สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเป็นหมัน

การเป็นหมัน

คือการที่คู่สมรสอยู่ด้วยกันมานานพอสมควรโดยไม่ได้คุมกำเนิด  แล้วฝ่ายหญิงยังไม่ตั้งครรภ์ ส่วนมากถือระยะเวลา ๑๒-๒๔ เดือน  ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอายุของฝ่ายหญิงด้วย

สาเหตุของการเป็นหมัน

ในคู่สมรสที่มาหาแพทย์ด้วยเรื่องเป็นหมัน แพทย์มักจะเพ่งเล็งไปที่ฝ่ายหญิง  เพราะว่าส่วนใหญ่ฝ่ายภรรยามักจะมาหาแพทย์ก่อน  แต่ความจริงปรากฎว่าประมาณ ๓๐℅ (๑ ใน ๓) หรือมากกว่า  มีสาเหตุจากทางฝ่ายชาย

เหตุการเป็นหมันทางฝ่ายชาย

๑.  มีการสร้างตัวอสุจิที่ผิดปกติ  การผิดปกตินั้นได้แก่ ไม่มีตัวอสุจิ  จำนวนตัวอสุจิน้อยกว่าปกติ  รูปร่างตัวอสุจิผิดปกติเป็นจำนวนมาก  ไม่มีการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ หรือมีการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิน้อยผิดธรรมดา  การผิดปกติเหล่านี้อาจมีเหตุมาจาก

ก.  การอักเสบ เช่น เป็นคางทูมแล้วมีการอักเสบที่ลูกอัณฑะ หรือการติดเชื้อหนองใน เป็นต้น

ข.  การกระทบกระเทือนบริเวณลูกอัณฑะ  ทำให้เกิดเป็นแผลบริเวณนั้น

ค.  การผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ  ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนบางอย่าง

ง.  ลูกอัณฑะมีภาวะหรือสิ่งแวดล้อมที่ผิดปกติ เช่น มีเส้นเลือดขอดเป็นจำนวนมาก มีน้ำในถุงลูกอัณฑะ หรือการใช้กางเกงในรัดเกินไป

จ.  สาเหตุทั่ว ๆ ไป เช่น ถูกแสงรังสีมากเกินไป  โรคภัยไข้เจ็บเรื้อรัง ขาดอาหาร โลหิตจาง ตลอดจนการติดยาเสพติด เหล้า หรือบุหรี่

ฉ.  สาเหตุเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่นว่าเกิดภูมิคุ้มกันในตัวเอง ย่อมทำให้มีการผิดปกติได้

๒.  มีการผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินของตัวอสุจิ  เช่น ท่อทางเดินของตัวอสุจิตีบหรือตัน  อาจจะเป็นมาแต่กำเนิดหรือภายหลังก็ตาม ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถเดินทางออกสู่ภายนอกได้

๓.  มีการผิดปกติในน้ำกาม  คือมีลักษณะการเป็นกรดด่างของน้ำกามผิดไป หรือส่วนประกอบของน้ำกามผิดปกติ  สิ่งเหล่านี้จะทำให้การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิไม่ดี  หรือตายได้

๔.  การผิดปกติในการหลั่งน้ำกามเข้าช่องคลอด  พวกที่พบว่าน้ำกามนั้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ  แต่ว่ามีน้ำกามเข้าไปในช่องคลอดไม่เพียงพอหรือน้อยมาก ซึ่งอาจเกิดจากท่าการร่วมสัมพันธุ์ทางเพศผิดปกติ  การหลังน้ำกามก่อนสอดใส่อวัยวะเพศชายเข้าช่องคลอด โรคไฮโปสแปดิแอส กามตายด้าน เป็นต้น

๕.  สาเหตุอื่น ๆ เช่นมีการร่วมสัมพันธุ์ทางเพศบ่อยเกินไป  การร่วมสัมพันธุ์ทางเพศก่อนหรือหลังวันตกไข่นานเกินไป มีอารมณ์ตึงเครียดหรือตรากตรำงานมาก  พวกนี้อาจมีผลทางอ้อม ทำให้เพลีย หลับง่าย หรือมีความรู้สึกทางเพศน้อยลง

