สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Satisfaction of Neurotic Needs

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 23 เรียกว่า Satisfaction of Neurotic Needs
หมายถึงการหาทางตอบสนอง Neurotic Needs

จริงอยู่การตอบสนอง Neurotic Needs นี้ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามอุดมคติของการทำจิตบำบัด แต่เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า การทำจิตบำบัดชั้นสูงนั้น ไม่สามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยทุกคนได้

ในกรณีที่ไม่อาจใช้จิตบำบัดชั้นสูง จะเป็นด้วยสาเหตุอย่างไรก็ตาม จิตบำบัดที่ตอบสนอง Neurotic Needs นี้ ก็ยังสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ และถือว่าเป็น Palliative Treatment

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยหญิงที่มีความหวาดกลัวและว้าเหว่มาก เป็นมาตั้งแต่เล็กๆ เมื่อแต่งงานแล้วผู้ป่วยเรียกร้องจะเอาความรักความอบอุ่น และการเอาใจใส่จากสามีมากเกินกว่าที่ควร ทั้งนี้ ก็เพราะว่าผู้ป่วยเรียกร้อง “สิ่งที่ขาด” และ “ที่ควรจะได้รับ” จากบิดามารดา เมื่อผู้ป่วยยังเป็นเด็กอยู่ แต่ว่าการเรียกร้องของผู้ป่วยนั้นมากมายเกินกว่าที่สามีจะให้ได้ หรือ “ทน” ได้ เมื่อไม่ได้ผู้ป่วยก็มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช ในกรณีอย่างนี้ ถ้าไม่สามารถรักษาผู้ป่วยด้วยจิตบำบัดชั้นสูง สามีก็มีทางเลือกอยู่สองทาง คือ แยกทาง หรือหย่าขาด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะวิกฤต และอาการจะเลวลงจนอาจเป็นอันตรายได้ อย่างที่สองถ้าสามียังต้องการที่จะร่วมชีวิตกับภรรยาต่อไป สามีก็จะต้องยินยอมตอบสนองความต้องการของภรรยา ซึ่งหมายความว่า จะต้องใช้ “ความอดทน” เพิ่มขึ้น และถ้าทำได้ทุกอย่างก็จะอยู่ในสภาวะที่ดีขึ้น

ตัวอย่างที่ 2 คือ ถ้าผู้ป่วยเป็นคนขาดความมั่นใจในตนเอง หรือ Insecure และเป็นคนอ่อนไหวง่ายมาก เมื่อถูกตำหนิติเตียน และไม่สามารถรับการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูงได้ ในผู้ป่วยประเภทนี้ แพทย์จะต้องแนะนำญาติและผู้เกี่ยวข้องให้คอยให้กำลังใจเสมอ อย่าติเตียนถ้าไม่มีเหตุเกินความจำเป็น ถ้าทำอย่างนี้ได้ บุคคลประเภทนี้มักจะพอทนอยู่ในสังคมได้ โดยไม่ถึงกับเจ็บป่วย

ตัวอย่างที่ 3 ได้แก่ ผู้ป่วยที่มี Neurotic Needs ในเรื่องเงินมาก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “งกเงิน” มาก ถ้ามีปัญหาเรื่องการเงินแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยหัวเสีย และเกิดอาการของโรคต่างๆ ขึ้น ผู้เขียนมีคนไข้คนหนึ่ง เป็นหญิงวัยกลางคน ทุกครั้งที่ลูกๆ ได้รับเงินเดือน ต้องแบ่งให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเสมอ มีอยู่คราวหนึ่ง ลูกคนโตมีความจำเป็นต้องใช้เงินมาก จึงให้ผู้ป่วยน้อยลงกว่าเดิม ผู้ป่วยโกรธแค้นมาก ถึงกับจะตัดขาดแม่ลูกกัน แล้วก็เกิดอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หงุดหงิด ปวดศีรษะตลอดเวลา ผู้เขียนจึงแนะนำลูกคนนั้นว่า “เห็นทีที่คุณจะต้องหาเงินมาให้คุณแม่ของคุณจำนวนเท่าเดิม มิฉะนั้นก็เห็นจะไม่มีทางหาย คุณอาจจะต้องยืมจากเพื่อนฝูงก่อนก็ได้” เมื่อลูกชายคนนั้นปฏิบัติตามที่แนะนำ ผู้ป่วยหายจากโรคภายในเวลาไม่ถึง 2 วัน สำหรับเหตุผลที่ว่า ทำไมคนบางคนจึง “งกเงิน” มากเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาถึง Psychodynamic ของคนไข้แต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกัน และแพทย์ฝ่าย กายคงจะไม่สามารถทำได้

