สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลักษณะของโรคฝี

โรคฝี เป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบ อาจเป็นใต้ผิวหนังหรือภายในร่างกายทำให้มีน้ำหนอง น้ำเหลืองไหลออกมา หรือแตกอยู่ภายใน

ฝีไม่มีหัว จะเป็นฝีที่อยู่ลึกลงไป เรียกว่า ฝีหัวคว่ำ มีอาการทางกายที่สังเกตได้ชัดคือ อาการซูบผอม เหลือง เบื่ออาหาร ส่วนอาการภายในที่เรียกว่า ฝีภายใน จะทำให้มีอาการไอ ปวดท้อง เจ็บหน้าอก และมักมีไข้ร่วมด้วย

โบราณมักตั้งชื่อฝีไปต่างๆ จากการสังเกตลักษณะของการเกิด ลักษณะของหัวฝี ตำแหน่งที่เกิดฝี และความรุนแรง และอธิบายว่าฝีมีสาเหตุการเกิดมาจาก กิมิชาติ หรือหมู่หนอน ทำให้ธาตุทั้ง 4 เสียสมดุล จึงมีอาการแตกต่างกันไป ทำให้มีสิว ฝ้า ตุ่ม ผื่น ผิวพรรณไม่มีความสมบูรณ์

ในแผนโบราณ คำว่า ฝี จะมีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การติดเชื้อทั่วไป จนถึงพยาธิ และมะเร็ง และความรุนแรงของมันในคัมภีร์ก็ได้ระบุไว้ว่า สามารถรักษาให้หายและทำให้เสียชีวิตได้ คัมภีร์ที่กล่าวไว้ ได้แก่

-คัมภีร์ทิพยมาลา กล่าวถึงฝีภายในที่เรียกว่า วัณโรค

-คัมภีร์ไพจิตรมหาวงศ์ กล่าวถึงฝีที่เป็นยอดออกมาตามตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย สามารถมองเห็นได้จากภายนอก

-คัมภีร์กุฎโรค กล่าวถึงฝีภายนอกที่ทำลายเนื้อและกระดูก เช่น โรคเรื้อน โรคมะเร็ง

-ตำราศิลาจารึกวัดโพธิ์ กล่าวถึงฝีตามเดือน ฝีทั่วไป และจากคัมภีร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ในคัมภีร์อติสารบางส่วนก็ได้กล่าวเกี่ยวกับอาการท้องมานไว้ด้วย

ลักษณะฝี
คำว่า ฝี นั้น หมายเอาไข้ซึ่งผุดขึ้นเป็นเม็ดตามส่วนแห่งร่างกายดังกล่าวแล้ว และมีลักษณะและอาการต่างๆ กัน อันมีแจ้งอยู่ตามแผนรูปนั้นๆ อนึ่ง ฝีทุกชนิดเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ท่านให้รีบรักษาเสียแต่เมื่ออ่อนอยู่ จะหายได้โดยง่าย

วิธีสังเกตและทดลองฝี
วิธีต่างๆ ที่ใช้ดูว่าเป็นฝีหรือลม
วิธีสังเกตฝี
ขั้นแรกให้ดูอุจจาระปัสสาวะก่อน ถ้าอุจจาระเป็นมูกเลือดมีอาการเป็นๆ หายๆ หลายครั้ง ให้ปวดท้อง ปวดในอก ร่างกายผอมเหลือง หน้าตาซีดเซียว แสดงว่าเป็นฝีในท้อง หากยังไม่แน่ใจก็ให้ทดลองยาและวิธีดังนี้

ยาทดลองฝี
1. ยาทดลองฝีขนานที่ 1 เอาหน่อไม้ไผ่สีสุก 1 ปูนขาว 1 พริกไทย 1 นำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เจ็บ ถ้ารู้สึกร้อนแล้วหายเจ็บแสดงว่าเป็นลม แต่ถ้ายังเจ็บอยู่ก็แสดงว่าเป็นฝี

2. ยาทดลองฝีขนานที่ 2 เอาหญ้าปีนตอ 1 พริก 1 กระเทียม 1 ปูนขาว 1 นำมาตำให้แหลก ละลายด้วยน้ำสุราใช้พอกที่เจ็บ ถ้าเลื่อนถอยแสดงว่าเป็นฝี หากยังไม่แน่ใจก็ให้เอาเหล็กมาเผาให้ร้อน ให้คนอยู่ไกลเอาน้ำราดลงที่เหล็กนั้น ถ้าร้อนแสบเข้าไปท่านว่าเป็นฝี ถ้ารู้สึกว่าร้อน แต่ไม่รู้สึกแสบ ท่านว่าเป็นด้วยลมแลฯ

