สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โภชนาการสำหรับเด็กวัยก่อนเรียน

(Nutrition for Pre-school Child)
เด็กวัยก่อนเรียน คือ เด็กที่มีอายุระหว่าง 1-6 ขวบ เป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาทางร่างกาย (growth and development) ได้รวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนาการทางสมอง (brain development) ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าเด็กอายุ 1-5 ขวบ มีพัฒนาการทางสมองประมาณร้อยละ 80 ของมันสมองของผู้ใหญ่ ดังนั้นเด็กวัยนี้จึงต้องการอาหารโดยเฉพาะโปรตีนมากกว่าคนทุกอายุเมื่อเทียบกันตามน้ำหนัก นั่นคือเด็กวัยนี้ต้องการ 1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน จะมีความต้องการน้อยกว่าก็เฉพาะวัยทารกพวกเดียวเท่านั้น หากเด็กวัยก่อนเรียนนี้ขาดอาหารจะทำให้ความเจริญเติบโตหยุดชะงัก ร่างกายอ่อนแอ ขาดอำนาจต้านทานโรค ป่วยด้วยโรคติดเชื้อ (โรคติดต่อ) ต่างๆ เป็นประจำ และตายได้ง่ายอาหารก่อนวัยเรียน

ปัญหาการขาดอาหารของเด็กวัยนี้มีมาก ทั้งนี้เนื่องจากพ่อแม่ให้ความเอาใจใส่ดูแลน้อยกว่าตอนเป็นทารก ยิ่งมารดามีน้องใหม่ด้วยแล้ว ก็แทบจะทอดทิ้งให้ช่วยตัวเองหรืออยู่ในความดูแลของผู้อื่น และจากการอดนม โอกาสที่จะขาดโปรตีนจึงง่ายมาก ฉะนั้นเด็กวัยนี้จึงควรได้เอาใจใส่เรื่องอาหารการกินให้มาก นอกจากพ่อแม่ไม่เอาใจใส่แล้ว การให้เด็กร่วมวงรับประทานอาหารกับผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนมากได้อาหารโปรตีนไม่พอ บางทีก็แย่งพี่ๆ ไม่ทัน หรือบางครั้งอาหารรสจัดเกินไปกินไม่ได้ ส่วนมากจึงได้แต่ข้าวกับน้ำแกง หรือน้ำผักเท่านั้น ดังนั้นอันตรายของเด็กวัยนี้จึงสูง และลดไม่ค่อยลงเหมือนวัยอื่นๆ

อาหารของเด็กวัยก่อนเรียนก็เหมือนอาหารของทารกในระยะ 1 ขวบ แต่เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น ได้แก่ ข้าวสุก เนื้อสัตว์ต่างๆ และถั่วเมล็ดแทนเนื้อสัตว์ ไข่ (วันละฟอง) เครื่องในสัตว์ น้ำนมควรได้วันละ 2 ถ้วย ผักใบเขียวและผักอื่นๆ ผลไม้สดและส้ม ไขมัน เช่น กะทิ น้ำมันหมู ฯลฯ

เด็กวัยนี้ต้องพยายามหัดให้กินอาหารหลายอย่าง โดยเฉพาะผักใบเขียว และผัก ผลไม้ ที่มีสีเหลืองเพื่อให้ได้วิตะมินเอ เพียงพอ

ปริมาณอาหารที่ให้นั้น ควรให้ทีละน้อยแล้วเพิ่มให้ทีหลังเมื่อเด็กต้องการ เด็กบางคนอ้วนเพราะถูกสอนให้กินอาหารมากเกินต้องการ แม้แต่อยู่ในวัยทารก การกินอาหารมากเกินต้องการในวัยเด็กจะทำให้ต่อไปเป็นเด็กอ้วนได้
การประกอบอาหารควรต้องระวังให้เหมาะสมกับความสามารถในการย่อยของเด็ก และต้องถูกตามหลักอนามัยด้วย เช่น เมื่อยังเคี้ยวไม่ค่อยได้ และการย่อยยังไม่สมบูรณ์ ให้อาหารอ่อนก่อน อาหารเด็กในปีแรกๆ ควรให้ชนิดเคี้ยวง่าย เช่น ผักควรต้มให้เปื่อย เนื้อสัตว์ควรสับ ปลาควรนึ่งหรือย่าง ไม่ควรทอด ข้าวก็ควรให้ข้าวต้ม หรือข้าวตุ๋นก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นข้าวสวย ผลไม้ก็ควรคั้นน้ำ หรือบดก่อน แล้วจึงให้ทั้งผลเมื่อเด็กโตขึ้น

