สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคขาดสารไอโอดีน:สถานการณ์และแนวทางแก้ไข

ที่มา:ปณต  มิคะเสน

โรคขาดสารไอโอดีน

โรคขาดสารไอโอดีน (iodine deficiency disorders, IDD) หรือรู้จักกันดีในชื่อของ “โรคคอพอก” (simple goiter หรือ endemic goiter), เป็นโรคที่พบมากในท้องถิ่นที่ห่างไกลจากทะเล การคมนาคมไม่สะดวกในแถบภูเขาและหุบเขาทางภาคเหนือ และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

โรคขาดสารไอโอดีนเป็นโรคที่เกิดจากร่างกายได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ในการนำไปสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมน ที่มีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโต และพัฒนาการของร่างกาย สมอง สติปัญญา และการใช้พลังงานเพื่อการดำรงชีพของร่างกายประจำวัน การได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอแก่ความด้องการของร่างกาย จึงมีผลทำให้ต่อมธัยรอยด์ปรับตัวโตขึ้นจนกลายเป็นคอพอก การเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนา- การของสติปัญญาหยุดชะงัก ทำให้มีอาการแคระแกรน ปัญญาอ่อน และอาการทางประสาทอื่นๆ

การขาดสารไอโอดีนนี้ มีผลทำให้เกิดความผิดปรกติในระบบอวัยวะต่างๆ ของทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา, วัยแรกคลอด, วัยเด็ก, วัยหนุ่ม สาวจนถึงวัยชรา โดยมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ขึ้นกับความรุนแรงของการขาดสารไอโอดีน อาการผิดปรกติที่พบคือ

๑. อาการคอพอก

๒. สติปัญญาด้อยกว่าปรกติ

๓. ร่างกายเจริญเติบโตช้ากว่าปรกติ

สำหรับหญิงมีครรภ์ ถ้าขาดไอโอดีน บุตรที่เกิดมาอาจเป็นโรค “เอ่อ” คือมีอาการ ใบ้ หูหนวก สติปัญญาอ่อนถึงกับระดับโง่ และอาการเกร็งกระตุก ของกล้ามเนื้อแขนขา

พยาธิสภาพของโรคขาดสารไอโอดีน

. คอพอก (goiter) เป็นพยาธิสภาพของต่อมธัยรอยด์โตขึ้นมากกว่าปรกติ เนื่องจากขาดสารไอโอดีน ทำให้ระดับธัยรอยด์ฮอร์โมนในเลือดต่ำ (ต่อมธัยรอยด์สร้างฮอร์โมนไม่ได้เพราะขาดสารไอโอดีน) และส่งผลไปกระตุ้นต่อมใต้สมอง (ต่อมพิตุอิตารีย์) ให้หลั่ฮอร์โมนกระตุ้นธัยรอยด์ (TSH=Thyroid Stimulating Hormone) ต่อมธัยรอยด์จึงต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้เซลล์ของต่อมธัยรอยด์ขยายโตขึ้น จนมีอาการแสดงที่เรียกว่า “คอพอก”

๒. ภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนตํ่า (hypothy­roidism) เป็นภาวะที่ร่างกายมีธัยรอยด์ฮอร์โมน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้

ในผู้ใหญ่ มีอาการเกียจคร้าน, เชื่องช้า, ง่วง ซึม, ผิวหนังแห้ง, ทนความหนาวเย็นไม่ได้, ท้องผูก

ในวัยเด็ก นอกจากพบอาการแสดงเช่นในผู้ใหญ่แล้ว ยังพบอาการ

เชื่องช้าทางจิตใจและเชาวน์ปัญญาต่ำอีกด้วย

ในวัยเด็กแรกเกิด โรค “เอ๋อ” มีความสำคัญ และรุนแรงมาก, มีอาการทางสมองทำให้เกิดความเชื่องช้าของจิตใจและเชาวน์ปัญญา ไม่สามารถจะแก้ไขได้ ซึ่งเรียกว่า “ภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำในเด็กแรกเกิด” (newborn hypothyroidism)

๓. ครีตินิสม (Cretinism) หรือ “เอ๋อ” เป็นพยาธิสภาพที่บ่งถึงผลของภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำรุนแรงของเด็กในครรภ์ (fetus) หรือเด็กแรกคลอด (newborn)

