สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สารกำจัดศัตรูพืช:สารฆ่าวัชพืช

ที่มา:พาลาภ  สิงหเสนี

สารฆ่าวัชพืชสูตรฆลอโรฟีนอกซีย์

สารกำจัดวัชพืช (herbicide) กลุ่มนี้ถูกค้นคิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยค้นคว้าสารกำจัดวัชพืชที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน

กลวิธานการเกิดพิษ

กลวิธานการเกิดพิษในมนุษย์ยังไม่เป็นที่เข้าใจดี สารนี้จะออกฤทธิ์ในพืชเหมือนฮอร์โมนออกซีน (auxins) ซึ่งมีสูตรโครงสร้างคล้ายกรดอินโดลอะศีติค (indoleacetic acid) ซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนของสารไดออกซืนได้สูงถึง ๔๗ ไมโครกรัมต่อกรัม และมีผลการทดลองพบการเกิดมะเร็งและความผิดปรกติ ในการพัฒนาตัวอ่อนของสัตว์ทดลอง

สารประกอบสูตรโครงสร้างฆลอโรฟีนอกซีย์จะ ไม่มีฤทธิ์แบบฮอร์โมนในสัตว์ สัตว์ทดลองที่ได้สารในกลุ่มนี้ในขนาดน้อยลง จะมีอาการทางกล้ามเนื้อ เช่น อาการเกร็งของแขนขา อาการโซเซ (ataxia) และอัมพาตกล้ามเนื้อ จนถึงอาการโคม่า แต่ถ้าได้สารจำนวนน้อยที่ไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต จะมีอาการน้อย เช่น อาการเพลียของกล้ามเนื้อเท่านั้น แม้ว่าจะได้รับสารขนาดใกล้เคียงกับขนาดเป็นพิษเป็นเวลานานๆ จึงแสดงว่าไม่มีการสะสมของสารเกิดขึ้น ประมาณว่าขนาดของสารประกอบกลุ่มนี้ที่ทำให้เกิดอาการพิษ ในคนปรกติสูงถึงประมาณ ๓ ถึง ๔ กรัม คนที่ฟื้นจากการได้รับสารปริมาณสูงมากอาจมีอาการ เช่น อาการเพลียกล้ามเนื้อ อาการประสาทส่วนรอบอักเสบ (peripheral neuritis) เป็นต้น มีรายงานว่า จุลพยาธิวิทยาของสัตว์ทดลองที่ตายเนื่องจากสารประกอบกลุ่มนี้จะไม่จำเพาะเจาะจง แต่เป็นอาการแสดงของการระคายต่อกระเพาะ ตับและไต

พบว่าคนทำงานเกี่ยวข้องกับ ๒-๔-๕ ที อาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบคล้ายเป็นสิวที่เรียกว่า ฆลอร์แอคเน (chloracne) ขึ้นได้ ต่อมาจึงพบว่าอาการ ดังกล่าวเกิดขึ้นจากสารซึ่งปนเปื้อนอยู่กับ ๒-๔-๕ ที ได้แก่สาร 2,3,7,8-tetrachlorodibenzo-p- dioxin

สารปนเปื้อนไดออกซิน เกิดขึ้นในระหว่างการสังเคราะห์สารไทรฆลอโรฟีนอล ซึ่งเป็นสารตั้งต้น ในการสังเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มนี้

ในปัจจุบันสารกำจัดวัชพืช ๒-๔-๕ ที ได้ถูกห้ามนำเข้าเพื่อใช้ในการเกษตรของประเทศไทยแล้ว

จากรายงานผู้ป่วยที่ตายเนื่องจากสารกำจัดวัชพืช ๒-๔ ดี ส่วนใหญ่เกิดจากการจงใจฆ่าตัวตาย โดยกินสารดังกล่าวปริมาณมาก ในผู้ป่วย ๒ ราย ที่ เสียชีวิตจากการได้รับ ๒-๔ ดี พบว่าเซลส์ตับถูกทำลาย และมีการสะสมไขมันในตับ แต่ผู้ป่วยที่ได้รับสารขนาดสูง แต่ไม่ถึงแก่ชีวิตจะไม่พบการทำลายของเซลล์ตับแต่อย่างใด

