สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การใช้น้ำยาทำลายเชื้อแบคทีเรีย

คุณลักษณะของน้ำยาฆ่าเชื้อที่ดีควรจะมีดังนี้

๑.  ทำลายตัวแบคทีเรียและสปอร์ได้ทุกชนิด

๒.  ออกฤทธิ์เร็ว

๓. ไม่ระคายต่อผิวหนังหรือเป็นพิษต่อร่างกาย

๔.  เก็บไว้ได้นาน

๕.  ไม่เสื่อมคุณภาพเมื่อปนกับสิ่งปฏิกูลจากร่างกาย เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง หนอง หรืออุจจาระ

๖.  ล้างออกได้หมด

๗. ราคาถูก

ไม่มีน้ำยาชนิดใดที่ใช้กันอยู่ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวครบบริบูรณ์ ที่สำคัญก็คือส่วนใหญ่แล้วทำลายได้แต่ตัวแบคทีเรียและไม่ทำลายสปอร์  การที่จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อให้ได้ผลดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

๑.  คุณสมบัติเฉพาะตัวของน้ำยา  ต่อเชื้อซึ่งไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้แล้วยังต้องคำนึงว่ายาบางชนิดมีฤทธิ์ค่อนข้างอ่อนทำให้แบคทีเรียหยุดแบ่งตัวได้ชั่วคราว แต่ไม่อาจทำลายเชื้อได้ (เช่น Quaternary Ammonium Compound (QAC)และ Ampholytes) เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเสื่อมคุณภาพไปเชื้อจะแพร่ได้เร็วมาก อีกประการหนึ่งที่ต้องสังวรไว้ก็คือเชื้ออาจจะดื้อยาก็ได้ดังมีตัวอย่างมาแล้ว  จากเชื้อ Pseudomonas กับ Chlorhexidine

๒.  จำนวนของเชื้อโรค  เป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีน้ำยาชนิดใดที่สามารถทำลายเชื้อได้อย่างสมบูรณ์  แต่ทางผู้ผลิตก็สามารถควบคุมประสิทธิภาพของน้ำยาให้เข้าเกณฑ์มาตรฐานและสามารถทำลายเชื้อได้ถึงร้อยละ ๙๙.๙๙ ตัวเลขนี้ดูเผิน ๆ จะเห็นว่าดีแต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งลงไปจะเห็นได้ว่าจะมีเชื้อแบคทีเรียเหลืออยู่ ๑๐๐ ตัวจากทุก ๆ ๑,๐๐๐,๐๐๐ ตัว ที่ถูกทำลายซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก (ต้องไม่ลืมว่าเชื้อแบคทีเรียจะขยายตัวจาก ๑ ไปเป็น ๑๐ ภายใน ๑๐ ชั่วโมง ถ้าได้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม)  เพราะฉะนั้นจะพึ่งน้ำยาอย่างเดียวไม่ได้และควรมีกรรมวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียบนเครื่องมือที่จะนำมาแช่น้ำยา เช่น ล้างออกให้สะอาดก่อน เป็นต้น  นอกจากนี้แล้วผลของการล้างอีกข้อหนึ่งก็คือจะทำให้น้ำยาเข้าไปถึงทุก ๆ ส่วนของเครื่องมือนั้นด้วย

          ๓.  ความเข้มข้นและปริมาตรของน้ำยาที่ใช้  จะต้องใช้ให้ถูกตามที่ผู้ผลิตได้แนะนำมาโดยทั่วไปถ้าความเข้มข้นสูงประสิทธิภาพของน้ำยาก็จะดีขึ้น (ยกเว้นในกรณีของแอลกอฮอล์) แต่ต้องไม่ลืมว่าปริมาตรที่ใช้ก็จะต้องมากพอด้วย

