สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การติดสุรา

การติดสุรา

(Alcohol Dependence Syndrome)

การติดสุรา คือสภาวะทางจิตใจซึ่งมักจะร่วมกับร่างกาย อันเป็นผลมาจากการดื่มสุรา โดยแสดงลักษณะทางพฤติกรรม หรือการตอบสนองบางอย่าง ได้แก่ การอยากดื่มซ้ำแล้วซ้ำอีกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้จิตใจสบาย และบางทีเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่สบายกายจากการที่ไม่ได้ดื่มด้วย อาจมีการเพิ่มจำนวนสุราที่ดื่มขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่เพิ่มก็ได้

การดื่มสุราจัดเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงแก่สุขภาพ สังคม ครอบครัว อาชีพ หรือกฎหมายของผู้ดื่ม ซึ่งเป็นสภาวะที่รักษายากหรือรักษาไม่ค่อยหาย มักเลวลงเรื่อยๆ เรื้อรัง และเป็นแล้วเป็นอีก เราเรียกสภาวะนี้ว่า สภาวะเป็นพิษจากสุรา (Alcoholism)

สุรามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ethyl alcohol สูตรทางเคมีคือ C2H6O การผลิตมักเริ่มด้วยการหมักอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ถ้าหม่กจากแป้งจะผ่านขบวนการ ๓ ขั้นตอนก่อนจะเป็นแอลกอฮอล์คือ ๑) แป้งถูกย่อยเป็นน้ำตาลมอลโตล (maltose) โดยเอนไซม์ไดแอสเทส (diastase) ๒) น้ำตาลมอลโตสถูกย่อยโดยเอนไซม์มอลเตส (maltase) จากตัวยีสต์ (yeast) ไปเป็นน้ำตาลกลูโคส (glucose) และ ๓) น้ำตาลกลูโคสถูกเปลี่ยนเป็น ethyl alcohol โดยเอน­ไซม์ไซเมส (zymase) จากตัวยีสต์

สุราที่หมักจากแป้งหรือน้ำผลไม้เรียกว่าเบียร์หรือไวน์ ซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำ เพราะในระยะหนึ่งของการหมักยีสต์จะถูกทำลาย ทำให้ขบวนการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์หยุดชะงักลง ถ้าต้องการให้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์สูงขึ้นจะต้องนำเอามากลั่นอีกครั้ง สุราที่ได้จากการกลั่นแอลกอฮอล์นี้ ได้แก่ วิสกี้ บรั่นดี ยิน ว้อดก้า เหล้าสาเก และเหล้าโรง เป็นต้น

ประวัติการดื่มสุรา

กล่าวกันว่าสุรามีใช้ตั้งแต่สมัยหินเก่า (paleolithic- ๕๐๐,๐๐๐ ถึง ๑๐,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตศักราช) โดยทำจากการหมักน้ำผลไม้ และใช้เป็นเครื่องดื่ม นอกจากนี้สุรายังถูกนำมาใช้ในการแพทย์และในพิธีทางศาสนามาหลายพันปี มีประวัติว่าก่อนคริสตกาลบรรพบุรุษของศาสนาคริสต์ (Noah) ก็เคยดื่มเหล้าองุ่นจนเมา สมัยอียิปต์โบราณก็มีหลักฐานว่ามีการเมาเหล้า (องุ่น) กัน และเมื่อโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา (ค.ศ. ๑๔๙๒) ก็พบว่าอเมริกันอินเดียนก็มีเบียร์ดื่มกันแล้ว นอกจากหลักฐานการเมาสุรายังมีหลักฐานการเตือนเกี่ยวกับการดื่ม เช่นในสมัยจักรพรรดิเจ็งกิสข่าน กล่าวว่า ทหารไม่ควรดื่มบ่อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และจะดีถ้าไม่ดื่มเลย ในคัมภีร์เก่าของศาสนาคริสต์ก็ตำหนิการเมาสุรา แต่ไม่ได้ตำหนิการดื่มสุรา

ใน ค.ศ. ๘๐๐ มีการค้นพบการกลั่นสุราในอาระเบีย ซึ่งทำให้สุรามีความเข้มข้นขึ้น สุรากลั่นนี้แต่เดิมใช้ในทางการแพทย์ จนกระทั่งคริสตศตวรรษที่ ๑๗ จึงนำมาใช้ดื่มกันเพื่อความมึนเมา

พิษจากสุราเริ่มถูกจัดเป็นโรคโดย Benjamin Rush แพทย์ชาวอเมริกันและ Thomas Trotter แพทย์ชาวอังกฤษเมื่อ ค.ศ. ๑๘๑๑ แต่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในหมู่แพทย์ในครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ตลอดจนมีการเปิดสถาบันเพื่อรักษาปัญหานี้ และในกลางคริสตศตวรรษที่ ๒๐ รัฐบาลสหรัฐได้เริ่มส่งเสริมการทำวิจัยเกี่ยวกับการติดสุรา รวมทั้งออกเงินช่วยเหลือการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ด้วย