อาการพิษจากสารกลุ่มฟีนอกซีย์

-สารความเข้มสูงทำให้มีอาการระคายเคือง

-การกินโดยไม่ตั้งใจ (อุบัติเหตุ) ในขนาดเป็นกรัมจะเกิดอาการพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยรู้สึกปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก ไม่รู้สึกตัว ในบางรายจะพบความผิดปรกติของตับ และไต

-อาการพิษต่อระบบประสาทส่วนรอบ (peri­pheral neuropathies) และการลดความเร็วของการส่งสัญญาณประสาทผ่านเส้นประสาท ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากตัวทำละลายในสูตรตำรับนั้นๆ

-ในอดีต พบรายงานพิษต่อผิวหนังจากการได้รับสัมผัส ๒,๔,๕-ที ในลักษณะเป็นสิวฆลอรีน ซึ่งเข้าใจว่าเกิดจากสูตรตำรับที่ปนเปื้อนด้วยสาร ไดออกซิน และฟิวแรนส์ (furans)

การแก้พิษ

พยายามลดการดูดซึมของสารเข้าสู่กระแสเลือด เช่น ใช้ถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) และเพิ่มการขับถ่าย นอกจากนั้นเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ ควบคุมอาการชักด้วยการให้ยาระงับการชัก ให้น้ำและอีเล็คโทรไลท์ ในรายที่มีอาการอาเจียน เป็นต้น

สารฆ่าวัชพืชกลุ่ม quaternary ammonium

ได้แก่ พาราควอท และไดควอท

พาราควอทที่มีจำหน่ายทั่วไปจะอยู่ในรูปของเกลือไดเมธิย์ลสัลเฟต หรือไดฆลอไรด์ พารา­ควอทบริสุทธิ์เป็นผลึก ไม่มีสี มีกลิ่นอ่อนๆ ไม่ระเหย คงตัวในกรดหรือสารละลายที่เป็นกลาง ไม่คงตัวในสารละลายที่เป็นด่างมาก มักจำหน่ายในสูตรตำรับที่ละลายในน้ำ

ไดควอท มักจำหน่ายในสูตรตำรับผง และละลายในน้ำ ละลายได้น้อยในแอลกอฮอล์ ไมละลายในตัวทำละลายฮัยโดรคาร์บอน

พิษพาราควอทจากการบริโภค

ลักษณะพิเศษของการเกิดพิษจากพาราควอท ได้แก่ การเกิดความผิดปรกติที่ปอดหลังจากช่วงเวลาหนึ่ง (delayed pulmonary lesions) ซึ่งจะ เห็นได้จากอาการปวดบวมน้ำ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นพังผืดขึ้นในชั้นระหว่างผนังถุงลม (interstitial fibrosis)

ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากพาราควอทจนเสียชีวิต ส่วนมากจะเป็นพวกเจตนาฆ่าตัวตาย การตายเกิดขึ้นจากการเกิดเนื้อพังผืดที่ปอดซึ่งลุกลามและรักษา ไม่ได้ เมื่อพาราควอทสะสมที่ปอด จากการขนส่งแบบกัมมันต์ (active process) ไม่พบว่ามีการสะสมไดควอทที่ปอด

พิษพาราควอทที่ซึมผ่านผิวหนัง

พาราควอทมีผลทำให้เกิดการระคายต่อผิวหนัง เป็นแผลพุพอ, เข้าตาเกิดอาการตาแดง และถ้าปริมาณมากทำให้ตาบอดได้ มีรายงานว่าชายอายุ ๔๔ ปี ฉีดพ่นพาราควอท แต่หัวฉีดรั่ว พาราควอทจึงเปื้อนคอและหลัง และเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการหายใจและไตล้มเหลว เซลล์ตับมีการเสื่อมสภาพ ชนิดที่มีไขมันมากขึ้นในศัยโตพลาสม

พิษพาราควอทที่ฉีดเข้าสัตว์ทดลอง

เมื่อฉีดพาราควอทแก่หนูขาว พบว่าหนูที่ได้รับ พาราควอท ๐.๐๑ และ ๐.๐๒ มก. ต่อน้ำหนักตัว ๑ กก. ไม่เกิดความผิดปรกติ แต่ที่ความเข้ม ๐.๑ มก./ น้ำหนักตัว ๑ กก. เกิดความผิดปรกติที่ตับ ไต และ ปอด

