สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สมุนไพรที่ใช้ป้องกันปัญหาสุขภาพ

เป็นการนำพืช ผัก ผลไม้พื้นบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากคุณค่าทางโภชนาการ และสรรพคุณทางยาเพื่อลดภาวะที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่จะเกิดกับคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านความปลอดภัย สภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ และความเอื้ออาทรต่อกัน สมุนไพรจากพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นบางชนิดมีหลักฐานทางเภสัชโภชนาว่า สามารถนำมาใช้ป้องกันปัญหาสุขภาพของชุมชนได้

สมุนไพรกับขอบเขตของวิทยาศาสตร์ในการป้องกันปัญหาสุขภาพชุมชน

สภาวะที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ มักจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน ปัจจัยด้านบุคคล และปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ที่จะส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน และสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ ความปลอดภัย และความเอื้ออาทรต่อกัน

ปัจจัยด้านพืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน
พืชผักพื้นบ้านที่ใช้เป็นอาหารบางชนิดนั้นพบว่า มีประสิทธิภาพที่ดีในการใช้กำจัดยุงและแมลงศัตรูพืช ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้หรือสภาพแวดล้อม เพราะไม่มีสารพิษที่เป็นอันตรายอยู่ และพืชบางชนิดก็พบว่า สามารถใช้เลี้ยงสัตว์ที่จะนำมาเป็นอาหารได้โดยไม่มีสารเคมีตกค้างในสัตว์นั้น และเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับครัวเรือนด้วย

ปัจจัยด้านบุคคล
การร่วมมือกันจากสมาชิกทุกเพศ ทุกวัย ทุกครัวเรือนในชุมชนอย่างแข็งขันและต่อเนื่องในการปลูกและใช้พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านอย่างรู้คุณค่า จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการป้องกันปัญหาสุขภาพของชุมชน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจถึงคุณสมบัติของพืชเหล่านั้นทั้งในทางเภสัชโภชนา และเภสัชวิทยา รวมถึงวิธีนำมาใช้ที่ถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด

ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม
ในสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของชุมชนในบริเวณต่างๆ ควรได้รับการปรับผังพื้นที่และกำหนดทิศทางที่จะปลูกพืชผักสมุนไพรประเภทต่างๆ ไว้ โดยคำนึงถึงส่วนรวมทั้งในด้านที่เป็นประโยชน์และความปลอดภัย ทำให้บรรยากาศของชุมชนมีความร่มรื่น ช่วยค้ำจุนพื้นดินให้แข็งแรง ทำให้ดินและแหล่งน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งการดำรงรักษาชุมชนไว้อย่างยั่งยืน

บทบาทของสมุนไพรกับการป้องกันปัญหาสุขภาพในชุมชน
พืชผักพื้นบ้านที่มีสรรพคุณใช้กำจัดยุงและแมลงศัตรูพืช เช่น

ตะไคร้หอม
ลักษณะของตะไคร้หอมจะคล้ายกับตะไคร้บ้าน แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดของตะไคร้หอมคือ มีใบที่ใหญ่และยาวกว่าตะไคร้บ้าน ลักษณะของพุ่มกอก็จะใหญ่กว่า กาบใบมีสีม่วงที่เข้มกว่า และนำมาใช้ปรุงอาหารไม่ได้ เมื่อใช้แอลกอฮอล์ 10% มาสกัดตะไคร้หอมก็จะได้น้ำมันระเหยที่มีสารการบูร มีฤทธิ์ไล่ยุงได้ สารสำคัญเหล่านี้คือ citral, citronella และ geraniol ซึ่งเป็นสารที่มีความปลอดภัยต่อชีวิตและสภาพแวดล้อม มักนิยมนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง หรือน้ำหอมทากันยุง ฤทธิ์ของตะไคร้หอมมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงนานถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งตรงตามกำหนดของมาตรฐานอุตสาหกรรม

การใช้ตะไคร้หอมเพื่อป้องกันยุง
แตะน้ำมันตะไคร้หอมลงบนผิวหนังเพียงเล็กน้อยแล้วลูบไล้ให้ทั่ว ยกเว้นที่บริเวณใบหน้า จะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุหากชโลมจนเปียก สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่

สะเดา
ในใบและเมล็ดของสะเดาจะมีสารที่ออกฤทธิ์สูงสุดคือ อะซาไดแรคติน(azadirachtin) แต่ที่ออกฤทธิ์ฆ่าแมลงศัตรูพืชก็มีอยู่หลายตัว สารอะซาไดแรคตินจะมีมากที่สุดในผลสุกของสะเดา สารในสะเดามีฤทธิ์ขับไล่แมลง ตัวหนอน และตั๊กแตน ทำให้แมลงหลายชนิดทั้งตัวอ่อนและตัวแก่หยุดการเจาะดูดกัดกินพืช ยับยั้งการออกไข่ ทำให้ไข่แมลงนั้นฝ่อไม่ฟักออกเป็นตัว

