สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

สุขภาพวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุก็เช่นเดียวกับวัยเด็กที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของสุขภาพขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้สุขภาพเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือเลวลงก็ได้

ปัจจัยภายใน

ปัจจัยภายในหมายถึง ปัจจัยที่เกี่ยวกับบุคคลโดยตรงซึ่งบางปัจจัยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ปัจจัยภายในประกอบด้วย องค์ประกอบ 3 อย่างคือ องค์ประกอบทางกาย องค์ประกอบทางจิต และองค์ประกอบทางพฤติกรรมหรือแบบแผนการดำเนินชีวิต ดังนี้

1. องค์ประกอบทางกาย ได้แก่ องค์ประกอบที่เป็นมาตั้งแต่เกิด และจะเป็นอยู่เช่นนี้ ตลอดไปโดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่

1.1 พันธุกรรม การถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้นเป็นที่ยอมรับว่าทำให้มีผลต่อสุขภาพของวัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุมาก ทั้งในทางบวกและทางลบ ในทางบวกเช่น การมีอายุยืนยาวเชื่อว่าเป็นพันธุกรรม (บรรลุ ศิริพานิช และคณะ 2531 : 70) ส่วนผลในทางลบคือ ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ได้แก่ โรคที่ถ่ายทอดมาทางยืนส์ทั้งหลาย เช่น เบาหวาน ฮีโมฟีเลีย ทาลัสซีเมีย เป็นต้น นอกจากนี้โรคมะเร็งก็อยู่ในระยะพิสูจน์ว่าถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ ซึ่งคงจะทราบคำตอบในระยะเวลาไม่นานนี้ ปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยที่ไม่อาจแก้ไขได้

1.2 เชื้อชาติ เชื้อชาติบางเชื้อชาติป่วยเป็นโรคบางโรคมากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ เช่น โรคโลหิตจางบางชนิด เป็นในคนผิวดำมากกว่าผิวขาว

1.3 เพศ โรคบางโรคพบบ่อยในเพศใดเพศหนึ่ง โรคที่พบบ่อยในเพศหญิง เช่น นิ่วในถุงน้ำดี โรคของต่อมไทรอยด์ โรคกระดูกพรุน โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ โรคที่พบบ่อยในชาย เช่น โรคกระเพาะอาหาร ไส้เลื่อน โรคทางเดินหายใจ โรคริดสีดวงทวาร เป็นต้น

1.4 อายุและระดับพัฒนาการ โรคเป็นจำนวนมากแตกต่างกันตามอายุ เช่น วัยกลางคนเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบมากกว่าวัยหนุ่มสาว พัฒนาการทางด้านร่างกาย และจิตใจ ภาระงานพัฒนาการของแต่ละวัยจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ วัยรุ่นเป็นวัยที่อยู่ในระยะของการเรียน การเลียนแบบ และทดลองเข้าสู่บทบาทของความเป็นผู้ใหญ่ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้ตัดสินใจปฏิบัติสิ่งต่างๆ ผิดพลาดไปโดยไม่ทันยั้งคิด ทำให้มีผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น การวิวาท ยกพวกตีกัน การติดยาเสพติด การติดเชื้อจากการร่วมเพศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีแรงผลักดันมาจากพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ในวัยผู้ใหญ่ ภาระงานพัฒนาทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทาง ร่างกายและจิตใจ เพราะเป็นวัยที่ต้องเลือกอาชีพ ประกอบอาชีพ เลือกคู่ครอง ปรับตัวในชีวิตสมรส ปรับตัวเพื่อทำหน้าที่บิดามารดาทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และอาจได้รับอันตรายจากการประกอบอาชีพอีกด้วย

2. องค์ประกอบทางจิต ร่างกายและจิตใจมีความสัมพันธ์กัน สภาพอะไรก็ตามที่กระทบกระเทือนทางด้านร่างกายก็จะกระทบกระเทือนต่อจิตใจด้วย และสภาพอะไรก็ตามที่กระทบ กระเทือนต่อจิตใจก็จะมีผลให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้องค์ประกอบทางจิตยังเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่างๆ อีกด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ได้แก่

2.1 อัตมโนทัศน์ (self concept) เป็นผลรวมของความรู้สึกนึกคิดและการรับรู้ที่ลึกซึ้งและซับซ้อนที่บุคคลมีต่อตนเอง และมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดพฤติกรรม คือการที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นรับรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างไร (Snugg, and Combs, 1959, อ้างถึงใน กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล 2531 : 77-106) อัตมโนทัศน์ มีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอัตมโนทัศน์ด้านร่างกาย (physical self) ถ้าบุคคลนั้นมองว่าตนเป็นคนมีรูปร่างหน้าตาตี เป็นคนสวย หรือเป็นคนรูปหล่อ ก็จะมีอิทธิพลให้บุคคลนั้นพยายามบำรุงสุขภาพและร่างกายของตนให้อยู่ในสภาพดีต่อไป

อัตมโนทัศน์ด้านการยอมรับนับถือตนเอง (self-esteem) การยอมรับนับถือตนเองเป็นการรับรู้เกี่ยวกับคุณค่าของตนเอง บุคคลจะประเมินคุณค่าของตนเองจากลักษณะที่ตนเป็นอยู่และเปรียบเทียบกับลักษณะที่ตนอยากให้เป็น และระดับการยอมรับนับถือตนเองนี้จะ

