สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สัตว์มีพิษในทะเลไทย:ปลาทะเลที่มีพิษ

ที่มา:วันทนา อยู่สุข, ธีระพงศ์ ด้วงดี

ในท้องทะเลเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด มีทั้งสัตว์และพืชที่เป็นอาหารของมนุษย์ และมีคุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม ยังมีสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดที่มีสารชีวพิษ (biotoxin) สะสมอยู่ในตัว ซึ่งอาจก่ออันตรายต่อมนุษย์เมื่อบริโภคหรือสัมผัส

ปลาทะเลที่มีพิษ

ปลาทะเลเป็นอาหารที่มีผู้นิยมบริโภค เพราะมีรสดี คุณค่าทางอาหารสูง เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามมีปลาทะเลหลายชนิดที่เป็นพิษเมื่อ บริโภคหรือสัมผัส ปลาที่เป็นพิษแก่ผู้บริโภค ได้แก่ ปลาปักเป้าที่มีสารพิษเทโทรโดท็อกซิน และปลาที่อาศัยในแนวปะการังบางแห่งที่ก่อโรค ciguatera ปลาที่เป็นอันตรายจากการสัมผัส ได้แก่ปลาที่มีอวัยวะป้องกันตัวเป็นหนามและครีบก้านแข็ง เมื่อคนถูกตำหรือแทงจะมีบาดแผลเจ็บปวด และอาจมี สารพิษเข้าสู่บาดแผลทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้

ปลาทะเลที่ก่ออันตรายเมื่อบริโภค

กรณีที่รู้กันอย่างแพร่หลายคืออันตรายที่ได้รับพิษจากการบริโภคปลาปักเป้าและปลาที่ก่อโรค ศิกัวเทอรา

ปลาปักเป้า

ในทะเลไทยมีปลาปักเป้าอยู่ไม่น้อยกว่า ๒๓ ชนิด จัดอยู่ในวงศ์ปลาปักเป้า (Family Tetrodontidae) และวงศ์ปลาปักเป้าหนามทุเรียน

(Family Diodontidae) (รูปที่ ๑)

ปลาปักเป้ามีขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ (๑๐- ๔๐ เซนติเมตร) มีลักษณะเฉพาะตัวคือลำตัวกลมยาว หัวโต ปากเล็ก บางชนิดมีฟันและปากคล้าย นกแก้ว ครีบอกและครีบหางใหญ่ ครีบหลังและครีบก้นเล็ก หนังเหนียว ส่วนมากมีตุ่มหรือหนามกระจายทั่วตัว ปลาปักเป้าจะพองตัวเมื่อตกใจหรือถูกรบกวน อาศัยอยู่ตามท้องทะเลที่เป็นทรายหรือทรายปนโคลน มักจับได้ด้วยเครื่องมืออวนลากหน้าดิน ปลาปักเป้าชนิดที่มีรายงานว่าเป็นพิษต่อผู้บริโภคและพบในน่านน้ำไทย ได้แก่ปลาปักเป้าลาย [Sphoeroides scleratus (Gmelin)], ปลา ปักเป้า [Tetrodon hispidus (Lac.)I, ปลาปักเป้าดำ [Tetrodon stellatus (BI. & Schn.)] เป็นต้น

พิษและอาการ

พิษในปลาปักเป้าเป็นพิษจำพวก Tetrodotoxin (TTXs)  มีสูตรโครงสร้างโมเลกุลเป็น C11H17O8N3 ไม่สลายตัวด้วยความร้อนแต่ละลายในน้ำหรือแอลกอฮอล์ได้ดี สารพิษมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทมีผลทำให้กล้ามเนื้อไม่ทำงาน เกิดอาการอัมพาต ในกรณีที่ได้รับสารพิษจำนวนมากทำให้ระบบประสาทส่วนกลางไม่สามารถควบคุมการหายใจและการเต้นของหัวใจจนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

สารพิษชนิดนี้ นอกจากพบในปลาปักเป้าแล้ว ยังตรวจพบในสัตว์ทะเลที่ใช้เป็นอาหารอีกหลายชนิดเช่น หมึกสายบางชนิด หอยกาบเดี่ยวบางชนิด และปลาชนิดอื่นๆ ความรุนแรงของพิษ TTXs ขึ้นกับสัตว์ทะเลแต่ละชนิดแต่ละตัวและชนิดของเนื้อเยื่อ ตับและรังไข่มักจะมีความรุนแรงของพิษสูง อย่างไรก็ตามพบว่ามีสัตว์เฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่สามารถสะสมสารพิษ TTXs ไว้ในตัวได้