เด็กนักเรียนเป็นโรคคอพอกและมีอาการโรคเอ๋อด้วย

โรคคอพอกและเอ๋อในผู้สูงอายุ

เอ๋อ เป็นภาวะพยาธิสภาพของจิตใจ เชาวน์ ปัญญาเชื่องช้าอย่างแรง และไม่สามารถแก้ไขได้มีอาการและอาการแสดงออกในหลายรูปแบบ เช่น ใบ้ หูหนวก ร่างกายมีรูปร่างเตี้ยแคระ ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกเจริญช้า บางรายมีคอพอกและมีธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำชัดเจน

๔.  ไร้สมรรถภาพสืบพันธุ์ (reproductive failure) พบในเพศหญิงที่ขาดสารไอโอดีน ความผิดปรกติมีหลายประการ ที่สำคัญคือไม่สามารถสืบพันธุ์ได้  ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของหญิงแต่ละคน ยากที่จะคาดการณ์ได้ในความนึกคิดที่ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้

๕.  การรอดชีวิตในวัยเด็ก (childhood survival) การขาดสารไอโอดีนทำให้เด็กต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากภูมิต้านทานโรคและภาวะโภชนาการในเด็กเหล่านี้ด้อยกว่าปรกติ

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการขาดสารไอโอดีนนี้จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจสังคมถดถอย (socioeconomic retardation) ประการแรก ประชาชนมีสุขภาพพลานามัยไม่แข็งแรง เชาวน์ปัญญาต่ำ ยากต่อการพัฒนาทั้งด้านการศึกษาและประสิทธิภาพในการทำงาน ประการที่สอง ผลิตผลในด้านเศรษฐกิจของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรมนั้นจะตกต่ำ ขนาดสัตว์เลี้ยงจะเล็กกว่าปรกติ เนื้อ ไข่ ขน จะน้อย ในสัตว์บางชนิดจะเป็นหมันสืบพันธุ์ไม่ได้หรือแท้ง เมื่อมีการตั้งครรภ์

สถานการณ์ในอดีต

          โรคขาดสารไอโอดีนนี้พบระบาดอยู่ในบริเวณภาคเหนือและบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ในปี ๒๔๙๘ คณะผู้สำรวจร่วมไทยและองค์การอนามัยโลก ได้พบผู้ป่วยด้วยโรคคอพอกของประชาชนภาคเหนือสูงถึงร้อยละ ๒๓.๕-๔๕.๕  แม้ว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นไปอย่างรวดเร็วในสองทศวรรษที่ผ่านมาก็ตาม  จากการสำรวจในปี ๒๕๓๐ พบว่าอัตราการป่วยด้วยอาการคอพอกในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษามีร้อยละ ๑๒.๑ ใน ๑๔ จังหวัดภาคเหนือ และจังหวัดเลย และมีอำเภอที่มีความรุนแรงของโรคดังกล่าวนี้สูงถึง ๖๕ อำเภอ โดยประชากร ๒.๒ ล้านคน ที่อาศัยอยู่ใน ๖๕ อำเภอเป็นประชากรที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคขาดสารไอโอดีนดังกล่าว  จากการสำรวจคอพอกซ้ำในพื้นที่ที่มีความรุนแรงของโรคดังกล่าวในปี ๒๕๓๑  พบว่า มีอัตราป่วยถึงร้อยละ ๔๓.๑  ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและสติปัญญาของประชาชน  จากการศึกษาข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขพบว่า

๑.  เด็กแรกคลอดในภาคเหนือมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่า ๒,๕๐๐ กรัม ในเกณฑ์สูงกว่าภาคอื่น ๆ

๒.  เด็กก่อนวัยเรียนในภาคเหนือมีการป่วยด้วยโรคขาดสารอาหารระดับ ๓ หรือระดับรุนแรงมากสูงกว่าในภาคอื่น ๆ

๓.  เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาในภาคเหนือมีผลการเรียนซ้ำชั้นประถมปีที่ ๑ และปีที่ ๒ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ

นอกจากนี้ จากการศึกษาร่วมระหว่างกรมอนามัยและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปี ๒๕๓๒ พบว่าเด็กแรกคลอดที่คลอดในโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้รุนแรง มีอัตราการป่วยด้วยโรคผลิตธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ สูงถึงร้อยละ ๖.๒  ซึ่งเป็นผลทำให้การเจริญเติบโตช้าและการพัฒนาการทางสติปัญญาด้อยกว่าปรกติ

อนึ่ง จากรายงานผลการตรวจเยี่ยมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายชวน หลีกภัย และคณะฯ) เมื่อวันที่ ๒๔-๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ พบว่า