หลังจากดูดซึมเข้าสู่ร่างกายพาราควอทและ ไดควอทจะกระจายตัวอย่างรวดเร็วเข้าสู่กระแสเลือด ความเข้มสูงสุดของพาราควอทพบที่ไต ซึ่งเป็น อวัยวะขับถ่ายสารฆ่าวัชพืชพาราควอท และไดควอท

พาราควอทจะถูกขนส่งแบบกัมมันต์ (active transport) เข้าสู่ปอดโดยใช้ระบบขนส่งเดียวกับขนส่งไดแอมีน/โพลีย์แอมีน ในจุดออกฤทธิ์ พาราควอทจะทำปฏิกิริยากับโมเลกุลของออกซีย์เจน เกิดประจุอิสระและฮัยโดรเจนเปอร์ออกไซด์

อาการพิษของพาราควอท

อาการพิษในมนุษย์มักพบในผู้ป่วยที่จงใจกินฆ่าตัวตาย.

อาการพิษเฉพาะที่

อาจเกิดขึ้นจากการได้รับสัมผัสสูตรตำรับที่มีความเข้มสูง ได้แก่

-อาการระคายเคืองผิวหนัง และทางเดินอากาศหายใจ

-เล็บถูกทำลาย

-ระคายเคืองเนื้อเยื่อภายในปาก และตา

อาการพิษทั่วกาย

-พิษแบบฉับพลันอาจรุนแรงถึงเสียชีวิต ภายในเวลา ๒-๓ วัน

-ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตหลังจากนั้น ๒-๓ สัปดาห์ เมื่อเกิดพังผืดที่ปอด

-อาจเกิดอาการพิษต่อไตและตับ

-ในกรณีกินยากำจัดวัชพืชเพื่อฆ่าตัวตาย เนื้อเยื่อถูกทำลายอย่างรุนแรงภายในช่องปากและคอหอย และหลอดอาหาร

-ถ้าผู้ป่วยไม่เสียชีวิตอาจหายเป็นปรกติในเวลาหลายเดือนต่อมา

เมื่อผู้ป่วยมีประวัติการได้รับสัมผัสและเกิดอาการพิษดังกล่าวข้างต้นนี้ อาจตรวจหาพาราควอทในปัสสาวะ โดยการทดสอบอย่างง่ายๆ โดยใช้สาร ละลาย sodium dithionite ซึ่งบรรจุพร้อมใช้ในแคปซูล และหลอดสารละลายโซดาไฟ (caustic soda) ซึ่งจะตรวจพาราควอทได้เมื่อมีความเข้มประมาณ ๑- ๒ พีพีเอ็ม (มิลลิกรัมในปัสสาวะ ๑ ลิตร)

การแก้พิษ

เมื่อได้รับพาราควอทโดยการบริโภค ควรล้างท้องผู้ป่วย และพยายามกระตุ้นให้มีการถ่ายอุจจาระ โดยดื่มสารละลาย fuller’s earth ๑๕% ๑ ลิตร ควบคุมอีเล็คโทรไลท์ และระดับของเหลวในร่างกาย พยายามหลีกเลี่ยงการให้ออกซีย์เจนจนกว่าจะจำเป็นจริงๆ

การแก้พิษพาราควอทเฉพาะที่ ให้ล้างตาด้วยน้ำเกลือไร้เชื้อ ถ้า

พาราควอทเข้าตา ถ้าพาราควอทถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำและสบู่

เนื่องจากขนาดของสารกำจัดศัตรูพืชเกี่ยวข้องกับพิษ และการได้รับสัมผัส นำมาสู่ขนาดที่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ดังที่ได้กล่าวแล้ว ดังนั้นการลด ความเสี่ยงต่อพิษของสารกำจัดศัตรูพืชจึงทำได้โดยการลดการสัมผัส

วิธีการลดการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช

ซึ่งอาจปฏิบัติได้ดังกลวิธีต่อไปนี้

๑. การลดการพึ่งพาสารกำจัดศัตรูพืช โดยใช้วิธีการอื่นๆ ในการควบคุมศัตรูพืช ศัตรูสัตว์ และศัตรูมนุษย์ เช่น ชีววิธี หรือการลดปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีการเกษตรกรรมต่างๆ หรือการใช้วิธีการเกษตรกรรมแบบผสมผสาน

๒. มาตรการทางกฎหมาย โดยการพิจารณาก่อนเข้าสู่ตลาด (pre-marketing screening through registration) รัฐบาลมีหน้าที่ในการตัดสินใจในการอนุญาตให้มีการนำสารกำจัดศัตรูพืชเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตให้ขึ้น และต่อทะเบียน การคัดเลือกสารกำจัดศัตรูพืชที่จะอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนนั้น ทำโดยอาศัยกระบวนการจัดการความเสี่ยง (risk management)

วิธีการทำงานอย่างปลอดภัย

เนื่องจากเกษตรกร หรือคนงานที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับสารกำจัดศัตรูพืช มักเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดพิษสูงกว่าสาธารณชนที่ได้รับสารกำจัด ศัตรูพืชจากสิ่งแวดล้อม วิธีการทำงานอย่างปลอดภัย จะทำให้ลดการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชดังนี้

๑. ให้ระยะเวลาที่ไม่ควรเดินเข้าไปในบริเวณฉีดพ่น

๒. ให้ระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนการเก็บเกี่ยว

๓. การเก็บรักษาสารพิษอย่างปลอดภัย

๔. ควรตั้งสติระมัดระวังขณะทำการถ่ายสาร ผสมทำให้เจือจาง หรือฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช

๕. ใช้เครื่องมือฉีดพ่นที่มีประสิทธิภาพในขนาดที่เหมาะสม

๖. ทำการล้าง จัดการ/หรือทำความสะอาดเบื้องต้นแก่ภาชนะที่ใช้แล้วปนเปื้อน

(กระทรวงเกษตรและลหกรณ์ ๒๕๒๕)

๑) การทำลายและปฏิบัติกับภาชนะบรรจุวัตถุ มีพิษรวมทั้งเศษเหลือของวัตถุมีพิษนั้น ห้ามมิให้มีการทำลายวัตถุมีพิษในบริเวณที่มีการเลี้ยงสัตว์ บริเวณแหล่งชุมชน แหล่งน้ำสาธารณะ หรือบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งดังกล่าว อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์อื่น หรืออนามัยของบุคคล

๒) การทำลายวัตถุมีพิษให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขทางวิชาการ

๓) ห้ามมิให้นำเอาภาชนะบรรจุที่ใช้บรรจุวัตถุมีพิษแล้วไปใช้ในกิจการอื่น

๔) ภาชนะบรรจุวัตถุมีพิษที่ไม่ต้องการใช้ ให้ทำลายในวิธีที่เหมาะสม

๕) ต้องแยกสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วซึ่ง มีวัตถุมีพิษปนอยู่ด้วยไว้ในที่รองรับต่างหาก

๖) ห้ามนำไปทิ้งกับขยะทั่วไป ต้องมีวิธีทำลายสิ่งดังกล่าวโดยเฉพาะเพื่อรักษาความปลอดภัย

๗) ต้องมีระบบกำจัดวัตถุมีพิษที่เป็นเศษเหลืออยู่ในน้ำทิ้งของสถานที่ผลิตก่อนระบายน้ำนั้นออกจากสถานที่ดังกล่าว โดยป้องกันมิให้เกิดอันตราย หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญต่อบุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินในบริเวณใกล้เคียง หรือบริเวณที่น้ำทิ้งไหลผ่าน

การขนส่งวัตถุมีพิษและการแก้ปัญหาเมื่อเกิดอุบัติเหตุการขนส่งวัตถุมีพิษ

๑. ควรให้พนักงานขับรถรู้ว่าสารเคมีที่บรรทุกนั้นเป็นอะไร มีความเป็นพิษและอันตรายมากน้อยเพียงไร พร้อมกับมีเอกสารที่เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอันตรายที่เกิดจากอุบัติเหตุและเพลิงไหม้ติดไปกันรถด้วย