เหตุการเป็นหมันของฝ่ายหญิง

๑. มีอวัยวะเพศพิการมาแต่กำเนิด คือมีอวัยวะเพศส่วนหนึ่งส่วนใดขาดไป เช่น การไม่มีช่องคลอดส่วนล่าง ไม่มีมดลูก ไม่มีท่อมดลูก หรือไม่มีรังไข่ เป็นต้น

๒. เหตุจากช่องคลอด

ก.  ช่องคลอดตีบหรือตัน อาจเกิดจากมีพังผืดกั้น ผนังกั้น ก้อนเนื้องอก ตลอดจนแผลเป็น  พวกเหล่านี้จะทำให้ไม่สามารถสอดใส่อวัยวะเพศของฝ่ายชายเข้าไปได้

ข.  การอักเสบจากแบคทีเรีย  เชื้อพยาธิ หรือเชื้อรา ทำให้เกิดการเจ็บปวด  และมีการเปลี่ยนแปลงของการเป็นกรดด่างของน้ำในช่องคลอด ทำให้ตัวอสุจิตายได้

ค.  มีการเจ็บปวดในการร่วมสัมพันธุ์ทางเพศ  อาจเกิดจากการตีบตัน อักเสบ ทำให้กลัวต่อการร่วมเพศ

๓.  เหตุจากคอมดลูก  เป็นเหตุที่พบได้ประมาณ ๒๐℅ อาจเป็นเหตุโดยตรงหรือทางอ้อมก็ตาม  เช่นเกี่ยวกับขนาดและตำแหน่งของมดลูก เนื้องอก การอักเสบ การตีบตัน ตลอดจนมีการผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน  ตัวอสุจิไม่สามารถเคลื่อนไหวผ่านมูกกั้นขึ้นไปได้

๔.  เหตุจากตัวมดลูกและเยื่อบุมดลูก ได้แก่

ก.  โรคเซลล์เยื่อบุมดลูกเกิดผิดที่  พบว่าเป็นสาเหตุของการเป็นหมันได้บ่อย ๒๕-๖๕℅  อาการสำคัญคือปวดประจำเดือนมาก

ข.  การทำงานของเยื่อบุมดลูกผิดปกติ  ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดฮอร์โมน อาจทำให้ไม่มีไข่ตกด้วย

ค.  เนื้องอกของมดลูก  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งของเนื้องอก

ง.  การอักเสบ  พบน้อยที่เป็นสาเหตุของการเป็นหมัน

เหตุเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นหมันเนื่องจาก

–        ไปขัดขวางการเดินทางของตัวอสุจิที่จะขึ้นไปพบกับไข่ที่ตก

–        เยื่อบุมดลูกไม่สมบูรณ์ ไม่เหมาะที่จะให้ไข่ที่ผสมแล้วฝังตัว

๕.  เหตุจากท่อมดลูก เป็นเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยถึง ๓๕℅ เกิดเนื่องจาก

ก.  การอักเสบและการติดเชื้อ  เป็นเหตุทำให้ท่อมดลูกตันที่พบคือติดเชื้อหนองใน วัณโรค การอักเสบหลังคลอด หรือขูดมดลูก ตลอดจนการอักเสบของอวัยวะใกล้เคียงในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ การอักเสบเหล่านี้ภายหลังจะทำให้เกิดพังผืดยึด เกิดการอุดตันที่ส่วนปลายของท่อมดลูก หรืออาจทำให้ท่อมดลูกคดงอ ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถเดินทางไปพบกับไข่ได้

ข.  มีก้อนเนื้องอกไปกดหรือดันทำให้ท่อมดลูกตีบ ไข่และตัวอสุจิเดินทางไม่สะดวก

ค.  ภาวะหดเกร็งของท่อมดลูก พวกนี้มักเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

๖.  เหตุจากต่อมไร้ท่อและรังไข่  ตามปกติการที่มีไข่ตกเกิดขึ้นได้  ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนที่สมดุลย์กันตั้งแต่ต่อไร้ท่อในสมองลงมาจนถึงรังไข่และเยื่อบุมดลูก  ถ้าเกิดการผิดปกติหรือไม่สมดุลย์กันที่ส่วนหนึ่งส่วนใด  จะทำให้ไม่มีไข่ตกได้ในรอบเดือน

