สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การตรวจร่างกายเด็กแรกเกิด

การตรวจร่างกายเด็กแรกเกิดควรทำตั้งแต่แรกเกิดหรือก่อนออกจากห้องคลอด ซึ่งโดยแท้จริงแล้วกุมารแพทย์ควรมีส่วนตั้งแต่ในห้องคลอด แต่อาจเป็นเช่นนี้ได้ยากในสถานพยาบาลบางแห่ง ดังนั้นแพทย์จึงเพียงดูแลหลังคลอดว่าเด็กหายใจปกติ ไม่มีความผิดปกติที่ชัดเจน หรือไม่มีบาดเจ็บจากการคลอด ให้การป้องกันโรคเยื่อบุตาอักเสบ และยืนยันสถานภาพของเด็ก
การตรวจร่างกายมีทั้งการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจอวัยวะเพศและเทคนิคในการตรวจจะแตกต่างจากผู้ป่วยประเภทอื่น
การตรวจร่างกายทั่วไป
เด็กแรกเกิดเมื่อหายใจเข้าหลายครั้ง ร้องเสียงดัง ผิวหนังจะเปลี่ยนจากสีแดงคล้ำปนน้ำเงินเป็นสีชมพู ขากรรไกรจะหุบเมื่อสอดนิ้วมือเข้าไปในปาก กล้ามเนื้อมีการตึงตัวดี แขนขาเคลื่อนไหวได้ดี มี reflex และอาจปัสสาวะราดหรือถ่ายเป็นขี้เทา
การตอบสนองทางสรีรวิทยาเหล่านี้เป็นกฎเกณฑ์ที่แสดงว่าเด็กแรกเกิดแข็งแรงดี สามารถนำเด็กใส่เปลนอนได้ หลังจากที่ให้มารดาดูแล้วจึงตรวจโดยละเอียดเพื่อดู
Caput succedaneum
Marked molding ของศีรษะ
แผลถลอก (abrasion) จากคีมหรือเครื่องมือช่วยคลอด
ความพิกลพิการของศีรษะ ลำตัวหรือแขนขาที่เห็นชัดเจน
เสียงร้อง
เสียงที่ผิดปกติมักสัมพันธ์กับความพิการหรือความผิดปกติแต่กำเนิดได้บ้าง เช่น เสียงร้องแหบห้าวหรือแหลมสูง สัมพันธ์กับโรคหัวใจแต่กำเนิด
เสียงร้องฮืดๆ มักเกิดจากความผิดปกติของหน้าและลำคอ หรือการอุดตันของทางเดินหายใจส่วนบนจาก คอพอกแต่กำเนิด ก้อนเนื้องอก วัตถุแปลกปลอม
เสียบแหบห้าว ร้องเบาหรือไม่สามารถร้องได้ เป็นผลจากมีพยาธิสภาพในระบบประสาทส่วนกลาง และไม่มีการเจริญหรือเจริญผิดปกติของกล่องเสียง (larynx) ร้องเบาหรือไม่ร้องอาจเป็นเพราะเด็กไม่หายใจ
ลักษณะทั่วไป
ลักษณะทั่วไปสามารถบอกได้ถึงความพิการหรือความผิดปกติแต่กำเนิดเกี่ยวกับการเจริญของร่างกาย หรืออวัยวะเพศ ตัวอย่าง เช่น Down’s syndrome  และ oretinism ตัวเขียวแสดงถึงโรคหัวใจแต่กำเนิดอย่างรุนแรง และความพิการของเด็กที่เป็น gonadal dysgenesis
ความพิกลกิการที่เห็นชัดเจนของโครงกระดูก มีบ่อยที่สัมพันธ์กับภาวะปัญญาอ่อน (mental retardation) และการเจริญที่บกพร่องของอวัยวะต่างๆ
ความสัมพันธ์ของความพิการ
การพบความพิการอย่างหนึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะพบความพิการอย่างอื่น เป็นต้นว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญของโครงกระดูกบกพร่อง ภาวะปัญญาอ่อน และการเจริญของร่างกายช้ากว่าปกติ
จากความรู้เรื่องการเจริญของตัวอ่อนในครรภ์ จึงไม่แปลกที่มักพบความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวร่วมกับความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์
เด็กที่เป็น Turner’s syndrome มักพบ coarctation of the aorta ร่วมกับการเจริญที่บกพร่องของอวัยวะอื่น