๒. ก่อนขับรถพนักงานขับรถควรทำความเข้าใจกับสารเคมีที่บรรทุกเสียก่อนทุกครั้ง

๓. รถที่ใช้บรรทุก ควรเป็นรถชนิดที่มีที่นั่งคนขับแยกต่างหากจากบริเวณบรรทุก

๔. ไม่บรรทุกวัตถุอันตรายร่วมกับอาหารหรือวัตถุดิบที่ใช้ทำเป็นอาหารของคนและสัตว์

๕. หีบห่อหรือถังบรรจุทุกชิ้นควรมีคำแนะนำที่บอกถึงอันตราย ข้อควรระวังต่างๆ รวมทั้งวิธีป้องกันและแก้ไขเมื่อเกิดอุบัติเหตุอยู่

๖. ควรปกคลุมและผูกมัดภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่บรรทุกให้แน่นหนาก่อนเคลื่อนย้ายรถ

๗. พนักงานขันรถควรมีข้อมูลสถานที่ติดต่อ หรือหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าของสินค้า ตำรวจดับเพลิง หน่วยบรรเทาสาธารณภัย และอื่นๆ ติดไปกับรถหรือตัวคนขับด้วยเสมอ

๘. บนรถบรรทุกวัตถุมีพิษ ควรจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันแบบง่ายๆ ติดรถไปด้วย เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงมือยาง แว่นป้องกันดวงตา ผ้ายางหรือพลาสติคกันเปื้อน แปรงหรือไม้กวาด พลั่วหรือเสียม

การแก้ปัญหาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

๑. ดับเครื่องยนต์ทันที เพื่อป้องกันมิให้ประกายไฟจากเครื่องเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้

๒. งดสูบบุหรี่

๓. ทุกคนควรเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณที่เกิดเหตุไปอยู่เหนือลม และรอจนกว่าสถานการณ์ปรกติ เช่น สารเคมีหยุดรั่วไหล ไม่เกิดเพลิงไหม้ หรือถ้ามีผู้บาดเจ็บหรือหมดสติ ให้รีบนำออกจากบริเวณที่เกิดเหตุโดยด่วน

๔. ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือและความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยบรรเทาสาธารณภัยที่อยู่ใกล้เคียงที่สุด พร้อมกับแจ้งเจ้าหน้าที่อนามัย

๕. เมื่อสถานการณ์สงบ ผู้บาดเจ็บเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว และไม่มีโอกาสที่จะเกิดเพลิงไหม้ ให้ทำการคั่นกั้นมิให้สารเคมีไหลแพร่กระจายออกไป โดยใช้ดิน ทราย หรือวัสดุอย่างอื่นที่มีอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ

๖. ทำการเคลื่อนย้ายส่วนที่ดีออกจากบริเวณที่เกิดเหตุด้วยความระมัดระวัง สำหรับที่แตกเสียหาย ให้ย้ายไปกองรวมกันในที่อื่น และต้องระงับอย่าให้สารเคมีเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น

๗. แจ้งให้ผู้อยู่บริเวณใกล้เคียงทราบถึงความเป็นพิษ และอันตรายของสารเคมีที่แตกเสียหาย พร้อมกับข้อควรระวังอย่างอื่นๆ

๘. สำหรับสารเคมีที่แตกกระจายรั่วไหล ควรปฏิบัติดังนี้

ของเหลว กลบด้วยขี้เลื่อย หรือดินทราย เพื่อดูดซับสารเคมีให้แห้งแล้วรวบรวมนำไปทำลายโดย การฝังดินในที่ๆ น้ำท่วมไม่ถึง สำหรับการทำความสะอาดบริเวณที่เกิดเหตุ ให้ใช้ปูนขาวหรือน้ำปูนขาว (น้ำด่าง) โรยหรือสาดให้ทั่วบริเวณทิ้งไว้ระยะหนึ่ง แล้วจึงราดปูนขาวหรือน้ำด่างออกก่อน ที่จะล้างด้วยน้ำปรกติต่อไป

ของแข็ง (ฝุ่น ผง)

ใช้ขี้เลื่อยหรือดินทรายผสม เพื่อช่วยลดฝุ่น ละออง และลดความเข้มข้น ในระหว่างการเก็บกวาดและนำไปทำลายอย่างถูกต้อง

