สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ศัลยกรรมของจีน

วิชาแพทย์ด้านศัลยกรรมของจีนได้แตกหน่อก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ศัลยแพทย์ที่มีบันทึกอยู่ใน “โจหลี่” จะทำหน้าที่รักษา แผลบวมโต แผลมีหนอง แผลมีดบาดมีดฟัน และกระดูกหักเป็นสำคัญ ซึ่งคล้ายกับศัลยกรรมที่เพิ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

การทำศัลยกรรมเกี่ยวพันกับการค้นพบยาชามาก สมัยแผ่นดินฮั่น หัวโทแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เคยวางยาชาให้คนไข้ทั้งตัวด้วยเหล้า และยา “ผงมอร์ฟีน” เพื่อให้คนไข้หมดความรู้สึกไปชั่วคราว จากนั้นจึงทำการผ่าตัดเปิดช่องท้องตัดลำไส้ทิ้ง เสร็จแล้วจะจัดการเย็บแผลให้เรียบร้อย พอกด้วยยาน้ำมัน (Oilment) ทิ้งไว้ราว ๔-๕ วัน แผลก็จะหาย แต่น่าเสียดายที่ว่า ยาชาและขั้นตอนการผ่าตัดเหล่านี้ได้หายสาบสูญไปหมดแล้ว

แพทย์จีนได้ค้นพบวิธีผ่าตัดต่อลำไส้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ ๑๒ แห่งพุทธศักราช เฉาหยวนฟางได้บันทึกการผ่าตัดบาดแผลจากหอกและดาบว่า “คนเจ็บถูกหอกดาบตัดลำไส้ขาด หากมีลำไส้โผล่ออกมาเพียงปลายเดียว จะไม่สามารถเย็บต่อเข้ากันได้ ถ้าลำไส้โผล่ปลายออกมาทั้งสองข้าง จะสามารถเย็บต่อได้ โดยให้รีบใช้เข็มเย็บต่อไว้ แล้วทาเลือดไก่ที่ตรงรอยเย็บ อย่าให้ของในลำไส้รั่วไหลออกมาได้ เสร็จแล้วจับลำไส้ ใส่กลับเข้าไปในช่องท้องทันที” แม้จะไม่ได้เอ่ยถึงการฆ่าเชื้อ และคำอธิบายการผ่าตัดก็แสนจะง่ายดาย แต่การที่แพทย์จีนสามารถทำการผ่าตัด ที่ค่อนข้างใหญ่เซ่นนี้ได้ตั้งแต่เมื่อ ๑,๓๐๐ ปีเศษ ย่อมเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

การผ่าดัดริดสีดวงจมูก (Adenoids) ของจีนสมัยโบราณทำได้แยบยลมาก เฉินสือกง ได้กล่าวเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๖๐ ว่า “วิธีตัดริดสีดวงจมูกคือ ให้เป่าจมูกคนไข้ด้วยผงยี่หร่า ๒ ครั้ง (ผงยี่หร่านี้คือ ยี่หร่าและกระชายบดเป็นผงในปริมาณเท่ากัน) แล้วใช้ตะเกียบทองแดงเรียวเล็ก (ตะเกียบนี้จะเจาะรูเล็กๆ ไว้ที่ส่วนหัว เอาด้ายร้อยผูกตะเกียบคู่นี้ไว้ให้ห่างกันราวครึ่งนิ้ว) สอดส่วนที่ผูกด้ายเข้าไปในจมูก คล้องด้ายไว้ที่ก้อนริดสีดวง แส้วหมุนพันตะเกียบให้ด้ายพันเกลียวแน่นออกแรงดึงให้ก้อนริดสีดวงจมูกหลุดออกมา เอาก้อนริดสีดวงนี้แช่ในนํ้าเพื่อตรวจดูว่ามีขนาด เท่าไหร่ จากนั้นให้ใช้ขี้เถ้าจากเส้นผมและผงงาช้างเป่าจมูกเป็นการห้ามเลือด” เรื่องนี้เป็นการค้นพบด้านโรคหู คอ จมูกของจีนเมื่อ ๓๐๐ กว่าปีก่อน

การผ่าตัดริดสีดวงทวารเป็นผลสำเร็จพิเศษในวงการศัลยกรรมของจีน นับแต่ศตวรรษที่ ๒๑ แห่งพุทธศักราชเป็นต้นมา จีนได้ค้นพบวิธีรักษาโรคริดสีดวงทวารไม่น้อย ซึ่งพอจะแบ่งออกคร่าวๆ ได้ ๒ วิธีคือ วิธีที่หนึ่ง เด็ดก้อนริดสีดวงทวารออก วิธีที่สอง ทำให้ริดสีดวงทวารแห้ง ฝ่อ ทั้งสองวิธีนี้มีข้อเหมือนกันอยู่อย่างคือ ไม่ต้องผ่าตัด

เฉินเป่ากง เขียนไว้ไน “ว่ายเคอเจิ้งจง” ว่า “วิธีเด็ดก้อนริดสีดวงทวาร ให้ใช้ด้ายเส้นเล็กๆ ๑ หรือ ๒ เส้น ต้มด้วยน้ำอ้วงฮวย (Lilac daphne) ผูกด้ายไว้ที่โคนก้อนริดสีดวงเป็นเงื่อนกระตุก ดึงเงื่อนให้ด้ายรัดแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งก้อนริดสีดวงมีสีดำคลํ้าและเย็น รายที่มีอาการเบา ริดสีดวงทวารจะแห้งหลุดไปเองใน ๗ วัน รายที่มีอาการร้ายแรงจะใช้เวลา ๑๕ วัน