การผิดปกติที่พบบ่อยและอาจเป็นสาเหตุของการเป็นหมันคือ

–        การไม่มีประจำเดือนจากเหตุใด ๆ ก็ตามที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์

–        ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์

–        มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่เพียงพอ

–        ต่อมธัยรอยด์ทำงานมากหรือน้อยเกินไป

–        มีการทำงานผิดปกติของต่อมหมวกไต

–        มีก้อนเนื้องอกที่ต่อมปิตูอิตารีย์กลีบหน้า

–        มีถุงน้ำของรังไข่หลายอัน

๗.  เหตุจากภูมิคุ้มกัน  จากการศึกษารายงานตามที่ต่าง ๆพบว่าคู่สมรสที่แต่งงานใหม่จะสามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน ๙ เดือนแรก ๗๐℅อีก ๑๐℅ ตั้งครรภ์ได้ภายใน ๒ ปี อีก ๑๐℅ ตั้งครรภ์ได้โดยได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และที่เหลืออีก ๑๐℅ นั้นเป็นหมัน  อาจเกิดจากฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงก็ตาม ๑ ใน ๔ ของจำนวนนี้เกิดเป็นหมันจากภาวะเข้ากันไม่ได้เนื่องจากภูมิคุ้มกัน  ซึ่งสรุปได้เป็น ๓ สาเหตุใหญ่ ๆ คือ

ก.  ภาวะเลือดเข้ากันไม่ได้ระหว่างสามีและภรรยา

ข.  การเกิดภูมิคุ้มกันในชาย

ค.  การมีภูมิคุ้มกันต่อตัวอสุจิของสามีในฝ่ายภรรยา อาจจะมีในมดลูก คอมดลูก ช่องคลอด ตลอดจนในกระแสโลหิต

สาเหตุเหล่านี้จะทำให้ตัวอสุจิเมื่อผ่านไปในบริเวณที่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น จะจับกลุ่มกันหรือเป็นอัมพาต  ไม่สามารถเดินทางขึ้นไปพบกับไข่ได้ ภูมิคุ้มกันนี้เกิดได้เช่นเดียวกับภูมิคุ้มกันโรคบางอย่าง จะไม่คงอยู่นาน  ถ้าไม่ได้รับการกระตุ้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ และจะไม่เกิดสำหรับทุกคน การเกิดนั้นจะขึ้นอยู่แต่ละบุคคลไป

๘.  เหตุเกี่ยวกับอารมณ์  อาจจะทำให้เกิดกามตายด้าน เจ็บปวดเวลามีการร่วมสัมพันธุ์ทางเพศ  ปัจจุบันนี้เชื่อว่าอาจทำให้เกิดภาวะหดเกร็งของท่อมดลูกได้

๙.  เหตุอื่น ๆ เช่น เป็นโรคภัยไข้เจ็บเรื้อรัง  ขาดอาหาร ตลอดจนการร่วมสัมพันธุ์ทางเพศก่อนหรือหลังวันไข่ตกนานเกินไป

การค้นหาสาเหตุ

ในด้านปฏิบัติ  ฝ่ายภรรยามักจะมาหาแพทย์ก่อน ก็เริ่มต้นตรวจทางฝ่ายภรรยาก่อน  แต่ถ้าเป็นไปได้แล้ว ควรตรวจทั้งสามีและภรรยาพร้อม ๆ กัน ถึงอย่างไรก็ตามในการซักถามและอธิบายต่อคนไข้ แพทย์จะต้องทำให้คนไข้มีศรัทธาและเป็นกันเอง  ไม่อายหมอ ไม่ซักถามในขณะที่มีผู้คนพลุกพล่าน  มิฉะนั้นอาจไม่ได้รายละเอียดที่ต้องการ คนไข้ก็เช่นกัน ควรจะเล่าความจริงให้แพทย์ฟังอย่าปิดบัง

ฝ่ายชาย

๑.  ประวัติการเจ็บไข้ในอดีต  ประวัติครอบครัว ต้องถามอย่างละเอียดถึงการเจ็บป่วยในอดีตมีอะไรบ้าง  โดยเฉพาะมีการอักเสบแถวบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ อาชีพ และประวัติการแต่งงานครั้งก่อนถ้ามี