๙. ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ ควรปฏิบัติ ดังนี้

๙.๑ ใช้เครื่องดับเพลิงประจำรถดับเพลิงที่ลุกไหม้ทันที

๙.๒ ถ้าไม่สามารถระงับเหตุการณ์ได้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่อยู่ใกล้เคียงที่สุดว่ากำลังเกิดเพลิงไหม้สารเคมีอะไรอยู่ และขอความร่วมมือโดยรีบด่วน

๙.๓ เตือนให้พนักงานดับเพลิงทราบถึงอันตรายของไอและควัน รวมทั้งการสัมผัสกับสารเคมีก่อนที่จะเข้าไปดับเพลิง

๙.๔ ควรแนะนำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นประชาชนที่มามุงดูให้ออกจากบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้

๙.๕ แจ้งให้ผู้อยู่บริเวณใต้ลมสถานที่เกิดเหตุ อพยพออกไปอยู่เหนือลม

๙.๖ ควรใช้สารเคมีดับเพลิงก่อน ไม่ควรใช้น้ำทันที ยกเว้นในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

๙.๗ ภายหลังเพลิงสงบแล้ว ให้จัดการกับสารเคมีที่แตกกระจายหรือรั่วไหล ตามวิธีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

สารฆ่าเชื้อรา

การใช้สารเคมีเพื่อฆ่าเชื้อราโดยไม่เป็นอันตราย ต่อพืชเพาะปลูก ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากรา เป็นศัตรูพืชซึ่งอาศัยอยู่บนพืชชนิดอื่นอย่างใกล้ชิด สารกำจัดเชื้อราซึ่งใช้ฆ่าเชื้อรามีโครงสร้างแตกต่างกันหลายอย่าง บางชนิดมีพิษน้อย แต่บางชนิดมีพิษมาก และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้อย่างมาก สารในกลุ่มนี้เพิ่งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ท้องตลาดในระยะหลังนี้.ในปี ๒๕๐๗ มีรายงานว่าสารกำจัดเชื้อราประเภทสารประกอบกำ­มะถัน มีอยู่ถึงร้อยละ ๘๐ ของสารฆ่าเชื้อราทั้งหมด ในปัจจุบันมีสารในกลุ่มนี้มากกว่า ๒๕๐ ชนิด ภายใต้ชื่อต่างๆ กัน

๑. เพนทาฆลอโรฟีนอล

เพนทาฆลอโรฟีนอล ใช้ในการฆ่าเชื้อราด้วย นอกเหนือจากการใช้เป็นสารฆ่าแมลง และยาปราบวัชพืช สารนี้ถูกดูดซึมได้ดีทางผิวหนัง อาการพิษ เฉียบพลันเกิดเนื่องจากฤทธิ์ในการ uncoupling ในกระบวนการ oxidative phosphorylation ซึ่ง ได้แก่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และการหมดแรงเนื่องจากไม่สามารถใช้ เอ.ที.พี. (ATP) ขนาดของสาร ซึ่งทำให้สัตว์ทดลอง

-การเป็นพิษของสารกำจัดเชื้อราและสารกำจัดวัชพืชเกิดจากฤทธิ์การกระตุ้นเมตาบอสิสมในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

-ผลก็คือมีการเพิ่มอัตราการหายใจและการเพิ่มของอุณภูมิของร่างกายในระดับสูง

-การได้รับสัมผัสทางผิวหนังอาจทำให้เกิด ฆลอร์เเอคเน (สิว ตุ่ม)

-สารประกอบจะถูกขับถ่ายอย่างช้าๆ ภายในช่วงเวลาประมาณ ๑ สัปดาห์ ดังนั้นจึงอาจทำให้เกิดการสะสมภายในร่างกาย หากมีการได้รับซ้ำ ๆ

ตัวอย่าง

เพนทาฆลอโรฟีนอล (Ib) ไดโนเทอบ (Ib) ดีเอ็นโอซี (Ib)

ไดโนเซป (Ib)        เนดิโนเทอบ (Ib) ไดโนแคบ (III)

