สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาการและวิธีรักษา โรคอุจจาระร่วง (Diarrhea)

โรคอุจจาระร่วง หรือ โรคท้องเดิน ท้องเสีย หมายถึงภาวะที่ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่าวันละ 2 ครั้ง หรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือมูก หรือมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียว ถือเป็น อาการของโรคกลุ่มหนึ่งในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งพบได้บ่อยเนื่องจากสามารถติดต่อได้รวดเร็ว เกิดในทุกฤดูกาลโดยเฉพาะในฤดูร้อนพบผู้ป่วยมากเนื่องจากเชื้อโรคเจริญและแพร่พันธุ์ได้ดี

โรคนี้พบได้ในบุคคลทุกเพศทุกวัย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ในเด็กจะมีอาการรุนแรงและมีอัตราการตายสูง จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อพ.ศ.2531 พบว่ามี ประชาชนเสียชีวิตด้วยโรคอุจจาระร่วงจำนวน 1,677 ราย หรือ 3.7 รายต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งนับว่าเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอันดับที่ 6

สาเหตุของโรคอุจจาระร่วง
เกิดจากการกินอาหาร ดื่มน้ำ หรือนมที่มีเชื้อโรคอุจจาระร่วงปะปนอยู่ มีสาเหตุ แตกต่างกัน ดังนี้
1.    เกิดจากการได้รับเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เข้าไปทางระบบทางเดินอาหาร (เช่น เชื้อ Enteropathogenic Escherichia coli)
2.    เกิดจากยาหรือสารพิษต่างๆ    เช่น สารตะกั่วที่ปนเปื้อนในอาหาร หรือกินเห็ดพิษ เป็นต้น
3.    เกิดจากความผิดปกติของทางเดินอาหาร   เช่น การดูดซึมของลำไส้เล็กผิดปกติ  โรคมะเร็งลำไส้ เป็นต้น
4.    จากอารมณ์ตึงเครียด    ซึ่งมักเป็นหลังจากกินอาหารใหม่ ๆ
5.    เป็นโดยไม่ทราบสาเหตุของการเกิดอุจจาระร่วง

เชื้อที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อปรสิตทั้งพวกหลายเซลล์  ได้แก่ พยาธิต่างๆ และพวกเซลล์เดียว ได้แก่ อะมีบิกที่ทำให้เกิดโรคบิด ฯ

แหล่งของโรค ได้แก่ผู้ที่มีเชื้อโรค ปะปนออกมากับอุจจาระ ซึ่งบางคนสามารถ แพร่เชื้อได้โดยไม่แสดงอาการ เช่นผู้ป่วยหรือผู้เป็นพาหะนำโรค

การติดต่อ สามารถติดต่อได้โดยการรับเชื้อที่ปะปนออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย แล้วกระจายอยู่ในแหล่งน้ำและพื้นดิน ติดต่อ โดยการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำที่มีเชื้อโรค เช่นในกรณีที่ผู้ป่วยหรือผู้เป็นพาหะถ่ายอุจจาระลงน้ำ หรือไม่ขับถ่ายในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เมื่อฝนตกเชื้อโรคที่ปะปนออกมากับอุจจาระ จะกระจายไปในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งในแม่น้ำลำคลอง หากนำน้ำนั้นมาบริโภค เช่น ดื่ม หรือล้างทำความสะอาดภาชนะ เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้

หากมีแมลงวันที่ตอมอุจจาระของผู้ป่วยแล้วมาตอมอาหารก็สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อได้เช่นกัน

หรือในกรณีที่รับประทานผักดิบที่ปลูกโดยใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย ผู้บริโภคที่ล้างผักไม่สะอาดก็อาจได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

ระยะฟักตัวของโรค
ขึ้นอยู่กับเชื้อแต่ละชนิด อาจเป็นได้ตั้งแต่ 6 ชั่วโมงถึง 3-4 วัน

ระยะติดต่อ
ตลอดเวลาที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย

ความไวต่อโรคและความต้านทาน
คนส่วนใหญ่มีความไวต่อโรคเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

อาการของโรคอุจจาระร่วง

ลักษณะอาการโดยทั่วไปของโรคอุจจาระร่วงคือ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำติดต่อกันหลายครั้ง ปวดท้อง อ่อนเพลีย บางคนอาจมีไข้และมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