การสะสมสารพิษ TTXs เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจและผลจากการศึกษาวิจัยหลายเรื่องที่อธิบายว่า แบคทีเรียหลายชนิดทั้งที่อาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์ทะเล และที่อยู่เป็นอิสระเป็นผู้สร้างสารพิษนี้ขึ้นเช่น Vibrio alginolyticus, Pseudomonas sp.

ปลาที่ก่อโรค ศิกัวเทอรา

Ciguatera เป็นชื่อที่ใช้เรียกชื่อโรคที่เกิดจากการบริโภคปลาทะเลหลายๆ ชนิด ซึ่งมักจะเป็นปลาที่อาศัยในแนวปะการัง โดยเฉพาะในทะเลคาริบเบียน ทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นของมหาสมุทรแปซิฟิก คำว่า cigua เป็นภาษาสเปนที่ใช้เรียกหอยทะเลในกลุ่มหอยตาวัวชนิด Turbo pica ผู้ที่บริโภคหอย ชนิดนี้เกิดมีอาการผิดปรกติทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร จึงได้ถูกนำมาใช้เรียกโรคที่เกิดจากการบริโภคปลาแล้วผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวด้วย ปลาทะเลที่มีรายงานว่ามีพิษได้แก่ ปลาไหลมอเรย์, ปลากะรัง, ปลาสาก, ปลากะพง, ปลาหมอทะเล เป็นต้น

พิษและอาการ

ในปลาทะเลที่มีพิษ สารพิษสะสมอยู่ในเนื้อและอวัยวะภายใน ปลาต่างชนิดอาจพบพิษต่างกัน เช่น ในปลาไหลมอเรย์ พบสารชีวพิษ ciguatoxin (CTX) ที่มีสูตรโครงสร้างโมเลกุล C60 H86 NO19 ในปลานกแก้ว (Scarus gibbus) นอกจากจะมี ศิกัวทอกซิน แล้วยังพบ scaritoxin ด้วย ส่วนในปลาขี้ตังเป็ด (Ctenochaetus strigosus) พบสารชีวพิษชนิด maitotoxin (MTX)

การศึกษาความเป็นพิษของปลาที่เกาะ Gambier พบว่ามีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวพวก dinoflagellate ชนิด Gambierdiscus toxicus ซึ่งอาศัยอยู่บนซากปะการังและบนสาหร่ายทะเลขนาดใหญ่ เมื่อพบพวกไดโนแฟลกเอลเลต ชนิดนี้มากก็จะพบปลาที่มีพิษมากขึ้นด้วย ปลาที่มีพิษ มักเป็นปลาที่กินพืช เมื่อปลากินสาหร่ายก็จะกิน ไดโนแฟลกเอลเลต เข้าไปด้วย และยังพบพิษในปลากินเนื้อ จากการถ่ายทอดพิษทางห่วงโซ่อาหาร พิษจะสะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ และถ่ายทอดมาถึงคนที่เป็นผู้บริโภคขึ้นสูงสุด สารพิษนี้ถ้ามีปริมาณน้อยจะไม่มีผลมากนัก แต่ถ้าได้รับสารพิษปริมาณมากอาจมีอาการรุนแรง

การเลี้ยงและขยายพันธุ์ Gambierdiscus toxicus ในห้องปฏิบัติการเพื่อนำมาสกัดสารพิษ พบว่าได้สารพิษชนิด MTX ในปริมาณมาก และมีสารพิษที่คล้ายกัน CTX อยู่ด้วย จึงเชื่อกันว่าต้นกำเนิดของพิษในปลาทะเลคือ ไดโนแฟลกเอลเลต บางชนิด นอกจากชนิดที่กล่าวมาแล้ว ยังอาจมีชนิดอื่นๆ ที่ผลิตสารพิษได้ด้วย ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับไดโนเฟลกเอลเลต ที่อยู่ตามปะการังหรือสาหร่ายที่เรียก benthic dinoflagellate มีแต่เพียงคำบอกเล่าว่าการบริโภคปลาทะเลบางชนิด ทำให้มีอาการผิดปรกติเกิดขึ้น