ส่วนประกอบสำคัญของผงยาที่ทำให้ริดสีดวงทวารแห้งฝ่อคือ สารหนู ให้ทายานี้ตรงบริเวณที่เป็นริดสีดวงวันละ ๒-๓ ครั้ง ราว ๗-๘ วัน ริดสีดวงจะค่อยๆ ดำฝ่อแห้งแข็ง ก็ไม่ต้องทายาอีก ปล่อยให้มันแห้งหลุดไปเอง”

ปัจจุบันมีแพทย์บางท่านรักษาคนไข้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารด้วย วิธีทำให้ริดสีดวงแห้งฝ่อควบคู่ไปกับวิธีการทางศัลยกรรมสมัยใหม่ ผลก็คือวิธีการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ได้ผล หากยังมีข้อดีอีกมากมายด้วย เช่น ไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีอันตรายจากการเสียเลือดมาก ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ต้องมีผู้ช่วย และค่าใช้จ่ายถูก ฯลฯ

แต่ว่าเวลาทายาให้รัดสีดวงแห้งฝ่อจะเจ็บมาก และอาจเป็นพิษขึ้น ได้หากทำไม่ถูกวิธี อันนี้เป็นข้อเสียของวิธีนี้ ดังนั้นเพื่อแก้ข้อเสียนี้ แพทย์จีนจึงได้ปรับปรุงสูตรยาโดยอาศัยความรู้ทางเคมีสมัยใหม่ วิธีรักษาริดสีดวงทวารโดยไม่ต้องผ่าตัดอย่างนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนมากทีเดียว และเป็นหนึ่งในบรรดาความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของการแพทย์จีนสมัยโบราณ

เนื้องอกชนิดร้าย (Malignant Tumour) เป็นโรคที่มีอันตรายต่อมนุษย์อย่างมหันต์ และจนถึงปัจจุบันนี้แพทย์ก็ยังไม่ได้ค้นพบวิธีการรักษาที่ได้ผลเลย โรคนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อศึกษาค้นคว้าที่สำคัญที่สุดของวิชาการแพทย์ในปัจจุบัน

โต้ฮั่นชิน เคยใช้วิธีเอาเหล็กเผาไฟกดทาบบริเวณที่เป็นมะเร็งบน ริมฝีปาก และยังทราบด้วยว่าเป็นโรคที่รักษาหายยาก

เฉินสือกง ได้บันทึกถึงผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมไว้ ๓ รายโดยบอกว่ารักษาไม่หายเลย และยังว่า “หากเต้านมเป็นแผลเน่า บวมโต เหมือนดอกบัว มีเลือดไหลไม่หยุด เป็นอาการที่ต้องตายแน่นอน” เราจะเห็นได้ว่า แพทย์จีนทราบถึงคุณสมบัติของโรคเนื้องอกชนิดร้ายว่ารักษาหายยากตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๕ แห่งพุทธศักราชแล้ว

การค้นพบวิธีการห้ามเลือด เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ช่วยยกระดับมาตรฐานของการทำศัลยกรรม จีนค้นพบวิธีห้ามเลือดโดยใช้โลหะเผาไพ่ กดทับบริเวณที่เลือดไหลเมื่อศตวรรษที่ ๗ แห่งคริสต์ศักราช และยังเริ่มใช้แม่เหล็กดูดเอาเข็มที่หักอยู่ในร่างกายออก แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นการค้นพบเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นผลพวงทางภูมิปัญญาในเชิงสร้างสรรค์ของแพทย์จีน

ยากอเอี้ยะที่ใช้พอกปิดตามตัวของจีน เป็นยาที่ทำจากการต้มเคี่ยวทั้งหมด (การต้มเคี่ยวเท่ากับเป็นการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูง) การใช้ยากอเอี้ยะปิดป้องกันบาดแผล จะสามารถป้องกันมิให้เชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายได้ และป้องกันการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวด้วย นอกจากนี้ในยากอเอี้ยะยังมียาชาและยาฆ่าเชื้อบางอย่าง ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยระงับอาการปวดและขจัดอาการอักเสบ จึงเป็นผลดีสำหรับการรักษาแผลให้หาย

จีนยังมียากอเอี้ยะอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ปิดบนผิวหนังส่วนที่ดีของร่างกาย ยากอเอี้ยะนี้จะมีฤทธิ์กระตุ้นหรือฤทธิ์ดูดซับเฉพาะที่ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตรงที่นั้นหรือทั่วทั้งตัว และอาศัยอันนี้มารักษาโรคได้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ควรค่าสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม

วิชาศัลยศาสตร์ของจีนยังมีคุณสมบัติพิเศษที่ควรจะให้ความสนใจ คือ การจัดการกับบริเวณที่เป็นโรคทางศัลยกรรมทุกอย่างโดยถือเป็นโรคทั่วองคาพยพ โดยหลักการข้อนี้ แม้ว่าจะเป็นการรักษาบริเวณที่เป็น โรค (Focus of Infection) เช่น ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงทวาร กระทั่งแผลบาดเจ็บ เป็นต้น โดยการผ่าตัดหรือใช้ยาเฉพาะที่นั้นแล้วยังจะดูแลถึงสภาพอาการทั่วร่างกาย รวมทั้งผลกระทบจากภาวะแวดล้อมที่มีต่อคนไข้ด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ในเรื่องการวินิจฉัยโรคด้านศัลยกรรมไม่เพียงแต่ไม่ต่างไปจากด้านเวชกรรมเท่านั้น แพทย์จีนยังมักให้ยาทานรักษาด้วย ดังนั้น เนื้อหาของวิชาศัลยศาสตร์ของจีน จึงมิใช่เป็นแค่การจัดการผ่าตัดบริเวณที่เป็นโรคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และข้อนี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับวิธีการรักษาแบบง่ายๆ ของศัลยแพทย์ในยุโรปสมัยโบราณ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า