สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาการผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์

1. การอธิบายโรคในคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกาตามการแพทย์แผนปัจจุบัน
คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา หรือคัมภีร์ทุลาวสา กล่าวถึงโรค 32 จำพวก ที่เกิดในชายและหญิง โดยแยกออกเป็น 8 ประเภท คือ ทุลาวสา 4 มุตฆาต 4 มุตกิด 4 สันทฆาต 4 องคสูตร 4 ช้ำรั่ว 4 อุปทม 4 ไส้ด้วน 4

สำหรับอาการผิดปกติของโรคในระบบทางเดินปัสสาวะของทุลาวสา มุตฆาต มุตกิดและสันทฆาตนั้น คือการที่ไต ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ มีการติดเชื้อขึ้นมา และการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคเกี่ยวกับอวัยวะเพศชายหรือที่เรียกว่า องคสูตร เป็นการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะตอนปลาย โรคในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ช้ำรั่ว จะทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะมีความผิดปกติร่วมด้วย โรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธุ์ทั้งชายและหญิงที่เรียกว่า อุปทม โรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธุ์ทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศชายและรอบทวารหนักที่เรียกว่า ไส้ด้วน

ระบบทางเดินปัสสาวะ
โบราณจัดว่า ไต เป็นธาตุดิน เรียกว่า ปิหกัง เป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่กำจัดน้ำและของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะ เพื่อให้ร่างกายมีเกลือแร่และความดันที่สมดุล

น้ำปัสสาวะที่ปกติจะมีสีเหลืองอ่อน และไม่มีเชื้อโรคเจือปนอยู่ หากมีสีเหมือนน้ำชาแก่ๆ อาจเป็นเพราะขาดน้ำ น้ำปัสสาวะนี้ในทางแผนโบราณจึงมักนำไปทำยา หรือใช้กระสายยา เช่น น้ำปัสสาวะของเด็กอ่อน เป็นต้น หรืออาจใช้เพื่อดองกับสมุนไพร เช่น สมอดอง และในบางประเทศก็นิยมดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อรักษาโรค เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ซึ่งผลของการรักษาก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ปัญหาของสุขภาพสามารถบอกได้ด้วยน้ำปัสสาวะ เช่น ถ้าตับอักเสบ น้ำปัสสาวะจะมีสีเหลืองเหมือนขมิ้น ถ้าเกิดการติดเชื้อปัสสาวะจะมีสีขาวขุ่น ถ้าเป็นนิ่ว ไตอักเสบ หรือมะเร็ง น้ำปัสสาวะจะเป็นเลือด ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับเม็ดเลือดปัสสาวะจะมีสีดำ หากเป็นเบาหวานจะมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะมาก น้ำปัสสาวะที่ออกมามากหรือน้อยยังแสดงให้ทราบว่ามีภาวะขาดน้ำหรือไม่ และแสดงถึงประสิทธิภาพการขับถ่ายของไตด้วย ปกติแล้วใน 24 ชั่วโมง คนเราควรปัสสาวะไม่น้อยไปกว่า 400 มิลลิลิตร หากมีภาวะไตวายก็จะพบสารไข่ขาวในน้ำปัสสาวะ

2. โรคที่เกี่ยวกับคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกาในการแพทย์แผนปัจจุบัน
ได้แก่ โรคของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก อวัยวะสืบพันธุ์ของชายและหญิงมีอาการผิดปกติ

โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
ไตวาย(Renal failure)
เป็นภาวะที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายได้ เนื่องจากไตทั้งสองข้างถูกทำลาย ทำให้น้ำและเกลือแร่ในร่างกายไม่มีความสมดุล ฮอร์โมนที่สำคัญของร่างกายก็สร้างได้ไม่เต็มที่ เกิดภาวะความเป็นกรดเป็นด่างขึ้น ลักษณะของไตวายมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ

ไตวายเฉียบพลัน(Acute renal failure)
มักเกิดจากสาเหตุการช็อก ความดันสูง กล้ามเนื้อหัวใจตาย การติดเชื้อรุนแรง โลหิตเป็นพิษ เนื้อไตอักเสบ ท่อไตอุดตัน เนื้อไตถูกทำลายจากสารพิษ พิษงู ภาวการณ์แตกเม็ดเลือดแดง เป็นมาลาเรีย แพ้ยา หรือภาวะตับวาย สาเหตุเหล่านี้ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงไตน้อยลงในทันทีทันใด

