สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วัณโรคกระดูกและข้อ(Tuberculosis of bones and joints)

แม้ว่าในปัจจุบันในต่างประเทศจะอ้างว่าโรคนี้พบได้ไม่บ่อย แต่ในประเทศไทยยังพบได้อยู่เสมอ  วัณโรคของข้อกระดูกเป็นโรคที่ทำให้เกิดพยาธิสภาพเฉพาะที่ ไม่ลุกลามออกไปมาก  ส่วนใหญ่เชื้อจะเข้าทางหลอดเลือด  การเกิดโรคนี้มีได้ทั้งที่ข้อโดยเริ่มที่เยื่อบุข้อ  วัณโรคกระดูกที่ทำให้เกิดกระดูกอักเสบเป็นหนองจากเชื้อวัณโรค (tuberculous osteomyelitis) มีลักษณะพิเศษ คือ มีการทำลายของกระดูกและมีการสร้างกระดูกใหม่บ้างเล็กน้อย  เยื่อบุข้อที่เป็นโรคนี้จะมีลักาณะหนา สร้างน้ำในข้อมาก และพร้อมกันก็เกิด fibrosis ไปด้วย  นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อสมานแผล (granulation tissue) เกิดขึ้นมากมาย  ทำให้มีการทำลายกระดูกอ่อนในข้อและกระดูกชั้นใต้ลงไปจากเนื้อเยื่อสมานแผล  ผลของการอักเสบทำให้เกิดเนื้อเยื่อที่ตายรวมกับน้ำเป็น caseous material ทำให้เกิดแรงดันในข้อเพิ่มขึ้น  ถ้าแรงดันมากพอ เอ็นหุ้มข้อจะแตก หนองไหลออกมาจากข้อกลายเป็นฝีสบาย (cold abscess) บางครั้งหนองจะเซาะไปตามช่องระหว่างกล้ามเนื้อหรือแผ่นเอ็นลึก ไปทะลุผิวหนังอีกตำแหน่ง  ในช่องที่ทะลุผิวหนัง บางครั้งมีการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ได้  พยาธิสภาพของข้อมักลงเอยด้วยการถูกทำลายจนสิ้นสภาพข้อ

อาการ

อาการทางคลินิก ส่วนใหญ่พบว่าเป็นข้อเดี่ยว ๆ (ร้อยละ ๙๐)  อาการทั่วไปน้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต เดินกระเผลก ในเด็กเล็กกลางคืนอาจตื่นแล้วร้องไห้  เนื่องจากกล้ามเนื้อหย่อน ข้อเสียดสีกัน  ทำให้เกิดความเจ็บปวด ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ที่ข้อสันหลัง และที่ข้อตะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อข้างกระดูกกระเบนเหน็บ(S.I.) ข้อไหล่ ข้อมือ ตามลำดับ กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องเหล่านี้มักฝ่อลีบด้วยเสมอ

รูปที่ ๒๓  แสดงลักษณะวัณโรคกระดูกที่นิ้วกลาง  นิ้วบวมโตและงอ

การตรวจภาพรังสี

บริเวณกระดูกที่เกี่ยวข้องมีลักษณะโปร่งบาง  เนื่องจากมีการละลายของแคลเซียมมาก (decalcification) ซึ่งจะพบห่างจากข้อประมาณ ๓-๕ ซม.  ช่องข้อจะกว้างออกในระยะแรกที่มีน้ำในข้อเพิ่มขึ้น  แต่ต่อมาจะแคบลงในระยะที่มีการทำลายกระดูกภายในข้อ การแคบของข้อจะช้ากว่าโรคข้ออักเสบเป็นหนองมาก  ลักษณะการทำลายของกระดูกที่พบบริเวณส่วนสร้างกระดูก (epiphysis) หรือช่วงต่อปลายกระดูก (metaphysic) จะเห็นเด่นชัดในส่วนที่ไม่ได้รับน้ำหนักโดยตรง  ซึ่งต่างจากโรคข้ออักเสบเป็นหนอง การสร้างกระดูกใหม่ในระยะแรก ๆ จะไม่พบ  นาน ๆ จึงพบชิ้นกระดูกตาย (sequestrum) ซึ่งอาจพบได้บางครั้ง  เงาของฝีข้างกระดูกสันหลัง (paravertebral abscess, psoas abscess) อาจมองเห็นได้ในภาพรังสี