          ๔. ความเป็นกรดหรือด่างของน้ำ  ประสิทธิภาพของน้ำยาบางอย่างจะเปลี่ยนไปตามความเป็นกรดหรือด่างของน้ำที่ใช้ เช่น Cetrimide และ Chlorhexidine จะใช้ได้ดีกับน้ำกระด้าง (pH ๗.๒) แต่จะไม่ดีเท่าที่ควร ถ้าใช้กับน้ำกลั่น (pH ๖.๐)

          ๕.  ระยะเวลาที่ใช้น้ำยา  จะต้องให้เวลาให้เพียงพอ  ระยะเวลาจะนานเท่าใดนั้นจะขึ้นอยู่กับตัวน้ำยา อุณหภูมิ ความเข้มข้น ชนิดและจำนวน (เชื้อชนิดแกรมลบตายยากกว่าพวกแกรมบวก เชื้อวัณโรคจะดื้อยาอยู่ได้หลาย ๆ ชั่วโมงเป็นต้น) แอลกอฮอล์และ hypochlorite ออกฤทธิ์เร็วที่สุดในบรรดาน้ำยาทั้งหลาย  กล่าวคือสามารถทำลายเชื้อบนพื้นผิวที่ค่อนข้างสะอาดได้ภายใน ๒ นาที  แต่ถ้ามิส่งปฏิกูลเปรอะเปื้อนก็อาจต้องใช้เวลาถึงครึ่งชั่วดมง น้ำยาทุกชนิดถ้าแช่ไว้นานเกินไปจะเสื่อมคุณภาพ (เกิน ๒๔-๔๘ ชม.) และจะมีเชื้อลงไปเจริญเติบโตได้ในน้ำยานั้น ๆ

๖.  การเสื่อมคุณภาพของน้ำยา  มักจะเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ ทางด้วยกัน เช่นผสมน้ำไว้แล้วทิ้งไว้นาน หรือมีสารบางอย่างมาทำลายประสิทธิภาพของน้ำยา เช่น เลือด หนอง ปัสสาวะ อุจจาระ เศษอาหารกับน้ำยาแทบทุกประเภท น้ำกระด้างทำลาย QAC และ Ampholytes ส่วนสบู่ทำลาย QAC และ Diguanide ยังมีสารอื่น ๆ อีกมากมายที่ใช้กันเป็นประจำที่สามารถทำลายน้ำยาได้ เช่น ไม้ก๊อก (จุก) กับ Chlorhexidine ยาง (จุก ท่อ ลูกสูบ) กับ Phenol และ Diguanide สารพวกเซลลูเลส (เช่น ไม้ ฝ้าย สำลี ผ้าก๊อส และกระดาษ) กับ  Ampholyte, QAC และ Diguanide ปลาสติคและไนลอน (ถัง แปรง) กับน้ำยาแทบทุกชนิด

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าการใช้ยาฆ่าเชื้อจะให้ผลที่สุดถ้าจำนวนแบคทีเรียน้อย และน้ำยาสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก น้ำยาจะต้องมากพอและเข้มข้นและให้เวลานานพอในขณะที่ภาวะแวดล้อมของอุณหภูมิและระดับความเป็นกรดที่เหมาะสม  และไม่มีสารซึ่งจะมาต้านทานฤทธิ์ของน้ำยาอยู่ด้วยเลย  น้ำยาที่มีใช้กันอยู่แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ น้ำยาที่ได้มาจากสารอนินทรีย์และน้ำยาที่เป็นสารอินทรีย์

