สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาสีฟันคืออะไร

ยาสีฟัน

ยาสีฟัน
ในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโลกของเรามีวิวัฒนาการก็คือเรื่องของยาสีฟันนี่เอง ยาสีฟันเริ่มมีบทบาทขึ้นมาเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมานี้ สมัยนั้นคนยังไม่ค่อยรู้จัก ไม่นิยม และไม่ศรัทธาที่จะใช้กันนัก แต่ทุกวันนี้ ทุกคนทุกครัวเรือน แทบจะไม่มีใครที่แปรงฟันโดย ไม่ใช้ยาสีฟัน นับได้ว่า ยาสีฟันมีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเราเป็นอันมาก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างยาสีฟันกับสุขภาพของฟันและช่องปาก กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และน่าจะทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องเสียที เพราะถึงแม้ว่าเราจะใช้ยาสีฟันกันอยู่ทุกวัน แต่ก็มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจ ในเรื่องสรรพคุณของยาสีฟันผิดไป หรือไม่ถูกต้องนัก
ทุกวันนี้ การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อขายสินค้าดูจะเป็นเรื่อง ธรรมดา และเป็นปัจจัยสำคัญต่อระบบการผลิตและจำหน่ายสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สินค้าดี หากไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็อาจกลายเป็นสินค้าที่ไม่ดี ไม่มีคนสนใจ ขายไม่ออกเอาง่ายๆ
ถ้าหากว่า สินค้านั้นดีน้อยหน่อย หรือไม่ดีเลย แต่หาวิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ถูกทาง สินค้านั้นอาจกลายเป็นสินค้าที่ขายคล่องเหมือนเอาไปทิ้งลงคลองก็เป็นได้ เพราะดูเหมือนว่ามาตรฐานคุณภาพของสินค้า ในสายตาคนซื้อทุกวันนี้ จะถือเอาหลักเกณฑ์จากการโฆษณาเป็นเครื่องวัดกันเสียมากกว่า จะดูกันจากเหตุผลความเป็นจริง เราจึงเห็นกันเสมอว่า ของสิ่งไหนที่โฆษณามาก ก็ขายได้มาก มีคนนิยมมาก
แต่การโฆษณาสินค้า ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเรียกร้องให้คนสนใจ มีความ กระหายที่จะซื้อใช้นั้น เราพบว่าบางครั้ง และบ่อยครั้ง ที่การโฆษณาออก จะเกินเลยมากไปกว่าความเป็นจริง อันเป็นจุดที่ก่อให้คนซื้อเข้าใจผิดหรือหลงผิด ในเรื่องคุณภาพของสินค้า ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ได้ดีเหมือนดั่งคำโฆษณาเลย
ยาสีฟัน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีการโฆษณากันอย่างแพร่หลาย ทั้งในโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ต่างก็แสดงสรรพคุณและความดีเด่นในการป้องกันฟันผุ ป้องกันโรคเหงือก ด้วยอิทธิฤทธิ์ของสารต่างๆ ที่ผสมเอาไว้ในยาสีฟันนั้น ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนทั่วๆ ไป มีความเข้าใจในเรื่องของยาสีฟันไม่ถูกต้องนัก
ยาสีฟันคืออะไร?
บทนิยามของยาสีฟันมีว่า “หมายถึงสิ่งที่ช่วยในการแปรงฟัน เพื่อ ทำความสะอาดฟัน ซึ่งอาจจะเป็นสารผสมที่เป็นผง หรือเป็นของเหลวข้นๆ ก็ได้”