ผู้ป่วยมักจะไม่ปัสสาวะ หรือใน 24 ชั่วโมงจะมีปัสสาวะออกมาน้อยกว่า 400 มิลลิลิตร รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้ซึม สับสน ชัก และหมดสติในที่สุด

ไตวายเฉียบเรื้อรัง(Chronic renal failure)
มักมีสาเหตุมาจากโรคไตอักเสบเรื้อรัง โรคถุงน้ำในไตตั้งแต่กำเนิด นิ่วไต หน่วยไตอักเสบ หรือโรคไตเนฟโฟรติค

ผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ ตามัว ผิวหนังแห้ง คัน ปลายมือปลายเท้ารู้สึกชา หรืออาจมีอาการหอบเหนื่อย สะอึก เป็นตะคริว ใจหวิว ใจสั่น เจ็บหน้าอก บวม เลือดออกตามผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด ทำให้ซีด ซึม ชัก และหมดสติในที่สุด

โรคเนฟโฟรติก(Nephrotic syndrome)
สาเหตุของการเกิดโรคไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ซึ่งอาจจะเกิดจากหน่วยไตอักเสบ โรคข้อ มาลาเรีย ตับอักเสบ แพ้พิษผึ้ง แพ้สารเคมี ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้ทำให้ไตไม่สามารถกรองโปรตีนเอาไว้ได้ โปรตีนในเลือดจึงลดต่ำลง เนื่องจากสูญเสียไปทางปัสสาวะมาก โรคนี้มักเป็นแบบเรื้อรัง พบเป็นได้ในคนทุกวัย แต่ในเด็กอายุปีครึ่งถึง 5 ปี จะพบได้บ่อย

ผู้ป่วยจะมีอาการตัวบวม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข่ขาวในน้ำปัสสาวะ ร่างกายมีความต้านทานต่ำ ติดเชื้อง่าย เนื่องจากขาดโปรตีน

หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน(Acute glomerulonephritis)
เกิดจากสาเหตุการติดเชื้อ เบตาสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (beta-streptococcus group A) เช่น ทอนซิลอักเสบ แผลพุพอง ไฟลามทุ่ง โดยร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคแล้วไปทำปฏิกิริยากับหน่วยไต ทำให้เกิดการอักเสบของหน่วยไต ทำให้เกิดการสูญเสียโปรตีน และภาวะกรดด่างเกิดความผิดปกติขึ้นในร่างกาย เนื่องจากไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติได้ โรคนี้จัดว่าเป็นโรคภูมิต้านทานตนเอง(Autoimmune)

ผู้ป่วยมักจะมีปัสสาวะออกน้อยกว่าปกติ ปัสสาวะมักมีสีแดงเหมือนน้ำล้างเนื้อ หรือน้ำหมาก มีอาการบวมที่หน้า ตา เท้า และท้อง มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักทำให้มีอาการหอบ เหนื่อย ชัก ความดันสูง

กรวยไตอักเสบ(Pyelonephritis)
มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแทรกซ้อนที่กระเพาะปัสสาวะ หรือการเกิดนิ่ว ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่กรวยไตขึ้น กรวยไตอักเสบมีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ในผู้หญิงจะพบได้บ่อยกว่าผู้ชาย

กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน(Acute pyelonephritis)
มักพบในหญิงตั้งครรภ์ มีเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต เป็นนิ่ว จะพบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า

เชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ อีโคไล(Escherichia) เคลปซิลล่า(Klepsiella) และสูโดโมแนส(Pseudomonas) มักเกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนังรอบๆ ช่องปัสสาวะแล้วผ่านเข้ามายังท่อทางเดินปัสสาวะ ทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดตัน

ผู้ป่วยมักมีอาการปวดสีข้างข้างใดข้างหนึ่งแบบเฉียบพลันและร้าวไปที่ขาหนีบ มีไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะติดขัด มีหนองขุ่นข้นออกมากับน้ำปัสสาวะ

กรวยไตอักเสบเรื้อรัง(Chronic pyelonephritis)
มีสาเหตุจากเซลไตถูกทำลาย ไตฝ่อ ไตวายเรื้อรัง เนื่องจากมีการติดเชื้อเรื้อรังมานาน โดยไม่มีอาการแสดงออกให้เห็นเด่นชัด มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ซีด ความดันโลหิตสูง

