สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เภสัชกรรมโบราณ:เครื่องปรุงยา

ในเรื่องเครื่องปรุงยา เกี่ยวกับตำรับยา มีองค์ประกอบสำคัญอยู่๔ ประการ คือ
๑. ตัวยาสำคัญ
๒. ตัวยาช่วย
๓. ตัวยาคุม
๔. เครื่องปรุง
๑. ตัวยาสำคัญ คือตัวยาที่ใช้แก้โรค หรืออาการของโรค บำบัดรักษาโรคให้หายได้ เมื่อเอามาประสมกันเข้าแล้ว อาจมีฤทธิ์และกำลังโดยคุณวิเศษที่จะต่อสู้ความไข้ให้ระงับดับหายไปด้วยอำนาจของยานั้นคือ
ตัวยาจริง
๒. ตัวยาช่วย คือตัวยาที่ช่วยกำลังของตัวยาสำคัญ ที่จะทำให้มีฤทธิ์ มีสรรพคุณดียิ่งขึ้น
๓. ตัวยาคุม คือตัวยาที่คุมกำลัง ฤทธิ์ หรือสรรพคุณของตัวยาสำคัญ ที่จะให้เป็นไปด้วยดี โดยฤทธิ์ยาเดินสม่ำเสมอ
๔. เครื่องปรุง คือสิ่งที่จะช่วยปรุงยาให้เป็นรูป เป็นรส กลิ่นต่างๆ เมื่อปรุงรส แต่งกลิ่น ชวนให้น่ารับประทานง่าย ชวนให้ดม หรือเพิ่มกลิ่นให้หอมตามความมึ่งหมาย โดยการเพิ่มเติม แทรกด้วยตัวยาเครื่องหอมและของที่สูงด้วยคุณค่าและราคา เช่น กฤษณา พิมเสน โคโรค อำพันทอง ชมดเชียง ชมดเช็ด หญ้าฝรั่ง น้ำดอกไม้เทศ น้ำดอกไม้สดแช่ การะบูน ทองคำเปลว เป็นต้น
การปรุงยาต้องรู้หลักดังนี้ คือ จะต้องรู้หลัก ๔ ประการของเภสัชกรรม มี
๑. เภสัชวัตถุ คือ วัตถุนานาชนิดที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้ ได้มาจากพืชวัตถุ ได้แก่พฤกษชาติต่างๆ เรานำมาจาก ผัก หญ้า เครือ เถา หว้าน หวาย เห็ด ส่วนที่นำมาใช้ก็มี ราก ต้น ใบ ดอก ผล แก่น กระพี้ สัตว์วัตถุ ได้แก่ ร่างกายอวัยวะของสัตว์ที่เรานำมาใช้ปรุงยา รักษาโรค สิ่งเหล่านี้ ได้จาก ขน หนัง เขา นอ งา เล็บ เขี้ยว ฟัน กราม ปรวด หัว ดี กีบ กระดูก ของสัตว์ต่างๆ ธาตุวัตถุ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุ ทั้งพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ ธาตุวัตถุ ๓ อย่างนี้ เราต้องรู้ว่า ได้แก่อะไรบ้าง รู้ส่วนที่จะนำมาใช้ รู้จัก รูป รส กลิ่น สี ชื่อ ว่าเป็นอย่างไร
๒. รู้รสและสรรพคุณ ต้องเรียนรู้ถึงรสและสรรพคุณของพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ ธาตุวัตถุ ที่กล่าวไว้ในข้อ ๑ ข้างต้น ส่วนรสของยานี้ต้องรู้รสยา ๓ รส และรสยา ๙ รส รสยาประจำธาตุ ตัวยาประจำธาตุ รสยาแก้ตามธาตุ รสยาแสลงธาตุและแสลงกับโรค และรสยาที่กล่าวอื่นๆ อีก