จะเห็นได้ว่ายาสีฟันทำหน้าที่ช่วยในการแปรงฟันให้ดีขึ้น ช่วยทำให้ฟันสะอาด และปากมีกลิ่นหอมเท่านั้น โดยคำบัญญัติหน้าที่อันแท้จริงของยาสีฟันมิใช่เพื่อรักษาโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ หรือโรครำมะนาด เพราะยาสีฟันมิได้มีคุณค่าทางยาตามชื่อของมันเลย คุณสมบัติของยาสีฟัน นั้นดูเหมือนจะโน้มเอียงไปทางด้านเครื่องสำอางค์มากกว่าจะเป็นยา แต่คำว่ายาสีฟัน บวกผสมกับคำโฆษณาว่า ฆ่าเชื้อโรคในปาก ป้องกันฟันผุ กันเสียว กันโรคเหงือก ฯลฯ อย่างได้ผลนั้นต่างหาก ที่ดึงดูดความสนใจ และสร้างความเข้าใจผิดให้แก่คนเป็นจำนวนมากมาแล้ว ทำให้เกิดผลเสีย และมีผลร้ายต่อสุขภาพฟันและเหงือกอย่างนึกไม่ถึง เพราะความเข้าใจผิด คิดว่ายาสีฟันให้ผลดีตามคำโฆษณา
บางคนฝากความหวังไว้กับยาสีฟันมากเกินไป เกิดความเดือดร้อน เจ็บปวดเรื่องฟันแทนที่จะไปหาทันตแพทย์กลับหันไปหายาสีฟัน เที่ยววิ่งหายาสีฟันมาใช้ เพราะหวังว่ายาสีฟันจะช่วยบรรเทาอาการได้ ยิ่งนับว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ฟันที่มีรูผุเกิดขึ้นแล้ว ยาสีฟันวิเศษชนิดใดๆ ก็ไม่สามารถจะช่วยทำให้รูผุเล็กลง หรือหยุดยั้งการลุกลามของรูผุอันนั้นได้ ถ้าหากไม่ไปพบทันตแพทย์เพื่อการตรวจและรักษาที่ถูกต้อง และถึงแม้จะไม่มีอาการเจ็บปวดจากฟัน การใช้ยาสีฟันที่มีการใฆบณาว่ามีสรรพคุณดีต่างๆ นานาเหล่านั้นแล้ว ก็มิได้หมายความว่าคุณจะไม่ต้องไปหาทันตแพทย์เลยชั่วชีวิต
อย่างไรก็ตาม ยาสีฟันที่คุณใช้ก็นับว่ามีประโยชน์และเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการแปรงฟันอยู่เหมือนกัน เพราะยาสีฟันที่มีกลิ่นและรสที่ดี ที่คุณชอบ จะช่วยให้คุณแปรงฟันได้นาน สามารถทำความสะอาดปาก ฟัน และเหงือก ให้ดียิ่งขึ้น แต่พึงระลึกว่า ถึงแม้จะไม่มียาสีฟันใช้ คุณก็สามารถแปรงฟันให้สะอาดได้เหมือนกัน ถ้าการแปรงฟันนั้น คุณสามารถขจัดเศษอาหารออกได้หมดจริงๆ
ส่วนประกอบของยาสีฟัน
มีข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรมไว้ว่า ยาสีฟันจะต้องประกอบด้วย
1. สารที่ใช้ทำความสะอาดหรือขัดฟัน โดยกำหนดไว้ว่า จะต้องมีอยู่ร้อยละ 40 โดยนํ้าหนัก ได้แก่สารพวก แคลเซียมคารบอเนต, แคลเซียม ฟอสเฟต, อาลูมิเนียมออกไซด์ เป็นต้น
2. สารที่ทำให้เกิดกลิ่นรส ได้แก่พวก แซคคารีน ทำให้มีรสหวาน, เปปเปอร์มิ้นต์ ทำให้มีรสซ่า, และพวกนํ้ามันหอมต่างๆ ที่ทำให้ยาสีฟันมีกลิ่นหอม
3. สารที่เป็นของเหลว ได้แก่พวก นํ้า, แอลกอฮอล์, หรือกลีเซอรีน เป็นต้น
4. สารที่ทำให้ยาสีฟันข้นเหนียว หรือเป็นครีม ได้แก่ แป้ง, กัมทรากาแคนด์ ฯลฯ
ส่วนประกอบทั้งสี่ที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าไม่มีตัวใดเป็นยาเลย
แต่ในปัจจุบัน ผู้ผลิตมักจะเสริมเติมสารเคมีบางอย่างลงไปด้วย เช่น สารโซเดียมฟลูโอไรด์ โดยหวังผลในการโฆษณาว่า เป็นยาสีฟันที่มีสรรพคุณ ป้องกันฟันผุ, หรือใส่สารโซเดียมลอริลซาโคซิเนต แล้วโฆษณาว่าเป็นสารแอนตี้เอ็นไซม์ ป้องกันฟันผุ เป็นต้น
การที่ผู้ผลิตยาสีฟันพยายามใส่สารเคมีต่างๆ ลงไปในผลิตภัณฑ์ ของตนนั้น อันที่จริงแล้ว มันมิได้ก่อให้เกิดโทษประการใดแก่ผู้ใช้ แต่ก็ ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรมากนัก คงจะดีกว่าอยู่เปล่าๆ โดยไม่ได้ใส่อะไร ลงไป โทษก็ไม่มี ประโยชน์ก็ไม่มากสำหรับคนใช้ แต่มีประโยชน์มากแน่ๆ สำหรับผู้ผลิตในแง่ของการขาย