ระบาดวิทยา

อัตราการดื่มสุราของประชากรขึ้นกับวัฒนธรรมของแต่ละชาติชาวยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศสและอิตาลีนิยมดื่มสุรา (เหล่าองุ่น) แทนน้ำ และชาวอเมริกันกว่าครึ่งดื่มสุรา แต่ในวัฒนธรรมตะวันออกดื่มน้อยกว่า ทั้งยังขึ้นกับศาสนา เช่น ชาวยิวซึ่งนับถือศาสนาฮิบรูดื่มน้อยกว่าพวกแบ๊บติสท์ (Baptists) และศาสนาอิสลามห้ามดื่มสุราเด็ดขาด ถ้าฝ่าฝืนก็มีการลงโทษผู้ดื่มสุราในที่สาธารณะเพื่อประจานด้วย นอกจากนั้นยังขึ้นกับเพศ อายุ ระดับการศึกษา และฐานะทาง เศรษฐกิจ ตลอดจนภูมิลำเนา เช่น เพศชายมีอัตราการดื่มมากกว่าเพศหญิงสัดส่วนประมาณ๕:๑ อายุที่ดื่มกันมากคือ ระหว่าง ๓๐-๕๕ ปี มักเป็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมและการศึกษาสูง และเป็นคนที่อยู่ในเมืองใหญ่มากกว่าชนบทและเมืองเล็ก

อัตราการดื่มสุราตามปกติ (normal drinking) ดื่มหนัก ซึ่งหมายถึงดื่มเกือบทุกวัน และเมาหลายครั้งใน ๑ เดือน และการติดสุรา มักจะไปด้วยกัน เช่น เพศชายมีอัตราการดื่มสุรามากกว่าเพศหญิง และอัตราการดื่มหนักก็มากกว่าด้วย ชาวตะวันออกซึ่งดื่มสุราน้อยกว่าชาวอเมริกันและชาวยุโรป ก็ติดสุราน้อยกว่า อย่างไรก็ตามไม่เป็นเช่นนี้เสมอไป ตัวอย่างเช่น คนที่ดื่มสุรามักเป็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูงและการศึกษาสูง แต่คนที่ดื่มหนักกลับเป็นพวกที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำและระดับการศึกษาต่ำ

อันที่จริงแล้วการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการติดสุราในแต่ละประเทศยังทำกันไม่เพียงพอ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังไม่ได้ตกลงกันแน่นอนถึงนิยามของปัญหานี้ ในอเมริกาและยุโรปคาดว่า มีประมาณร้อยละ ๓-๕ ของผู้ชาย และร้อยละ ๐.๑-๑ ในผู้หญิง ในบางประเทศคาดคะเนอัตราการติดสุราตามอัตราการเป็นโรคตับแข็ง และตามอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลโรคจิตด้วยปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา ประเทศฝรั่งเศสมีอัตราการป่วยด้วยโรคตับแข็งสูงที่สุดในใลก และประเทศอิตาลีก็มีอัตรารองๆ ลงมา จึงคาดว่าประเทศฝรั่งเศสและอิตาลีมีอัตราการติดสุราสูงมาก ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับอาชีพกับการติดสุรา แต่ดูจากอัตราการเกิดโรคตับแข็งน่าจะแสดงว่าบุคคลบางอาชีพ เช่น นักผสมเหล้า นักดนฅรี และนักเขียน ติดสุรามากกว่าคนอาชีพอื่น

สาเหตุของการติดสุรา

๑. ปัจจัยทางกรรมพันธุ์

จากการศึกษาพันธุกรรมของคนที่ติดสุรา พบว่ามีอัตราสูงในระหว่างญาติของคนที่ติดสุรามากกว่าประชากรทั่วไป คือพบว่าประมาณร้อยละ ๒๕ ของบิดาและพี่น้องผู้ชายของผู้ติดสุรา จะติดสุราด้วย (Goodwin ค.ศ. ๑๙๗๑) ในคู่แฝดที่มีการติดสุราอย่างมากก็พบว่า แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ถ้าคนใคคนหนึ่งติดสุรา อีกคนจะมีโอกาสติดสุราร้อยละ ๕๐ แต่แฝดที่เกิดจากไข่คนละใบ ถ้าคนใดคนหนึ่งติดสุรา อีกคนจะมีโอกาสติดสุราด้วยในอัตราที่ต่ำกว่าและเท่าๆ กับอัตราที่เกิดกับพี่น้องของผู้ติดสุรา ยิ่งกว่านี้ยังพบว่าบุตรที่ขอมาเลี้ยงจากบิดามารดาที่ติดสุรา มีโอกาสติดสุราเป็น ๒ เท่าของบุตรที่ขอมาเลี้ยงจากบิดามารดาที่ไม่ติดสุรา และบุตรของผู้ที่ติดสุราแม้จะได้รับการเลี้ยงดูโดยคนที่ไม่ติดสุราก็มีโอกาสติดสุราได้เท่าๆ กับบุตรของคนที่ติดสุราซึ่งบิดามารดาเลี้ยงดูเอง (Goodwin และคณะ ค.ศ. ๑๙๗๓ และ ๑๙๗๔)