ศีรษะ
ตรวจหาความพิการของ หู จมูก ปาก
หูแบนและรูปร่างผิดปกติ ควรนึกถึงเด็กที่เป็น renal agenesis
วงใบหู (helix) ด้านบนตั้งตรง มักพบในเด็กที่เป็น Down’s syndrome
Low set ears นึกถึง Down’s syndrome
High-arched narrow palate นึกถึง Down’s syndrome
ตรวจหาปากแหว่ง (harelip), เพดานโหว่ (cleft palate), tongue-tie
ผิวหนัง
ตรวจดู
Cyanosis, pallor, icterus, edema, birthmarks และ เนื้องอก
Dermatolysis นึกถึง gonadal dysgenesis
แขนขา
ตรวจหาบาดแผล กระดูก ความพิการของนิ้วมือนิ้วเท้า และการเคลื่อนไหวปกติ
กล้ามเนื้ออ่อนแรง (flaccidity) นึกถึงพยาธิสภาพในระบบประสาทส่วนกลาง
เมื่อเคลื่อนไหวกระดูกและข้อแล้วเด็กร้อง ควรนึกถึงการบาดเจ็บต่อกระดูก
บวมที่หลังมือและเท้า ในช่วงแรกเกิดและภายในช่วง 4 สัปดาห์หลังคลอด (Bonnevie-Ullrich syndrome) เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของ gonadal dysgenesis
ท้อง
ดูและคลำเพื่อให้แน่ใจว่ามีความผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้องอกในท้องหรือไม่
ตรวจสะดือ linea alba และขาหนีบ ตรวจว่ามี hernia, omphaloceles หรือไม่
ระบบทางเดินปัสสาวะ
เด็กที่แข็งแรงดีจะปัสสาวะได้ในเวลาไม่นานหลังคลอด ก่อนนำเด็กจากห้องคลอดถ้ายังไม่ปัสสาวะต้องนึกถึงความผิดปกติร้ายแรงในระบบทางเดินปัสสาวะ หาก 3 ชั่วโมงแล้วยังไม่ถ่ายปัสสาวะควรใส่สายสวนปัสสาวะเบอร์ 10 หรือ 12 French
ความผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ exstrophy of the bladder และ hypospadias ร้ายแรงที่สุดคือ renal agenesis เพราะเด็กไม่สามารถรอดชีวิตได้ในที่สุด
การตรวจอวัยวะเพศ
ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกควรพบตั้งแต่แรกเกิด หรือภายในไม่กี่วันหลังคลอด การตรวจดูเพียงอย่างเดียวก็สามารถตรวจพบความผิดปกติส่วนใหญ่ของฝีเย็บ ปากช่องคลอด เยื่อพรหมจารี คลิตอริส และช่องคลอดได้
การตรวจอวัยวะเพศของเด็กแรกเกิดทำได้โดยการจับเด็กนอนหงาย งอต้นขาไปติดกับหน้าท้อง การทำอย่างนี้จะช่วยแยกแคมออกจากกัน เห็นคลิตอริส ปากช่องคลอด ช่องคลอดบางส่วนและทวารหนักได้ชัดเจน บางครั้งส่วนต่างๆ จะเห็นได้ดีขึ้นเมื่อทำความสะอาดด้วยน้ำเบาๆ เนื้อเยื่ออวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก เยื่อพรหมจารี และช่องคลอดที่บวมขึ้นแสดงถึงผลการกระตุ้นจากฮอร์โมนที่สร้างจากรกซึ่งเป็นเรื่องปกติ
สำหรับความผิดปกติของท่อนำไข่ มดลูกนั้น ไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจดูภายนอก เพราะแม้แต่ในผู้ใหญ่ยังต้องอาศัยการตรวจพิเศษช่วย
เยื่อพรหมจารี
ความผิดปกติของเยื่อพรหมจารี  โดยเฉพาะภาวะเยื่อพรหมจารีไม่มีรูเปิดควรพบตั้งแต่แรกเกิด อาจยากเล็กน้อยที่จะตรวจหารูเปิดของเยื่อพรหมจารี วิธีตรวจคือแยกแคมเล็กแล้วดันไปทางด้านหลังเบาๆ จะพบรูเปิดได้ ถ้ามีปัญหาอาจต้องใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น