๑. จังหวัดอุตรดิตถ์ ชุมชนและโรงเรียนตำบลหาดหล้า อำเภอท่าปลา ปรากฎว่าโรงเรียนนี้มีเด็กนักเรียนได้รับการตรวจคอพอกจำนวน ๑๙๑ คน พบเป็นโรคคอพอกถึง ๑๘๘ ราย คิดเป็นร้อยละ ๙๘.๔ และพบโรคเอ๋อในผู้ใหญ่จำนวน ๔ ราย มี ๑ ราย เป็นเด็กผู้ชายอายุ ๑๕ ปี มีอาการทางประสาทและกล้ามเนื้อ ไม่สามารถเดินและช่วยตนเองได้ พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของพื้นที่ที่สำรวจมีอาการคอพอก ๒ ราย และจากรายงานสรุปของนานแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพบว่าการสำรวจของจังหวัดในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ มีเด็กนักเรียนเป็นคอพอกร้อยละ ๕๖.๕

๒.  จังหวัดแพร่ ชุมชนและโรงเรียบ้านเค็ม ตำบลตะกั่วทุ่ง อำเภอลอง พบเด็กนักเรียนเป็นคอพอกร้อยละ ๕๗.๖ และพบผู้ป่วยที่เป็นโรคเอ๋อ ซึ่งมีลักษณะเป็นครอบครัว เพศหญิงวัยปราณ ๒๐ ปีเศษ ๓ คน บิดาและมารดาอาการปรกติ เด็กชายอายุ ๗ ปี มีอาการทางกล้ามเนื้อและประสาท ไม่สามารถช่วยตนเองได้  จากการบรรยายสรุปของนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดแพร่ พบว่าเขตบ้านวังบึ้ง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๗ นายแพทย์อมร นนทสุต อนามัยจังหวัดขณะนั้นได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนซึ่งมีอัตราคอพอกสูงกว่าร้อยละ ๘๔.๔ ต่อมากองโภชนาการและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ร่วมกันดำเนินการใช้เกลือเสริมไอโอดีนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทำให้อัตราการเกิดโรคคอพอกลดลงเรื่อย ๆ จน พ.ศ. ๒๕๑๗ ผู้ป่วยคอพอกได้ลดลงจนกระทั่งไม่มีปัญหา

แต่เนื่องจากขาดการต่อเนื่องของกิจกรรม เมื่อสำรวจอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ มีสถิติผู้ป่วยสูงขึ้นถึงร้อยละ ๔๐ จึงได้เริ่มใช้เกลือเสริมไอโอดีน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ และใช้ไอโอดีนเสริมน้ำดื่มด้วนในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ทำให้ผลการสำรวจครั้งหลังสุดของบ้านวังบึ้ง ในปี ๒๕๓๒ พบโรคคอพอกในเด็กนักเรียนเพียงร้อยละ ๙

สาเหตุของโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย

โรคขาดสารไอโอดีนเกิดจากร่างกายได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ จากการศึกษาของกรมอนามัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  พบว่าในดินและน้ำของภาคเหนือมีปริมาณของสารไอโอดีนต่ำกว่าในภาคกลางมาก โดยพบเพียง ๑ ใน ๔ ส่วน และ ๑ ใน ๗.๕ ส่วน เมื่อเปรียบเทียบถึงปริมาณสารไอโอดีนในน้ำและดินต่ำ  เป็นผลให้สัตว์เลี้ยงหรือพืชที่ปลูกในบริเวณภาคเหนือมีสารไอโอดีนอยู่ในเกณฑ์ต่ำด้วย  ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งบริโภคอาหารที่ผลิตจากบริเวณนั้นเป็นประจำก็จะได้รับสารไอโอดีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอแกความต้องการของร่างกายด้วย  ซึ่งในปัจจุบันพอที่จะสรุปถึงสาเหตุการเกิดโรคขาดสารไอโอดีนได้ ๓ ประการคือ

๑.  พื้นที่ที่มีการระบาดของโรคขาดสารไอโอดีนมีปริมาณไอโอดีนต่ำ  ทั้งในน้ำและในดิน ทำให้ผลิตผลอาหารในภาคเกษตรมีปริมาณไอโอดีนต่ำอยู่ตลอดเวลา  ผู้ที่บริโภคอาหารจากท้องถิ่นเป็นประจำจึงเสี่ยงต่อการขาดสารไอโอดีน  หากไม่ได้รับการเสริมไอโอดีนจากแหล่งอื่น ๆ

