สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ทฤษฎีการเสริมแรงพฤติกรรม

ทฤษฎีความต้องการ-แรงขับ-สิ่งจูงใจ ได้ให้ความสำคัญแก่ความต้องการ และการลดความตึงเครียดที่เกิดจากความต้องการในการผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์ ทฤษฎีดังกล่าวนี้ต้องเผชิญกับปัญหาอย่างน้อยที่สุด 2 ปัญหา คือปัญหาความต้องการของมนุษย์มีอะไรบ้าง ยังหาคำตอบที่เป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่ายไม่ได้ และปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อว่า จุดมุ่งหมายของพฤติกรรมคือการลดความตึงเครียด ยังมีตัวอย่างพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับความเชื่อเช่นนี้ มีพฤติกรรมบางอย่างทำแล้วเพิ่มความตึงเครียด แต่คนก็อยากทำ เช่นการดูภาพยนตร์ที่หวาดเสียวน่ากลัว การไต่เขาที่เสี่ยงกับความตาย ฯลฯ พฤติกรรมบางอย่างก็หาได้เกิดจากความตึงเครียดไม่ เช่นการร้องเพลง การวาดภาพ การคิด การเล่าและการฟังนิทาน การละเล่น การท่องเที่ยว การหาความรู้ ฯลฯ

นักจิวิทยาหลายคนจึงได้หันมาให้ความสนใจกับสิ่งจูงใจให้เกิดพฤติกรรมมากกว่าความต้องการที่เป็นแรงขับให้เกิดพฤติกรรม แต่ เนื่องจากคำว่า สิ่งจูงใจ ได้มีความหมายผูกพันกับการสนองความต้องการ จึงน่าจะใช้คำที่มีความหมายเป็นกลางแทนคำที่มีความหมายเป็นกลางมากกว่า คือ แรงเสริม (Reinforcer) และการเสริมแรง (Reinforcement) ซึ่งหมายถึงการให้แรงเสริม

แรงเสริมคือสิ่งที่ทำให้พฤติกรรมหนึ่งๆ เกิดบ่อยครั้งมากขึ้น อะไรก็ตามที่ทำให้พฤติกรรมเกิดบ่อยขึ้นก็ถือว่าเป็นแรงเสริม เช่นการชมว่าเก่งเมื่อเด็กไหว้แล้ว พฤติกรรมการไหว้เกิดบ่อยครั้งขึ้น การชมว่าเก่งเป็นแรงเสริม การปลดตรวนพันธนาการออกจากนักโทษที่ประพฤติดี แล้วทำให้ประพฤติดีมากขึ้น การปลดตรวนพันธนาการก็เป็นแรงเสริม

สกินเนอร์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้วิเคราะห์ความหมายของแรงเสริม และผลของการให้แรงเสริมที่มีต่อพฤติกรรมอย่างละเอียดและกว้างขวาง การวิเคราะห์ของสกินเนอร์ทำให้มองเห็นอิทธิพลของการเสริมแรงในการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมได้อย่างชัดเจน (skinner, 1953) ทฤษฎีการเสริมแรงพัฒนาจาก กฎแห่งผลกรรม (Law of Effect) ซึ่งเป็นกฎของการเรียนรู้ที่เสนอโดยนักจิตวิทยาชาว

อเมริกันผู้ทรงอิทธิพลอีกคนหนึ่ง ชื่อ ธอร์นไดก์ (Thorndike, 1874-1949) ตามความคิดของ ธอร์นไดก์ พฤติกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นตามกฎของผลกรรม พฤติกรรมที่ยังผลเป็นที่พอใจแก่ผู้กระทำ พฤติกรรมนั้นย่อมเกิดขึ้นอีก และพฤติกรรมใดยังผลไม่เป็นที่พอใจแก่ผู้กระทำ พฤติกรรมนั้นย่อมหดหายไป เช่น เด็กเห็นโจทย์เลข 2 + 2 = ? และตอบว่า 4 แล้วครูชมว่าเก่งมาก เด็กก็จะเรียนรู้ว่า 2+2=4 ในทางกลับกัน เด็กที่ตีคนอื่นแล้วตนเองถูกแม่ตี ก็-จะไม่กล้าตีคนอื่นอีก (Thorndike, 1911)

การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ย่อมทำให้เกิดผลบางอย่างเสมอ ใช้เท้าเตะก้อนหิน ผลก็คือเท้าเจ็บ ใช้มือจิกผมของแม่ผลก็คือถูกแม่ตี นั่งทำการบ้านอย่างขะมักเขม้น ผลก็คือแม่แสดงความรักและความชื่นชม นำกระเช้าดอกไม้ไปอวยพรวันเกิดผู้บังคับบัญชา ผลก็คือได้รับ ความเมตตาเป็นพิเศษ ความสัมพันธ์ที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมและผลกรรม ผลกรรมหมายถึงผลที่เกิดจากการกระทำและสัมพันธ์กับพฤติกรรมเป็นเงื่อนไข “พฤติกรรมอย่างนี้ กระทำในสภาพการณ์เช่นนี้ จะได้รับผลกรรมอย่างนี้” เงื่อนไขดังกล่าวนี้ เรียกว่า เงื่อนไขผลกรรม เงื่อนไขผลกรรมบางอย่างธรรมชาติเป็นผู้กำหนด เช่นเตะก้อนหินแล้ว เท้าเจ็บ บางอย่างก็กำหนดโดยมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น ถ้าใช้มือจิกผมของแม่ก็จะถูกแม่ตี เงื่อนไข บางอย่างมนุษย์กำหนดโดยความจงใจและมีความชัดเจน เช่นระเบียบข้อบังคับต่างๆ ตลอดจนกฎหมายบ้านเมือง บางอย่างก็มิได้กำหนดอย่างชัดเจน แล้วแต่อารมณ์ เช่น เงื่อนไขการตีลูก เงื่อนไขการแสดงความรักต่อลูก ฯลฯ

มนุษย์เรียนรู้เงื่อนไขผลกรรมทั้งที่กำหนดโดยธรรมชาติ และกำหนดโดยมนุษย์ด้วยกันเอง เงื่อนไขบางอย่างเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ของตนเอง เช่นเตะก้อนหินเอง และรู้สึกเท้าเจ็บ ด้วยตนเอง บางอย่างเรียนรู้จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้อื่นและผลกรรมที่เกิดตามมา เช่นเห็นคนเอามือไปจับสายไฟฟ้าแล้วถูกไฟฟ้าช็อคตาย ก็เกิดการเรียนรู้ว่าการจับสายไฟฟ้าจะถูกไฟฟ้าช็อค และหลายอย่างเกิดจากคำบอกของพ่อแม่พี่น้อง ครูบาอาจารย์ตลอดจนสื่อมวลชนต่างๆ เช่นบอกว่าขยันเรียนหนังสือแล้วภายหน้าจะได้ดี ถ้าสูบเฮโรอีน จะเสพติดและมีผลต่อร่างกายและจิตใจ อย่างมหันต์ ฯลฯ

เพื่อความชัดเจนเราจะแยกเงื่อนไขผลกรรมออกเป็นเงื่อนไขการเสริมแรง (Contin­gency of Reinforcement) ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการให้ผลกรรมที่คนต้องการและ เงื่อนไขการลงโทษ (Contingency of Punishment) ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการให้ผลกรรมที่คนไม่ต้องการ

สิ่งที่ใช้เป็นแรงเสริมได้มีมากมาย เราอาจจะถือว่าสิ่งใดก็ตามที่สนองความต้องการของคนไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางกายหรือทางจิตใจ ล้วนเป็นแรงเสริมอาหาร น้ำ ความสราญใจ ความรัก คำชม อภิสิทธิ์ ทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ฯลฯ ล้วนเป็นแรงเสริมได้ทั้งนั้น แรงเสริมเหล่านี้ถือเป็นแรงเสริมทางบวก

สิ่งที่ใช้เป็นการลงโทษก็มีได้มากมาย การทำให้เจ็บ การทำให้เหม็น การดุ การประณาม การตัดสิทธิ์ การริบทรัพย์ การกักขัง ตลอดจนการประหารชีวิต ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นการลงโทษ และในการตรงกันข้าม การระงับหรืองดเว้นการลงโทษก็จะเป็นแรงเสริม แต่ถือ เป็นแรงเสริมทางลบ