สามารถเปลี่ยนอัตมโนทัศน์ด้านต่างๆ ได้ (กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล 2531 : 77-106) การที่บุคคลมีความแตกต่างเกี่ยวกับลักษณะที่ตนเป็นอยู่กับลักษณะที่ตนอยากให้เป็นนี้จะเป็นแรงผลักดันให้บุคคลนั้นแสวงหาความรู้เพื่อปฏิบัติให้ตนได้เป็นตามที่อยากจะเป็น (ประภาเพ็ญ สุวรรณ และสวิง สุวรรณ 2532 : 18-19) ถ้าสิ่งที่แสวงหานั้นเป็นเรื่องของสุขภาพ บุคคลนั้นก็จะมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ในอนาคต เช่น วัยรุ่นที่ประเมินตนเองว่าอ้วน แต่อยากให้ตนเองผอม จะพยายามแสวงหาความรู้เพื่อนำมาปฏิบัติให้ตนเองผอมลง ซึ่งอาจจะออกกำลังกาย หรือรับประทานอาหารให้น้อยลง พฤติกรรมเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพ และจะเป็นไปตามอัตมโนทัศน์

2.2 การรับรู้ (perception) การที่บุคคลจะมีพฤติกรรมเช่นใดนั้น ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของตนต่อสิ่งต่างๆ การรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพคือ รับรู้ว่าตนเองมีสุขภาพเช่นไรก็จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมที่คนๆ นั้นจะกระทำ คนแต่ละคนมีการรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพแตกต่างกัน โดยเฉพาะถ้าฐานะทางเศรษฐกิจต่างกัน จะรับรู้เกี่ยวกับอาการป่วยและตัดสินใจรับการรักษาต่างกัน คนฐานะทางเศรษฐกิจดีจะรับรู้เกี่ยวกับอาการป่วยเร็วกว่า (Koos 1954 quoted in Bradshaw 1988 : 12) บางคนเมื่อรู้สึกว่าครั่นเนื้อครั่นตัวหรือปวดเมื่อยตามตัว จะรู้ว่าตนกำลังไม่สบาย ในขณะ ที่บางคนเดินไม่ไหว หรือทำงานไม่ไหว จึงจะรับรู้ว่าไม่สบาย ซึ่งการรับรู้เหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่ปฏิบัติในเวลาต่อมา เช่นเมื่อรับรู้ว่าป่วย จะหยุดจากงานไปพบแพทย์หรือรับการรักษาตามความเชื่อของตน ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพในเวลาต่อมา การรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนทั่วไปจะแตกต่างกับบุคคลากรทางการแพทย์ คือประชาชนทั่วไปมักจะใช้อาการที่ปรากฏเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าป่วยหรือไม่ แต่แพทย์จะใช้การตรวจพบความผิดปกติเป็นตัวบ่งชี้การป่วยหรือเป็นโรค ดังนั้นประชาชนที่ไปให้แพทย์ตรวจบางรายแพทย์อาจตรวจไม่พบ ความผิดปกติใดๆ และบอกว่าคนๆ นั้นไม่ได้ป่วย ในขณะที่บางคนไม่มีอาการผิดปกติเลย เมื่อตรวจร่างกายอาจพบว่าเป็นโรคบางอย่างได้ ดังนั้นการรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพที่จะมีผลดีต่อสุขภาพ คือ การรับรู้ว่า บางคนอาจป่วยเป็นโรคได้ทั้งที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ การรับรู้ว่าการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและการป้องกันโรคเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วย และรับรู้ว่าสุขภาพเป็นสิ่งมีค่าเหนือสิ่งอื่นใด

2.3 ความเชื่อ ปกติคนเรามักได้ความเชื่อมาจาก พ่อ แม่ ปู ย่า ตา ยาย หรือผู้ที่เราเคารพเชื่อถือ จะยอมรับฟังโดยไม่ต้องพิสูจน์ ความเชื่อเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ความเชื่อเมื่อเกิดขึ้นแล้วมักจะเปลี่ยนแปลงยาก

ความเชื่อด้านสุขภาพ (health belief) คือความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพที่คนแต่ละคนยึดถือว่าเป็นความจริง ความเชื่อดังกล่าวอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ บุคคลจะปฏิบัติตามความเชื่อเหล่านี้อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เซ่นใดก็ตาม และจะรู้สึกไม่พอใจถ้าใครไปบอกว่าสิ่งที่เขาเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือแนะนำให้เขาเลิกปฏิบัติตามความเชื่อหรือให้ปฏิบัติในสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อ ความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพในสังคมไทยมีมากมาย การปฏิบัติตามความเชื่อจะทำให้บุคคลมีความมั่นใจและรู้สึกปลอดภัย ถ้าต้องฝืนปฏิบัติในสิ่งที่ขัดกับความเชื่อจะรู้สึกไม่ปลอดภัย เกรงว่าจะเป็นอันตราย ความเชื่อที่พบได้ทั่วๆ ไปเกี่ยวกับสุขภาพได้แก่ เชื่อว่าถ้ารับประทานไข่ขณะที่เป็นแผล จะทำให้แผลนั้นเป็นแผลเป็นที่น่าเกลียดเมื่อหาย ถ้ารับประทานข้าวเหนียวจะทำให้แผลกลายเป็นแผลเปีอย หญิงตั้งครรภ์ ถ้ารับประทานเนื้อสัตว์ชนิดใด จะทำให้ลูกมีพฤติกรรมเหมือนสัตว์ชนิดนั้น เชื่อว่าการดื่มเบียร์วันละ 12 แก้วจะช่วยป้องกันการติดเชื้อของลำไส้ เชื่อว่าถ้าดื่มน้ำมะพร้าวขณะมีประจำเดือน จะทำให้เลือดประจำเดือนหยุดไหลเป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้บางอย่างมีผลกระทบต่อสุขภาพมาก แต่บางอย่างไม่มีผลเสียหายต่อสุขภาพ