ในรายที่ถ่ายอุจจาระติดต่อกันมากๆ ร่างกายอาจแสดงอาการขาดน้ำ กล่าวคือ รู้สึกกระหายน้ำจัด เป็นตะคริว เสียงแห้ง แก้มตอบ ผิวหนังเหี่ยวย่น ตัวเย็น ชีพจรเบา ความดันเลือดต่ำ อาจมีอาการช็อค และหมดสติได้ อาจแบ่งอาการเป็น 2 ชนิดคือ

1.ชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างเฉียบพลันทันที และเป็นอยู่วันสองวันหรือ อย่างมากไม่เกิน 1 สัปดาห์ มักเกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อโรคหรือสารพิษปนเปื้อน หรือจากการกินยาถ่าย ยาระบาย ยาลดกรด ยาปฏิชีวนะบางชนิด ในเด็กทารกมักเกิดจากการเตรียม ขวดนมไม่สะอาด

2.ชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการอุจจาระร่วงแบบเป็นๆหายๆ อาจนานนับเดือนนับปี ส่วนใหญ่ไม่มีสาเหตุร้ายแรง อาจเกิดจากธาตุอ่อนซึ่งพบได้บ่อย หรืออาจเกิดจากติดเชื้อ เช่น เป็น วัณโรคลำไส้ เกิดจากเชื้อพยาธิ หรือเกิดจากการเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน คอพอก เป็นพิษ รวมทั้งอาจเกิดจากเป็นโรคมะเร็งลำไส้

การตรวจหาเชื่อและวินิจฉัยโรค
โดยดูจากอาการ การตรวจอุจจาระ ฯ

การรักษาพยาบาล ถ้าอาการไม่มากอาจให้ผู้ป่วยกินยาสามัญประจำบ้าน งดอาหาร ที่ย่อยยาก ที่มีรสจัด และมีกาก ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสุกหรือน้ำสะอาด ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ที่เรียก ย่อๆว่า โอ อาร์ เอส (O.R.S.) หรือ Oral Rehydration Salt ซึงมีจำหน่ายในท้องตลาด หรือ อาจทำชื้นเอง โดยให้มีส่วนผสมของเกลือป่นครึ่งช้อนชา น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำต้มสุก 0.5 ลิตร ดื่มเพื่อช่วยทดแทนการเสียน้ำ น้ำตาลและเกลือแร่ในร่างกายจากการขับถ่าย

การใช้ยา เช่น ยากินแก้อุจจาระร่วง ควรปรึกษาแพทย์

โรคแทรกซ้อน
หากผู้ป่วยมีอาการไข้ตัวร้อนหลายวัน อาจมีสาเหตุจากไข้ไทฟอยด์  ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย หรือโรคติดเชื้ออื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์

โรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายโรคอุจจาระร่วง
ได้แก่โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ และโรคติดเชื้อทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น อหิวาตกโรค

การปฏิบัติตนเมื่อเป็น หรือสงสัยว่าป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วง
นอกจากการไปพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับผู้ป่วย ด้วยโรคติดต่อ ดังกล่าวรายละเอียดไว้ในบทนำ แล้ว ยังมีข้อควรทราบเกี่ยวกับการปฏิบัติเฉพาะโรคเพิ่มเติม ดังนี้

1.ควรฟักผ่อนให้มากๆ เพราะร่างกาย เพลีย ดื่มผงเกลือแร่ หากอ่อนเพลียหรือถ่ายมาก กินอาหารที่ย่อยง่ายเมื่ออาการทุเลา ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะและระวังในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

2.หากอาการไม่ทุเลาหรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

การป้องกันและควบคุมโรค
นอกจากปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อหลีกเลี่ยงและ ป้องกันการรับเชื้อหรือภาวะที่ทำให้เกิดโรค ดังกล่าวรายละเอียดไว้ในบทนำแล้ว ยังมีข้อควรทราบเติมเฉพาะโรค ดังนี้

1.    รับประทานอาหารที่สุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำสะอาด
2.    ในเด็กทารกที่ดื่มนมจากขวด ควรต้มขวดนมทุกครั้งที่มีการเตรียมนมในเด็ก
3.    ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือประกอบอาหาร

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า