๒. สารฆ่าเชื้อราที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ

๒.๑ เกลือของสารหนู เคยใช้เป็นสารกำจัดหนู สารกำจัดวัชพืช และสารกำจัดตัวอ่อน (larva) สารหนูอนินทรีย์มีพิษสูงมาก มีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์จึงไม่ควรอนุญาตให้มีการใช้

ตัวอย่าง

อาร์เสนัสออกไซด์ (Ia) คิวปริกอาร์เสโนอาร์เสไนท์ (เขียวปารีส) (Ib)

แคลเซียมอาร์เสเนท (Ia) กรดไดเมทธิย์ลอาร์เสนิค (กรดคาร์โคไดลิค) (III) ตะกั่วอาร์เสเนต (Ib)

๒.๒ เกล็ดปรอทอินทรีย์ ใช้เป็นสารกำจัดเชื้อราบนเมล็ด ตัวอย่าง: ปรอทเฟนิย์ลอะศีเตท และไนเตรท (Ia) สารประกอบเหล่านี้คล้ายคลึงกัน มีพิษสูงมากและอาจก่อให้เกิดการทำลายระบบประสาทอย่างถาวร ควรให้ใช้ในกรณีที่ไม่มีสารอื่นใช้ได้แล้วเท่านั้น

๒.๓ สารประกอบดีบุกอินทรีย์ เป็นสารที่มีฤทธิ์สูงต่อหอยในขนาดต่ำๆ ในน้ำ ยกตัวอย่าง: ตัวอย่าง

อะโซศัยโคลทิน (Ib)        เฟนทินอะศีเตท และฮัยดรอกไซด์ (III)

bis- (ไทรบิวทิย์ล) ทินออกไซด์ (Ib ) ไซเฮกซาทิน(III) เฟนบิวทาทิน

๒.๔ เกลือทองแดง มีฤทธิ์กำจัดเชื้อรา

ตัวอย่าง

คิวปรัสออกไซด์ (Ib ) คอปเปอร์สัลเฟต (III)

คอปเปอร์ออกซีย์ฆลอไรด์ (III)

ออกซิน-คอปเปอร์

๓. สารฆ่าเชื้อรากลุ่มไดไธโอคาร์บาเมต

สารฆ่าเชื้อรากลุ่ม dithiocarbamates แบ่งเป็น ๒ กลุ่มย่อยตามสูตรโครงสร้างทางเคมี

๑. ไดไธโอคาร์บาเมต

๑.๑ Thiurams

Thiram

Disulfram

๑.๒ Dimethyldithio carbomates

Ferbam

Ziram

๒. Ethylene bis dithiocarbamate

-mancozeb

-maneb

-mabam

-zineb

กลวิธานการออกฤทธิ์

ไดไธโอคาร์บาเมต มีพิษเฉียบพลันต่ำ อวัยวะเป้าหมายที่เกิดอาการพิษ ได้แก่ ต่อมธัยรอยด์ ยังไม่ทราบกลวิธานที่แน่ชัด มีผู้สันนิษฐานว่าอาจ เกี่ยวข้องกับคาร์บอนไดสัลไฟด์ (CS2)

อาการพิษฉับพลัน

-อาการชัก

-ไตล้มเหลว

-ต่อมธัยรอยด์ทำงานบกพร่อง

-อาเจียน

-หมดสติ

-อาการแพ้แสดงทางผิวหนัง

อาการพิษเรื้อรัง

-พิษต่อระบบการสังเคราะห์ธัยรอยด์ฮอร์โมน และตามมาด้วยการเพิ่มฮอร์โมนกระตุ้นต่อมธัยรอยด์ (thyroid stimulating hormone; TSH)

-เกิดพิษจากผลการเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immunomodulator effects)

การแก้พิษ

ให้คำแนะนำแก่คนงานที่ต้องทำงานเกี่ยวกับสารฆ่าเชื้อราในกลุ่มนี้เป็นประจำ เพื่อลดการสัมผัส และลดความเป็นพิษ เช่น ล้างตัว ล้างตา เมื่อเกิดอุบัติเหตุ คนงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจสภาพร่างกาย การทำงานต่อมธัยรอยด์ เช่น วัดค่า T3, T4, TSH และประวัติการเป็นโรคภูมิแพ้ โดยทำการตรวจเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า