2.4 เจตคติ เจตคติเป็นความรู้สึกของบุคคลต่อสิ่งต่างๆ อาจเป็นบุคคล สิ่งของหรือ นามธรรมใดๆ ก็ได้ การเกิดเจตคติอาจเกิดจากประสบการณ์ หรือเรียนรู้จากบุคคลใกล้ตัวก็ได้ เจตคติมีผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการประพฤติปฏิบัติต่างๆ เช่น ถ้าประชาชนมีเจตคติที่ไม่ดีต่อสถานบริการสาธารณสุข ก็อาจจะไม่ไปใช้บริการจากสถานที่นั้น หรือเจตคติต่อการรักษาแผนปัจจุบันไม่ดีก็จะไม่ยอมรับการรักษาเมื่อป่วย เป็นตัน หรือเมื่อมีเจตคติไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่แนะนำการปฏิบัติตนเพื่อสุขภาพ บุคคลนั้นอาจจะไม่ ยอมรับฟังหรือปฏิบัติตาม ซึ่งทำให้มีผลต่อสุขภาพได้

2.5 ค่านิยม คือการให้คุณค่าต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ค่านิยมของบุคคลได้รับอิทธิพลมาจากสังคม บุคคลพยายามแสดงออกถึงค่านิยมของตนทุกครั้งที่มีโอกาส ค่านิยมของสังคมใดสังคมหนึ่ง จะมีอิทธิพลต่อการประพฤติปฏิบัติของบุคคลในสังคมนั้นๆ อย่างมาก ค่านิยมที่มีผล กระทบต่อสุขภาพ เช่น ค่านิยมของการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งแสดงถึงความมีฐานะทางสังคมสูง ค่านิยมของการเที่ยวโสเภณีว่าแสดงถึงความเป็นชายชาตรี ค่านิยมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ คือ ค่านิยมของความมีสุขภาพดี

2.6 ความเครียด (stress) ภาวะเครียดมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางด้านบวกและลบทางด้านบวก เช่น ในระยะพัฒนาการของร่างกายและจิตใจตามวัยนั้นก็เป็นการก่อความเครียดแก่ร่างกาย ซึ่งถ้าสามารถเรียนรู้และปฏิบัติภาระงานพัฒนาการจนผ่านพ้นไปได้บุคคล ๆนั้น จะเกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลินในชีวิต แต่ละระยะของภาระงานพัฒนาการจะเต็มไปด้วยความเครียด ซึ่งจะต้องเรียนรู้และเอาชนะเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพัฒนาการในขั้นต่อไป เช่น การฝึกสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศ หรือการฝึกปฏิบัติเพื่อเป็นพยาบาลสิ่งเหล่านี้เต็มไปด้วยความเครียดเช่นกันหรือคนที่ฝึกวิ่งทุกวันจะทำให้หลอดเลือดและหัวใจมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นี่คือผลประโยชน์ที่ได้ซึ่งมากกว่าคนที่ออกกำลังแต่เพียงเปิดปิดหรือเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ การฝึก ในครั้งแรกซึ่งเต็มไปด้วยความเครียดนั้นจะทำให้แต่ละคนได้พัฒนาความสามารถ เกิดความมั่นใจ ความกลัวลดลง ทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยคุณภาพ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าความเครียดมีผลกระทบต่อสุขภาพทางด้านบวก ในทำนองเดียวกัน ความเครียดก็ก่อให้เกิดผลทางด้านลบต่อสุขภาพได้ด้วยเช่นกัน ถ้าความเครียดนั้นมีมากเกินความสามารถของบุคคลจะเผชิญได้ หรือความสามารถในการเผชิญความเครียดของบุคคลไม่เหมาะสม

3. องค์ประกอบทางพฤติกรรม หรือแบบแผนการดำเนินชีวิต (life style) พฤติกรรมหรือ แบบแผนการดำเนินชีวิตประจำวันนั้นเป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพมากที่สุด เพราะเป็นองค์ประกอบที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งพบว่าประมาณร้อยละ 50 ของประชาชนที่เสียชีวิตในอเมริกามีสาเหตุมาจากการมีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง (Walker et al 1988 :89) แบบแผนการดำเนินชีวิตได้แก่