เรื่องของยาสีฟัน จึงมีปัญหาที่น่าคิดอยู่ที่ว่า มีการโฆษณาสรรพคุณของยาสีฟันกันมากเกินกว่าเหตุ เกินเลยความเป็นจริงมากไป เป็นเหตุให้ประชาชนหลงเชื่อคิดว่าสามารถป้องกันฟันผุได้ผลจริงๆ นอกจากนี้ บางรายยังแถมบริการให้คำแนะนำทางด้านความรู้เกี่ยวกับ การรักษาสุขภาพฟันอย่างผิดๆ เสียด้วย ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดความประมาท เกิดมีปัญหาโรคฟันและเหงือกเพราะไม่ระมัดระวังดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้ดี ละเลยต่อคำแนะนำและการปฏิบัติตนที่ถูกต้องของทันตแพทย์ เนื่องจากไปหลงเชื่อและเข้าใจผิดในคำโฆษณา ถือว่าตนได้ใช้ยาสีฟันที่ดีเลิศในการป้องกันฟันผุแล้ว ย่อมจะไม่เกิดปัญหาเรื่องฟันผุขึ้นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
จริงอยู่ แม้ว่ายาสีฟันจะไม่ใช่ยาที่ทันตแพทย์ใช้รักษาฟันโดยตรง ก็ตาม แต่ยาสีฟันก็มีบทบาทสำคัญทางทันตแพทย์อย่างน้อยก็มีประโยชน์ในการช่วยสนับสนุนให้การแปรงฟันมีประสิทธิภาพดีขึ้นได้ผลดีขึ้น มีส่วนช่วยให้ฟันขาวเป็นเงางามและปากมีกลิ่นสะอาด ทุกวันนี้ยาสีฟันจึงเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนอย่างไม่มีทางแยกออกจากกันได้เสียแล้ว แต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า การรักษาฟันให้ดี ไม่มีทั้งโรคฟันผุและโรคเหงือก ตลอดจนมีสุขภาพของช่องปากที่สมบูรณ์อยู่เสมอนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับยาสีฟันแต่อย่างเดียว แต่ยังประกอบด้วย
1. แปรงฟันให้สะอาดที่สุดที่จะทำได้ อย่าให้มีเศษอาหารเหลือตกค้างตามซอกฟัน
2. รับประทานอาหารที่ไม่ช่วยเสริม หรือก่อให้เกิดฟันผุง่าย เช่น ผักสด และผลไม้ ฯลฯ
3. ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อการตรวจ บำบัดรักษา ตาม กำหนดเวลา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด
การเลือกใช้ยาสีฟัน ว่าจะใช้ชนิดใดดีนั้น ตามความเป็นจริงแล้ว ทุกชนิด ทุกยี่ห้อ ก็มีสรรพคุณและคุณสมบัติพอๆ กัน ไม่มีของใครดีกว่ากัน เท่าไหร่นัก เพราะยาสีฟันเป็นเพียงตัวช่วยในการแปรงฟันให้สะอาด สารผสมและตัวยาแอนตี้เซปติคที่มีผสมอยู่ในยาสีฟัน เพื่อป้องกันเชื้อ หรือเพื่อฆ่าเชื้อตามที่โฆษณา ก็จะมีอยู่ในปริมาณที่ไล่เรี่ยกัน เพราะสิ่งเหล่านี้ ถ้าใส่มากเกินไป ก็อาจเกิดเป็นอันตรายต่อเยื่อบุช่องปากได้ แถมยังเปลืองงบประมาณต้นทุนไปเปล่าๆ
ฉะนั้น ในความเห็นส่วนตัวของผมเกี่ยวกับเรื่องยาสีฟัน ผมจะไม่แนะนำว่าชนิดใดดี ใครจะใช้ยาสีฟันอะไรก็ได้ จะเลือกเอาชนิดหลอดมันนิ่มดี ชนิดที่ใช้แล้วนั่งติดกันได้, หรือชนิดที่ซื้อสักสองหลอด แล้วมีการแถมถ้วยแถมจานก็ไม่ว่าอะไร ขอแต่เพียงให้คุณเอาใจใส่แปรงฟันให้สะอาดทุกซี่ แปรงให้หมดทุกซอกทุกมุมก็พอแล้ว
อันที่จริง การแปรงฟันนี่เป็นสิ่งที่เราทำกันมานานนักหนา เรียกว่า พอรู้ความก็ต้องรู้จักแปรงฟันกันน่ะแหละ แต่ก็มีคนไม่มากนักที่แปรงฟันได้สะอาดจริงๆ ฉะนั้นทุกคนควรเอาใจใส่และพยายามแปรงฟันให้สะอาดให้ได้ อย่าแปรงฟันแบบขี้เกียจ หรือแปรงพอเป็นพิธี เมื่อปี 2527 ที่ผ่านมานี้มีรายงานจากรัฐบาลว่า คนไทยเราใช้ยาสีฟันลดน้อยลง 20% หรือถ้าคิดเป็นนํ้าหนักก็เท่ากับยาสีฟันหนัก 2,000 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร หรือว่าบรรยากาศรอบๆ ตัวมันเฉา และห่อเหี่ยวลง จนคนขี้เกียจจะทำอะไร แม้กระทั่งจะแปรงฟันของตัวเองก็ไม่ทราบ
ที่มา:ทันตแพทย์สมนึก  วัฒนสุนทร

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า