นิ่วในไต(Renal calculus)
สาเหตุเกิดจากร่างกายมีแคลเซียมมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการกินทำให้มีแคลเซียม อ๊อกซาเลท และยูริกแอซิดอยู่มาก และกำจัดออกไปไม่ได้ ผู้ป่วยอาจมีนิ่วอยู่หลายก้อนหรือเพียงก้อนเดียว บางรายอาจเป็นซ้ำหลายหน ทางภาคเหนือและภาคอีสานมักจะพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้มาก สามารถเป็นกันได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ในผู้ชายอายุ 30-40 ปีจะพบว่าเป็นกันมาก

ผู้ป่วยมักจะมีอาการ ปวดเสียดหรือปวดเป็นพักๆ ที่หลังและเอว ปัสสาวะออกมาเป็นเม็ดทรายหรือมีสีขุ่นแดง บางรายอาจมีคลื่นไส้อาเจียน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดรุนแรงหากมีก้อนนิ่วเล็กๆ หลุดมาอุดตันท่อปัสสาวะกะทันหันซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และอาจทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ หรือกรวยไตอักเสบหากเป็นนิ่วอยู่นานๆ

นิ่วท่อไต(Ureteric stone)
เกิดการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะเมื่อนิ่วก้อนเล็กหลุดมาอุดตันที่ท่อไต เมื่อท่อปัสสาวะต้องการขับออกมาโดยพยายามบีบตัวอย่างมาก จึงทำให้ผู้ป่วยปวดท้องรุนแรง ปวดบิดเป็นพักๆ ปวดร้าวไปที่หลัง ต้นขา อัณฑะ ช่องคลอด มีเหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะมักไม่มีความผิดปกติให้เห็น

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ(vesicle calculi)
มีสาเหตุจากการขาดโปรตีน ขาดน้ำ และสาเหตุอื่นๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงาน ผู้ที่เป็นอัมพาตหรือต่อมลูกหมากโตมักเกิดการขังของน้ำปัสสาวะ พบผู้ป่วยได้มากในภาคเหนือและภาคอีสาน และพบมากในเด็กผู้ชายที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี

ผู้ป่วยมักจะมีอาการปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นน้ำล้างเนื้อ หรือมีเม็ดทรายออกมา

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ(Cystitis)
เกิดจากสาเหตุการติดเชื้อแบคทีเรียพวกอีโคไล ที่อยู่บริเวณฝีเย็บรอบๆ ทวารเบาเป็นปกติ จากการกลั้นปัสสาวะบ่อย เป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่ต้องสวนปัสสาวะ หรืออาการชอกช้ำหลังร่วมเพศ จึงอาจทำให้เชื้อหลุดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้

ผู้ป่วยมักจะมีอาการปัสสาวะขัด แสบ กะปริดกะปรอย ปัสสาวะขุ่นเป็นเลือดมีกลิ่นเหม็น อาจมีการลุกลามไปถึงไตได้หากปล่อยไว้ไม่รักษา และอาจลุกลามถึงต่อมลูกหมากในผู้ชาย แต่เนื่องจากท่อปัสสาวะช่วงปลายของผู้หญิงจะสั้นกว่าของผู้ชาย จึงมักพบโรคนี้ได้บ่อยในผู้หญิง

ท่อปัสสาวะตีบ(Urethral stricture)
เกิดจากการติดเชื้อที่เยื่อบุทางเดินปัสสาวะ จากการบาดเจ็บ ท่อตีบตันเนื่องจากเป็นแผล หรือมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด

มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออก หรือออกแบบกะปริดกะปรอย ปวดเจ็บที่องคชาติ

ต่อมลูกหมากโต(Benign prostatic hyperplasia)
เกิดจากต่อมลูกหมากโตและไปกดทับท่อทางเดินปัสสาวะ โดยปกติต่อมลูกหมากของผู้ชายจะเริ่มโตอย่างไม่มีอาการแสดงให้เห็นเมื่ออายุเลย 45 ปีขึ้นไป บางรายต่อมลูกหมากจะเริ่มโตมากและแข็งเมื่ออายุเลย 55 ปีขึ้นไปแล้ว

มักทำให้ผู้ป่วยต้องเบ่งเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะแบบกะปริดกะปรอยบ่อยๆ ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย หรืออาจมีปัสสาวะเป็นเลือดในบางครั้ง