3.1 พฤติกรรมเกี่ยวกับอนามัยส่วนบุคคล เป็นพฤติกรรมที่ปฏิบัติเพื่อการมีอนามัยที่ดี ได้แก่ การแปรงฟัน การอาบน้ำ ความสะอาดของเสื้อผ้า การสระผม การดูแลสุขภาพของผิวหนัง การดูแลความสะอาดของอวัยวะสืบพันธุ์ สิ่งเหล่านี้เป็นกิจวัตรประจำวันที่บุคคลปฏิบัติ ในการปฏิบัติกิจกรรมเหล่านั้นมีทั้งปฏิบัติถูกต้อง และไม่ถูกต้อง การปฏิบัติถูกหรือไม่ถูกขึ้นอยู่กับความเชื่อ และการรับรู้เกี่ยวกับปฏิบัติของแต่ละคน และการตัดสินใจว่าถูกต้องของประชาชนทั่วไปกับบุคคลากรทางแพทย์อาจจะแตกต่างกัน พฤติกรรมเกี่ยวกับการแปรงฟัน ถ้าแปรงไม่ถูกวิธีอาจทำให้เหงือกร่น และถ้าใช้ยาสีฟันที่มีสารขัดฟันคมเกินไป อาจทำให้ฟันสึก และเคลือบฟันบางลง การอาบน้ำในหน้าหนาวถ้าถูสบู่บ่อยๆ หรืออาบด้วยน้ำอุ่นอาจจะให้ผิว แห้งและคันได้ การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์หรือการดูแลขณะมีประจำเดือน ถ้าไม่สะอาดพออาจเป็นเหตุให้มีการติดเชื้อของมดลูกได้ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพทั้งสิ้น

3.2 พฤติกรรมการรับประทานอาหาร นิสัยการรับประทานอาหารเป็นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะท้องถิ่น และความชอบของแต่ละคน พฤติกรรมการรับประทานมีผลกระทบต่อสุขภาพมาก บางคนรับประทานอาหารจุบจิบ ชอบรับประทานอาหารประเภทขบเคี้ยว ชอบอมทอฟฟี่ ซึ่งจะมีผลทำให้ฟันผุ บางคนไม่ชอบรับประทานอาหาร ประเภทผักและผลไม้ ทำให้มีกากอาหารน้อย ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ อาหารที่ไม่สะอาดทำให้ท้องเสีย อาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาดิบ ก้อย ปลา ทำให้เป็นโรคพยาธิ บางคนชอบอาหารที่มีไขมันสูง อาจทำให้เป็นโรคอ้วน หรือไขมันอุดตันในเส้นเลือดเป็นต้น บางคนชอบหรือไม่ชอบอาหารบางประเภททำให้ได้อาหารไม่ครบถ้วน อาหารจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อสุขภาพ จากการศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับปัจจัยซึ่งมีความสัมพันธ์กับอัตราตายในวัยผู้ใหญ่พบว่า 2 ประการใน 7 ประการเกี่ยวข้องกับอาหารนั้นคืออาหารเช้าและน้ำหนักตัว (Breslow Engstrom : 1980 quoted in Kulbok, Earls, and Montgomery 1986. 21-35) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาหารเช้า ซึ่งเป็นมื้ออาหารที่บุคคลส่วนใหญ่ให้ความสำคัญน้อยเพราะอยู่ในภาวะเร่งรีบมีความสัมพันธ์กับอัตราตาย ส่วนน้ำหนักตัวนั้น คนที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงบ่อยก็มีความสัมพันธ์กับอัตราตาย กล่าวโดยสรุปคือ คนที่ไม่รับประทานอาหารเช้า คนมีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือน้ำหนักเปลี่ยนแปลงบ่อย คนที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งจะมีโอกาสตายง่ายกว่าบุคคลอื่น

3.3 พฤติกรรมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ผู้ที่ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลา ถ่ายลำบาก อุจจาระมีลักษณะแข็งต้องเบ่งถ่ายอุจจาระ มีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคริดสีดวงทวารสูงกว่าคนที่มีการขับถ่ายเป็นเวลาและถ่ายสะดวก พฤติกรรมการกลั้นปัสสาวะทำให้เกิดเป็นโรคติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย

3.4 การพักผ่อนและการนอนหลับ เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าร่างกายต้องการการพักผ่อนและการพักผ่อนที่ดีที่สุดคือ การนอนหลับ ผู้ที่พักผ่อนหรือนอนหลับไม่เพียงพอจะมีผลเสียต่อสุขภาพคือ ถ้าอดนอน 48 ชั่วโมง ร่างกายจะผลิตสารเคมีซึ่งมีโครงสร้างคล้าย เอส ดี 25 (S.D. 25) สารนี้มีผลให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปจากเดิม ผู้ที่อดนอนจะรู้สึกหนักมึนศีรษะรู้สึก เหมือนตัวลอยควบคุมสติไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ถ้าอดนอน 4 วัน ร่างกายจะไม่ผลิตสารที่สร้างพลังงานแก่เซล ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีทำให้มีการปล่อยพลังงานออกมาเป็นเหตุให้ร่างกายอ่อนเพลียต่อมาจะเกิดอาการสับสน ประสาทหลอน และปรากฏอาการทางจิตขึ้น (Hayter 1980 quote in Murray and Zentner, 1985:412) ผู้ที่ได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือนอนหลับไม่ เพียงพอไม่สามารถควบคุมตนเองให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ ถ้าต้องทำงานที่ต้องระมัดระวังอันตราย เช่น งานในโรงงานอุตสาหกรรม จะมีผลให้ร่างกายได้รับอุบัติเหตุ เช่น เครื่องจักรตัดนิ้วมือ หรืออุบัติเหตุอื่นๆ ได้