ใช้สายยางเบอร์ 14 French แยงเบาๆ ที่บริเวณปากช่องคลอด ไม่ควรใช้แท่งแก้วแท่งโลหะหรือแท่งไม้ เพราะอาจเกิดบาดแผลได้เมื่อเด็กดิ้น
ถ้าไม่สามารถหารูเปิดพบได้แสดงว่าอาจเป็นได้ทั้งภาวะเยื่อพรหมจารีไม่มีรูเปิด หรือภาวะช่องคลอดไม่มี การแยกระหว่างสองอย่างนี้ไม่ยาก เพราะภาวะเยื่อพรหมจารีไม่มีรูเปิดเป็นเพียงเยื่อมันบางๆ แต่ภาวะช่องคลอดไม่มีเป็นแผ่นหนาและเป็นรอยบุ๋มรอบเยื่อพรหมจารีซึ่งยังไม่เจริญเป็นรูปร่างชัด
หากพบภาวะเยื่อพรหมจารีไม่มีรูเปิด ควรแก้ไขก่อนที่จะเกิดเป็นภาวะมูกสะสมในช่องคลอด (mucocolpos) ซึ่งมักเกิดวันที่ 4 หลังคลอด เมื่อมดลูกมีการตอบสนองจากการลดลงของฮอร์โมนจากรก
อาจตรวจดูความผิดปกติอย่างอื่นพร้อมกันไปเช่น ภาวะช่องคลอดมีรูเปิดสองรู (double vagina)
ความผิดปกติของมดลูกไม่อาจตรวจได้จากการตรวจทางทวารหนัก แต่ให้นึกถึงเสมอถ้ามีความผิดปกติของช่องคลอด ในกลุ่มนี้ควรตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งเมื่ออายุ 4-5 ปี
คลิตอริส
คลิตอริสที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมักสัมพันธ์กับความผิดปกติอย่างอื่นของอวัยวะสืบพันธุ์ ที่พบบ่อยมี 3 อย่างคือ
1. congenital adrenal hyperplasia
2. มี androgen effect ระหว่างอยู่ในครรภ์
3. intersex มักมีคลิตอริสขนาดใหญ่ และอาจมี urogenital sinus
นอกจากนี้อาจเป็นเนื้องอกรังไข่ที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย
ทวารหนัก
การคลำเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจเด็กแรกเกิด ควรให้อยู่ในท่าโก้งโค้ง ปกติเด็กส่วนใหญ่จะถ่ายขี้เทาในไม่กี่นาทีหลังคลอด ควรตรวจให้ได้ก่อนออกจากห้องคลอด ถ้าไม่ถ่ายขี้เทาแสดงว่าน่าจะมีความผิดปกติของทวารหนัก เช่น stenotic, impeforate หรืออุดตันในระดับสูง
ถ้ามี fistula รูเปิดของทวารหนักอาจอยู่ในช่องคลอดหรือปากช่องคลอด ยืนยันได้จากการที่มีขี้เทาผ่านออกมาให้เห็น แม้ว่ารูเปิดอาจเล็กมากไม่เห็นในทันทีก็ตาม
การตรวจทางทวารหนักเพียงช่วยแยกเนื้องอกในอุ้งเชิงกรานเท่านั้น เพราะไม่อาจคลำมดลูกได้ ผู้ตรวจสอดนิ้วทางทวารหนัก เด็กอาจร้องขณะตรวจได้ ปกติแล้วการตรวจนี้ไม่สามารถคลำอวัยวะเพศภายในได้  หากตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติพอจะพิเคราะห์ได้ว่าไม่มีเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน
การตรวจเมื่อแรกเกิดโดยครบถ้วนจะช่วยให้แพทย์มั่นใจว่า เด็กไม่มีการบาดเจ็บที่ชัดเจน ไม่มีความผิดปกติแต่กำเนิด มีอวัยวะเพศภายในปกติ มีรูเปิดของเยื่อพรหมจารี ความยาวช่องคลอดลึกเป็นปกติ ไม่มีความผิดปกติของทวารหนัก และหากพบสิ่งผิดปกติก็สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เกี่ยวข้องได้ทันที
ที่มา:สนทิศ  สุทธิจำรูญ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า