สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาเจียนในเด็ก(Vomiting in children)

สาเหตุ
1. ในทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก สาเหตุสำคัญที่พบบ่อย ได้แก่

ก. เด็กกลืนขี้เทาหรือเลือดแม่ เกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอด เนื่องจากขี้เทาหรือเลือดของแม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร แต่จะอาเจียนไม่มาก ไม่มีความผิดปกติอื่นๆ และมักจะหายได้เอง ควรให้ทารกดูดน้ำกลูโคสหรือน้ำผสมน้ำตาลทีละน้อยบ่อยๆ ระหว่างที่มีอาการอาเจียนอาเจียนในเด็ก

ข. ทารกได้รับบาดเจ็บระหว่างคลอด มักเกิดจากการคลอดยาก ภายหลังจากคลอดจะมีอาการอาเจียน ซึม ชัก กระหม่อมโป่งตึง หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

ค. กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น กระเพะส่วนปลายตีบแต่กำเนิด ลำไส้กลืนกันเอง โดยจะมีอาการอาเจียนรุนแรง ปวดท้องรุนแรง หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรรีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน

ง. โรคติดเชื้อ เมื่อมีโรคติดเชื้อเกิดขึ้นในเด็กเล็กทั้งภายในและภายนอกระบบทางเดินอาหาร มักจะอาเจียนร่วมด้วย สาเหตุที่อันตรายร้ายแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ โลหิตเป็นพิษ ส่วนสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอกรน บิด ท้องเดิน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น

จ. โรคเชื้อราในช่องปาก มักตรวจพบมีฝ้าขาวที่ลิ้น อาเจียนเล็กน้อย ไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ใช้เจนเชียนไวโอเลตป้ายลิ้นวันละ 2-3 ครั้งเพื่อรักษา

ฉ. เด็กเล็กสำรอกนม มักเกิดจากกินนมมากเกินไป กลืนอากาศเข้าไประหว่างดูดนมทำให้มีลมจุกแน่นในกระเพาะอาหาร ทารกจะสำรอกคราบนมปนน้ำออกมา แต่ยังดูดนมได้ดี ไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็นปกติ ไม่มีอันตรายจากภาวะสำรอกนมแต่อย่างใด จึงไม่ควรให้นมลูกจนอิ่มเกินไป หลังให้นมควรอุ้มทารกพาดบ่าสักครู่เพื่อให้เรอเอาลมในกระเพาะออกมาเสียก่อน

ช. โรคกรดไหลย้อน เด็กจะอาเจียนและไอตอนกลางคืนบ่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น

2. ในเด็กโต มีสาเหตุดังนี้
ก. ลำไส้อักเสบ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อให้การรักษาแบบอาการท้องเดิน

ข. การหมุนตัวผิดปกติของลำไส้ เป็นภาวะที่พบได้น้อยแต่รุนแรง มักเป็นมาแต่กำเนิด เด็กมักจะอาเจียนและปวดท้องรุนแรง มักอาเจียนเอาน้ำดีสีเขียวขมๆ ปนออกมาด้วย อาจมีอาการเป็นๆ หายๆ ในบางราย หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัด

ค. ไส้ติ่งอักเสบ หรือเยื่อบุช่องท้องอักเสบ อาเจียนและมีไข้ร่วมด้วย มีอาการปวดรุนแรง กดเจ็บบริเวณหน้าท้อง หากสงสัยควรนำส่งโรงพยาบาล

ง. โรคพยาธิไส้เดือน อาจมีอาการปวดท้องและอาเจียนไม่รุนแรงในเด็กบางคน มักเป็นหลังจากกินอาหาร และอาการจะหายไปเองในเวลาสั้นๆ มักมีอาการเป็นๆ หายๆ อาจอาเจียนและถ่ายเป็นตัวไส้เดือนออกมาด้วยในบางครั้งจึงควรใช้ยาถ่ายพยาธิ

จ. ความเครียดทางจิตใจ อาจมีอาการอาเจียนได้ในเด็กที่มีความเครียดทางจิตใจ เช่น เด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียน อาการอาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แต่มักจะไม่รุนแรง

ฉ. สาเหตุอื่นๆ

การรักษา
1. ในทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก
-ควรนำส่งโรงพยาบาลหากมีอาการอาเจียนและปวดท้องรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ ซึมมาก คอแข็ง ชัก กระหม่อมโป่งตึงหรือหอบ ควรให้น้ำเกลือระหว่างทางขณะนำส่งโรงพยาบาล
-ให้รักษาตามสาเหตุหากตรวจพบสาเหตุที่แน่ชัด เช่น โรคติดเชื้อ โรคกรดไหลย้อน
-ถ้าเด็กยังสบายดี มีอาการไม่แน่ชัด ควรงดอาหารแข็งหรืออาหารย่อยยาก ให้ดื่มน้ำหวาน น้ำกลูโคส สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ควรนำส่งโรงพยาบาลหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง

2.ในเด็กโต หากอาเจียนควรดูแลดังนี้
-ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลหากมีอาการอาเจียนและปวดท้องรุนแรง ท้องแข็ง หน้าท้องกดเจ็บ มีภาวะขาดน้ำรุนแรง คอแข็ง ชัก ควรให้น้ำเกลือระหว่างทางด้วย
-ให้รักษาตามสาเหตุหากพบสาเหตุที่แน่ชัด
-ให้งดอาหารแข็งที่ย่อยยาก ให้อาหารเหลว น้ำหวาน สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทีละน้อยแต่บ่อยๆ ให้ยาแก้อาเจียน ถ้าอาการยังไม่เด่นชัด ควรนำส่งโรงพยาบาลหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง
-ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง ถ้าอาการไม่รุนแรงอาจมีสาเหตุมาจากโรคกรดไหลย้อน ความเครียดทางจิตใจ หรือโรคพยาธิไส้เดือน ให้รักษาตามสาเหตุที่พบ หากไม่แน่ใจลองให้ยาถ่ายพยาธิมีเบนดาโซล แต่ควรนำส่งโรงพยาบาลภายใน 1 สัปดาห์หากมีอาการอาเจียนพุ่งแรง มีน้ำดีปนออกมา หรือปวดท้องรุนแรง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า