ผู้ที่เป็นโรคศิกัวเทอรา นั้นพบว่าจะมีอาการเกิดขึ้นภายใน ๓๐ ชั่วโมงหลังจากบริโภคปลาที่มีพิษ อาการจะแสดงออกเร็วหรือช้า มากหรือน้อยขึ้นกับ ปริมาณสารพิษที่ได้รับและความต้านทานของผู้ป่วยเอง อาการที่ปรากฏอาจจะมีทั้งอาการทางระบบประสาท และอาการทางระบบทางเดินอาหาร หรืออย่างใด อย่างหนึ่ง และอาการยังคงอยู่เป็นเวลา ๒-๔ สัปดาห์ อาการระยะแรกได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน จากนั้นจะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ชาตามมือ เท้า ริมฝีปาก ลิ้น หน้ามืด วิงเวียน ตาฟาง หัวใจเต้นผิดปรกติ มีผื่นแดงตามผิวหนัง อาจทำให้ผิวหนังหลุดหรือถลอกได้ง่าย

ปลาทะเลที่ก่ออันตรายสัมผัส

ปลาจำนวนมากมีอวัยวะป้องกันตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟัน หนาม ก้านครีบแข็ง ซึ่งเมื่อไปทิ่มแทงหรือตำจะทำให้เกิดบาดแผล ปลาบางพวกยัง สามารถสร้างสารพิษที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ พิษเหล่านี้สร้างโดยต่อมพิษ (venom gland) ที่อยู่ในเนื้อเยื่อที่หุ้มหนามหรือหนังที่ปกคลุมบริเวณหนามหรือที่ตัวหนาม ปลาทะเลที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยการทิ่มแทง ตำมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถจำแนกออก เป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้

๑.กลุ่มปลากระเบน (stingray)

ปลากระเบนมีลำตัวแบน ครีบอกขนาดใหญ่ แผ่ออกข้างตัว ทำให้เห็นลำตัวเป็นแผ่นรูปร่างเกือบกลมคล้ายว่าวหรือจาน ส่วนหางเรียวคล้ายแส้แยก ออกจากลำตัวเห็นชัดเจน มีหนามแหลมบริเวณโคนหางด้านบน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละชนิด (รูปที่ ๒). หนามเป็นแท่งแบนยาว ปลายแหลม ขอบทั้งสองข้างมีรอยหยักเป็นฟันเลื่อย ด้านบนมีร่องจากโคนถึงปลาย กลุ่มเซลล์สร้างสารพิษหรือต่อมพิษ (venom gland) อยู่ใต้ผิวชั้นนอก (epi­dermis) (รูปที่ ๓) ปลากระเบนที่มีพิษรุนแรง ในน่านน้ำไทยได้แก่วงศ์ปลากระเบนธง (Family Trygonidae) สกุล Dasyatis และ Pteroplatea และวงศ์กระเบนนก (Family Myliobatidae) สกุล Aetobatus.

ผู้ที่ถูกหนามหรือเงี่ยงปลากระเบน แผลมีลักษณะคล้ายแผลมีดบาด การที่เงี่ยงของปลากระเบนมีลักษณะคล้ายฟันเลื่อย เมื่อชักเงี่ยงออกจากบาดแผลทำให้แผลฉีกมากขึ้น หลังถูกตำจะมีอาการปวดเป็นระยะๆ ต่อมาแผลจะอักเสบบวม อย่างไรก็ตามปลากระเบนไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว อันตรายมักเกิดจากการเหยียบปลากระเบนที่ฝังตัวอยู่ตามพื้นทราย หรือทรายปนโคลน (รูปที่ ๔)

๒. กลุ่มปลาดุกทะเลและปลากดทะเล (sea catfish)

ปลาดุกทะเล เป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัวปกคลุมด้วยเมือกลื่น รูปร่างเรียวยาว ด้านข้างแบน ส่วนหัวแบนลง มีหนวด ๔ คู่ อยู่ที่บริเวณรูจมูก ๑ คู่ ริมฝีปาก ๑ คู่และใต้คาง ๒ คู่ ครีบหลังอันที่สอง ครีบก้นและครีบหางติดต่อกัน ครีบหลังและครีบอกมีก้านครีบแข็งซึ่งมีลักษณะเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อย ขนาดใหญ่แข็งแรง ปลาในกลุ่มนี้ได้แก่วงศ์ปลาดุกทะเล (Family Plotosidae) (รูปที่ ๕) เช่นสกุล Plotosus.