3.5 พฤติกรรมทางเพศ การตอบสนองความต้องการทางเพศเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพได้ถ้าบุคคลนั้นมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้อง เช่น สำส่อนทางเพศ พฤติกรรมรักร่วมเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศแบบวิตถาร ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งจากโรคติดเชื้อ เช่น กามโรค โรคเอดส์ หรือร่างกายได้รับบาดเจ็บจากการร่วมเพศ แบบวิตถารหรือรุนแรงถึงขนาดสูญเสียชีวิตจากการฆาตกรรม เพราะความรักและความหึงหวงได้

3.6 พฤติกรรมอื่นๆ ได้แก่พฤติกรรมที่ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติในกิจวัตรประจำวันของบุคคลทั่วๆ ไป แต่อาจเป็นพฤติกรรมที่ปฏิบัติเป็นประจำในคนบางคน พฤติกรรมเหล่านี้อาจแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

3.6.1 พฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ พฤติกรรมที่คนทำแล้วเชื่อว่าทำให้ตนมีสุขภาพดีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรเพื่อดูแลสุขภาพและพฤติกรรมส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับระบบชุมชน และการดูแลสุขภาพส่วนรวม ดังนี้คือ

1. พฤติกรรมที่เชื่อว่าทำให้ตนสุขภาพดีเป็นพฤติกรรมที่บุคคลปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค เช่น การออกกำลังกาย การชั่งนํ้าหนัก การตรวจเต้านมด้วยตนเอง การแสวงหายาอายุวัฒนะมารับประทาน การแสวงหาสารต่างๆ ที่เชื่อว่าช่วยชะลอ ความชรามาทาหรือมารับประทาน สารเหล่านี้มีมากมายที่จำหน่ายในท้องตลาดซึ่งโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถฝืนกฎธรรมชาติคือความชราได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอาหารสุขภาพ ได้แก่ วิตามิน และเกลือแร่เสริม วิตามินบีรวม นอกจากนี้มีไข่มุกบด นมผึ้ง บีพอลเลน (Bee-Pollen) รวมทั้งการรับประทานวิตามินอีปริมาณสูง โดยเชื่อว่าสามารถป้องกันการทำลายเซลส์จากกระบวนการเปอร์ออกซิเดชัน (peroxidation) ได้ รวมทั้งการใช้สเตอรอยด์ พวกไฮโดรคอร์ติโซน อีพิเดอมอล โกรท แฟคเตอร์ (hydrocortisone epidermal growth factor = EGF) และสารอื่นๆ ที่ไปกระตุ้นการสร้างไซคลิก เอ เอม พี (Cyclic AMP) เรียกสารเหล่านี้ว่า เคอราติโนไซท์ (keratinocytes) ซึ่งกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ และลดการสลายตัวของเซลล์เก่าโดยเฉพาะเซลส์ผิวหนัง รวมทั้งวิตามิน

แคลเชี่ยมและสารจากรกของมนุษย์ สารจำพวกแคโรทีน ซึ่งเชื่อว่าสามารถป้องกันไม่ให้รังสีเหนือม่วง (ultraviolet) ทำลายเคอราติโนไซท์ จึงสามารถป้องกันกระบวนการชราจากแสง (photo aging) ได้นอกจากนี้ยังเชื่อว่า สารจำพวกโปรเคน ไฮดรอกไซด์สามารถชะลอความชราได้ ซึ่งสารเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (สิรินทร์ พิบูลย์นิยม 2533:29) พฤติกรรมที่กระทำเพื่อสุขภาพดีนั้นยังต้องการการค้นพบและแสวงหาอีกต่อไป

2. พฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรเพื่อดูแลสุขภาพ เป็นพฤติกรรมที่บุคคลไปรับบริการจากสถานบริการสาธารณสุข หรือบริการทางการแพทย์แผนโบราณ การเลือกใช้บริการแบบใดขึ้นอยู่กับความเชื่อ ค่านิยม เจตคติและการรับรู้ของบุคคลนั้น ซึ่งมี 2 แนวคิด คือ อาการเจ็บป่วยต่างกันเลือกใช้บริการต่างกัน และคนต่างกลุ่มกันเลือกใช้บริการต่างกัน (เบญจา ยอดดำเนิน, จรรยา เศรษฐบุตร และกฤตยา อาชวนิจกุล 2523 : 47-49) พฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรเพื่อการป้องกันโรคได้แก่ การไปรับภูมิคุ้มกัน การแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เช่น อาการแสดงของมะเร็งระยะแรก การรับ

ฟลูโอไรด์เพื่อรักษาสุขภาพฟัน การตรวจสอบการได้ยินและการมองเห็น การตรวจหามะเร็งปากมดลูก การตรวจร่างกาย การเอกซเรย์ การดูแลก่อนคลอด เป็นต้น

3. พฤติกรรมส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับระบบชุมชนและการดูแลสุขภาพส่วนรวมทั้งหมด ได้แก่ พฤติกรรมที่เป็นการอุทิศตนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของชุมชนเป็นอาสาสมัครในโครงการสุขภาพ การสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อองค์กรสุขภาพ พฤติกรรมส่วนนี้เป็นที่ต้องการของระบบการดูแลสุขภาพปัจจุบันคือ กลวิธีสาธารณสุขมูลฐานเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน (ปรีชา ดีสวัสดิ์ 2531 : 152)