ต่อมลูกหมากอักเสบ(Prostatitis)
มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกรัมลบอีโคไล(Escherichia coli) และสูโดโมแนส(pseudomonas) เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเชื้อจะแพร่มาจากบริเวณฝีเย็บรอบทวารหนัก ทวารเบา และเข้ามาทางท่อปัสสาวะ เมื่อไม่มีการรักษาก็อาจลุกลามไปถึงต่อมลูกหมากได้ หรืออาจเกิดจากติดเชื้อกามโรคแทรกซ้อน หรือร่างกายมีความอ่อนแอ ขาดความต้านทาน หรือเป็นโรคเบาหวาน พบโรคนี้ได้ในผู้ชายวัยหนุ่มจนถึงวัยชรา

ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดที่หัวเหน่า ก้นกบ ปัสสาวะติดขัดแสบร้อน หรือปัสสาวะออกมาเป็นเลือด

ถุงน้ำในอัณฑะ(Hydrocele)
เป็นอาการผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ที่ระหว่างเยื่อหุ้มถุงอัณฑะจะมีน้ำอยู่มาก ทำให้เกิดถุงน้ำ และอัณฑะโตขึ้น ซึ่งปกติแล้วระหว่างเยื่อหุ้มถุงอัณฑะจะมีน้ำหล่อลื่นอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผู้ป่วยมักมีก้อนนุ่มๆ ที่ถุงอัณฑะ เมื่อส่องดูด้วยไฟฉายจะไม่มีความทึบแสง ซึ่งสามารถแยกออกจากไส้เลื่อนได้ชัดเจน

ตกขาว(Leukorrhea)
ตกขาว คนในปัจจุบันเข้าใจว่าเหมือนกับมุตกิดในแผนไทย แต่ความจริงแล้วไม่ถูกต้อง โบราณเรียกอาการที่มีน้ำหนอง น้ำเหลือง มูกเลือดออกจากช่องคลอดว่า ช้ำรั่ว ซึ่งโดยปกติแล้วอาการตกขาวของผู้หญิง จะมีลักษณะเป็นเมือกมูก ใส ไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการ และเป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้ามีสี กลิ่นผิดปกติ หรือเป็นติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อาจเกิดจากการติดเชื้อขึ้น ให้รีบรักษาทันที

หากน้ำเมือกมูกเกิดการติดเชื้อจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบคันเกิดขึ้น

ช่องคลอดอักเสบ(Vaginitis)
มีสาเหตุมาจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโปรโตซัว
เชื้อรา
การอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อราที่เรียกว่า Candida albicans ซึ่งปกติเชื้อนี้จะอาศัยอยู่กับแบคทีเรียและไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย เรียกว่า Normal flora ผู้ที่ติดเชื้อราชนิดนี้ส่วนใหญ่จะมีร่างกายที่อ่อนแอ มีความต้านทานต่ำ ผู้ที่ใช้ยาต้านแบคทีเรียเป็นเวลานาน ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดนานๆ การใช้ห่วงคุมกำเนิด โดยแบคทีเรียเหล่านี้จะควบคุมปริมาณเชื้อราให้เติบโตจนทำร้ายร่างกายได้ และในช่องคลอดอาจมีเชื้อราเจริญมากขึ้นได้เนื่องจากการเปลี่ยนสภาพเมื่อตั้งครรภ์

เชื้อแบคทีเรีย
ได้แก่พวกโกโนเรีย(Gonorrhea) ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธุ์ หรือที่เรียกว่า หนองใน เชื้อที่พบบ่อยคือ gonococcus ชื่อ Neisseria gonorrheae ในช่วงแรกๆ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่ต่อมาจะทำให้มีอาการคัน แสบ ตกขาวมีสีเหลือง และทำให้ปีกมดลูกอักเสบเมื่อเชื้อลุกลามเข้าไป

นอกจากเชื้อโกโนเรียแล้วก็ยังมีเชื้อตัวอื่นๆ อีกที่ทำให้ตกขาวมีสีไม่เหมือนโกโนเรีย เช่น คลาไมเดีย Chlamydia trachomatis

เชื้อโปรโตซัว
เป็นพยาธิมีหางขนาดเล็ก ที่สำคัญคือ ตริโคโมแนสวาจิไนลิส(Trichomonas vaginilis) ติดต่อด้วยการมีเพศสัมพันธุ์ ทำให้ตกขาวที่ออกมามีลักษณะเป็นฟองสีเหลือง สีเขียว มีกลิ่นเหม็น มักทำให้ผู้ป่วยคันในช่องคลอด