๒. ปัจจัยทางจิตใจ

จากการศึกษาครอบครัวของคนที่ติดสุราพบว่า คนพวกนี้มีประวัติกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่อายุน้อย โดยบิดามารดาถึงแก่กรรมหรือหย่าขาดจากกันบ่อยกว่าคนที่ไม่ติดสุรา ในบางประเทศ ครอบครัวใหญ่ๆ ที่บิดาอายุมากและมีลูกชายมากกว่าลูกสาว ก็พบมีอัตราการติดสุรามากกว่าประชากรทั่วไป ในผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและเริ่มต้นดื่มในวัยกลางคนอาจเป็นเพราะในวัยนี้เธอต้องเผชิญกับการจากไปของลูกๆ หรือความว้าเหว่ต่างๆ (Kolb ค.ศ. ๑๙๗๗)

การเลี้ยงดูในวัยเด็กก็พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสุรา พบว่าคนที่ติดสุราจะได้รับการเลี้ยงดูแบบปกป้องและตามใจมากเกินไป อันทำให้เด็กมีความต้องการทางปากมากหรือติดแน่นอยู่ใน “ระยะปาก” ของการพัฒนาทางบุคลิกภาพ นอกจากนั้นการที่มโนธรรม (super-ego) ของคนคนนั้นไม่มั่นคง เนื่องจากขาดผู้ที่จะเป็นแบบอย่างสำหรับการลอกเลียนบุคลิกลกษณะ ก็พบว่ามีส่วนต่อการติดสุราเช่นกัน (Kolb ค.ศ. ๑๙๗๗)

สุรามีฤทธิ์ลดความวิตกกังวลและความเศร้า เพราะฉะนั้นบุคคลที่มีปัญหาทางอารมณ์ดังกล่าวอาจถูกส่งเสริมให้ดื่มสุราบ่อย ๆ เนื่องจากความสบายใจทีได้รับขณะดื่ม นานเข้าก็เลยติดสุรา

บุคลิกภาพแปรปรวนบางแบบ เช่น บุคลิกภาพแบบอันธพาล (sociopathy) พบว่ามีอัตราการติดสุราสูง โดยเฉพาะในผู้ชาย (schuckit และคณะ ค.ศ. ๑๙๖๙) พวกที่มีบุคลิกภาพ แบบชอบพึ่งผู้อื่น (dependence) และแบบ passive-aggressive ก็มักติดสุราได้ง่าย (McCord และ McCord ค.ศ. ๑๙๖๒, Jones ค.ศ. ๑๙๖๘) ในผู้หญิงการติดสุราพบร่วมกับโรค Primary affective disorders มากกว่าในผู้ชาย และในขณะมีอารมณ์เศร้า บางคนจะดื่มมากขึ้น แต่บางคนดื่มน้อยลง (schuckit และคณะ ๑๙๖๙) นอกจากนั้นยังพบว่าการติดสุราอาจเป็นอาการแสดงของโรคจิตเภทบางแบบได้

๓. ปัจจัยทางสรีรวิทยา

๓.๑ สุราเมื่อสลายตัวจะเกิดสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า acetaldchyde ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมองโดยทำให้เกิดการติดยา (dependence) ร่วมกับการทนยา (tolerance) ขึ้น สมมฅิฐาน อันหนึ่งที่อธิบายคือ acetaldehyde จะแข่งขันกับ aldehyde ซึ่งเป็น neurotransmitter ในสมอง ทำให้ aldehyde สะสมและรวมกับ neurotransmitter ตัวสำคัญๆ กลายเป็นสารซึ่งคล้ายอนุพันธ์ บางอย่างของมอร์ฟีนและมีฤทธิ์เสพติด คำอธิบายอีกอย่างคือ acetaldehyde เองรวมตัวโดยตรง กับ amine เป็นอนุพันธ์ของ isoquinoline ซึ่งมีอิทธิพลต่อจิตใจ

๓.๒ สุรามีฤทธิ์ลดความวิตกกังวล ความตึงเครียด และความขมขื่นต่างๆ เนื่องจากสุราไปลดสารที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เหล่านี้ เพราะฉะนั้นคนที่มีปัญหาทางอารมณ์จึงต้องการสุราบ่อยขึ้น ๆ เพื่อช่วยให้จิตใจสบาย นอกจากนั้นการดื่มสุรายังช่วยป้องกันอาการขาดสุราที่เกิดจากการหยุดดื่มด้วย เช่น อาการวิตกกังวล อาการกระหายสุรา อาการอ่อนเพลีย มือสั่น เหงื่อแตก เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เป็นไข้ ใจสั่น ชัก ประสาทหลอน และเพ้อคลั่ง

