น brain scan หรือ CT scan

๕. การทดสอบทางจิตวิทยา ได้แก่ IQ test, Progressive matrices, Bender-Gestalt test, และ Halstead-Reitan psychoneurological battery of tests ฯลฯ

๖. อื่น ๆ เช่นการตรวจหาระดับฮอร์โมนบางอย่าง ฯลฯ

การวินิจฉัยแยกโรค

โรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกายอาจมีลักษณะคล้ายโรคทางจิตอย่างอื่น ในกรณีที่มีอาการทางอารมณ์เป็นลักษณะสำคัญจะคล้ายโรคจิตทางอารมณ์มาก ในรายที่มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน หรือมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเป็นลักษณะเด่น อาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคจิตเภทหรือบุคลิกภาพแปรปรวนได้

ในกรณีเช่นว่านี้จำเป็นต้องรักษาการรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคล ความจำ และ เชาวน์ปัญญาของผู้ป่วยอย่างถี่ถ้วน ถ้าไมพบความผิดปกติในสิ่งที่กล่าวนี้ แต่มีหลักฐานอื่นเช่นที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อการวินิจฉัย ต้องตรวจร่างกาย ตรวจระบบประสาท รวมทั้งตรวจทางห้องทดลองหรือตรวจพิเศษอย่างอื่นโดยละเอียด เพื่อแยกโรคให้ได้

การรักษา

๑. รักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการทางจิต เช่น ถ้าโรคจิตเกิดจากการติดเชื้อของสมอง ก็รักษาการติดเชื้อนั้น ถ้าเกิดจากการเสียสมดุลย์ของสารบางอย่างในร่างกายก็แก้ไขให้เกิดความสมดุลย์ของสารดังกล่าว

๒. รักษาอาการทางจิต

๒.๑ ยา ในรายที่มีปัญหาทางพฤติกรรม เช่นกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุขหรือก้าวร้าว มีความหลงผิด และประสาทหลอน จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อให้สงบ หรือบรรเทาความหลงผิดและประสาทหลอน ได้แก่ยารักษาโรคจิต (antipsychotics) ยาสงบประสาท (sedatives) หรือยานอนหลับ (hypnotics) แต่ในกรณีเช่นนี้พึงระวังเรื่องขนาดของยา เพราะผู้ป่วยมักจะไวต่อยาเหล่านี้ ทั้งยายังมักกระตุ้นอาการของผู้ป่วยให้รุนแรงขึ้นด้วย เพราะฉะนั้,นในรายที่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว ควรตรวจสภาพจิตของผู้ป่วยบ่อย ๆ เพื่อป้องกันปัญหาอันอาจจะเกิดจากยา

๒.๒ จัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่คุ้นเคยและไว้วางใจของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยที่มีอาการ delirium มักจะหวาดกลัว ไม่ไว้ใจ และแปลสิ่งเร้าผิดหรือมีประสาทหลอน เพราะฉะนั้นห้องพักควรมีแสงสว่าง ไม่มีหลืบหรือลับแล และไม่อึกทึกอันอาจกระตุ้นอาการของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีอาการ dementia ก็ต้องการความคุ้นเคย ความเหมือนเดิม ความสงบ และความรู้สึกปลอดภัย จึงจำเป็นต้องจัดสถานที่ให้เหมาะกับผู้ป่วย

๒.๓ การพยาบาลผู้ป่วย ผู้ที่จะดูแลใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรเป็นผู้ที่มีท่าทีเป็นมิตรเสมอต้นเสมอปลาย และสุขุมไม่วู่วาม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกไว้ใจ มั่นใจ และเชื่อฟัง พยาบาลที่มีความเข้าใจผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยซึ่งก้าวร้าวหรือโกรธ มีอารมณ์สงบลงได้โดยไม่ต้องใช้ยาช่วย ผู้ป่วยที่สับสนหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอาจำเป็นต้องบอกหรือตักเตือนผู้ป่วยบ่อย ๆ รวมทั้งต้องให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยเสมอ ๆ ด้วย

๒.๔ ระวังอันตรายที่จะเกิดจากการทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น หรืออุบัติเหตุ ผู้ป่วยที่มีอาการสับสน หรือมีประสาทหลอนอาจตกเตียง กระโดดหน้าต่างลงมาข้างล่าง หรือทำร้ายผู้อื่นโดยผู้ถูกทำร้ายไม่ทันระวังตัว เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดในขณะที่อาการยังรุนแรง ทั้งต้องพยายามเก็บอาวุธหรือของที่อาจใช้เป็นอาวุธให้ห่างตัวผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีอาการ de­mentia บางราย อาจมีอารมณ์เศร้าและพยายามฆ่าตัวตาย บางรายสูบบุหรี่ แล้วอาจทิ้งก้นบุหรี่ไว้บนเตียง หรือเล่นไฟ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้

๓. ป้องกันปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดจากการป่วย

ผู้ป่วยที่สับสน หลงลืม มักไม่สามารถดูแลทรัพย์สินของตนเอง อาจจ่ายเงินจำนวนมากโดยไม่จำเป็นหรือขาดเหตุผล หรือเซ็นชื่อในหนังสือสัญญาต่าง ๆ โดยขาดความเข้าใจ ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของตนเองได้ บางรายอาจท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ แล้ว หลงทาง หรือหายสาปสูญไป บางรายอาจก่อความรำคาญให้ชาวบ้านหรือทำผิดกฎหมาย เช่นอวดอวัยวะเพศ หรือลวนลามเด็ก เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องแนะนำญาติถึงปัญหาเหล่านี้ และวิธีป้องกัน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า