สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาชาเฉพาะที่(LOCAL ANESTHETICS)

ข้อน่ารู้ทั่วไป
1. ยาชาเฉพาะที่หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ยาชา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยใช้เพื่อระงับความเจ็บปวดในระหว่างการทำฟัน ผ่าตัดเล็ก และผ่าตัดใหญ่บางประเภทซึ่งผู้ป่วยยังมีสติดีอยู่และสามารถให้ความร่วมมือ แก่แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดได้ นอกจากนี้ยาชายังมีอันตรายน้อยกว่าการใช้ยาสลบ (General anesthe¬tics) ซึ่งทำให้หมดความรู้สึก นอกจากคุณสมบัติที่ใช้ระงับความเจ็บปวดเฉพาะในบริเวณที่ให้ยาแล้ว ยาชาบิงชนดยังอาจใช้ควบคุมการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะให้เป็นปกติ และยาชาบางชนิดยังใช้รักษาอาการชักได้อีกด้วย
2. ยาชาส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปที่สามารถละลายน้ำได้ (Soluble hydrochlorides) เพื่อช่วยให้ละลายน้ำได้ดี และเมื่อยาเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อของร่างกายที่มีสภาพเป็นด่างก็จะไปจับกับเนื้อเยื่อของระบบประสาท ซึ่งยาจะออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการส่งผ่านความรู้สึก (Nerve conduction) ของเส้นประสาททุกชนิด และเมื่อยาชาหมดฤทธิ์ เส้น ประสาทของร่างกายก็จะทำงานได้ตามปกติ
3. ยาชาทุกตัวมีคุณสมบัติขยายหลอดเลือด ยกเว้นโคเคน (Cocaine) ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่วนลิกโนเคน (Lignocaine) ไม่มีผลต่อหลอดเลือดเลย ดังนั้นในสารละลายของยาประเภทนี้จึงอาจมีสารทำให้หลอดเลือด หดตัวผสมไปด้วย เช่น อีปิเนฟรีน (Epinephrine) และนอร์อีปิเนฟรีน (Norepinephrine) เพื่อช่วยให้ยาชาออกฤทธิ์ได้นาน และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ช้าลงและลดอันตรายที่เกิดจากการใช้ยานี้ สำหรับยาชาที่ผสมอีปิเนฟรีน หรือนอร์อีปิเนฟรีน ห้ามใช้ในอวัยวะส่วนปลาย เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า เพราะจะทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงและเนื้อเยื่ออาจตายได้
4. เชื่อว่ายาชาจะออกฤทธิ์ที่เส้นประสาท รับความรู้สึกโดยไปยับยั้งการส่งผ่านความรู้สึก ทำให้การส่งผ่านความรู้สึก (impulse) ของเส้นประสาทช้าลง หรืออาจหยุดลงได้ในที่สุด
5. ยาชาส่วนใหญ่ที่เป็น เอสเตอร์ (สารเคมีพวกหนึ่ง) ถูกเปลี่ยนแปลงในกระแสเลือด และที่ตับ ส่วนยาชาที่ไม่ใช่พวกเอสเตอร์ การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตับ และส่วนใหญ่จะขับถ่ายออกทางไต ดังนั้นในคนที่เป็นโรคตับจะทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยานี้มาก เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ช้า
6. ยาชาจะออกฤทธิ์ต่อเส้นประสาทในร่างกาย โดยยาชาจะไปยับยั้งการส่งผ่านความรู้สึกของเส้นประสาท และการออกฤทธิ์ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นประสาท
7. การออกฤทธิ์ของยาชาในร่างกายจะขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นประสาท ถ้าเส้นประสาทขนาดเล็กจะไวต่อการออกฤทธิ์ของยาชามากกว่า
8. ยา ชาจะกดระบบประสาทกลาง เป็นภาวะต่อเนื่องหลังจากการกระตุ้น เช่นอาจจะเป็นผลทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ และการหายใจช้าลงเนื่องจากศูนย์ควบคุมการหายใจถูกกด และมีอาการง่วงเหงา ซึมเซา จนอาจถึงขั้นโคม่าได้ ผลในการกดระบบประสาทส่วนกลางจะมีอันตรายมากกว่าการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้นถ้าใช้ยาบาร์บิตูเรท (Barbiturates) เพื่อควบคุมอาการชักที่เกิดจากการที่ยาชาไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางอาจจะทำให้เกิดการกดระบบประสาทส่วนกลางเพิ่มขึ้น