          ก.  น้ำยาที่เป็นสารอนินทรีย์ ได้แก่

          ๑.  ไอโอดีน  มีทั้งแบบที่ผสมแอลกอฮอล์ (เรียกว่า ทิงเจอร์) และแบบที่ผสมกับน้ำหรือสารอื่น ๆ ไอโอดีนทำลายตัวแบคทีเรียโดยการเปลี่ยนสภาพของโปรตีน  จะออกฤทธิ์อยู่เสมอตราบเท่าที่น้ำยายังไม่แห้ง มีข้อเสียที่มักจะระคายต่อผิวหนังและบางคนจะแพ้ มักใช้เป็นน้ำยาฆ่าแบคทีเรียบนผิวหนัง (ความเข้มข้นร้อยละ ๓-๕) น้ำยาที่ใช้มากในห้องผาตัดในการทำความสะอาดผิวหนังก่อนผ่าตัดก็คือ Betadine (มาจาก Povidone-iodine) ประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคบนผิวหนังของน้ำยานี้อยู่ได้นานกว่าไอโอดีนธรรมดาและไม่ระคายต่อผิวหนังมาก

          ๒. คลอรีน  คลอรีนแท้ ๆ ใช้ในการฆ่าแบคทีเรียในน้ำประปา  แต่ไม่ใช้ในการแพทย์  น้ำยาที่เป็นคลอรีนที่มีใช้กันก็มี เช่น

Sodium hypochlorite (๑ ต่อ ๑,๐๐๐) ใช้สำหรับล้างพื้น เช็ดโต๊ะ เก้าอี้ หรือเตียงนอนคนไข้  แต่มักทำให้สีตกและกัดโลหะ  น้ำยาชนิดนี้อย่างอ่อน ๆ ที่มีผู้รู้จักมากก็ได้แก่ Milton’s solution และ Dakin’s solutionซึ่งใช้ชะแผลได้

EUSOL (ย่อมาจาก Edinburgh University Solution) เป็นปูนขาวที่เข้าคลอรีนแล้วผสมกับกรดบอริค ใช้ในการชะแผลได้

          ๓.  Mercurial compound  เช่น Merthiolate ซึ่งผสมกับแอลกอฮอล์ (ทิงเจอร์) ใช้กันมากในการทำลายตัวแบคทีเรียบนผิวหนังแต่ประสิทธิภาพค่อนข้างอ่อน  เพราะต้องใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมงถึงจะได้ผล (ชื่อทางเคมีของสารนี้ คือ Thimerosal หรือ sodium ethylmercuri thiosalicylate)

          ๔.  Oxidising agent เช่น ด่างทับทิม และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ใช้เป็นยาชะแผลอย่างอ่อน ๆ ได้ ประสิทธิภาพในการทำลายแบคทีเรียไม่เท่ากับสารที่เข้าคลอรีน

          ข.  น้ำยาที่ได้จากสารอินทรีย์ ได้แก่

          ๑.  เอ็ททิลแอลกอฮอล์ (๗๐℅) ทำลายตัวแบคทีเรียได้ดี แต่ไม่ทำลายสปอร์

ข้อเสียคือ

  • เครื่องมือโลหะจะขึ้นสนิมถ้าแช่ไว้นาน ๆ
  • ไม่ซึมผ่านไขมันหรือน้ำมัน
  • ละลายซีเมนต์ซึ่งเป็นตัวเชื่อมเลนซ์ของกล้องต่าง ๆ ทำให้ไม่อาจใช้ฆ่าเชื้อในกล้องเหล่านี้ได้

๒.  แอลดีไฮด์ (Aldehyde)

ก.  ฟอร์มาลิน (Formalin) เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ทำจากฟอร์มาลดีไฮด์ (๔๐℅) ซึ่งสามารถทำลายได้ทั้งตัวแบคทีเรียและสปอร์  บางครั้งใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์ในสัดส่วน ๑ ต่อ ๓ ในการแช่ไหมหรือ catgut น้ำยาที่มีความเข้มข้นร้อยละ ๑๐ ใช้เป็นยาแช่ชิ้นเนื้อมิให้เน่า ข้อเสียของน้ำยานี้ก็คือกลิ่นรุนแรงและระคายต่อผิวหนัง