3. ยาทดลองฝีขนานที่ 3 เอาหน่อไม้สด 1 ปูนขาว 1 พริก 1 กระเทียม 1 อย่างละเท่าๆ กัน นำมาตำให้ละเอียด พอกตรงที่เจ็บ ถ้าเป็นฝีท้องนั้นแข็งอยู่ต้องลงมิได้

4. ยาทดลองฝีขนานที่ 4 เอาหัสคุณเทศ 1 เปล้าใหญ่ 1 นำมาฝนละลายด้วยน้ำสุราให้กิน ถ้านอนไม่หลับก็แสดงว่าเป็นฝีในท้อง

วิธีอื่นๆ ที่ใช้ทดลองฝี
1. เอาจอบมาเผาไฟให้ร้อน นำไปอังตรงที่เจ็บ ถ้าเป็นฝี จะรู้สึกแสบๆ
2. ทดลองด้วยการนวดตรงที่เจ็บ ถ้าลมมีอาการให้รู้สึกได้แรง ถ้าฝีมีอาการให้เจ็บคลอดสันหลัง ชื่อว่า ฝีลมแลฯ

หลักการรักษา
คนไทยจะไม่ผ่าฝี จะมีแต่ยาพอก ยาชโลม ยาทา ยากิน และจะใช้ปลิงดูดหากฝีมีขนาดใหญ่และลึก และจะใช้ยาพอกกัดแผลให้แตกถ้าเป็นฝีที่อยู่ตื้นๆ และมักใช้พิธีกรรมที่เรียกว่า วิธีสุญฝี เป็นต้น นอกจากในตำราจะกล่าวถึงยาที่ใช้พอกกัดแผลฝีให้แตกแล้ว ยังมียาที่เรียกว่า สรรพยา ที่ใช้ได้กับฝีทุกชนิด ใช้แก้ฝีตามอาการที่เป็นอยู่มีชื่อว่า ยาครอบใหญ่ และยังมียาแก้พิษ ยาทาให้ฝียุบ ยาแก้คัน ยาขับหนอง ยาสอยฝี ยาแก้ฝีปากเน่า ยาจุดฝี ยาสลบฝี ยาพอกให้ฝีสุกเร็ว ยาแก้ฝีมีหนอนมีตัว ยาแก้ฝีในหู ยาทาแก้ฝีที่มีอาการเจ็บแสบร้อน ยาระงับพิษฝี ยาแก้ลูกหนูไข่ดันบวม ยาเกลื่อนฝีลูกหนู(อาการต่อมน้ำเหลืองโต) ยาแก้ฝีองคชาติและฝีทามควาย ยาน้ำมันเมื่อหนองออกแล้ว ยาระบมฝี ยาน้ำมันใส่ฝีพุพอง ยาประสะฝี

ลักษณะการเกิดฝี
การเกิดฝีในตำแหน่งต่างๆ
นอกจากฝีจะเกิดตามตำแหน่งต่างๆ ใน 12 เดือนแล้ว ยังมีฝีที่เกิดทั้งด้านหน้าและหลังของร่างกายตามส่วนต่างๆ ด้วย โบราณมีการทำนายความรุนแรงของโรคว่าจะทำให้เสียชีวิตภายในกี่วัน และวาดรูปร่างของฝีไว้โดยละเอียด เพื่อจะได้พิจารณาฝีได้ตรงกับโรคและรักษาได้ถูกต้อง แม้ฝีบางชนิดจะไม่มีความรุนแรงมาก แต่ก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานได้เช่นกัน และบางชนิดก็อาจรุนแรงจนทำให้เกิดความพิการของอวัยวะได้ หรืออาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อเกิดเป็นฝีขึ้น จึงควรรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ หากเป็นฝีหัวคว่ำที่มีหนองแล้วก็จะรักษาได้ยาก