ปลากดทะเล เป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัวมีเมือกลื่น หัวแบนปกคลุมด้วยกระดูกเป็นสันและเป็นตุ่มเม็ดหยาบๆ ครีบหางรูปล้อม ครีบหลังอันแรกและครีบอกมีก้านครีบแข็งซึ่งมีลักษณะเป็นหยัก คมคล้ายฟันเลื่อยขนาดใหญ่ มีต่อมพิษอยู่ที่ผิวของเยื่อที่คลุมก้านครีบและที่ตอนกลางของกระดูกก้านครีบ (รูปที่ ๖) ปลาในกลุ่มนี้ได้แก่วงศ์ปลากดทะเล (Family Tachysuridae) (รูปที่ ๗) เช่นสกุล Tachysurus.

อันตรายจากปลากลุ่มนี้เกิดจากไปสัมผัสโดนก้านครีบแข็งบริเวณครีบหลังและครีบอกโดยเฉพาะ ขณะที่จับปลาเพื่อปลดออกจากเครื่องมือประมงเช่น เบ็ด แห หรืออวน หรืออาจเกิดจากการไปเหยียบถูกเนื่องจากทั้งปลาดุกและปลากดทะเลเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามหน้าดินและอาจมาหากินตามที่น้ำตื้น หรือปากแม่น้ำ พิษของปลากลุ่มนี้มีผลคล้ายกับพิษของปลากระเบน เมื่อถูกตำจะเจ็บปวดทันที ปลาขนาดเล็กมีผลทำให้เจ็บปวดนานประมาณ ๓๐-๖๐ นาที ส่วนปลาขนาดใหญ่อาจมีผลทำให้เจ็บปวดนานถึง ๔๘ ชั่วโมง และบาดแผลบวมอักเสบ

. กลุ่มปลากะรังหัวโขน (stone fish)

ปลากะรังหัวโขนมีลำตัวป้อมเกือบกลม หัวขนาดใหญ่ ส่วนหัวมีหนามจำนวนมาก ลำตัวสาก และมีหนามเล็กๆ หนังหนาและเป็นปม เกล็ดละเอียด บางชนิดไม่มีเกล็ด ครีบหลังยาว ครีบอกกว้าง มีก้านครีบแข็งขนาดใหญ่ที่ครีบหลัง ครีบอก และครีบท้อง ก้านครีบแข็งมีลักษณะเป็นหนาม ต่อมพิษของก้านครีบแข็งอยู่ใต้ชั้นผิวโดยอยู่รอบส่วนกลาง ส่วนปลายของก้านหนามหุ้มห่อด้วยเนื้อเยื่อ (connec­tive tissue) (รูปที่ ๘). พิษจะถูกปล่อยออกเมื่อเยื่อหุ้มหนามฉีกขาด อันตรายเกิดจากการไปสัมผัสถูกก้านครีบแข็งบริเวณต่างๆ และหนามบริเวณหัว เนื่องจากปลากลุ่มนี้ชอบอยู่นิ่งๆ ทำให้ดูคล้ายก้อนหินจึงอาจไปสัมผัสหรือเหยียบได้ พิษมีความรุนแรงมากเมื่อถูกตำหรือบาดจะปวดและบวมทันที ความเจ็บปวดอาจอยู่นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ในกรณีที่รับพิษจำนวนมากหรือแพ้ ผู้ป่วยอาจมีอาการคอแห้ง ปวดเมื่อยตามข้อต่างๆ ซึม เพ้อไม่ได้สติ จนเสียชีวิตได้ในที่สุด

ปลาในกลุ่มนี้อาศัยตามพื้นท้องทะเล จัดอยู่ใน ๒ วงศ์คือ วงศ์ปลาแมงป่อง (Family Scorpaenidae) เช่นสกุล Scorpaenopsis และวงศ์ปลาหิน (Family Synanceidae) (รูปที่ ๙) เช่นสกุล Synanceia.