ข.  ไอระเหยของฟอร์มาลิน  ใช้ในการอบห้องผ่าตัด

     ค.  Cidex ซึ่งทำมาจาก Di-aldehyde มีประสิทธิภาพมากในการทำลายตัวแบคทีเรียและสปอร์  อีกทั้งสามารถทำลายเชื้อวัณโรคได้ด้วย  ไม่กัดภาชนะโลหะ ล้างออกได้ง่าย ไม่ทำลายซีเมนต์หรือเลนซ์ แต่ออกจะระคายต่อผิวหนังและราคาค่อนข้างจะแพง มักใช้ในการแช่กล้องต่าง ๆ ที่ใช้กันในการแพทย์ เช่น cystoscope  (ต้องล้างน้ำยาออกก่อนจะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้)

๓.  ฟีนอน (Phenol) ทำลายตัวแบคทีเรียรวมทั้งเชื้อวัณโรคแต่ไม่ทำลายสปอร์ ระคายต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อมากถึงกับอาจทำให้ไหม้ได้  ล้างออกได้โดยใช้แอลกอฮอล์ (ดังเช่นใช้จี้โคนของไส้ติ่ง) ข้อดีของสารนี้คือไม่เสื่อมคุณภาพและประสิทธิภาพเมื่อปนอยู่กับสิ่งปฏิกูลของร่างกาย  เพราะฉะนั้นจึงมักใช้กันในการทำความสะอาดภาชนะหรือเครื่องมือที่เปื้อนหนองหรืออุจจาระ สารในตระกูลนี้ที่ใช้กันมาก็มี เช่น

ก.  Lysol และ Sudol

ข.  Dettol (Chloroxylenol) มีกลิ่นไม่รุนแรงและประสิทธิภาพโดยทั่วไปอ่อนกว่าฟีนอลมักใช้ในการล้างภาชนะมากกว่าล้างแผล

ค.  Chlorhexidine หรือ Hibitane (บางทีจัดอยู่ในพวก Diguanide) มีประสิทธิภาพดีมากในการทำลายตัวแบคทีเรีย  ใช้ทำลายตัวแบคทีเรียบนผิวหนัง เช่นในการล้างมือก่อนผ่าตัด หรือในการเตรียมผิวหนังบริเวณผ่าตัดคนไข้ ครีมของตัวยานี้ใช้ในการทำความสะอาดช่องคลอดเวลาตรวจมดลูก

ง.  Hexachlorophene  มาในรูปของสบู่ได้ผลดีในการทำลายแบคทีเรียชนิดแกรมบวก  ใช้ล้างมือก่อนผ่าตัดและฆ่าเชื้อบนผิวหนังทั่วไป น้ำยาชนิดนี้ที่มีผู้ใช้กันมากได้แก่ Phisohex ซึ่งประกอบไปด้วย ๓℅ Hexachlorophene ใน phisoderm (ซึ่งเป็น detergent)

     ๔.  สารพวก Quaternary Ammonium Compound มีอยู่หลายชนิด เช่น Cetrimide, Savlon (ซึ่งเป็น Cetrimide รวมกับ Chlorhexidine) น้ำยาเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการทำลายแบคทีเรียค่อนข้างอ่อน  ได้ผลดีพอประมาณในการทำลายแบคทีเรียชนิดแกรมบวก แต่ไม่ทำลายแบคทีเรียชนิดแกรมลบ  มักใช้แทนสบู่ในการฟอกตัวคนไข้หรือใช้ล้างแผลได้ แต่ถ้าต้องการทำลายเชื้อแบคทีเรียทั้งหมดก็ต้องใช้ร่วมกับน้ำยาอย่างอื่น ๆ (หมายเหตุ เคยมีผู้พบว่าเชื้อ Pseudomonas เจริญเติบโตได้ในน้ำเหล่านี้)

     ๕.  สารพวก Acridine compound เช่น Flavine ได้ผลดีในการทำลายแบคทีเรียชนิดแกรมบวก ใช้ชะแผลหรือปิดแผล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า