๔. ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม

ในสหรัฐอเมริกามีผู้พบว่าเมื่อรายได้ของประชากรเพิ่มขึ้น จำนวนสุราที่ใช้ดื่มก็เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าในระยะที่คนเรามีปัญหาทางเศรษฐกิจระยะสั้นๆ ก็ใช้สุรามากขึ้นเช่นกัน สำหรับกรณีหลังพบในคนกลุ่มน้อยที่มีโอกาสเกิดปัญหาเก็่ยวกับสุขภาพกาย สุขภาพจิต และปัญหากฎหมายได้ง่าย ประเภทของสุราที่ใช้มักเป็นสุรากลั่น (Kolb ค.ศ. ๑๙๗๗)

ผลของสุราต่อสรีรวิทยาของร่างกาย

เมื่อดื่มสุราเข้าไปสุราเกือบทั้งหมดจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก แต่การดูดซึมที่ลำไส้เล็กจะเร็วและสมบูรณ์กว่าการดูดซึมที่กระเพาะอาหาร ดังจะเห็นได้จากการดื่มสุราในระหว่างรับประทานอาหารจะเมาช้าเพราะสุราถูกดูดซึมช้า อาหารที่ทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะช้าลงจะทำให้เมาสุราช้า เพราะสุราจะเข้าสู่ลำไส้เล็กและถูกดูดซึมช้าลง น้ำช่วยให้การดูดซึมสุราช้าลงเช่นกันเพราะทำให้แอลกอฮอล์เจือจางลง แต่น้ำโซดาทำให้การดูดซึมสุราเร็วขึ้น เพราะช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารทำให้สุราผ่านไปสู่ลำไส้เล็กได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการดื่มวิสกี้กับโซดาจะเมาเร็วกว่าดื่มวิสกี้กับน้ำเปล่า และแชมเปญก็ทำให้เมาเร็วกว่าเหล้าองุ่นซึ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์เท่ากัน

สุราที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปตามส่วนที่เป็นน้ำของร่างกาย เพราะฉะนั้นคนที่น้ำหนักมากซึ่งมีน้ำในร่างกายมาก จึงมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในร่างกายต่ำกว่าคนที่น้ำหนักน้อย ผู้หญิงมีไขมันมากกว่าผู้ชายและมีน้ำน้อยกว่า ดังนั้นหญิงและชายที่มีน้ำหนักเท่ากัน ถ้าดื่มสุราขนาดเท่ากัน หญิงจะมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในร่างกายมากกว่าผู้ชาย แอลกอฮอล์สามารถผ่านรก เพราะฉะนั้นทารกในครรภ์ที่แม่ดื่มสุราจะได้รับสุราด้วย และอาจได้รับสุราขนาดสูงจนเป็นอันตรายต่อชีวิตของทารกได้

แอลกอฮอล์จะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายโดยเอนไซม์ alcohol dehydrogenase และให้พลังงาน แต่แอลกอฮอล์ไม่ใช่อาหาร มันไม่ถูกเก็บสะสมในร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงไม่ทำให้อ้วน แอลกอฮอล์ถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายในอัตราที่ตายตัวและไม่เพิ่มอัตราตามความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด ดังนั้นถ้าดื่มจัดหรือดื่มเร็วเกินไปร่างกายจะขับออกไม่ทัน ทำให้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินไปจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

สุรามีผลต่อสรีรวิทยาของร่างกายรวมทั้งสมอง ถ้าดื่มจัดโดยเฉพาะดื่มจัดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดพยาธิสภาพแก่ร่างกายและการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม ได้แก่

๑. สุราทำให้การทำงานของสมองผิดปกติไป เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม เช่น ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ ฮึกเหิมมีความมั่นใจในตัวเองมาก ไม่เกรงกลัวสิ่งใดๆ และขาดความละอาย หลงลืม ขาดสมาธิ ขาดความสนใจสิ่งแวดล้อม และตัดสินใจผิด นอกจากนั้นยังมีผลต่อสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้การเดินผิดปกติ เสีย coordination และกดการทำงานโดยทั่วไปของสมองทำให้ความรู้สึกต่างๆ ลดลง จึงมีผู้ใช้สำหรับลดความเจ็บปวดและทำให้หลับ ในกรณีที่ดื่มมากๆ สุราจะกดศูนย์ควบคุมการหายใจที่สมองส่วน medulla ทำให้การหายใจหยุดและถึงตายได้

๒. สุราทำให้ปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำ เพราะสุราไปยับยั้งการหลั่ง antidiuretic hormone จากต่อม pituitary ทั้งยังดึงน้ำจากในเซลล์ออกนอกเซลล์ ทำให้ปริมาณน้ำในร่างกาย และในเซลล์น้อยลง

๓. สุราทำให้เกิดอาการ “hangover” ซึ่งประกอบด้วยอาการกระหายน้ำ ปั่นป่วนในกระเพาะอาหาร และปวดศีรษะ อาการกระหายน้ำเกิดจากสาเหตุในข้อ ๑ อาการปั่นป่วนใน