9. ยาชาอาจมีผลทำให้ความดันเลือดต่ำได้ เนื่องจากมีการกดที่ระบบประสาทส่วน medulla  ยาชาเกือบทุกตัว นอกจากจะสามารถ ขยายหลอดเลือดได้โดยตรงแล้วยังมีผลโดยตรงต่อหัวใจทำให้หัวใจเต้นช้าลง
ตัวอย่างยาชาที่ใช้กันแพร่หลาย
โปรเคน (Procaine)
มักอยู่ในรูป โปรเคน อัยโดรคลอไรด์ (Procaine hydrochloride) ใช้บ่อยมาก ดูดซึมได้ดี เมื่อให้โดยวิธีฉีด ทำให้ออกฤทธิ์เร็วเกือบจะทันที จึงอาจเกิดอันตรายที่ยาสามารถแพร่ไปยังสมอง และหัวใจได้เร็ว
ฤทธิ์ของยาอยู่ได้นานถึง 1/2 ชั่วโมง ถึง 2 ชั่วโมง เมื่อต้องการให้ฤทธิ์ยาอยู่ได้นานกว่านี้จึงผสม อีปิเนฟรีน หรือ อะดรีนาลีนนั่นเอง เจือจาง 1:1000 ลงไป 0.5 มิลลิลิตร ต่อทุกๆ 100 มิลลิลิตรของยาชา จะทำให้ยาอยู่ในหลอดเลือดนาน เพราะหลอดเลือดหดตัว ยาจึงมีฤทธิ์นาน
ประโยชน์ที่ใช้
ชนิด 1% ใช้ได้กับการผ่าตัดใหญ่เกือบทุกชนิด และปริมาณที่ฉีดได้อย่างปลอดภัยในผู้ใหญ่ปรกติ คือ 100 มิลลิลิตร ซึ่งถ้าจำเป็นต้องฉีดมากกว่านั้นควรใช้  ½%  ซึ่งสามารถฉีดได้ถึง 200-250 มิลลิลิตร
ชนิด 2 %ใช้ในบริเวณที่มีความไวต่อความเจ็บปวดมาก และบริเวณที่ไม่ต้องการยาชาในปริมาณมาก อาจฉีด 40-50 มิลลิลิตรอย่างปลอดภัย นอกจากจะมีประโยชน์สำหรับเป็นยาชาแล้ว ยังสามารถนำไปผสมกับยาชนิดอื่น เช่น เพนิซิลลิน จี เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น เรียก โปรเคน เพ นิซิลลิน จี
รูปของยา
มี 3 ขนาดคือ ½ % 1% และ 2%
ชื่อการค้าคือ โนโวเคน (Novocaine)
ไซโลเคน (Xylocaine)
ข้อน่ารู้
ไซโลเคนออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า โปรเคน และมีช่วงเวลาในการออกฤทธิ์นานกว่าโปรเคนถึงสองเท่า และยังสามารถดูดซึมผ่านผิวหนังเยื่อเมือก (mucous membrane) ได้จึงใช้เป็นยาชาทาภายนอกได้ดี
ไซโลเคน เป็นยาชาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งใช้กายนอกและใช้ฉีด นอกจากนี้ยังไม่ทำให้ผิวหนังระคายเคืองด้วยและสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่ไวต่ออีปิเนฟรีน เนื่องจากไซโลเคนใช้ได้ผลในการระงับความรู้สึก โดยไม่จำเป็นต้องผสมอีปิเนฟรีน
ข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ยานี้จะออกฤทธิ์ได้นาน 1 1/2 ชั่วโมงถึง 2 ชั่วโมง และยาจะซึมกระจายตัวได้บริเวณกว้างกว่าโปรเคนจึงป้องกันการฉีดผิดจุดเล็กน้อย
ประโยชน์ที่ใช้
1.ใช้ผ่าตัดเกือบทุกอย่าง ปริมาณที่ใช้และปลอดภัยในผู้ใหญ่ปกติคือ 100 มิลลิลิตร ของชนิด 1% ถ้าจำเป็นต้องฉีดมากกว่านั้นควรใช้ ½  % ซึ่งสามารถฉีดได้ถึง 200-300 มิลลิลิตร
2. ใช้สำหรับบริเวณที่มีความไวต่อความเจ็บปวดมาก และบริเวณที่ไม่ต้องการยาชา ในปริมาณมาก อาจใช้ฉีดได้ 40-50 มิลลิลิตร อย่างปลอดภัย
รูปของยา
มี 3 ขนาด ½ %, 1% และ 2%
ชื่อการค้าคือ ไซโลเคน ชนิดฉีด, ทา
ข้อควรระวัง
ระวังการแพ้ซึ่งมีตั้งแต่อาการอย่างอ่อน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะไปจนถึงอย่างมากคือ หน้ามืด ตามองไม่เห็น ว้าวุ่น และชักหมดสติ
อาจแก้ไขโดยทดลองดูว่ายาจะเข้าเลือดหรือไม่ โดยทดลองเช่นเดียวกับทดลองฉีดเข้ากล้ามถ้าเข้าเลือดต้องถอนออกมาหรือแทงลึกลงไป
วิธีการใช้ยาชาเฉพาะที่
1. การใช้ทาหรือหยอด (Topical application)