๓. รู้คณะเภสัช คือการรู้พิกัดยาต่างๆ ได้แก่การนำตัวยาหลายสิ่งหลายอย่างมารวมกันเข้าแล้วเรียกเป็นชื่อเดียว เรียกเป็นคำศัพท์ก็มี คำตรงก็มี ท่านแบ่งออกเป็น ๓ ชนิด มี จุพิกัด เป็นพิกัดเล็กที่สุดมีชื่อเหมือนกันทั้งสองอย่าง แต่ต่างกันตรงที่แสดงว่า เป็นเพศ เป็นสี เป็นขนาด เป็นชาติ เป็นถิ่น เช่น อำพันแดง อำพันขาว เป็นต้น พิกัด หมายถึงตัวอย่าง ตั้งแต่ ๒ สิ่งขึ้นไป จนถึง ๑๐ สิ่ง นำมารวมกันเข้า เรียกว่าพิกัด จะเรียกชื่อเป็นคำตรงก็ได้ คำศัพท์ก็ได้ ถ้า ๒ สิ่งขึ้นต้นว่า ทะเวหรือทวิ ถ้า ๓ สิ่งเรียกว่าตรี ถ้า ๔ สิ่งเรียกว่าจตุ ถ้า ๕ สิ่งเรียกว่าเบญจ ถ้า ๗ สิ่งเรียกว่า สัตต ถ้า ๙ สิ่งเรียกว่าเนาว ถ้า ๑๐ สิ่งเรียกว่าทส ทั้งจุพิกัด และพิกัดนี้ ต้องมีน้ำหนักและส่วนที่ใช้เท่ากัน มหาพิกัด คือตัวยาหลายสิ่งหลายอย่าง นำมารวมกัน ตัวยาและขนาดที่ใช้แต่ละอย่างไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยบ้าง เพิ่มลดขนาดของตัวยาตาม
ความเหมาะสมกับสมุฏฐานและธาตุของโรค นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณพิกัดพิเศษที่จำเป็นต้องเรียนรู้อีกด้วย
๔. รู้เภสัชกรรม คือการปรุงยาตามหลักของโบราณ ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้นขณะนี้ ๒๕ วิธี ด้วยกัน การปรุงยานี้ เภสัชกรต้องเป็นผู้ละเอียดปราณีต ก่อนจะทำการปรุงยา จะต้องพิจารณา ดูตัวยา ดูขนาดและปริมาณของตัวยา ดูวิธีปรุงยาตามตำรับให้ถูกต้อง หลักการในกรรมวิธีต่างๆ ที่ใช้ทำ ว่าทำอย่างไร ใช้ส่วนใด รวมตลอดไปจนถึงรู้มาตราต่างๆ เช่นมาตราโบราณ เครื่องหมายตีนกา จนถึงในสมัยปัจจุบันเราใช้มาตราเมตริก และได้มีการเทียบน้ำหนัก เปลี่ยนมาใช้มาตราเมตริกเป็นมาตรฐานสากลแล้วรู้จักการฆ่ายา ซึ่งหมายถึงว่า ยาบางอย่างมีฤทธิ์หรือสรรพคุณแรง จำต้องทำให้ฤทธิ์ยาอ่อนลงด้วยวิธีการที่เรียกว่า ประสระ ฆ่า สะตุ คั่ว ฝน เผา
ความสะอาด ก็เป็นการจำเป็นที่สุด ยาดมก็ควรล้างให้สะอาดเสียก่อน และในการต้มยา นิยมใช้น้ำ ๓ ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือน้ำยา ๑ ส่วน ยาผงก็ควรหั่น ขูด ปอกเปลือก ปอกผิว ตลอดจนอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ก็จำเป็นต้องทำความสะอาดให้เพียงพอ
การเก็บรักษา ควรมีรายละเอียด เมื่อปรุงขึ้นเป็นการถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ควรเขียนชื่อยา ฉลาก วิธีรับประทาน วิธีใช้ ขนาดน้ำหนัก ว่าใช้วันละกี่ครั้ง มื้อละเท่าใด ครั้งละกี่เม็ด ใช้กับเด็กอย่างไร ใช้กับผู้ใหญ่อย่างไร ใช้กับคนสูงอายุอย่างไร ขนาดบรรจุกี่เม็ด กี่กรัม ตลอดจนภาชนะที่ใช้บรรจุหรือใส่ยาก็ต้องสะอาดเสมอ มิดชิด ต้องบอกวัน เดือน ปี ที่ปรุงขึ้น ตลอดจนสรรพคุณของยานั้น และวัน เดือน ปีที่สิ้นอายุของยา