กระเพาะอาหารเกิดจากสุราไประคายเยื่อบุของกระเพาะ ส่วนอาการปวดศีรษะไม่น่าจะเกิดจากสุราโดยตรง แต่จาก congeners มากกว่า

๔. สุราอาจทำให้มีการตกเลือดอย่างเฉียบพลันของตับอ่อน ทำให้เกิดอาการอักเสบ ของกระเพาะอาหาร หรือเป็นแผลที่กระเพาะอาหาร และท้องเสีย เพราะฉะนั้นการย่อยอาหารและการดูดซึมอาหารจะเสียไป ยิ่งกว่านั้นสุรายังมีฤทธิ์ทำลายตับเนื่องจากมีการเพิ่มไขมันในตับ และทำให้เมตาบอลิสม์ต่างๆ ที่เกิดจากตับผิดปกติไป อันเป็นผลโดยตรงจาก metabolytes บางอย่าง ของสุราที่สะสมอยู่ที่ตับและจากการที่ตับถูกทำลาย ตัวอย่างของความผิดปกติในเมตาบอลิสม์อันหนึ่งคือ pyruvate แทนที่จะเปลี่ยนเป็น glucose ก็เปลี่ยนเป็น lactate เนื่องจากในตับมี hydrogen ซึ่งเป็น metabolite ของ alcohol มากเกินไป

๕. ไตถูกรบกวนจากสุราเช่นกัน ในคนที่ดื่มสุรามากอาจจะเกิด lactic acidosis อันเป็นผลจากระดับ hydrogen ในตับสูงเกินไป สภาวะนี้จะรบกวนการขับถ่าย uric acid ของไตทำให้ระดับ uric acid ในเลือดสูงและอาการของโรค gout กำเริบขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีการขับ magnesium ออกทางปัสสาวะมากทำให้ระดับ magnesium ในเลือดต่ำ

๖. สุรามีผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทำให้ขาดอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ของ ร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินบีโดยตรงคือสุราทำให้การดูดซึมอาหารและวิตามินต่างๆ เลวลง และโดยอ้อมคือ ผู้ที่ติดสุรามักไม่อยากรับประทานอาหาร เพราะแอลกอฮอล์มี แคลอรี่สูงอยู่แล้ว นอกจากนั้นการที่สุรารบกวนการทำงานของตับและไตก็ทำให้จำนวนสาร และแร่ธาตุบางอย่างในร่างกายผิดปกติไปด้วย

ลักษณะทางคลีนิคของการติดสุรา

ในตอนแรกผู้ดื่มทั่วไปมักจะดื่มเฉพาะตอนบ่าย ในวันหยุด และกับเพื่อน แต่เมื่อการทนสุราเพิ่มขึ้นเขาก็จะดื่มมากขึ้นและเพิ่มระยะเวลาที่ดื่มด้วย บางครั้งจะดื่มตามลำพังและมีการปิดบังแอบซ่อนขวดเหล้าหรือแอบดื่ม เพื่อไม่ให้คนรู้ว่าตนดื่มสุรา ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เขารู้สึกผิด เสียใจ วิตกกังวล และอาจมีอาการอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด ใจสั่น เจ็บหน้าอก และหายใจหอบ อันทำให้เขาดื่มมากขึ้นอีกเพื่อให้ความรู้สึกดังกล่าวหายไปชั่วคราว แต่เมื่อยิ่งดื่มก็ยิ่งเศร้าและกังวล เป็นวงจรอยู่เช่นนี้ ความรู้สึกเสียใจนี้อาจจะรุนแรงในตอนเช้า เมื่อเขาขาดสุราหลายๆ ชั่วโมง ทำให้เขาต้องดื่มในตอนเช้า หรือในระยะนี้ผู้บ่วยมักจะดื่มจัดจน เกิดอาการเมา (intoxication) ในตอนเย็นบ่อยๆ ทำให้เกิดอาการ hangover ในตอนเช้า และต้องดื่มซ้ำในตอนเช้าเพื่อให้อาการหมดไป จากนั้นก็จะดื่มเรื่อยๆ ไปตลอดวัน

ในระยะที่ดื่มติดต่อกันตลอดทั้งวัน ผู้ดื่มจะทำงานเลวลง ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และขาดงานบ่อยๆ จนอาจต้องออกจากงานหรือถูกไล่ออก เมื่อเขายังดื่มมากขึ้นๆ เนื่องจากการทนต่อสุรา (tolerance) เพิ่มขึ้น สุขภาพร่างกายของเขาก็จะเสื่อมลง โดยเฉพาะรายที่เวลาดื่มแลวไม่รับประทานอาหาร และปัญหาแทรกซ้อนต่างๆ ของสุราก็จะตามมา

คนที่ติดสุรามักจะเคยพยายามหยุดดื่ม และอาจหยุดดื่มได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่แล้วก็มักกลับมาดื่มอีกเป็นส่วนใหญ่ บางรายอาจจะพยายามหยุดหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดก็จะ รู้สึกหมดหวังเลยดื่มต่อไปเรื่อยๆ กว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์หรือจิตแพทย์ก็มักจะมีปัญหาแทรกซ้อนทั้งทางร่างกายและจิตใจมากมายจนยากที่จะแก้ไข

