สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะอักเสบรอบข้อไหล่(Scapulohumeral periarthritis)

โรคนี้จะปวดไหล่และมีการกดเจ็บและเคลื่อนไหวไหล่ได้น้อยลงมาก  ในระยะแรกสาเหตุ คือ พยาธิสภาพที่เกิดการอักเสบรอบนอกของข้อ ซึ่งมีเอ็น ปลอกเอ็น ถุงน้ำกันเสียดสีและกล้ามเนื้อและเอ็นหุ้มข้อ ในระยะต่อมาจะมีการอักเสบเสื่อมในตัวข้อไหล่เอง ทำให้ไหล่ติดแข็ง (frozen shoulder)

อาการ

อาการเป็นทีละน้อยหรือเป็นอย่างเฉียบพลัน  บางทีเกิดจากการใช้แขนมากเกินไปหรือใช้ท่าผิด ๆ หรือเกิดจากถูกความเย็น  แต่ก็มีอยู่บ่อยครั้งที่อาการของโรคเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีสาเหตุส่งเสริมก่อน  ระยะโรคจะเรื้อรัง อาการอาจทุเลาเองได้  อาการแทรกซ้อนเกิดได้หลายอย่าง เช่น เอ็นที่มีหินปูนเกาะขาดหลุดเข้าไปในถุงน้ำกันเสียดสีใต้กระดูกอะโครเมียน (subacromial bursa) เอ็นของกล้ามเนื้อรอบไหล่มัดใดมัดหนึ่งขาดทำให้ยกแขนไม่ขึ้น มีอาการคล้ายอัมพาต อาจเรียกว่า อัมพาตเทียม เอ็นหุ้มข้ออาจแข็งตัวหดสั้นทำให้ไหล่ติด  แขนข้างที่เป็นจะมีอาการเสื่อม  ยกเคลื่อนไหวไม่ได้มากเพราะความเจ็บปวด ซึ่งเป็นอาการที่เกิดได้บ่อย ๆ ร่วมกับโรคอื่น ๆ ที่ทำให้แขนเคลื่อนไหวไม่ได้  เช่น เนื้องอกของทรวงอก หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพาตครึ่งซีก อัมพาตเฉพาะแขน หรือเกิดจากยาบางอย่างก็ทำให้เกิดอาการอักเสบรอบข้อได้เช่นกัน  ตัวอย่างเช่น ยานอนหลับพวกบาร์บิทูเรต ยาแก้ลมชัก ยาต้านวัณโรค และพวกไอโอดีน

อาการจะพบว่ากดเจ็บที่เอ็นกล้ามเนื้อ แล้วแต่ว่าจะอักเสบที่กล้ามเนื้อมัดใด เมื่อจับข้อไหล่ให้เคลื่อนไหว ก็จะมีความเจ็บปวดเกิดขึ้น แล้วแต่กล้ามเนื้อมัดใดจะถูกกด  ส่วนการเคลื่อนไหวเองของผู้ป่วยก็จะทำไม่ได้เพราะเจ็บเกร็ง  ซึ่งอาจมีการอักเสบเยื่อบุข้อหรือเยื่อบุช่องเอ็นกล้ามเนื้อผ่านกระดูก เช่น ที่หัวกระดูกแขนมีเอ็นกล้ามเนื้อไบเซ็บที่ทำหน้าที่งอข้อศอก ลอดผ่านร่องที่หัวกระดูกอยู่แล้ว เวลาเคลื่อนไหวจะเจ็บที่เอ็นในร่องนี้ ถ้าเป็นมากจะทำให้เคลื่อนไหวข้อไหล่ได้น้อยหรือบางครั้งเคลื่อนไหวไม่ได้เลย

อาการกดเจ็บอาจเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อมัดหนึ่งที่เกาะบนหัวกระดูกต้นแขนที่อักเสบ (supraspinatus tendinitis) หรืออาจเกิดจากการอักเสบของถุงน้ำกันเสียดสีใต้กระดูกอะโครเมียน (subacromial bursitis) หรืออาจเกิดที่บริเวณที่กล้ามเนื้อเดลตอยด์ยึดอยู่ หรือเกิดจากเอ็นหุ้มข้อที่รอยพับในรักแร้ก็ได้  ความเจ็บปวดจะเกิดในบางท่า โดยมากท่ากางแขน ๗๐-๑๐๐ องศา จะเจ็บปวดกล้ามเนื้อไบเซ็บ  การหมุนแขนใต้ข้อศอกจะเจ็บปวดมากขึ้น เช่น ท่าหมุนไขควง ความเจ็บปวดจะเจ็บในบางท่า เช่น ท่าสวมเสื้อผ้า อาการปวดจะเป็นทั่ว ๆ ไป บอกไม่ได้แน่ว่าปวดจุดใดมาก

การใช้แขนในท่ายกแขนและหมุนจะทำไม่ได้  ถ้ากล้ามเนื้อ ๒-๓ มัดที่ยึดมัดใดมัดหนึ่งอักเสบจะทำให้ยกแขนไม่ขึ้นเหมือนกัน  อาการข้อแข็งเกิดจากการแข็งตัวของเอ็นรอบข้อและเกิดจากข้อไหล่เคลื่อนไหวไม่ได้เป็นเวลานาน และเกิดจากความเจ็บปวดไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน

รูปที่ ๒๐

แสดงภาพรังสีข้อไหล่ในผู้ป่วยเอ็นกล้ามเนื้อเหนือสะบักไหล่อักเสบจนแคลเซียมพอกส่วนที่เกาะของเอ็นที่ด้านนอกหัวกระดกต้นแขน(สังเกตเงาทึบสีขาวลักษณะเป็นก้อนกลม อยู่ติดกับหัวกระดูกด้านขวา)

การตรวจภาพรังสี

มีลักษณะเงากระดูกข้างบริเวณปุ่มบนกระดูกต้นแขน อาจมีเดือยกระดูกเกิดขึ้นร่วมด้วย บางครั้งมีรอยหวำบนขอบของปุ่มกระดูกใหญ่บนกระดูกต้นแขน และอาจพบลักษณะคล้ายถุงในบริเวณนั้น  หัวกระดูกต้นแขนอาจเลื่อนขึ้นไปในช่องข้อขอบกระดูกไม่เรียบใต้จะงอยกระดูกอะโครเมียน

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ในการอักเสบเฉียบพลัน  อาจมีอัตราการนอนก้นเม็ดเลือดแดงตกเร็ว

การรักษา

ใช้ยาลดการอักเสบและกายภาพบำบัด  การใช้ยาอาจฉีดสเตอรอยด์เข้าไปในจุดที่เจ็บ พักการใช้แขน

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า