สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ(Hypocalcemia)

เป็นภาวะที่ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 8.5-10.5 มก./ดล. อาจพบได้ทั้งในทารกและผู้ใหญ่ แต่พบภาวะนี้ได้ไม่บ่อยนัก

สาเหตุ
1. สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แล้วตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ออกไปด้วย ทำให้เกิดภาวะขาดพาราไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนช่วยรักษาระดับแคลเซียมในเลือดให้สมดุล เมื่อต่อมนี้ทำงานได้น้อยทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ อาจมีอาการแสดงหลังผ่าตัดแล้วเป็นปีๆ เป็นเพียงชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ และภาวะนี้ยังอาจเกิดจากภาวะขาดไทรอยด์โดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะไตวายเรื้อรัง การใช้ยาขับปัสสาวะนานๆ ภาวะโปรตีนในเลือดต่ำ ภาวะขาดวิตามินดี ลำไส้ดูดซึมธาตุแคลเซียมได้น้อย โรคพิษสุราเรื้อรัง ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง ภาวะโลหิตเป็นพิษ ภาวะเลือดเป็นด่าง ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้นภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

2. ภายใน 3 วันหลังคลอดถ้าทารกเกิดภาวะนี้ อาจมีสาเหตุมาจากมารดาเป็นเบาหวานหรือภาวะขาดพาราไทรอยด์ ทารกขาดออกซิเจนขณะคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด หากมีอาการหลังคลอดเป็นสัปดาห์ไปแล้ว อาจมีสาเหตุจากการให้ทารกกินนมวัวที่มีสารฟอตเฟตสูงทำให้ลำไส้ไม่ดูดซึมแคลเซียม เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากอุจจาระร่วง มีภาวะขาดพาราไทรอยด์ ขาดวิตามินดี หรือภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการมือจีบเกร็งทั้งสองข้างแบบเดียวกับที่พบในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย อาจเป็นตะคริวที่ขา ใบหน้า ปวดบิดในท้อง รู้สึกชาที่ริมฝีปาก ลิ้น และปลายมือปลายเท้าในบางราย หรืออาจมีอาการชักถ้าเป็นรุนแรง

ในทารกอาจมีอาการชัด หายใจลำบาก ตัวเขียว อาจมีอาเจียนรุนแรงจนเข้าใจผิดว่ามีภาวะกระเพาะลำไส้อุดกั้นในทารกบางราย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบอาการมือจีบเกร็งทั้งสองข้าง อาจเป็นตะคริวที่ขา หรือชัก

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้หัวใจวาย กล่องเสียงเกร็งตัวจนหายใจไม่ได้ ถ้ามีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำมากๆ

อาจทำให้เป็นต้อกระจก บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า ถ้าเกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์และปล่อยไว้จนเรื้อรัง

หากเป็นตั้งแต่ยังเล็กๆ และไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ฟันเสีย ร่างกายไม่เจริญเติบโต และปัญญาอ่อนได้

การรักษา
ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค อาจให้การรักษาเบื้องต้นด้วยการฉีดแคลเซียมกลูโคเนต 10 มล. เข้าหลอดเลือดดำช้าๆ ซึ่งจะช่วยให้หายชักเกร็งทันทีในรายที่มีประวัติการผ่าตัดต่อมไทรอยด์มาก่อน

ควรเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสาเหตุและตรวจดูระดับแคลเซียม ซึ่งมักจะพบว่าต่ำกว่า 7.5 มก./ดล. แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินเกลือแคลเซียม เช่น แคลเซียมกลูโคเนต ทุกวัน

อาจให้กินวิตามินดี เช่น แคลซิเฟอรอล ร่วมด้วยทุกวัน ในรายที่เกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์

แพทย์มักจะนัดตรวจระดับแคลเซียมในเลือดเป็นครั้งคราว และผู้ป่วยอาจต้องกินยาติดต่อกันตลอดไป

บางรายอาจมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำชั่วระยะเวลาหนึ่ง และหายได้เอง แต่บางรายอาจเป็นแบบถาวรต้องกินยารักษาไปตลอดในรายที่มีสาเหตุจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า