ยาชาที่ใช้ทาภายนอก อาจเป็นยาพ่นน้ำมันหรือครีม เพื่อใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลหรือเยื่อเมือกอ่อนของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ยาชาสามารถแพร่กระจายเข้ามาถึงปลายประสาทรับความรู้สึกได้แต่ไม่มีผลต่อ intact skin ยาชาประเภทนี้มักใช้ประโยชน์ในการผ่าตัดเกี่ยวกับแก้วตา ใช้พ่นหรือทาให้ชาบริเวณที่จะใช้กล้องส้องดูภายใน (endos¬copy) เช่นในทางเดินอาหารและหลอดลมเป็นต้น ก่อนจะสวนปัสสาวะผู้ป่วย ก็อาจจะทายาภายนอก บริเวณปลายท่อปัสสาวะ เพื่อลดความเจ็บปวดได้ เนื่องจากยาชาประเภทนี้ดูดซึมได้ดี ควรใช้ยาชา น้อยที่สุดเท่าที่จะระงับความปวดได้เท่านั้นอย่าใช้มากเกินความจำเป็น เช่น
หยอดยาตาด้วยโคเคน (Cocaine) เข้มข้น 4%
คอและหลอดลม เพื่อทำ bronchoscopy ใช้โคเคน 4% หรือ Tetracaine (Pontacaine) 2% หรือ Lidocaine (Xylocaine) 2-4%
ช่องปัสสาวะ โดยใช้สำลีชุบโคเคน 10% ทาเครื่องส่องตรวจ ผู้ชายใช้ Lidocaine (Xylocain) 1% ประมาณ 10% ฉีดเข้าทางหลอดปัสสาวะ
2. การฉีดเฉพาะที่ (Infiltration) ใช้ฉีดโดยตรง ในบริเวณที่ต้องการผ่าตัดหรือบริเวณที่ปวด เช่น บริเวณกระดูกหักเป็นต้น แต่ไม่ควรใช้บริเวณที่อักเสบหรือมีหนอง เพราะในเป็นกรด ทำให้ยาชาไม่ออกฤทธิ์ และยังอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปในบริเวณที่ฉีดด้วย ข้อควรระวัง ของการฉีดแบบนี้ก็คือพยายามฉีดช้าๆ และหลีกเลี่ยงไม่ให้ฉีดเข้าหลอดเลือด เพราะว่าถ้าฉีดโดยตรงเข้าเส้นเลือด อาจทำให้เกิดอันตรายได้
3. การสกัดบริเวณ (Field block) คือการใช้ฉีดรอบๆ บริเวณที่ต้องการผ่าตัด วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะในบริเวณหนังศีรษะ และหน้าท้อง ซึ่งเส้นประสาทรับความรู้สึกของผิวหนังบริเวณนี้จะอยู่ค่อนข้างตื้นมาก ข้อควรระวังก็เหมือนกับการใช้ยาในข้อ 2
4. การฉีดยาสกัดประสาท (Nerve block) วิธีนี้ใช้ฉีดยาข้างๆ เส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณที่ต้องการทำการผ่าตัดซึ่งผู้ฉีดจะต้องรู้ตำแหน่งของเส้นประสาท และบริเวณที่เส้นประสาทนั้นมาเลี้ยง
5. Intravenous local anesthesia วิธีนี้นิยมใช้ในการผ่าตัดบริเวณมือและแขน โดยใช้สายรัด (tourniquet) รัดเหนือบริเวณที่ต้องการผ่าตัดเพื่อให้มีความดันเลือดสูง และห้ามไม่ให้มีเลือดแดงผ่านได้ ต่อจากนั้นก็ฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ ยาชาจะซึมและแพร่กระจายไปในบริเวณนั้น การผ่าตัดที่ให้ยาชาโดยวิธีนี้ควรกินเวลาไม่เกิน 1-1 1/2 ชม. และขณะที่ปล่อยสายรัดออก ผู้ป่วยอาจมีอาจมีอาการง่วงเหงา ซึมเซา ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นช้าลง หรืออาจเต้นผิดจังหวะได้
ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์
1. ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณที่ฉีด หรือเกิดอาการแพ้ มีอาการผิวหนังอักเสบ บวบ ปวดเส้นประสาทอักเสบ
2. ถ้าความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดสูง ซึ่งอาจจะเกิดเนื่องจากการใช้ยามากเกินไป หรือการดูดซึมของยาเป็นไปอย่างรวดเร็ว อาจมีผลต่อไปนี้
1.ผลต่อระบบประสาท อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ตนเต้น กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อกระตุก อาการชัก โคม่า และศูนย์ควบคุมการหายใจอาจถูกกด
วิธีการแก้ไข ให้เครื่องช่วยหายใจและอ๊อกซิเจน แก่ผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยหายใจเองไม่ได้และอาจให้ยาบางประเภท เพื่อควบคุมอาการชัก ได้แก่ Suxa¬methonium หรือ barbiturates เช่น Phenobarbital