การรู้จักชื่อยาที่เรียกชื่อไม่ตรงกัน ทั้งนี้ เพราะยาบางแห่งก็เรียกชื่ออย่างหนึ่ง บางท้องที่ก็เรียกชื่ออย่างหนึ่ง เภสัชกรจำเป็นต้องเรียนรู้ไว้ด้วย และก็จำเป็นอีกเหมือนกันที่เภสัชกร จะต้องทราบถึงตัวยาที่สามารถใช้แทนกันได้อีกด้วย เมื่อตัวยาชนิดใดขาด จะได้ใช้อีกชนิดหนึ่งแทนกัน
อีกประการหนึ่ง น้ำกระสายยานั้น ตามธรรมดาก็จัดอยู่ในเครื่องปรุงด้วย เราจะเห็นตามฉลากยาที่เป็นยาผงหรือเป็นยาเม็ด มันจะบอกให้ใช้น้ำกระสายเสมอ และน้ำกระสายยานั้น ก็ได้มาจากน้ำสะอาดและบริสุทธิ์ โดยการบีบเอาน้ำ คั้นเอาน้ำ ต้มเอาน้ำ หรือฝน หรือคั่ว การแช่ จากวัตถุที่เป็นพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ แร่ธาตุวัตถุ แล้วเอาน้ำดังกล่าวนั้นๆ มาละลายผสมกัน กับยาเม็ดหรือยาผงรับประทาน เราเรียกน้ำที่ได้มาจากวิธีดังกล่าวนั้นว่า น้ำกระสายยาเพื่อเป็นการเพิ่มเสริมสร้างให้ยามีสรรพคุณแรงมากยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถที่จะบำบัดโรค ให้พลันหายเร็วยิ่งขึ้น และเพื่อให้ตรงกับโรคและอาการของโรค
ในสมัยโบราณ มักจะไม่ขาดวิธีการเก็บยา จะต้องหาฤกษ์งามยามดี ในการเก็บยา คือเก็บตามทิศ ตามฤดู ตามวัน และตามเวลา ซึ่งจะไม่ขออธิบายถึง เพราะในสมัยนี้ไม่มีการนิยมไปเที่ยวเก็บยาแล้ว เราจะเห็นว่า มีร้านจำหน่ายเครื่องยากันเป็นจำนวนมาก เมื่อต้องการชนิดใดก็ไปหาซื้อเอามาจากที่ร้านจำหน่ายเครื่องยานั้นเอง
ในเรื่องการปรุงยานั้น ก็สุดแต่ความมุ่งหมายของผู้ปรุง การเรียนรู้หลักการปรุงยา ของแต่ละท่าน ย่อมมีกรรมวิธีทำอาจจะแตกต่างกันออกไปหรือสุดแต่ผู้ใดจะนิยมกัน ก็ใช้ตามวิธีของตนตามแต่ถนัด วิธีปรุงยาตามแบบโบราณนั้นได้กล่าวไว้แล้วว่า มีอยู่ ๒๕ วิธีด้วยกัน มี
๑. ทำเป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอนรับประทาน
๒. ทำเป็นผง ละลายน้ำหรือน้ำกระสายรับประทาน
๓. ต้มรินน้ำรับประทาน
๔. ดองหรือแช่สุราหรือน้ำท่า รินแต่น้ำรับประทาน
๕. ใช้กัดด้วยหัวสุรา แล้วหยดเติมน้ำรับประทาน
๖. เอาเผาเป็นถ่าน แช่เอาน้ำด่างรับประทาน
๗. คั่วให้เกรียม บดเป็นผงละเอียดละลายน้ำรับประทาน
๘. กลั่นเอาแต่เหงื่อ เช่นกลั่นสุราเอาน้ำเหงื่อรับประทาน
๙. ทำเป็นผงละเอียด ใส่กล่องเป่าจมูกหรือลำคอ
๑๐. หุงด้วยน้ำมัน ทาบาดแผล
๑๑. ประสมห่อบรรจุกลักไว้ดม
๑๒. ใช้โรยในไฟเอาควันรมเป่าแผลหรือฝี