๒.  ประชาชนโดยทั่วไปยังขาดความรู้ถึงสาเหตุและความรุนแรงของโรคขาดสารไอโอดีน  โดยส่วนใหญ่ยังรู้จักโรคนี้เพียงอาการคอพอกและไม่ทราบถึงผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสติปัญญาของร่างกาย

๓.  มาตรการการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนไม่ได้รับการดำเนินการและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

การควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน

          จากประสบการณ์ในอดีตและการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบว่า  การควบคุมและการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลด้วยดีนั้น  จะต้องเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน  และจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จากแนวคิดนี้จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติขึ้นโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธาน และมีคณะ กรรมการประกอบด้วยผู้บริหารระดับกระทรวงทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการชุดนี้สามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นได้ตามความเหมาะสม และสมควรต่อไป

การดำเนินการตามแผนควบคุมและป้องกันในขณะนี้ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆที่ เกี่ยวข้อง มีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็น แกนกลางในการประสานงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ ไปเรียบร้อยแล้ว และได้ ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ จนถึงปี ๒๕๔๔ รวมระยะเวลา ๗ ปี วัตถุประสงค์หลักของแผนฯ คือ

๑. ควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนให้ลดลงจนไม่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของชาติ และมีผลยั่งยืนตลอดไป

๒. ใช้เป็นแผนหลักในการประสานการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและป้องกันโรคนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยกำหนดว่า “ลดอัตราโรคคอพอกในเด็กนักเรียชั้นประถมศึกษา ให้เหลือไม่เกินร้อยละ ๕ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และรักษาระดับดังกล่าวไว้ให้ต่อเนื่องและตลอดไป”

เพื่อให้แผนควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติประสบผลสำเร็จ ได้มีการกำหนดโครงการไว้ทั้งหมด ๖ โครงการด้วยกันคือ

๑. โครงการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนในเด็กนักเรียน

๒. โครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

๓. โครงการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีไอโอดีน

๔. โครงการส่งเสริมการบริโภคเกลือและน้ำเสริมไอโอดีน

๕. โครงการใช้ยาเม็ดไอโอดีนในพื้นที่เฉพาะที่มีการระบาดของโรคขาดสารไอโอดีนอย่างรุนแรง

๖. โครงการพัฒนาตัวชี้วัดการเฝ้าระวังและควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ในกลุ่มเป้าหมายอื่น

ทั้งนี้โดยมีมาตรการที่จะใช้สารไอโอดีนในรูป แบบต่างๆ ดังนี้

๑. ใช้เกลือเสริมไอโอดีน ในอัตราส่วน ๑:๒๐,๐๐๐ หรือ ๕๐ ส่วนในล้านส่วน

๒. ใช้น้ำเสริมไอโอดีน โดยใช้สารละลาย ไอโอดีนเข้มข้น ๒๐,๐๐๐ ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ในอัตราส่วนน้ำไอโอดีนเข้มข้น ๑ หยดต่อน้ำดื่ม ๕ ลิตร

๓. ใช้น้ำปลาเสริมไอโอดีน โดยหยดน้ำไอโอดีน เข้มข้น ๖ หยดต่อน้ำปลา ๑ ขวด

๔. ใช้ยาเม็ดไอโอดีนขนาด ๒๐๐ มิลลิกรัม จำนวน ๒ เม็ด สำหรับผู้ใหญ่ ๑ คน และ ๑ เม็ด สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า ๒๐ กิโลกรัม

๕. ใช้การผ่าตัดคอพอกช่วยในรายที่ได้รับการเสริมไอโอดีนแล้วไม่ดีขึ้น โดยอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ

ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเถลิงสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙, กระทรวงสาธารณสุข จึงถือเป็นวาระอัน สำคัญยิ่งที่จะถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน โดยการจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น มีเป้าหมายที่จะลดอัตราคอพอกในเด็กชั้นประถมศึกษาให้เหลือไม่เกินร้อยละ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ (ตามแผนแห่งชาติ) และไม่ให้มีทารกแรกเกิดที่ป่วยด้วยโรคสมองพิการแต่กำเนิดและสติปัญญาด้อยจากโรคขาดสารไอโอดีน (เอ๋อ) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นไป โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสภากาชาดไทย โดยได้มีการกำหนดบทบาทของนายกเหล่ากาชาดและสาธารณสุขจังหวัด และบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขให้เป็นรูปธรรมขึ้น, เช่น การจัดหาทุน, การใช้สื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในจังหวัด, การกระตุ้นให้แม่บ้านของทุกครัวเรือนใช้เกลือเสริมไอโอดีนปรุงอาหารเป็นประจำ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า