๒.  การตรวจร่างกายทั่วไปและการตรวจอวัยวะสืบพันธุ์ควรตรวจอย่างละเอียด  โดยเฉพาะที่อวัยวะสืบพันธุ์ ดูรูปร่างลักษณะผิดปกติต่าง ๆ เช่น เส้นเลือดขอด ลูกอัณฑะเล็กผิดปกติหรือเปล่า อาจต้องตรวจทางทวารหนักดูต่อมลูกหมากด้วย

๓.  การตรวจทางห้องทดลอง  ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดวีดีอาร์แอล หมู่เลือด ตรวจหน้าที่ของต่อมธัยรอยด์ บางคราวอาจต้องหาจำนวนฮอร์โมนในปัสสาวะด้วย

๔.  การตรวจวิเคราะห์น้ำกามอย่างละเอียด

การเก็บ  นิยมเก็บโดยวิธีเอาออกเอง  เก็บในภาชนะแก้ว สะอาดแห้งและปากกว้าง ไม่นิยมใช้ถุงยาง จะทำให้การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิผิดปกติไป

–        ควรนำมาให้แพทย์ตรวจภายใน ๒ ชั่วโมง  นำมาในอุณหภูมิธรรมดา  ห้ามแช่เย็น

–        ควรงดการร่วมสัมพันธุ์ ทางเพศอย่างน้อย ๓-๕ วันก่อนเก็บตรวจ

ค่าปกติของน้ำกาม

ก.  การละลายเป็นของเหลว  เนื่องจากน้ำกามที่ออกมาครั้งแรกจะเป็นก้อนเหนียว ๆ เหมือนมูกเสมหะ  เมื่อปล่อยทิ้งไว้จะละลายเป็นของเหลวภายใน ๑๐-๓๐ นาที

ข.  ปริมาตรของน้ำกาม แต่ละครั้งประมาณ ๓-๕ ซีซี

ค.  ดูการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ  คนปกติภายใน ๒ ชั่วโมง แรกควรมีการเคลื่อนไว ๗๐-๘๐℅ ๔ ชั่วโมงควรมีการเคลื่อนไหว ๕๐℅  ถ้า ๖-๗ ชั่วโมงควรมีการเคลื่อนไหวอย่างน้อย ๒๕-๔๐℅

ง.  นับจำนวนตัวอสุจิ

ในคนปกติควรมีจำนวนตัวอสุจิ ๖๐-๒๐๐ ล้านตัว/ซีซี

ค่าต่ำสุดของคนปกติ ๔๐ ล้าน/ซีซี

ในคนที่มีบุตรยาก ๒๐-๔๐ ล้าน/ซีซี

ในคนเป็นหมัน ๐-๑๐ ล้าน/ซีซี

จ.  ดูจำนวนเม็ดเลือดขาวและเซลล์ในน้ำกาม  ปกติจะมีประมาณ ๕ แสน-๒ ล้านตัว/ซีซี  ถ้านับได้มากกว่า ๒ ล้าน/ซีซี  น่าจะมีการอักเสบที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อปัสสาวะ

ฉ.  ดูรูปร่างลักษณะของตัวอสุจิ  โดยนำไปย้อมสีดู การผิดปกติส่วนใหญ่มักเป็นที่หัว แต่ที่หางก็อาจพบได้ ในคนปกติพบรูปร่างลักษณะผิดปกติได้ประมาณ ๒๐-๓๐℅

๕.  การตัดเนื้อลูกอัณฑะไปตรวจ  ควรทำเมื่อการตรวจน้ำกามไม่พบตัวอสุจิ

    การที่จะตัดสินว่าเป็นปกติหรือไม่นั้น  ต้องรวมผลการตรวจทุกอย่างประกอบกัน  จะถือการผิดปกติของผลอันหนึ่งอันใดไม่ได้ ถ้าตรวจพบสิ่งผิดปกติ  ต้องทำการตรวจซ้ำในระยะห่างกันพอสมควร ๓ ครั้ง  จึงจะลงความเห็นว่าผิดปกติจริง

น.พ.เสบียง  ศรีวรรณบูรณ์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า