๑๓. ใช้มวนเป็นบุหรี่สูบเอาควัน
๑๔. ใช้ต้มเอาน้ำอมและบ้วนปาก
๑๕. ใช้ต้มเอาน้ำแช่
๑๖. ใช้ต้มเอาน้ำชะ
๑๗. ใช้ต้มเอาน้ำชะ
๑๘. ใช้ต้มเอาไอรม
๑๙. ใช้ทาภายนอก
๒๐. ใช้ทำเป็นลูกประคบ
๒๑. ใช้ทำเป็นยาเหน็บ
๒๒. ใช้ทำเป็นยาสวน
๒๓. ใช้ทำเป็นยาสุม
๒๔. ใช้ทำเป็นยาพอก
๒๕. ทำเป็นขี้ผึ้ง เปิดแผลหรือฝี
จะได้กล่าวถึงวิธีการปรุงยาบางชนิดซึ่งเรามักจะได้เห็นกันอยู่เสมอๆ

ยาเม็ด ใช้ตัวยาที่ได้จากพืช สัตว์ แร่ธาตุ นำมาทำความสะอาด แล้วจึงนำมาตากให้แห้ง สับหรือหั่นเป็นชิ้น เป็นแว่น ให้บาง นำมาปรุงบดให้เป็นผงละเอียด จึงนำมาปั้นเป็นเม็ด หรือใช้พิมพ์ยาเม็ดด้วยพิมพ์ทองเหลือง หรือใช้เครื่องปั้มเม็ด หรือปั้นด้วยมือตามที่ตำราได้ระบุไว้ว่า เม็ดขนาดใด เล็กหรือใหญ่ หรือนำมาปิดทองคำเปลว หรือไม่ต้องปิดสุดแต่ตำรา จะระบุไว้หรือไม่ บางทีตำราก็มักจะกล่าวว่า ก่อนปั้นเม็ด ให้แทรกน้ำกระสายด้วยน้ำดอกไม้เทศ หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม (น้ำดอกไม้เทศเป็นเครื่องหอมสูงค่า) โดยใช้โกร่งบดยาผงหรือหินบดยาบดให้ตัวยาเข้ากัน ตัวยาสำคัญได้แก่ ชมดเช็ด ชมดเชียง พิมเสน อำพันทอง หญ้าฝรั่น โคโรค เป็นต้น เรื่องของยาเม็ดนี้ มี ๒ อย่าง คือ ปั้นเป็นเม็ด แล้วตากแดดให้แห้ง อีกอย่างหนึ่งปั้นเป็นเม็ดแล้วเอาผึ่งลมให้แห้ง โดยเอาผ้าขาวบางคลุมยาข้างบน (วิธีนี้ส่วนมากเป็นยาหอม การตากแดดทำให้กลิ่นยา และตัวยาสำคัญ เช่นชมดเชียง ชมดเช็ด จะระเหยหายหรือลดน้อยด้วย เพราะกลิ่นระเหยไป
ยาผง ต้องใช้ตัวยาที่ใหม่ สะอาด ไม่ผุ หรือเสื่อมคุณภาพ นำมาตากแดดให้แห้ง กรอบ และนำมาสับ หั่น ให้เป็นชิ้นเล็ก แล้วปรุงบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ละลายน้ำส้มสุก หรือสุรารับประทานก็ได้
ยาหม้อ ใช้ตัวยาสดหรือแห้ง ทำความสะอาด สับเป็นชิ้น เป็นท่อน หั่นฝาน นำมาปรุงใส่ลงหม้อ ใช้ใบตองปิดปากหม้อ หรือผ้าขาวบางปิดปากหม้อปักด้วยเฉลว ก่อนต้มใช้น้ำ ๓ ส่วน ต้มเคี่ยวให้งวดเหลือ ๑ ส่วน แล้วจึงรินน้ำกิน กินก่อนอาหาร ๓ เวลา ครั้งละ ๑ ถ้วย ชาจีนหรือครั้งละ ๒-๓ ช้อนโต๊ะ ในสมัยก่อน เรามักนิยมใช้เศษสตางค์ผูกคอหม้อ ๑-๒-๓ สตางค์ เมื่อรับประทานยาหายแล้ว ก็เอายาไปจำเริญ (เททิ้ง) เอาเศษสตางค์ไปซื้ออาหารทำบุญ ใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่เจ้าของตำราหรือเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ของผู้เจ็บป่วยอีกโสดหนึ่งด้วย