สำหรับนิสิตมหาวิทยาลัย การสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาบัตร เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา การให้สำเร็จการศึกษาจึงเป็นการให้แรงเสริมอย่างหนึ่ง สถาบันการศึกษาต่างๆ จึงได้กำหนดเงื่อนไขของการให้สำเร็จการศึกษาเอาไว้ เช่นต้องสอบให้ได้หน่วยกิตสะสมเท่านั้นเท่านี้ หน่วยกิต ชำระเงินเท่านั้นเท่านี้ ได้แต้มเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้ จะต้องเรียนวิชานั้นวิชานี้ ถ้าจะเรียนวิชานี้จะต้องมาเรียนในวันนี้เวลานี้ห้องนี้กับอาจารย์คนนี้ และต้องมาสอบในวันนั้นวันนี้ ต้องตอบข้อสอบอย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้มีมากมาย และที่ไม่ได้เขียนเป็นระเบียบชัดเจนแต่อาจารย์แต่ละคนกำหนดขึ้นเองก็มีอีกมากมาย นิสิตที่ประสงค์จะสำเร็จการศึกษา ก็ต้องกระทำตามเงื่อนไขเหล่านี้ มิฉะนั้นก็จะไม่ได้รับปริญญา ซึ่งเป็นแรงเสริม ถ้าหากมหา­วิทยาลัยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเหล่านี้ พฤติกรรมของนิสิตก็จะเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป

การรับนิสิตนักศึกษาเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน การให้เข้าศึกษาเป็นสิ่งที่บุคคลจำนวนมากต้องการ ปัจจุบันเงื่อนไขในการเข้าคือต้องจบการศึกษาชั้นนั้นชั้นนี้ ต้องสอบคัดเลือกวิชานั้นวิชานี้ ผู้ประสงค์จะเข้ามหาวิทยาลัยก็จะปรับพฤติกรรมของตนเองให้เข้ากับเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ ลองคิดเอาเองก็ได้ว่าพฤฅิกรรมของเยาวชน ผู้ประสงค์จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร หากเรากำหนดว่าผู้ที่จะสมควรได้นั้นต้องมีหลักฐานมาแสดงว่า

(ก) เคยเป็นลูกเสือ หรือเนตรนารีมาก่อน

(ข) เคยร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมมาก่อน เช่นทำความสะอาดสถานสาธารณะ สอนหนังสือแก่เด็กสลัม ร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา ฯลฯ

นอกเหนือจากการเรียนจบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายและสอบคัดเลือกวิชาเฉพาะได้ผลเป็นที่พอใจ

ตัวอย่างการควบคุมพฤติกรรมด้วยเงื่อนไขการลงโทษก็มีอยู่มากมาย จาระไนไม่รู้จบสิ้น กฎหมายบ้านเมืองที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมก็เป็นเงื่อนไขการลงโทษเกือบทั้งสิ้น เช่นถ้าไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลายจะถูกปรับ ถ้าไม่เสียภาษีให้ครบถ้วนในเวลาที่กำหนดก็จะถูกลงโทษ ถ้าลักทรัพย์ผู้อื่นก็จะถูกลงโทษ ฯลฯ เงื่อนไขการลงโทษที่มิได้กำหนดเป็นกฎหมายแต่เป็นเพียงขนบธรรมเนียมประเพณีก็มี เช่น การประพฤติผิดประเพณีทางเพศก็จะได้รับการดูถูกเหยียดหยามหรือประณามได้

เนื่องจากการไม่ถูกลงโทษเป็นแรงเสริมทางลบ จึงถือว่าพฤติกรรมข้ามถนนตรงทางม้าลายได้รับแรงเสริมทางลบ พฤติกรรมการเสียภาษีได้รับแรงเสริมทางลบ และการไม่ลักทรัพย์ ก็ได้รับแรงเสริมทางลบ อย่างไรก็ดีการควบคุมพฤติกรรมด้วยเงื่อนไขการลงโทษมักประสบปัญหาเสมอ ที่สำคัญคือการลักลอบกระทำ การติดสินบน (ให้แรงเสริม) แก่ผู้ลงโทษ ตลอดจนการต่อต้านผู้ลงโทษ