3.6.2 พฤติกรรมเสี่ยง คือ พฤติกรรมที่ปฏิบัติแล้วทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายแก่ร่างกาย เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การกินยาบ้า การขับรถเร็ว

1. ภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่พบว่าทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ มะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลทั่วไป เพศหญิงที่สูบบุหรี่ขณะรับประทานยาคุมกำเนิดจะยิ่งเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองมากยิ่งขึ้น และถ้าตั้งครรภ์บุตรในครรภ์จะมีน้ำหนักตัวน้อย

2. ภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ที่ดื่มเหล้า ผู้ที่ดื่มเหล้ามีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นตับแข็งมากกว่าบุคคลทั่วไป ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งในปัจจุบันมีสาเหตุมาจากดื่มเหล้ามากกว่าสาเหตุอย่างอื่น พฤติกรรมการดื่มเหล้าที่เป็นอันตรายต่อตับมากคือ ดื่มสมํ่าเสมอ และดื่มในภาวะที่ร่างกายขาดอาหารโปรตีน นอกจากนี้เหล้ายังเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย การดื่มเหล้ามักจะก่อให้เกิดกรณีวิวาทและทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน อุบัติเหตุการทำร้ายร่างกายมักมีสาเหตุนำมาจากเหล้า การดื่มเหล้าแล้วเมา ทำให้สูญเสียการควบคุมสติตนเองอาจประกอบพฤติกรรมอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมา เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การร่วมประเวณีกับหญิงให้บริการโดยขาดการป้องกันโรคเอดส์หรือกามโรค การดื่มเหล้าขณะขับขี่รถยนต์หรือจักรยานยนต์ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ซึ่งอันตรายที่เกิดขึ้นนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเองแล้วยังทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพของบุคคลอื่นและเป็นการสูญเสียทรัพย์สินทั้งของส่วนตัวและส่วนรวมอีกด้วย

3. การกินยาบ้า ยาบ้าหรือยาขยันมักจะนิยมกันมากในบุคคลที่ทำงานกลางคืนโดยเฉพาะผู้ขับรถบรรทุก เพื่อให้มีชั่วโมงการทำงานมากขึ้น ยาบ้าเป็นยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามิน(amphetamine) เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉงสามารถทำงานต่อไปได้ทั้งๆ ที่สภาพจริงๆ ของร่างกายต้องการพักผ่อน ผลของ ยาทำให้เกิดประสาทหลอน มองเห็นทางข้างหน้าเป็นทางแยก จึงมักหักรถเลี้ยวจนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมักจะรุนแรง เป็นอันตรายต่อชีวิตของตนเอง และผู้อื่น สูญเสียทั้งทรัพย์สินส่วนตัว ทรัพย์สินผู้อื่น และทรัพย์สินส่วนรวมได้บ่อยครั้ง

4. การขับรถเร็ว มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมักจะรุนแรง การขับรถเร็วอาจจะเกิดจากความเร่งรีบ หรือเป็นพฤติกรรมคึกคะนองของวัยรุ่น ทั้ง 2 กรณี เป็นการกระทำที่ตั้งอยู่บนความประมาท ซึ่งเป็นอันตรายและเสี่ยงต่อสุขภาพสูงโดยเฉพาะกับผู้ ที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย

ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพที่สำคัญ นอกจากปัจจัยภายในซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลแต่ละคนแล้ว ปัจจัยภายนอกนับว่ามีความสำคัญไม่น้อยในแง่ของผลกระทบต่อสุขภาพ ปัจจัยภายนอกอาจแบ่งออกได้ ดังต่อไปนี้

1. องค์ประกอบทางสังคม แต่ละสังคมประกอบด้วยระบบย่อยหรือสถาบันสังคมที่สำคัญ 6 ระบบคือ ระบบครอบครัวและเครือญาติ ระบบการศึกษา ระบบการสาธารณสุข ระบบเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ ระบบการเมืองและการปกครอง ระบบความเชื่อ หรือสถาบันศาสนา สุขภาพของบุคคลในสังคมจะได้รับอิทธิพลจากระบบต่างๆ เหล่านี้ แต่ละระบบจะกระทบต่อสุขภาพมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ปทัสถาน (norm) ของสังคมนั้นๆ

1.1 ระบบครอบครัวและเครือญาติ สังคมไทยเป็นสังคมแบบระบบเครือญาติ คือ เครือข่ายทางสังคมมักจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในหมู่ญาติ ญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อ และพฤติกรรมของบุคคลในครอบครัว ระบบเครือญาตินี้ถือว่าการเจ็บป่วยของบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของผู้นั้น หากแต่เป็นเรื่องของครอบครัว ญาติพี่น้อง และสังคมที่จะมีส่วนช่วยเหลือและรับผิดชอบ เมื่อบุคคลในครอบครัวป่วย การจะไปรับการรักษาที่ใด และการปฏิบัติตัวขณะป่วยจะต้องทำอย่างไรขึ้นอยู่กับญาติผู้ใหญ่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร แม้ว่าการตัดสินใจนั้นตนจะไม่เห็นด้วย แต่ก็จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งมีผลดีในแง่ของจิตใจของผู้ป่วยที่ทุกคนให้ความสำคัญต่อการเจ็บป่วยของตน และคอยให้กำลังใจ ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการรักษาและหายป่วยเร็วขึ้น แต่ถ้าพฤติกรรมที่ต้องปฏิบัตินั้นเป็นการขัดต่อสุขภาพก็จะทำให้เกิดผลเสียขึ้น