ยาดอง นิยมใช้กันมาก ใช้ดองสุรารับประทาน บางทีก็กำหนดไว้ว่า แช่สุราให้ท่วมยาสักเล็กน้อย หรือกำหนดยามาให้ดองสุรา ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ขวดดองสุราแช่ไว้ ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง หรือ ๑๕ วันบ้าง สุดแต่จะกำหนด แล้วรินเอาสุรามารับประทาน ในการรับประทาน เรามักนิยมรับประทานกันครั้งละ ๑ ถ้วยตะไล หรือ ๑ ถ้วยชาเล็ก ในสมัยก่อนใช้เปลือกหอย แครงตวง กำหนดว่ารับประทานครั้งละกี่ช้อนหอย การรับประทานก็กำหนดไว้ว่า ก่อนอาหาร และก่อนนอน ส่วนวิธีทำก็เอายาสดหรือยาแห้งมาปรุงหรือตำหรือบดให้เป็นผงละเอียดห่อผ้าขาวบาง แช่สุรา มักใช้กับโรคเกี่ยวกับกระษัยปวดเมื่อย โรคสตรี คือถ้าเป็นชายก็ใช้รับประทาน แก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลัง ถ้าเป็นสตรีก็ใช้รับประทานหลังคลอดบุ่ตร ขับน้ำคาวปลา ทำให้มดลูก เข้าอู่ หรือโรคอยู่ไฟไม่ได้
ยาดองนี้บางชนิดก็มีการดองด้วยน้ำต้มสุก เรียกว่าดองนํ้า ใช้รินน้ำรับประทาน และยังมียาดองด้วยน้ำมะกรูด โดยใช้น้ำมะกรูดต้มหรือคั้นเอาน้ำดองกับตัวยาเช่นเดียวกับดองสุรา แล้วรินน้ำรับประทาน การดองชนิดนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ดื่มสุราไม่ได้ รับประทานแก้จุกเสียด ปวดท้อง ท้องขึ้น เจริญอาหาร ใช้รับประทานเป็นยาประจำท้อง ขับลมผายลม
ยาดองอีกวิธีหนึ่ง คือยาดองน้ำดีเกลือไทย สมัยก่อนตามวัดวาอาราม มักดองใส่ตุ่ม ใส่โอ่งไว้ นิยมใช้ตัวยาสดๆ หรือตำคั้นน้ำนำมาแช่เอาไว้ แล้วแจกจ่ายให้ชาวบ้านหรือผู้ใดไปขอมารับประทานก็ได้ โดยไม่คิดมูลค่าแต่ประการใดๆ ยาดองชนิดนี้มักมีสรรพคุณแก้กระษัย ถ่ายพรรดึก
ยาดองอีกวิธีหนึ่ง คือ ตัวยาดองด้วยน้ำส้มสายชู มีกรรมวิธีและดองก็ใช้วิธีดังกล่าวข้างต้น หากใช้เป็นน้ำส้มสายชูต้องแช่ตัวยาโดยมากเป็นยาใช้ถู ทา ภายนอก แก้เคล็ค ขัด ยอก ช้ำ บวม แก้ปวดเมื่อย เส้นแพลง ไม่ใช้รับประทาน การดองแช่บางทีต้องแช่นานถึง ๑ เดือน จึงนำมาใช้บำบัดโรค
ยาลูกกลอน คือการใช้ตัวยานำมาตากให้แห้ง ปรุงเสร็จแล้วนำมาบดให้เป็นผงละเอียด หรือตำให้เป็นผงละเอียด นำมาผสมกับน้ำผึ้งคลุกให้เข้ากัน นำมาปั้นเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวหรือเม็ดถั่วดำ หรือเม็ดถั่วลิสง หรือใหญ่ขนาดเท่าเม็ดในพุทรา ยาลูกกลอนนี้มักใช้ รับประทานเป็นยาอายุวัฒนะ คือประกอบไปด้วยตัวยาที่มีสรรพคุณขับลม ผายลม ช่วยย่อยอาหาร เจริญอาหาร บำรุงกำลัง ประกอบไปด้วยตัวยาที่มีรสร้อน ย่อมทำให้เกิดความอบอุ่นในร่างกาย