การเกิดฝีที่ร้ายแรง
โบราณจะเขียนฝีที่ร้ายแรงไว้เป็นรูปยักษ์ และแสดงตำแหน่งที่เกิดไว้ ซึ่งฝีเหล่านี้จะทำให้เสียชีวิตในเวลาที่ต่างกันไป
ฝีที่เกิดในเดือน 5 เจ้าของฝีชื่อ ยักษ์กุมาร
ฝีที่เกิดในเดือน 6 เจ้าของฝีชื่อ ยักษ์กุลี
ฝีที่เกิดในเดือน 7 เจ้าของฝีชื่อ ยักษ์กุมพล
ฝีที่เกิดในเดือน 8 เจ้าของฝีชื่อ ท้าวตาไฟเทศ
ฝีที่เกิดในเดือน 9 เจ้าของฝีชื่อ กุมารไพรชน
ฝีที่เกิดในเดือน 10 เจ้าของฝีชื่อ ท้าวศรีคนธรรพ์
ฝีที่เกิดในเดือน 11 เจ้าของฝีชื่อ ท้าวสะกุมาร
ฝีที่เกิดในเดือน 12 เจ้าของฝีชื่อ ท้าวไกรสร
ฝีที่เกิดในเดือน 1 เจ้าของฝีชื่อ ท้าวกุมารนะระศรี
ฝีที่เกิดในเดือน 2 เจ้าของฝีชื่อ กุมารนอระชน
ฝีที่เกิดในเดือน 3 เจ้าของฝีชื่อ ยักษ์กุมาร
ฝีที่เกิดในเดือน 4 เจ้าของฝีชื่อ นางกุลีเจ้าท่า

การเกิดฝีตามแผนฝีดาษ
ลักษณะการเกิดแผนฝีดาษที่โบราณพรรณนาไว้มีดังนี้
ตุ่มเหลืองเหมือนไฟ ขาวเหลืองเหมือนเม็ดข้าวเปลือก ขาวเล็ก(เกิดแต่กระดูก) ขาวแดงรอบ(เกิดแต่โลหิต) ตุ่มดำ(กระตังบายเกรียม) สีขาวดำตรงกลาง(เซียกปากดำ) สีแดงกลางหญิงขึ้นซ้าย ชายขึ้นขวา สีดำ(พนังระมาศ) สีดังไฟถลาก(ลลอกแก้ว) สีแดงดังดอกชบา สีขาวดวงเล็ก(เชียดเพลิง) สีดำล้วน(เกล็ดแรด) สีแดงเล็กน้อย(ฝีแกลบ) เหลืองเล็กน้อยแดงกลางชื่อดาวเรือง ดำล้วนเกล็ดขาว(ตะมอยปากดำ)

ตามแผนฝีที่เรียกว่า ฝีดาษ เมื่อพิจารณาตามตำแหน่งและลักษณะของตุ่มที่เกิดโรคแล้วสรุปได้ว่า ทั้งหมดไม่ใช่ไข้ทรพิษ ซึ่งน่าจะเป็นอาการจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดความต้านทานเพราะร่างกายอ่อนแอ

คำว่า ดาษ หมายถึง มากมาย เกลื่อนกลาด มีทั่วไป หากในเวลาเดียวกันมีอาการของตุ่มกระจายมากกว่าหนึ่งที่ หรือมีอยู่หลายที่จะเรียกว่า ฝีดาษ ในตำราประชุมแผนฝีดาษจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าหมายถึงไข้ทรพิษเพียงอย่างเดียว ทางภาคเหนือจะเรียกไข้ทรพิษว่า ไข้น้ำหรือไข้ตุ่มหลวง แต่ไข้ทรพิษในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้กล่าวว่า คนโบราณจะเรียกว่า ไข้หัว ในความหมายของแผนไทยจึงเป็นส่วนหนึ่งของฝีดาษ

คนโบราณได้พยายามจำแนกลักษณะฝีที่เกิดเป็นกลุ่มเป็นหมู่ที่เรียกว่า ฝีดาษ โดยใช้แผนฝีดาษ แต่ในปัจจุบันความหมายของฝีดาษก็คือ ไข้ทรพิษ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อ Variola virus ซึ่งมีระยะฟักตัวประมาณ 12-14 วัน ทำให้มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดหลังและอาเจียน คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ต่อมาอีก 2-3 วันก็จะมีตุ่มขึ้นที่หน้า ตามมาด้วยที่มือ แขน และไปที่ลำตัว และที่เยื่อบุที่มีเมือก เช่น ในปากและคอในอีก 2-3 วันต่อมา ที่บริเวณหน้า แขนขาจะมีตุ่มขึ้นมามาก ไข้ทรพิษจะมีตุ่มขึ้นที่ลำตัวมากกว่าที่แขนขาและหน้า และมักแยกโรคสับสนกันกับอีสุกอีใสที่มีตุ่มนูน เป็นถุงมีน้ำ และเป็นหนอง เมื่อแตกจะมีน้ำเหลืองไหลออกมา จะมีอาการอยู่ 8-14 วัน จะมีรอยโรคทำให้เป็นแผลเป็นบุ๋มลึก ดังนั้น ในแผนไทย ฝีดาษน่าจะเป็นโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ด้วย เช่น อีสุกอีใส เริ่ม งูสวัด โรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติด้วย

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า