หงอนไก่(Genital wart)
หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า Condyloma acuminate มีลักษณะที่งอกออกมาเหมือนดอกกะหล่ำ มีสีแดงอมชมพูคล้ายกับหงอนไก่ คนไทยจึงเรียกตามลักษณะที่เห็นว่า หงอนไก่

มักเกิดในที่อุ่นอับชื้น รักษาความสะอาดไม่เพียงพอ มักเกิดขึ้นรอบๆ ปลายองคชาติของผู้ชาย หรืออาจลามไปในท่อทางเดินปัสสาวะได้ในบางราย มักทำให้มีตกขาว มีก้อนเนื้อโตขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะคล้ายหงอนไก่

หนองใน(Gonorrhea)
เกิดจากเชื้อ gonococcus ที่มีชื่อว่า Neisseria gonorrheae ติดต่อได้ด้วยการมีเพศสัมพันธุ์ ผู้ชายร้อยละ 10 อาจเป็นผู้แพร่เชื้อโดยที่ตัวเองไม่มีอาการใดๆ

มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบขัดในองคชาติเมื่อถ่ายปัสสาวะ มีหนองเหลืองข้นไหลออกมาทางท่อปัสสาวะ อาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจนทำให้ทางเดินปัสสาวะตีบตันได้หากเชื้อลุกลามไปถึงกระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมาก

แผลริมอ่อน(Chancroid)
เกิดจากการมีเพศสัมพันธุ์กับคนที่เป็นโรคหรือมีเชื้อ Hemophilus ducreyi อยู่ มักทำให้ผู้ป่วยมีแผลเปื่อยขอบไม่แข็งหลายแผล เมื่อสัมผัสถูกจะเจ็บ มีเลือดออก ทำให้ไข้ หนาวสั่น เบื่ออาหาร บริเวณขาหนีบมีต่อมน้ำเหลืองโต อาจทำให้อวัยวะแหว่งไปได้หากติดเชื้อรุนแรงและเกิดการลุกลาม น่าจะเข้ากับอาการที่โบราณเรียกว่า ไส้ด้วน ไส้ลาม

ซิฟิลิส(Syphillis)
เกิดจากเชื้อ Treponema pallidum เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ที่ร้ายแรง เชื้ออาจซ่อนอยู่ในตัวผู้ป่วยโดยไม่แสดงอาการและสามารถแพร่ไปให้ผู้อื่นได้ เชื้อมักติดต่อทางบาดแผลขณะร่วมเพศ หรือทางเยื่อบุอ่อนในปาก ทวารหนัก ท่อทางเดินปัสสาวะ หรือช่องคลอด

อาการของซิฟิลิสจะมีอยู่ 3 ระยะคือ
1. ระยะเป็นแผล จะมีตุ่มเมื่อแตกออกจะเป็นแผลเปื่อยมีขอบแข็ง เป็นแผลที่สะอาดไม่มีอาการเจ็บหรือคัน ที่ขาหนีบทั้งสองข้างจะมีต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นมา แผลจะหายไปได้เองแม้ไม่ได้รักษา

2. ระยะออกดอก เข้าข้อ เชื้อจะอยู่ในน้ำเหลืองและเลือด จะเริ่มมีอาการหลังจากระยะแรกประมาณ 4-8 สัปดาห์ ทำให้มีผื่นขึ้นทั่วตัว แต่จะไม่เจ็บไม่คัน ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ผมร่วง อาจมีอาการทางสมองและทางไตร่วมด้วย

3. ระยะทำลาย เมื่อเชื้อเข้าสู่สมอง ไขสันหลัง จะทำให้มีอาการของอัมพาต เดินเซ ชัก ความจำเสื่อม ตามัว ตาบอด หูหนวก ทุกอวัยวะจะถูกทำลาย โรคนี้หากเป็นกับหญิงมีครรภ์จะทำให้เด็กที่เกิดมาพิการได้

ฝีมะม่วง(Lymphogranuloma venereum)
ติดต่อได้ด้วยการมีเพศสัมพันธุ์ และสัมผัสถูกหนองของผู้ที่มีเชื้อ คลามีเดียทราโคมาติส

โดยที่อวัยวะเพศของผู้ป่วยจะมีตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้น และหายไป ต่อมาที่ขาหนีบจะมีต่อมน้ำเหลืองโตมากจนเต่งสีแดงนวลคล้ายกับมะม่วงสุก จึงเรียกว่า ฝีมะม่วง อาจจะเป็นกับต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาจมีการยุบหายไปได้เอง หรือแตกเป็นรูๆ กลายเป็นแผลเรื้อรัง

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า