ปัญหาแทรกซ้อนของการติดสุรา

๑. ปัญหาสมรส พบว่าคนที่ติดสุรามีอัตราการแยกหรือหย่าร้างในชีวิตสมรสสูง โดยเฉพาะในวัฒนธรรมตะวันตก สำหรับคนไทยปัญหานี้อาจไม่มากเท่า เพราะหญิงไทยที่เป็นภรรยา ดูจะทนสภาวะนี้ได้ดีกว่าชาวตะวันตก แต่อย่างไรก็ตามพบว่าครอบครัวของคนที่ติดสุรามักขาดความสุข มีปัญหาความไม่ปรองดองระหว่างคู่สมรส และปัญหาสุขภาพจิตของบุตร

๒. ปัญหาเรื่องงาน ประสิทธิภาพการทำงานของคนที่ติดสุรามักต่ำลง เช่นทำงานช้า ไม่ละเอียดลออ และผิดพลาดง่าย ทั้งความรับผิดชอบในงานก็ลดลงด้วย ทำให้เป็นที่เพ่งเล็งของผู้ร่วมงานและผู้บังคับบัญชา เขามักไม่ได้รับการส่งสริมให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเท่าๆ คนอื่น และถ้าประสิทธิภาพของการทำงานต่ำลงมากๆ ก็อาจถูกไล่ออกจากงานด้วย

๓. ปัญหาอุบัติเหตุ ในประเทศตะวันตก โรคสุราเป็นพิษ (Alcoholic intoxication) เป็นสาเหตุของการตายและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่สำคัญ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีผู้

พบว่าคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์จำนวนมากมีแอลกอฮอล์ในเลือดลงกว่า ๐.๑ เปอร์เซ็นต์ จำนวนแอลกอฮอล์ในเลือด ๘๐ มิลลิกรัมต่อเลือด ๑๐๐ มิลลิลิตรจะทำให้การปรับสายตาต่อความมืดเสีย รวมทั้งการตัดสินใจเกี่ยวกับการแซง เกี่ยวกับการเข้าใจความหมายของสัญญาณไฟระวัง การเข้าใจสิ่งเร้าหลายๆ อย่างที่เข้ามาในขณะเดียวกัน และสมาธิในการขับรถนานๆ ก็จะเลวลงด้วย ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้นเมื่อจำนวนแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ระหว่าง ๕๐-๑๐๐ มิลลิกรัมต่อเลือด ๑๐๐ มิลลิลิตร และในระดับ ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อเลือด ๑๐๐ มิลลิลิตร อัตราการเกิดอุบัติเหตุ จะสูงเป็น ๑๐ เท่าของคนที่ไม่ดื่ม

๔. ปัญหาอาชญากรรม สมัยก่อนกล่าวกันว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่ก่ออาชญากรรมติดสุรา แต่ปัจจุบันพบว่าการติดสุราและอาชญากรรมมีสาเหตุทางสังคมและจิตวิทยาคล้ายๆ กัน พวกที่มีอารมณ์ไม่มั่นคงและพวกที่เข้ากับคนอื่นลำบาก จะแสดงลักษณะได้ทั้งการทำผิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่าและการติดสุรา เพราะฉะนั้นการติดสุราและอาชญากรรมจึงน่าจะมีสาเหตุเหมือนๆ กัน มากกว่าจะเป็นเหตุและผลของกันและกัน (Kolb ค.ศ. ๑๙๗๗)

๕. ปัญหาการฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายพบบ่อยในคนที่ติดสุรา ส่วนใหญ่ของคนพวกนี้มีอารมณ์เศร้าร่วมกับการติดสุรามานาน และมักจะฆ่าตัวตายหลังดื่มจัดอยู่หลายสัปดาห์ หลังการพยายามฆ่าตัวตายหลายคนจะเศร้า รู้สึกผิด หรือรู้สึกละอายน้อยลง จากการศึกษาของ Barra- clough และคณะ (ค.ศ. ๑๙๗๔) พบว่าร้อยละ ๘๐ ของคนพวกนี้จะดื่มจัดจนกระทั่งเกิดปัญหาทางร่างกาย จิตใจ และหมดความสามารถทางสังคม ร้อยละ ๙๓ จะมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณของการดื่มในระยะใกล้ๆ กับการพยายามฆ่าตัวตาย คือดื่มมากขึ้นหรือน้อยลง และร้อยละ ๘๗ ดื่มจัดมานานระหว่าง ๑๐-๓๙ ปี

๖. ปัญหาสุขภาพ  เนื่องจากสุรามีผลโดยตรงต่อการทำงานของร่างกาย จึงอาจเกิดความผิดปกติได้ถ้าดื่มจัดหรือดื่มจัดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสุราแบ่ง