1.2 ระบบการศึกษา ระบบการศึกษาที่จัดให้แก่บุคคลในสังคมจะมีผลต่อสุขภาพของบุคคลในสังคมเช่นเดียวกัน การศึกษาที่ให้ความสำคัญของการดูแลสุขภาพจะช่วยให้เยาวชนมีพฤติกรรมเกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ อย่างถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การป้องกันอุบัติเหตุ พฤติกรรมเหล่านี้จะติดตัวเป็นลักษณะนิสัยที่ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุต่อไป และเมื่อออกจากระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบก็จะมีผลต่อพฤติกรรมของประชาชน เป็นการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตน การดูแลสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลดีแก่สุขภาพ แต่ถ้าระบบการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสุขภาพก็จะเกิดผลเสียแก่สุขภาพได้ นอกจากนี้ ระดับการศึกษาของแต่ละคนยังเป็นตัวกำหนดมาตรฐานการดำรงชีวิตอีกด้วย

1.3 ระบบสาธารณสุข ระบบการสาธารณสุขไทยมีทั้งระบบบริการโดยรัฐและบริการโดยเอกชน ปัจจุบันรัฐได้พยายามกระจายบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ โดยคัดเลือกผู้สื่อข่าวสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข เข้ามาช่วยปฏิบัติงานในชุมชนของตนเอง เป็นรูปแบบที่พยายามสนับสนุนและช่วยให้ประชาชนช่วยเหลือตนเองและเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคหรือการเจ็บป่วยที่จำเป็น การรู้จักระวังป้องกันโรคติดต่อที่สำคัญ โดยเชื่อว่าระบบดังกล่าวจะช่วยให้สุขภาพอนามัยของประชาชนดีขึ้นกว่านโยบายแบบเดิมที่รัฐให้บริการโดยให้ความสำคัญกับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

1.4 ระบบเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ ระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นแบบทุนนิยมและกำลังเปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรกรรมเป็นระบบอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะประชากร คือการย้ายถิ่น และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ได้แก่ การประกอบอาชีพ สภาพความเป็นอยู่ และวิถีชีวิต ก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพทั้งทางกายและทางจิต โดยเฉพาะระบบงานกะ และงานล่วงเวลา ทำให้ต้องปรับตัวอย่างมาก ประกอบกับต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น เสียงดังจากเครื่องจักร ฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิต ความร้อนที่เกิดจากการทำงานของเครื่องจักรต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งลักษณะงานที่ซ้ำซาก ท่าทางการทำงานที่ผิดธรรมชาติ และอันตรายที่เกิดจาก เครื่องจักร สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเจ็บป่วย และสุขภาพอนามัยระยะยาวแก่คนงานทั้งสิ้น ซึ่งจากการศึกษาเกี่ยวกับภาวะสุขภาพพบว่า ยิ่งทำงานนานขึ้น คือนานเกิน 10 ปีขึ้นไป คนงานก็ยิ่งสุขภาพแย่ลง (กุศล สุนทรธาดา และสุรีย์พร พันพึ่ง 2533:249) ระบบอุตสาหกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้

1.4.1 สภาพความเป็นอยู่ อาจจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพ เช่นอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด หรือไม่มีที่อยู่อาศัยที่แน่นอน ภาวะแวดล้อมในสังคมอุตสาหกรรม จะมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษมากขึ้น

1.4.2 วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นการประหยัดเวลามากขึ้น สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่จริงๆ แล้วกลับทำให้ร่างกายมีสมรรถภาพในการทำงานลดลง เพราะเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้ร่างกายมีการใช้กำลังงานลดลงทำให้หัวใจ ปอด หลอดเลือด กระดูกและกล้ามเนื้อ ไม่มีความแข็งแรงพอ สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาวะสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป

ระบบเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อสุขภาพมาก ความพร้อมในการปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การดูแลสุขภาพจะแตกต่างกันไประหว่างกลุ่มที่มีรายได้สูงกับกลุ่มที่มีรายได้ตํ่า ผู้ที่มีฐานะยากจน มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค โดยจะไม่ ยอมเสียเวลาไปกับกิจกรรมเหล่านั้นแต่จะให้ความสำคัญของการประกอบอาชีพและรายได้มากกว่า จึงมีผลกระทบต่อสุขภาพในลักษณะวงจรแห่งความชั่วร้าย คือ จน-เจ็บ-โง่ อยู่ต่อไป

1.5 ระบบการเมืองและการปกครอง เป็นระบบที่ให้อิสระแก่ประชาชนที่จะกำหนดภาวะสุขภาพของตนเอง โดยรัฐให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางด้านต่างๆ เพื่อความมีสุขภาพดี แต่เนื่องจากปัญหาสุขภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องปฏิบัติด้วยตนเองจึงจะแก้ปัญหาได้ ปัจจุบันรัฐจึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจต่างๆ ได้ ในทางตรงข้ามถ้าระบบการเมืองและการปกครองมุ่งแสวงหาอำนาจ หรือมุ่งจะพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของประชาชนย่อมจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแน่นอน ระบบการเมืองและการปกครองจึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ

1.6 ระบบความเชื่อหรือสถาบันศาสนา ระบบความเชื่อเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดผ่านระบบครอบครัว และสังคม การปฏิบัติตามความเชื่อและค่านิยม ทำให้คนรู้สึกปลอดภัยในการดำรงชีวิต ความเชื่อจึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก การท้าทายต่อความเชื่อและค่า นิยมเก่าของคนยุคใหม่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่มั่นคง ไม่แน่ใจ คนส่วนใหญ่จึงหลีกเลี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความขัดแย้งนี้ ระบบความเชื่อมีอิทธิพลต่อสุขภาพของประชาซนในสังคมนั้น เป็นอย่างมากเพราะความเชื่อเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคล กิจกรรมทางศาสนาบางอย่าง อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้ เช่น การรับประทานอาหารมื้อเดียว การงดอาหารบางประเภท การนั่งท่าเดียวเป็นเวลานานๆ สถาบันศาสนามีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของคนไทยมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุไทยมีสุขภาพจิตที่ดี และปรับตัวเข้ากับวัยสูงอายุได้ดี โดยมีสถาบันศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ

2. องค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อม มนุษย์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม ปัจจัยอะไรก็ตามที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จะกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วยองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งแวดล้อม ได้แก่

2.1 สภาพทางภูมิศาสตร์ ลักษณะภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดฤดูกาลแตกต่างกันและอุณหภูมิของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลโดยตรง สภาพภูมิศาสตร์บางแห่งเอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตบางอย่างเจริญเติบโตได้ดี เช่น ประเทศไทย ซึ่งอยู่บริเวณแถบศูนย์สูตร มีโรคเวชศาสตร์เขตร้อนนานาชนิดเกิดขึ้นกับประชาชน โรคเหล่านี้ ได้แก่ โรคพยาธิต่างๆ ไข้มาลาเรีย ซึ่งประเทศในเขตหนาวจะไม่ประสบกับปัญหาสุขภาพเหล่านี้ นอกจากนี้สภาพภูมิศาสตร์ ยังก่อให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น นํ้าท่วม แผ่นดินไหว พายุ ทำให้เกิดบาดเจ็บและตายเป็นจำนวนมาก

การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลทำให้บุคคลต้องปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมในแต่ละฤดูกาล ทำให้คนบางคนเกิดการเจ็บป่วยขึ้น เช่นในฤดูฝนประชาชนจะป่วยเป็นไข้หวัดกันมาก ในฤดูหนาวมักป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันมาก ส่วนฤดูร้อนทำให้ได้รับอันตรายจากการถูกสัตว์มีพิษกัด ต่อยหรืออุบัติเหตุจากการจมนํ้า

2.2 สภาพที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยหรือบ้านเป็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวคนมากที่สุด ลักษณะบ้านที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพคือมีการระบายอากาศได้ดี อยู่ห่างไกลจากแหล่งอุตสาหกรรม ไม่มีเสียงรบกวน มีการกำจัดขยะที่ถูกวิธี มีท่อระบายนํ้าและมีการระบายนํ้า ไม่มีน้ำท่วมขัง มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีนํ้าดื่มนํ้าใช้ที่สะอาด มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายและอาชญากรรม ใช้วัสดุก่อสร้างที่มีความคงทนถาวร ภายในบ้านได้รับการจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างเป็นระเบียบปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุ ได้รับการดูแลรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี มีสถานที่สำหรับอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่างๆ และมีความเป็นส่วนตัว สภาพบ้านที่ไม่ถูกสุขลักษณะจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ผู้อยู่อาศัยทั้งในด้านการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้จากความประมาท เช่นไฟไหม้ น้ำร้อนลวก การพลัดตก หกล้ม เป็นต้น

2.3 สภาพสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ทั้งทางนํ้า ทางเสียง ทางอากาศ และทางดิน ทำให้เกิดโรคหรืออันตรายแก่ชีวิตได้ เช่นน้ำที่ถูกปนเปีอนด้วยเชื้อโรคหรือสารพิษจะทำให้ผู้บริโภคเป็นโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่น บิด ไทฟอยด์ หรือได้รับสารพิษโดยตรง การได้ยินเสียงที่ดังมากๆ นานๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อม ความสามารถในการได้ยินลดลง การสูดอากาศหายใจที่มีแก๊สพิษ หรือสารพิษ ทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและเกิดการระคายเคืองของระบบหายใจ โดยเฉพาะสารตะกั่วที่อยู่ในบรรยากาศจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหลายประการ เช่น โลหิตจาง ระบบประสาทถูกทำลาย เป็นต้น การรับประทานอาหารซึ่งปลูกในดินที่มีสารพิษ ร่างกายก็จะเกิดโรคจากสารพิษเหล่านั้น ดินที่มีพยาธิ เช่น พยาธิปากขอ จะติดต่อมาสู่คนที่เหยียบย่ำไปบนดินโดยไม่สวมรองเท้าได้

สรุป

       มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นระบบเปิด การมีสุขภาพดีจะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน การเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ จะช่วยให้คนรู้จักปรับปรุงให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีที่สุด โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และมีส่วนร่วมในการดูแลและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตเพื่อการมีสุขภาพดีตลอดไป

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า