2. ผลต่อระบบทางเดินเลือด ทำให้เกิดความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นช้าลง
วิธีการแก้ไข ให้ยกขาสูงเพื่อเพิ่มปริมาณเลือดให้กลับเข้าสู่หัวใจมากขึ้น ให้น้ำเกลือเร็วๆ หรืออาจให้ยาเพิ่มความดันเลือด และบางครั้งอาจต้องนวดหัวใจด้วยถ้าจำเป็น
3. อาการแพ้ยาแบบ anaphylaxis พบได้น้อยมากจากการใช้ยาชา วิธีการแก้ไขก็เหมือนกับการแพ้แบบ anaphylaxis ที่เกิดจากสาเหตุอื่น
องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการพิษของยา ได้แก่
1. ความเข้มข้นของยา
2. อัตราการดูดซึมของยา เช่น ถ้าใช้ยาพ่นในหลอดลมอาจทำให้การดูคซึมได้เร็วมากกว่าการฉีด
3. ความเร็วในการให้ยา
4. บริเวณที่ฉีดยา เช่น บริเวณที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก ยาจะดูดซึมได้เร็วและเป็นอันตรายมากขึ้น
5. ความไวต่อการตอบสนองยา (hypersensitivity) ของผู้ป่วย
6. อายุ ความสมบูรณ์ อารมณ์ของผู้ป่วย เช่น ผู้ที่เป็นโรคตับ หรือมีอารมณ์กระวนกระวายหวาดกลัว อันตรายจากการใช้ยานี้จะมีมากขึ้น
7. การมีสารที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวผสมอยู่ ผู้ป่วยบางคนมีอาการแพ้ต่อยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวหรือการที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่ห้ามใช้ยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว
ความรู้เพิ่มเติมพิเศษ
ปฏิกิริยาที่ไม่ได้เป็นผลจากยาชาโดยตรง
1. Vasovagal syncope มักพบในผู้ป่วยที่ตื่นเต้น และกระวนกระวายมากต่อการที่จะทำการผ่าตัด ทำให้มี Catecholamines หลั่งออกมามากเมื่อการผ่าตัดสิ้นสุดลงผู้ป่วยหายตื่นเต้น vagal reflex จะ ทำงานมากกว่าปกติ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง เลือดคืนสู่หัวใจน้อยลง ความดันเลือดต่ำ และมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้เป็นลมได้ ซึ่งถ้าผู้ป่วยนอนพักสักครู่ อาการจะดีขึ้นเอง
2. ปฏิกิริยาต่อยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้มีอาการกระวนกระวาย ใจสั่น หน้าซีด หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง หายใจเร็ว และในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจประจำตัวเช่น coronary artery disease อาจทำให้เกิดมีอาการกำเริบขึ้นมาได้
ข้อห้ามในการใช้ยาชาเฉพาะที่
1. ควรใช้ด้วยความระมัดระวังมาก หรือไม่ควรใช้เลย ในผู้ที่เป็นโรคตับอย่างรุนแรง เพราะการทำลาย (การเปลี่ยนแปลง) ของยาชาในผู้ป่วยเหล่านี้จะเป็นไปได้ช้ามาก
2. ในบริเวณผิวหนังที่เป็นหนอง และอักเสบ จากการติดเชื้อ ไม่ควรใช้ยาชาโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย และยาชาก็ใช้ไม่ได้ผลด้วย
3. ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ, hyperthyroid, ความดันเลือดสูง และเส้นเลือดแดงตีบ ไม่ควรใช้ยาชาที่ผสมสารที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว
นอกจากนี้ข้อควรจำที่สำคัญก่อนใช้ยาชาทุกครั้ง คือ
1. ต้องแน่ใจว่า ไม่ได้ฉีดยาเข้าเส้นเลือดโดยตรง
2. ยาที่นำมาใช้จะต้องตรวจให้ถูกต้อง ทั้งชนิด ขนาด และส่วนผสมอื่นๆ ของยา
3. ยาชาควรจะใช้ในความเข้มข้นที่น้อยที่สุดและปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะระงับความเจ็บปวดตามที่ต้องการได้
ที่มา:นายแพทย์กำพล  ศรีวัฒนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า