สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคของระบบไหลเวียนโลหิตและโรคเลือด

ช็อก
เป็นภาวะที่เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกันไป ทำให้อวัยวะสำคัญๆ ของร่างกายขาดเลือด เช่น หัวใจ สมอง ไต จึงไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายต่อชีวิตอย่างมาก

อาการช็อกมีสาเหตุได้ดังนี้
1. มีปริมาตรของเลือดลดลงเนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น การตกเลือด ร่างกายขาดน้ำ มีเลือดตกข้างใน กระดูกหัก ครรภ์นอกมดลูก

2. เกิดจากระบบประสาท โดยผ่านระบบประสาทอัตโนมัติและศูนย์ควบคุมหลอดเลือด ทำให้มีการขยายตัวของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้ความดันของเลือดต่ำลง ซึ่งถือเป็นภาวะช็อกชนิดอ่อน

3. เกิดจากโรคติดเชื้อ และพิษของแบคทีเรีย เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ ไทฟอยด์ ปอดอักเสบ โลหิตเป็นพิษ

4. เกิดจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น หัวใจขาดเลือด ลิ้นหัวใจตีบ ปอดทะลุ กล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจตายจากโรค

5. เกิดจากอาการแพ้ หรือภาวะไวเกิน เช่น แพ้พิษของสัตว์หรือแมลง แพ้ยา เป็นต้น

6. เกิดจากระบบต่อมไร้ท่อ เช่น การใช้ยาประเภทสเตอรอยด์นานๆ จนเกิดภาวะวิกฤตจากต่อมหมวกไตฝ่อ หรือเกิดจากโรคแอดดิสัน

อาการ
อาการที่มักพบในผู้ป่วยคือ มีความคิดอ่านและรู้สึกตัวน้อยลง กระหายน้ำ กระสับกระส่าย จะเป็นลมเมื่อลุกนั่ง ปัสสาวะออกน้อย มีอาการซีดเย็นที่มือ เท้า แขน และขา หายใจเร็ว เหงื่อออก เล็บเป็นสีเขียวคล้ำ แต่มือ เท้า แขน ขาของผู้ป่วยบางรายอาจจะอุ่นและไม่ชื้นก็ได้ ซึ่งมักพบในระยะแรกของอาการช็อก ในรายที่เป็นรุนแรง และเป็นนาน มักทำให้มีอาการซึม สับสน รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวเย็นจัด ผิวหนังซีดคล้ำ หายใจหอบ ปัสสาวะน้อยมาก อาจทำให้หมดสติและตายในที่สุด

ความดันโลหิตสูง
เกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ ซึ่งแรงดันของกระแสเลือดจะไปกระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง สามารถวัดได้ที่แขนโดยใช้เครื่องวัดความดัน ค่าที่วัดได้มี 2 ค่า คือ

1. ความดันช่วงบน เป็นแรงดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว

2. ความดันช่วงล่าง เป็นแรงดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว

ความดันโลหิตสูง จะมีค่าความดันช่วงบนตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และมีค่าความดันช่วงล่างตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีความดันช่วงล่างสูง ส่วนความดันช่วงบนจะสูงหรือไม่ก็ได้

สาเหตุ
1. ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุว่ามาจากโรคหรือภาวะผิดปกติใดๆ ซึ่งมักมีปัจจัยมาจากทางพันธุกรรม ผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้อื่นจะเป็นผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน และยิ่งมีโอกาสเป็นได้มากขึ้นเมื่อมีอายุมาก

2. ความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ เป็นชนิดที่มีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆ เช่น เกิดจากยาบางประเภท ภาวะตั้งครรภ์ โรคไต หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว โรคต่อมไร้ท่อ ความดันในกะโหลกศีรษะสูง แคลเซียมในเลือดสูง พิษจากตะกั่ว

3. เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็งเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งมักจะเป็นความดันช่วงบนอย่างเดียวที่สูงขึ้น

4. เมื่อมีไข้ ภาวะเครียด อารมณ์โกรธ หรือเมื่อออกกำลังกายมาใหม่ๆ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก ซึ่งอาจทำให้ความดันโลหิตสูงได้ชั่วคราว

อาการ
มักตรวจพบในผู้ป่วยโดยบังเอิญจากการตรวจรักษาโรคอื่น ผู้ที่มีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงต้นคอ วิงเวียน หรือปวดศีรษะแบบไมเกรนจะพบเป็นส่วนน้อย แต่ผู้ที่มีความดันสูงมากๆ และเป็นมานานมักมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว เลือดกำเดาไหล อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้รับการรักษา เช่น อาจมีอาการเจ็บหน้าอก บวม หอบ เหนื่อย แขนขาเป็นอัมพาต เป็นต้น

หัวใจของการรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการใช้ยาลดความดัน โดยที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติดังนี้คือ
-หลีกเลี่ยงและจำกัดอาหารประเภทที่มีรสเค็ม ใส่ผงชูรส ใส่สารกันบูด
-ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป
-งดเหล้า บุหรี่
-ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
-ทำจิตใจให้สงบ
-ไม่ควรรับประทานยาคุมกำเนิด

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า