การวินิจฉัยโรค

การตรวจเลือด อาจพบว่าเม็ดเลือดขาวมีจำนวนสูงขึ้น  อัตราการนอนก้นของเม็ดเลือดแดงตกเร็วขึ้น (E.S.R.) ผู้ป่วยมีอาการโลหิตจาง ถ้านำน้ำจากข้อไปตรวจจะพบว่าปริมาณน้ำตาลในน้ำจากข้อต่ำ  การตรวจหาเชื้อทำได้โดยนำไปฉีดหนูตะเภา  นอกจากนี้การตัดเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองไปตรวจจะช่วยการวินิจฉัยได้

การรักษา

โดยทั่วไปให้พักส่วนที่เป็น  อาจเข้าเฝือกถ้าทำได้  ให้ยาต้านวัณโรคที่ใช้ในวัณโรคกระดูกและข้อ  เมื่อเริ่มให้ยามักให้ ๒ อย่าง จะเพิ่มเป็น ๓ อย่างต่อเมื่อจะผ่าตัดรักษา ระยะเวลาที่ให้ ๑-๒ ปี ยามาตรฐานที่ใช้กันอยู่ คือ

๑.  I.N.H. ได้ผลดีที่สุดจำนวนที่ให้ ๑๐-๒๐ มก. ต่อ กก. น้ำหนักตัวต่อวันแต่ไม่เกิน ๑,๕๐๐ มก. ต่อวัน ใช้นานจะขาดวิตามินบี ๖ พิษของยาอาจทำให้ปลายประสาทอักเสบ การตอบสนองของเอ็นกล้ามเนื้อไวกว่าปรกติ (hyperreflexia) อาการโรคจิต อาจเกิดอาการชักได้

๒.  Streptomycin ขนาดที่ใช้ฉีด ๒๐-๔๐ มก. ต่อ กก. น้ำหนักตัวต่อวัน ขนาดรวมไม่เกิน ๑ กรัม ต่อวัน วิธีใช้ ฉีดทุกวันเป็นเวลา ๑-๒ เดือน ต่อไปฉีดสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ๓-๖ เดือน  รวมจำนวนครั้งที่ฉีดประมาณ ๕๐-๑๐๐ เข็ม  พิษของยามีผลต่อประสาทสมองที่ ๘ ทำให้หูหนวก  หรืออวัยวะการทรงตัวเสียไป

๓.  PAS. ยาชนิดนี้ใช้เสริมการรักษา มีผลอ่อนกว่า ๒ อย่างแรก  ขนาดที่ใช้ ๒๐๐-๓๐๐ มก. ต่อ กก. น้ำหนักตัวต่อวัน ขนาดรวมไม่เกิน ๑๒ กรัมต่อวัน ผลข้างเคียงทำให้ระคายระบบทางเดินอาหาร  มีอาการท้องเสียอาเจียนได้

การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด นอกจากจะให้ยาที่กล่าวมาแล้วนี้ ในปัจจุบันอาจใช้ยาตัวอื่นร่วมด้วย  การรักษารวมไปถึงการดึงถ่วงน้ำหนักและการรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมด้วย  ซึ่งปรากฎว่า การรักษาทางยาร่วมกับการเข้าเฝือกได้ผลดี

การรักษาโดยวิธีผ่าตัด คือ การผ่าตัดเลาะเยื่อบุข้อที่เป็นโรคออก (synovectomy) การขูดเอาเนื้อเยื่อที่เป็นโรคออก (curettage) ซึ่งต้องระวังแผ่นสร้างกระดูกไม่ให้เสียหายก่อนทำการผ่าตัด  ควรได้รับยาต้านวัณโรคมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๔-๖ สัปดาห์  หลังผ่าตัดควรทำให้ส่วนที่เป็นอยู่นิ่งโดยการดึงถ่วงน้ำหนัก เข้าเฝือก  การเริ่มเคลื่อนไหวข้อควรทำเมื่อหายปวด  การดูแลคนไข้ควรดูจนคนไข้ไม่มีไข้และอัตราการนอนก้นของเม็ดเลือดแดงลดลง  การถ่ายภาพรังสีจะเห็นการสร้างกระดูกใหม่  ข้อที่เป็นควรได้รับการดูแลต่อไปอีก ๓ เดือน  จึงใช้งานได้เต็มที่ ส่วนยายังต้องให้ต่อไป ๑-๒ ปี การผ่าตัดอีกอย่างหนึ่ง คือ การผ่าตัดเชื่อมข้อ อาจต้องกระทำถ้าข้อเสียมาก

 

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า