สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคของกระจกตา

กระจกตา

(DISEASES OF THE CORNEA)

ศ.นพ.อุทัย รัตนิน

กระจกตา (Cornea) เป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของลูกตามีลักษณะเป็นแผ่นกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 1 ซ.ม. และหนาไม่ถึง 1 มม. มีความใสเหมือนกระจกใสที่ปราศจากสี ถ้าพิจารณาดูกระจกตาของคนไทยจะเห็นเสมือนมีสีนํ้าตาลไหม้หรือสีดำ สีที่เห็นนี้ไม่ใช่สีของกระจกตา แต่เป็นสีของม่านตา (Iris) ซึ่งอยู่หลังกระจกตา ทำให้เราเรียกกระจกตาจนติดปากว่า ‘‘ตาคำ” กระจกตามีลักษณะคล้ายแผ่นกระจกหน้าปัดนาฬิกามาก โดยเป็นแผ่นกลมบางและใส สีและลวดลายที่เรามองเห็นเป็นส่วนของหน้าปัดที่อยู่ข้างหลัง

กระจกตาเป็นส่วนของลูกตาส่วนเดียวที่แสงสว่างสามารถผ่านเข้าไปในลูกตาได้ เพื่อทำให้เราสามารถมองเห็น และเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่แพทย์สามารถใช้เครื่องมือส่องตรวจภายในถูกตา นอกจากนี้กระจกตายังช่วยแก้วตาในการรวมแสง (Focus) ให้ไปตกบนเยื่อประสาทตาหรือจอตา (Retina) กำลังในการรวมแสงของกระจกตามีถึงสองเท่าของแก้วตา

โรคของกระจกตาที่ทำให้สายตามัวจนใช้การไม่ได้ และพบบ่อยที่สุดคือโรคแผลที่กระจกตา (Corned ulcer) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โรคนี้ถ้าเป็นอย่างรุนแรงหรือเป็นเรื้อรังอยู่นานอาจจะทำให้กระจกตาถึงกับทะลุ หรือกลายเป็นแผลเป็นที่ขุ่นขาวเรียกว่า “ต้อลำ ไย” (Leucoma) ถ้าแผลเป็นนั้นใหญ่หนาและอยู่ส่วนกลางของตาดำก็จะทำให้ตานั้นมองไม่เห็น

โรคแผลที่กระจกตานี้มีสาเหตุที่แบ่งออกได้เป็นสองจำพวกคือ

1. การถูกกระทบกระเทือนเสียดสีหรือทิ่มแทง เชื้อโรค จะสามารถเข้าไปเพาะตัวในเนื้อของกระจกตา และเกิดเป็นแผลขึ้น

2. การที่กระจกตามีภูมิต้านทานตํ่าต่อเชื้อโรคต่างๆ พบบ่อยในเด็กเล็กระยะหย่านม ซึ่งมักจะขาดอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ผู้ที่เป็นอัมพาตของหนังตาทำให้หลับตาได้ไม่สนิท ผิวของกระจกตาจะแห้ง ทำให้ภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคตํ่าได้เช่นเดียวกัน การใช้ยาหยอดจำพวกสตีรอยด์ (Steroid) เป็นประจำก็สามารถทำให้กระจกตามีความต้านทานตํ่าต่อเชื้อโรค โดยเฉพาะพวกเชื้อรา แผลเชื้อราที่กระจกตาเป็นแผลที่รักษายาก และมักจะทำให้กระจกตาทะลุและตาเสียในที่สุด ยาหยอดตาจำพวกนี้ เป็นยาที่นิยมใช้กันแพร่หลายเพราะใช้ระงับอาการอักเสบและระคายตาได้ดี มีขายในร้านขายยาทั่วไป แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาจำพวกนี้เฉพาะโรคกระจกตาที่อักเสบโดยที่ไม่มีเชื้อโรค โดยพยายามใช้ยาในระยะสั้น และให้ความดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพราะนอกจากทำให้เกิดแผลเชื้อราที่กระจกตาได้อย่างง่ายแล้วยังอาจทำให้เกิดโรคต้อหินได้อีกด้วย

นอกจากโรคแผลขนาดใหญ่ที่กระจกตาแล้ว ยังมีโรคริด- สีดวงตา (Trachoma) ที่เมื่อเป็นเรื้อรังอยู่นานๆ จะเกิดแผลเล็กๆ ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นขึ้นที่ผิวของตาดำ จนในที่สุดกลายเป็นแผลเป็น ซึ่งทำให้กระจกตาขุ่นจนใช้การไม่ได้อีกทั้งในระยะหลังของโรคจะทำให้เกิดขนตาเก มาเขี่ยตาดำให้เป็นแผลและขุ่นได้

โรคอื่นๆ ของกระจกตาได้แก่การเสื่อมและความไม่สม ประกอบของกระจกตาซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ โรคของส่วนอื่นๆ ของลูกตาที่ลุกลามมาที่กระจกตาเหล่านี้ทำให้กระจกตาขุ่น หรือเสียคุณภาพของการรวมแสง

การรักษา จักษุแพทย์จะเริ่มการตรวจด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ทราบว่าโรคกระจกตานั้นเป็นโรคชนิดไหน อยู่ในระยะไหน และเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร เมื่อทราบแน่นอนแล้วจึงให้การรักษาโดยพยายามระงับสาเหตุเพื่อให้โรคสงบลงและไม่ลุกลามต่อไป ส่วนของกระจกตาซึ่งเสื่อมไปในระยะก่อนที่ผู้ป่วยจะไปหาแพทย์นั้น มักจะเหลือเป็นแผลเป็นซึ่งมีลักษณะขุ่นขาวและไม่สามารถจะใช้ยารักษาให้ความขุ่นขาวนั้นหายไปได้ แพทย์ก็จะใช้การตัดกระจกตาซึ่งขุ่นขาวจนใช้การไม่ได้แล้วออกนำเอากระจกตาที่ดีของผู้ซึ่งเสียชีวิตไปใหม่ๆ มาใส่แทน คือที่เรียกกันติดปากว่า “เปลี่ยนตา” แท้จริงคือการเปลี่ยนตาดำ (Corneal tran­splantation) หลังจากนั้นผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนปกติ

ปัจจุบันนี้การผ่าตัดเพื่อสับเปลี่ยนกระจกตากระทำได้น้อยมาก เพราะแพทย์ไม่สามารถจะหากระจกตาที่สมบูรณ์ได้เพียงพอ สภากาชาดไทยได้ตั้งศูนย์ดวงตาขึ้นเพื่อรับบริจาคดวงตา ศูนย์ดวงตาจะนำดวงตาของผู้ที่ถึงแก่กรรมไปมอบให้จักษุแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อทำการเปลี่ยนกระจกตาให้แก่ผู้ป่วยที่กำลังคอยอยู่ แม้ว่าจะมีผู้บริจาคดวงตาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เป็นที่เพียงพอกับความต้องการ ยังมีผู้ตาพิการด้วยโรคของกระจกตาอีกมากมาย

 

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า