ได้เป็น ๓ พวกคือ

๖.๑ ผลเฉียบพลันที่เกิดจากการดื่มหนัก ได้แก่

ก. การตาย การดื่มสุราจัดมากๆ อาจทำให้ตายได้ เพราะสุรากดศูนย์หายใจที่สมองส่วน medulla

ข. Acute hemorrhagic pancreatitis

๖.๒ ผลเรื้อรังที่เกิดจากการดื่มหนักเป็นระยะเวลานาน

ก. กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) และท้องเสียพบได้บ่อย แต่รักษาหายได้

ข. โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)

ค. โรคของตับ เช่นตับอักเสบ (Hepatitis) ตับแข็ง (cirrhosis)

ง. โรคของระบบประสาท ได้แก่ Wernike-Korsakov’s syndrome, Peripheral neuropathy, Retrobulbar neuropathy และ Anterior lobe cerebellar degeneration ในจำพวกโรกดังกล่าว peripheral neuropathy พบบ่อยที่สุด เกิดจากการขาดวิตามินหลายตัว และมักจะรักษาหายถ้าได้รับอาหารพอเพียง สำหรับ Wernicke-Korsakov’s syndrome เป็นผลมาจากการขาดวิตามินบี B (thiamine)

จ. โรคของกล้ามเนื้อ ได้แก่ Cardiomyopathy, Myopathx

ฉ. โรคของโลหิต ได้แก่ thrombocytopenia, anemia

ช. โรคอื่น ๆ ได้แก่ ความดันโลหิฅสูงชนิดที่ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงง่าย และวัณโรคปอด

๖.๓ ผลที่เกิดจากการหยุดดื่มสุรา การดื่มจัดเป็นระยะเวลานานๆ เมื่อหยุดดื่มมัก จะมีอาการของการขาดสุรา เช่นโรค Delirium tremens ซึ่งมักจะเกิดใน ๒-๓ วัน หลังหยุดดื่ม และหายไปภายใน ๑-๕ วัน กับโรค Alcoholic hallucinosis.. .ซึ่งมักจะเกิดหลังจากอาการขาดสุราอื่นๆ หายดีหมดแล้ว

การวินิจฉัยและการวินิจฉัยแยกโรค

การวินิจฉัยการติดสุรานั้นไม่ยาก เพราะมักจะวินิจฉัยได้ตั้งแต่ซักประวัติแล้ว แต่ที่เป็นปัญหาคือการวินิจฉัยอาการที่เกิดร่วมกับสุรา เช่น

๑. ถ้าผู้ป่วยดื่มสุราจัดและไม่รับประทานอาหารก็อาจเกิดสภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ได้ง่าย ซึ่งมีลักษณะคล้ายอาการขาดสุรา

๒. คนที่ดื่มสุราจัดมักมีปัญหาเกี่ยวกับตับ ได้แก่ตับอักเสบ (Alcoholic hepatitis) ตับแข็ง (cirrhosis) และการทำงานของตับล้มเหลว (Hepatic failure) สภาวะหลังอาจให้อาการคล้ายโรคทางสมองจากพิษของสุรา ที่เรียก Delerium tremens

๓. ผู้ป่วยที่ดื่มสุราจัดนานๆ อาจเกิดโรค Alcoholic hallucinosis ซึ่งมีอาการคล้ายโรคจิตเภทแบบหวาดระแวง ทำให้แยกยากเพราะผู้ป่วยโรคจิตเภทบางคนอาจไม่แสดงอาการ นอกจากจะถูกกระตุ้นด้วยสุรา

๔. ในคนติดสุราที่อายุมากๆ (เกิน ๖๐ ปี) ถ้ามีการเสื่อมของเชาน์ปัญญาเนื่องจากพิษของสุรา จะเป็นปัญหาในการแยกจากโรคหลงในวัยชรา (senile dementia) และโรค Cerebral artereosclerosis

นอกจากนั้นคนที่ติดสุรามักจะใช้หรือติดยาอย่างอื่นด้วย เช่น barbiturates, ampheta­mines ฯลฯ ซึ่งอาจจะแยกได้ยากว่าอาการนั้นเกิดจากสุราหรือจากยาอื่น

การรักษา

การรักษาปัญหาการติดสุรา ต้องรักษา ๒ สภาวะ

๑. รักษาสภาวะขาดสุรา คือการรักษาอาการขาดสุราซึ่งมักจะเกิดอยู่เพียงไม่กี่วัน ได้แก่ อาการนอนไม่หลับ หงุดหงิด กระสับกระส่าย และอาการสั่น เป็นต้น โดย

ก. ยา เพื่อลดอาการสั่น หงุดหงิด และนอนไม่หลับ ปัจจุบันนิยมใช้ยากล่อมประสาทอย่างอ่อนได้แก่ ยากลุ่มbenzodiazepines เช่น diazepam และ chlordiazepoxide ทั้งนี้ เพราะยาจำพวกนี้เสริมฤทธิ์กับสุราน้อยกว่าพวก barbiturates และ paraldehyde ทั้งยังมีโอกาสเสพติดน้อยกว่าด้วย สำหรับยารักษาโรคจิต (antipsychotics) มีหลักฐานบางอย่างแสดงว่าอาจเป็นอันตรายถึงตายจากความดันโลหิตต่ำและ Hepatic encephalopathy