การควบคุมพฤติกรรมโดยเงื่อนไขผลกรรมนี้ เดิมเชื่อกันว่าใช้ได้ผลเฉพาะพฤติกรรมเจตนาหรือพฤติกรรมมีผู้กระทำจงใจกระทำเท่านั้น และไม่น่าจะใช้ได้ผลกับพฤติกรรมที่อยู่นอกเหนือการบังคับของจิตใจ เช่นการเต้นของหัวใจเพื่อสูบฉีดโลหิตไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย การทำงานของต่อมต่างๆ และการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ไต ฯลฯ แต่ในระหว่างทศวรรษ 1960 ก็ได้มีผู้ค้นพบว่าพฤติกรรมเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของผลกรรมด้วย (Miller, 1969) หากการเต้นของหัวใจที่เร็วกว่าปกติได้รับแรงเสริม หัวใจก็จะเต้นเร็วขึ้น ผู้ที่รู้สึกโกรธแล้วได้รับแรงเสริมความรู้สึกโกรธก็จะเกิดบ่อยครั้งขึ้น คนที่มีอาการหน้าซีด มือเท้าอ่อนเมื่อถูกคนขัดใจ และอาการหน้าซีดนี้ หากทำให้คนอื่นเลิกขัดใจตนเองได้ พฤติกรรมหน้าซีดก็จะเกิดบ่อยครั้งขึ้น เพราะได้รับแรงเสริม และอาจจะพัฒนารุนแรงมากขึ้น จนถึงขั้นเป็นลมพับฐานเมื่อถูกขัดใจได้

สกินเนอร์ มีความเชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ถูกกำหนดโดยเงื่อนไข การเสริมแรงในสังคมนั้นๆ เช่นในเมืองไทย พฤติกรรมการเต้นอโกโก ตามบาร์และคลับยังคงมีอยู่ต่อไปเพราะคนดูให้แรงเสริม พฤติกรรมการแข่งม้ายังคงมีอยู่ต่อไปเพราะคนแทงม้าให้แรงเสริม พฤติกรรมผลิตและขายสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงมีต่อไปเพราะคนซื้อให้แรงเสริม การติดสินบนเจ้าหน้าที่ราชการยังคงมีต่อไปเพราะเจ้าหน้าที่และคนติดสินบนให้แรงเสริมซึ่งกันและกัน ฯลฯ เงื่อนไขการให้แรงเสริมทำนองนี้อาจพัฒนาถึงขั้นเป็นเงื่อนไขเอาเปรียบ ขูดรีด กดขี่ และทารุณ ซึ่งกันและกันในที่สุด สังคมบางแห่งจึงพยายามป้องกันโดยการมีกฎเกณฑ์ควบคุมให้เงื่อนไขเหล่านี้ อยู่ในทำนองคลองธรรม เช่น ห้ามค้าประเวณี ห้ามซื้อขายและใช้ทาส ห้ามรับและติดสินบน ฯลฯ หากฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษ

ตามทรรศนะของทฤษฎีการเสริมแรง พฤติกรรมของมนุษย์ถูกควบคุมโดยเงื่อนไข ผลกรรมทั้งที่เป็นผลกรรมทางบวกและผลกรรมทางลบ ตามทฤษฎีนี้ผลกรรมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ผลกรรมทางบวกเป็นแรงเสริมให้เกิดพฤติกรรม ผลกรรมทางลบเป็นแรงปรามไม่ให้ เกิดพฤติกรรม อย่างไรก็ดีทฤษฎีการเสริมแรงก็ประสพปัญหาเช่นเดียวกันกับความคิดเกี่ยวกับสิ่งจูงใจ นั่นคือผลกรรมเกิดทีหลังพฤติกรรม ผลกรรมจะเป็นเหตุของพฤติกรรมได้อย่างไร ทางออกในปัญหานี้ก็เช่นเดียวกันกับทางออกของความคิดเกี่ยวกับสิ่งจูงใจ กล่าวคือ เราสามารถอธิบายว่า คนเราเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมกับแรงเสริมต่างๆ ทั้งทางบวกและทางลบ ผลของการเรียนรู้ทำให้คนเราสามารถคาดหวังว่าพฤติกรรมอะไรจะทำให้ได้รับแรงเสริมอะไร ความคาดหวังที่จะได้รับแรงเสริมหนึ่งๆ เกิดก่อนที่จะกระทำพฤติกรรม จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมที่นำไปสู่แรงเสริมนั้น ดังนั้นจึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า ตามทฤษฎีการเสริมแรง ตัวการที่ทำให้เกิดพฤติกรรมคือแรงเสริม และถ้าจะพูดในแง่ของการผลักดันพฤติกรรมก็สามารถกล่าวได้ว่า ความคาดหวังที่จะได้รับแรงเสริมเป็นแรงผลักดันพฤติกรรม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า