หลังจากที่ตัวอ่อนของแมลงได้รับสารจากสะเดาอย่างน้อย 2 วันหรือนานกว่านี้ ตัวอ่อนนั้นก็จะหยุดลอกคราบและตายในที่สุด การยับยั้งการเจริญเติบโตของตัวอ่อนแมลงจะได้ผลดีหรือไม่ก็ย่อมขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสะเดาและอายุของตัวอ่อน มักใช้ได้ผลกับพวกหนอนกอข้าว หนอนม้วนใบข้าว หนอนม้วนใบฝ้าย หนอนกินผลส้มและมะนาว เป็นต้น และสารที่เข้มข้นของสะเดาก็ยังสามารถฆ่าพวกแมลงวันทอง เพลี้ยแป้งของกะหล่ำ ตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และทำให้กระดองของปูนานิ่มไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด

เมื่อสารจากสะเดาสามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชไปแล้ว ก็จะเกิดแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมพวกตัวห้ำ ตัวเบียน ผึ้ง ผีเสื้อ ต่อ แตน และนก ทำให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นและไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงด้วย แหล่งดินแหล่งน้ำมีความอุดมสมบูรณ์เพราะไม่มีพิษต่อปลาหรือสัตว์น้ำ หรือสัตว์ในดินที่มีประโยชน์อย่างไส้เดือนหรือแมงกะชอนด้วย

การใช้สะเดากำจัดแมลงศัตรูพืช
เป็นสูตรของศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม ทำได้โดยใช้ใบสะเดา 4 กิโลกรัม ถ้าเป็นเมล็ดใช้เพียง 2 กิโลกรัม หัวข่าแก่ 2 กิโลกรัม น้ำ 1 ปีบหรือ 20 ลิตร นำส่วนผสมทั้งหมดมาสับเป็นชิ้นแล้วโขลกให้ละเอียด แล้วใส่ไว้ในน้ำหมักไว้ 1 คืน จากนั้นก็กรองเอาแต่น้ำไว้ใช้ ส่วนกากสะเดาที่กรองได้สามารถใช้เป็นปุ๋ยของต้นไม้ได้เป็นอย่างดีและสามารถฆ่าศัตรูพืชได้อีกหลายชนิดด้วย เมื่อจะนำน้ำยามาใช้ก็ให้นำน้ำยามา 1 ลิตรใส่น้ำเพิ่มประมาณ 20 ลิตร แล้วนำไปฉีดพ่น

ถ้าใช้ในนาข้าวจะใช้หัวน้ำยา 20 ลิตร ต่อข้าว 10 ไร่ เมื่อเริ่มหว่านข้าวได้ 7 วันก็ให้เริ่มฉีดพ่นได้ และฉีดครั้งต่อไปในทุก 10-15 วัน และหยุดฉีดเมื่อข้าวเริ่มตั้งท้อง หากเป็นสวนผักประมาณ 3-5 วันแล้วให้ฉีดครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นสวนผลไม้ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ให้ฉีดสักครั้งหนึ่ง โดยเริ่มฉีดตอนที่เริ่มแตกใบอ่อนหรือแตกช่อดอก ระยะเวลาในการฉีดพ่นก็ขึ้นอยู่กับความชุกชุมของแมลงศัตรูพืชด้วย สวนผลไม้ 10-15 ไร่ จะใช้หัวน้ำยาของสะเดาประมาณ 1 ปีบ

ข่า
ในเหง้าของข่าจะประกอบไปด้วยน้ำมันระเหย 0.04% มีฤทธิ์ไล่แมลงวัน ซึ่งในน้ำมันระเหยนี้ก็มีสารประกอบอยู่หลายชนิด เช่น Methyl cinnamate 48% Cineol 20-30% Eugenol, Camphor, Pinenes

ผักคราด
ฤทธิ์ของสารสกัดจากผักคราดหัวแหวนสามารถใช้ป้องกันยุงก้นปล่องที่เป็นสาเหตุของไข้มาลาเรียได้

พืชผักพื้นบ้านที่มีสรรพคุณเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น
ผักหนาม
ก้านและใบของผักหนามเมื่อนำมาตำกับเกลือให้วัวควายกิน จะทำให้มันเจริญอาหาร อ้วนท้วนสมบูรณ์

กระถินบ้าน
ในใบกระถินบ้านจะมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่สูง และใบแห้งก็สามารถนำไปป่นเป็นอาหารของสัตว์ได้

แคบ้าน
พืชตระกูลถั่วอย่างแคบ้าน ในส่วนของยอดอ่อนจะให้คุณค่าทางอาหารสูง สามารถใช้เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงได้เช่นกัน

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. เยาวภา ปิ่นทุพันธ์
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า