๔. กลุ่มปลาสิงห์โต (scorpaenoid fish)

ปลาสิงห์โตมีลำตัวยาวปานกลาง แบนข้างเล็กน้อย หัวขนาดใหญ่ ลำตัวปกคลุมด้วยแผ่นกระดูก และมีหนามจำนวนมาก เกล็ดขนาดเล็ก ครีบหลัง และครีบอกขนาดใหญ่แผ่กว้าง โดยทั่วไปครีบอกมีความยาวถึงโคนหาง ก้านครีบแข็งของครีบหลัง และครีบอกมีขนาดใหญ่แหลมคม ต่อมพิษลักษณะคล้ายกับปลากะรังหัวโขน (รูปที่ ๑๐). หัวและลำตัวมีแถบลายสีน้ำตาลปนแดง (รูปที่ ๑๑). ปลาสิงห์โตมักว่ายช้าๆ หรือลอยตัวนิ่งๆ ตามแนวปะการัง และบริเวณแนวหินในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทั่วไป นักท่องเที่ยวชอบเข้าไปจับเล่นเนื่องจากดูสวยงาม และคิดว่าไม่เป็นอันตราย พิษของปลาสิงห์โต เหมือนกับพิษของปลากะรังหัวโขน แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ปลาสิงห์โตจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาแมงป่อง (Family Scorpaenidae) สกุล Pterois.

๕. กลุ่มปลาขี้ตังเป็ด (surgeon fish)

ปลาขี้ตังเป็ดมีลำตัวป้อมแบน หนังหนา เกล็ดเล็ก ครีบหลังและครีบก้นยาว บริเวณลำตัวและครีบมีสีสันสวยงามมาก อันตรายเกิดจากการสัมผัสหนามซึ่งอยู่บริเวณโคนหาง (รูปที่ ๑๒). ปรกติหนามจะพับเก็บในร่องใต้ผิว เมื่อตกใจจะกางออก โดยชี้ปลายไปด้านหัว ปลาขี้ตังเป็ดอาศัยตามกองหินและแนวปะการัง ได้แก่วงศ์ปลาขี้ตังเป็ด (Family Acanthundae) (รูปที่ ๑๓) เช่นสกุล Acanthurus และ Ctenochaetus. พิษของปลาขี้ตังเป็ดมีผลคล้ายกับพิษของปลากะรังหัวโขนแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า

๖. กลุ่มปลาสลิดทะเล (rabbit fish)

ปลาสลิดทะเลมีรูปร่างแบนป้อม ลำตัวแบนข้าง หัวขนาดเล็ก เกล็ดเล็กละเอียด ครีบหลังและครีบก้นยาว มีก้านครีบแข็งที่ครีบหลัง ครีบท้องและ ครีบก้นซึ่งมีลักษณะแหลมคมและแข็ง มักพบในเขตชายฝั่ง ตามพื้นท้องทะเล กองหินแนวปะการัง และแนวหญ้าทะเล จัดอยู่ในวงศ์ปลาสลิดทะเล (Family Siganidae) (รูปที่ ๑๔) ได้แก่สกุล Siganus อันตรายเกิดจากการถูกก้านครีบแข็งบริเวณต่างๆ ตำ แทง เมื่อถูกตำจะเจ็บปวดมาก แต่ไม่มีรายงานว่ามีต่อมพิษ

๗. กลุ่มปลาตะกรับ (spotted butter fish)

ปลาตะกรับมีลำตัวป้อมสั้น แบนข้าง หัวเล็ก หนังหนา เกล็ดขนาดเล็ก ครีบหลังยาว สีพื้นลำตัวด้านล่างมีสีน้ำเงินอมเขียว ด้านท้องสีขาวเงิน ตลอดลำตัวและครีบมีจุดสีเป็นวงสีน้ำตาลอมเทา มีก้านครีบแข็งขนาดใหญ่ที่ครีบหลัง ครีบท้อง และครีบก้น ได้แก่วงศ์ปลาตะกรับ (Family Scato­phagidae) (รูปที่ ๑๕) เช่นสกุล Scatophagus. อันตรายเกิดจากถูกก้านครีบแทง ตำ ซึ่งมักเกิด ขณะปลดปลาออกจากเครื่องมือประมง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า