เนื่องจากเด็กวัยนี้กินอาหารได้ปริมาณทีละน้อย อาจต้องมีอาหารว่างระหว่างมื้อ ควรเลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น น้ำนม ผลไม้ ฯลฯ แต่ไม่ควรให้ขนมหวานจนเป็นนิสัย ตลอดจนเครื่องดื่มพวก นํ้าชา กาแฟ
นอกจากนี้อาหารสำหรับเด็กวัยนี้ไม่ควรให้อาหารประเภทหมักดอง อาหารเนื้อหรือปลาทูปรุงไม่สุก และอาหารรสจัด

การฝึกบริโภคนิสัยที่ดี
การให้อาหารที่มีคุณค่าสูงแก่เด็กวัยนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความเจริญเติบโตให้กับเด็กแล้ว ยังมีส่วนในการสร้างนิสัยการกินที่ดีให้กับเด็กด้วย ในระยะนี้ร่างกายเด็กเจริญเติบโตขึ้นกว่าในตอนเป็นทารก เด็กมีฟันที่จะเคี้ยวอาหาร และอวัยวะเกี่ยวกับการย่อยก็ทำงานได้มากกว่าเดิม จึงเป็นโอกาสดีที่จะหัดให้เด็กกินอาหารที่มีประโยชน์และชอบ อาหารเหล่านั้นได้มากกว่าตอนเป็นทารก ซึ่งในการฝึกนิสัยการกินที่ดีแก่เด็ก ควรปฏิบัติดังนี้

1. ให้กินอาหารเหมือนผู้ใหญ่ เพื่อให้เด็กกินอาหารได้ทุกชนิดเหมือนผู้ใหญ่ ถ้ากินพร้อมกับผู้ใหญ่ควรตักอาหารให้ต่างหากจนเพียงพอ โดยเฉพาะโปรตีน และให้กินจนหมด

2. ให้กินอาหารใหม่ทีละอย่างครั้งแรกให้ทีละน้อย ปรุงแต่งรสสีสันตามที่เด็กชอบ ถ้าเด็กไม่กินก็ไม่ควรขืนใจหรือบังคับ เพราะอาจทำให้เด็กเกลียดอาหารนั้นได้ ให้เว้นระยะไว้สักสัปดาห์จึงให้กินใหม่ เมื่อเด็กกินอาหารนั้นแล้ว รอสักระยะหนึ่งจึงให้กินชนิดใหม่

3. พ่อแม่ผู้ใหญ่ต้องทำตัวอย่างที่ดีให้เด็ก โดยกินอาหารดีมีคุณค่าแล้วชักจูงเด็กให้กินด้วย พร้อมกับฝึกมารยาทในการกิน และการช่วยตัวเอง เช่นกินอาหารเองด้วย

4. ให้กินอาหารสามมื้อเหมือนผู้ใหญ่ ส่วนระหว่างมื้อหลัก เช่น ตอนสาย บ่าย และก่อนนอน ควรให้ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำนม ซึ่งการดื่มน้ำนมควรหัดให้ดื่มจากถ้วยตั้งแต่อายุ 6 เดือน พยายามอย่าให้เด็กกินจุกจิกเพราะจะทำให้กินอาหารหลักเมื่อถึงเวลาได้น้อย ถ้าเด็กหิวก็ควรให้ผลไม้แทนขนมหวาน

5. ให้อาหารที่ปรุงรสจืดอร่อย เช่น ต้ม ทอด ผัด ย่าง นึ่ง ตุ๋น ฯ ไม่ควรให้อาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด หรือเปรี้ยวจัด เพราะระบบการย่อยอาหารของเด็กยังไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่

6. ให้อาหารที่ย่อยง่าย แต่ไม่ถึงกับบดจนละเอียดเหมือนตอนที่เป็นทารก เพราะเด็กมีฟันเคี้ยวได้แล้ว และไม่ควรใช้นํ้ามันมากเกินไปในการประกอบอาหาร

7. สร้างบรรยากาศที่ดีในขณะกินอาหาร ด้วยการเล่านิทานหรือเรื่องสนุกเพลิดเพลิน หรือความเงียบสงบ เพราะบรรยากาศอย่างนี้ช่วยให้กินอาหารได้มากและการย่อยอาหารเป็นไปด้วยดี ไม่ควรกินอาหารด้วยความรีบร้อน ให้กินช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน

เด็กจะกินอาหารได้ดีในเมื่อ
1. ได้พักผ่อนนอนหลับ และเล่นออกกำลังกายพอสมควร
2. อาหารน่ากิน
3. แบ่งอาหารให้ทีละน้อยแล้วเติมทีหลัง
4. มีอิสระที่จะกินตามใจชอบ เช่น ถ้าเด็กอยากกินอาหารเองก็ควรยอมให้ทำ
5. พ่อแม่ต้องไม่แสดงความวิตกกังวลหรือขู่บังคับ เมื่อเด็กไม่กินอาหาร

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า