ในสภาวะที่อากาศหนาวเย็น โดยมากมักเป็นผู้อยู่ในวัย ๓๐-๔๐ ปีขึ้นไป ตามปกติผู้อยู่ในปัจฉิมวัยธาตุลมเป็นเจ้าเรือน หรือวาโยธาตุมักจะพิการ เจ็บปวดสิ่งใดก็มักจะเป็นด้วยวาโยเป็นเหตุ ใช้รับประทานครั้งละ ๑-๒ เม็ดก่อนนอนขนาดที่ใช้รับประทานก็ขนาดเม็ดถั่วลิสงเป็นส่วนใหญ่ หรือขนาดเท่าเมล็ดพุทรา ยาลูกกลอนนี้มีข้อห้ามว่า ถ้าเป็นไข้ตัวร้อน ไข้พิษ ไข้กาฬ ก็ควรงด หรือห้ามรับประทาน หญิงที่มีครรภ์ห้ามรับประทาน และยาบางขนานก็ไม่เกี่ยวกับอายุวัฒนะเสมอไป ยาบางอย่างก็ใช้น้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนก็มีเพื่อสะดวกแก่การรับประทาน การใช้เพราะยาบางขนานมีตัวยาที่เข้ามหาหิงค์ ยาดำ รงทอง รับประทานก็ยาก กลืนก็ยาก เนื่องจากบางคนก็ไม่ชอบกลิ่นของยา เช่นยาธรณีสันทคาต ก็นิยมทำเป็นลูกกลอนก็มี หรือยาที่แก้ลม โลหิต หรือยาอินทจักร์ บางท่านอาจจะนำมาปั้นเป็นลูกกลอน สุดแต่ความสะดวกของผู้ใช้ หรือใช้รับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง หรือยาแก้กระษัย หรือผู้ใช้ยาขนานหนึ่งขนานใดดังกล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นประจำ มักนิยมใช้ปั้นเป็นลูกกลอนเพื่อความสะดวก
ยาสูบ หมายถึงตัวยาสดหรือยาตากให้แห้ง นำมาหั่นเป็นเส้นคล้ายเส้นยาสูบ แล้วนำมามวนด้วยใบตองอ่อนตากแดดแห้งมวนคล้ายบุหรี่ให้สูบเอาควัน ยาชนิดนี้นิยมใช้รักษา โรคหืด โรคริดสีดวงจมูก เพื่อระงับหรือบรรเทาอาการของโรค หรือบางทีก็ใช้กระดาษฟาง
กระดาษข่อย ทาควยหรดาน แล้วจึงเอายามาหั่นมามวนด้วยใบตองอ่อนตากแห้ง มวนคล้ายบุหรี่ ใช้สูบอัดเอาควันออกมา ใช้แก้ในโรคจมูก เช่นริดสีดวงจมูก หรือโพรงจมูกอักเสบ หรือหนองมีกลิ่นคาว
ยานัตถุ์ คือการเอายาสด ยาแห้ง ปรุงบดเป็นผงให้ละเอียดมากสำหรับนัตถุ์ เป่าเข้าจมูก โดยใช้กล้องยานัตถุ์ หรือใช้สูบดมอย่างแรงเข้าทางรูจมูก ใช้นัตถุ์หรือดมแก้ริดสีดวงจมูก เป็นหวัด คัดจมูก ตาฝ้าฟาง ทำให้น้ำมูกไหล จมูกโล่ง หายใจคล่อง หายวิงเวียนศีรษะ หูตาสว่าง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน
ส่วนวิธีอื่นๆ ก็เป็นวิธีทำอย่างง่ายๆ เช่นหุงด้วยน้ำมัน ก็เอาตัวยามาปรุงรวมกับน้ำมัน แล้วใช้หุง โดยมากจะเป็นยาทาบาดแผลบางอย่างก็ต้มเอาแต่ไอรม บางอย่างก็ใช้โรยในไฟ เอาแต่ควันรมบางอย่างก็ต้มเอาแต่น้ำไว้อาบ หรือชะ หรือแช่ ดังนี้เป็นต้น
ที่มา:นิรันดร์ พงษ์สร้อยเพ็ชร์ และ พ.ต.ต. ปราโมทย์ ศรีภิรมย์
สมาคมแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า