ข. วิตามินในขนาดสูง โดยเฉพาะวิตามินบี เพื่อป้องกัน Peripheral neuropathy และ Wernicke-Korsakov’s syndrome

ค. น้ำ การให้น้ำทางเส้นโลหิตดำ อาจไม่จำเป็นทุกราย ให้เฉพาะรายที่มีอาการแสดงของการขาดน้ำ หรือรายที่อาเจียนหรือท้องเสีย

ง. ระยะแรกๆ ที่หยุดสุราผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจหอบ (hyperventilation) ทำให้เกิด respiratory alkalosis และมี hypomagnesemia ร่วมด้วย ซึ่งมีผู้รายงานว่าทำให้เกิดอาการ ชัก ในรายที่มีประวัติการชักเวลาหยุดสุราอาจต้องให้ diphenylhydantion (Dilantin) แม้จะไม่มีหลักฐานว่าป้องกันการชักจากการขาดสุราได้

จ. ถ้ามีอาการ delirium อาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเองและผู้อื่น จำเป็นต้องรีบรักษา หรือรับไว้ในโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยสงบโดยยากล่อมประสาท และในบางกรณีอาจจำเป็นต้องจับมัด แต่ที่สำคัญกว่าคือถ้ามีอาการ delirium จำเป็นต้องตรวจร่างกายใหม่ เพื่อแยกโรคทางกายที่ร้ายแรงออกไปก่อน

ฉ. รักษาปัญหาแทรกซ้อนทางกาย ที่พบบ่อยคือโรคปอคบวม(pneumonia) ตับอักเสบ และโรคขาดอาหาร

๒. รักษาการติดสุรา เริ่มเมื่ออาการขาดสุราหมดไปแล้ว การรักษาสภาวะนี้จำเป็นต้องตั้งเป้าหมาย

ก. ให้หยุดดื่มตลอดไป การให้ผู้ป่วยหยุดดื่มตลอดไป หรือหยุดดื่มเป็นระยะเวลานานๆ นั้นเป็นเรื่องยากมาก และในปัจจุบันยังนับว่าล้มเหลว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหยุดดื่มได้ชั่วระยะเวลาไม่นานแล้วก็กลับไปดื่มอีก เป็นเช่นนี้หลายครั้งจนผู้ป่วยเองก็สิ้นหวังที่จะหาย และแพทย์ผู้รักษาเองก็โกรธและเบื่อที่จะดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ การรักษาในปัจจุบันที่ทำกันมีหลายวิธี แต่ยังไม่พบว่าวิธีใดจะได้ผลดีหรือดีกว่ากัน ได้แก่

๑. จิตบำบัด

๒. การให้ยากล่อมประสาทและยาแก้อารมณ์เศร้า

๓. พฤติกรรมบำบัด ชนิด Aversive conditioning โดยใช้ apomorphine, succinyl- choline, disulfiram (Antabuse) หรือการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าให้เจ็บร่วมกับการดื่มสุรา

๔. การเข้าร่วมประชุมกลุ่มผู้ติดสุรา เป็นวิธีการหนึ่งที่แพทย์สนับสนุนผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา กลุ่มผู้ติดสุรานี้เรียกว่า Alcoholic Anonymous หรือ AA

ข. การรักษาปัญหาทางจิตเวชที่เกิดร่วมกับการติดสุรา เช่น Alcoholic jealousy, Korsakovs psychosis, Alcoholic dementia เป็นต้น

การพยากรณ์โรค

ส่วนใหญ่การพยากรณ์โรคไม่ดี ผู้ป่วยมักจะเลิกดื่มได้ชั่วระยะหนึ่งแล้วกลับไปดื่มอีก ในปัจจุบันยังไม่มีคำนิยามที่แน่นอนของการ “หาย” จากการติดสุรา โดยทั่วไปถือว่าต้องหยุดดื่มตลอดไป การดื่มบ้างเป็นครั้งเป็นคราวก็ยังไม่ถือว่าหาย เพราะฉะนั้นจึงหาคนที่จะหายจากสภาวะนี้ได้ยาก อย่างไรก็ดีถ้าจะอนุโลมให้การดื่มเป็นครั้งเป็นคราวถือว่าหายก็ยังเป็นเรื่องที่กล่าวได้ลำบาก เพราะผู้ติดสุราส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นการติดสุราใหม่ด้วยการดื่มทีละน้อยเป็นครั้ง

เป็นคราว ดังนั้นไม่ว่าจะให้คำนิยามของการ “หาย” อย่างใด โรคนี้ก็ยังคงมีการพยากรณ์โรคซึ่งไม่สู้ดีอยู่นั่นเอง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า