ตัวอย่างที่ 4 ได้แก่ ภรรยาที่มีสามีเป็นโรคประสาท แต่ภรรยาเป็นคนฉลาด ยอมให้สามีได้แสดงความ “ยิ่งใหญ่” ในบ้าน เพราะว่าเมื่อออกนอกบ้าน หรืออยู่ในที่ทำงาน สามีไม่มีทางทำได้เลย และจะแสดงความ “ยิ่งใหญ่” กับคนอื่นก็ไม่ได้ การที่ภรรยายินยอมเช่นนี้เป็นการสร้างความภูมิใจให้กับสามี และทำให้ชีวิตครอบครัวเป็นปกติสุข

ตัวอย่างที่ 5 ได้แก่ ในกรณีที่ผู้ป่วยถูก Superego ลงโทษ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าได้กระทำผิดและต้องการลงโทษตัวเอง ความรู้สึกอันนี้ส่วนมากจะอยู่ในระดับ “จิตไร้สำนึก” ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นเพราะว่าผู้ป่วยได้กระทำผิดจริงๆ หรือเป็นเพราะว่า Superego เกรี้ยวกราดหยาบกระด้างเกินไปก็ได้ จากประสบการณ์เราพบว่า ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกผิดเช่นนี้ ถ้าแพทย์แสดงความเมตตา กรุณา เหมือนเห็นใจคนไข้แล้ว ผลของการรักษามักจะไม่ดี แต่ถ้าแพทย์เป็นคนมั่นคง มีลักษณะเป็น Authority และมีท่าทีในเชิงบังคับ หรือลงโทษนิดหน่อย แล้ว การรักษาจะได้ผลดีกว่า ทั้งนี้เพราะว่า เป็นการตอบสนองความต้องการที่อยากถูกลงโทษ

แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ฝ่ายกายจะต้องระมัดระวังให้ดี ก่อนที่จะแสดงความเป็น Authority และใช้ท่าทีเป็นเชิงบังคับหรือลงโทษนิดหน่อย เหตุผลประการแรก คือ แพทย์ อาจจะไม่สามารถตัดสินได้ว่า คนไข้คนไหนต้องการได้รับการลงโทษ ประการที่สอง คือ คนไข้บางคน ถึงแม้ว่าจะต้องการการถูกลงโทษก็ตาม แต่ก็มีรู้สึกต่อต้านการถูกลงโทษ และ Authority ด้วย นอกจากนี้แพทย์ฝ่ายกายบางคน อาจมีความก้าวร้าว หรือ Aggressive Drive สูง จึง “ถือโอกาส” ใช้วิธีลงโทษ เป็นการตอบสนองความต้องการของแพทย์เองไปในตัว เพราะฉะนั้น การที่จะใช้จิตบำบัดเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ ต้องกระทำด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง วิธีที่อยากจะแนะนำ คือ ให้ใช้ความสุภาพอ่อนโยนก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็ลองใช้ความเป็น Authority ภายหลัง

ตัวอย่างที่ 6 เป็นตัวอย่างการตอบสนองความต้องการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Neurotic Needs โดยตรง แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญในการทำให้เกิดเจ็บป่วยขึ้น เช่น ความต้องการทางเพศที่ผิดปกติ หรือ Sexual Perversion ที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้

ในกรณีเช่นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้รักษาที่จะต้องช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รบความสุขความสบายเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวยให้ แพทย์ผู้รักษาจะต้องแสดงให้ผู้ป่วยทราบว่า ถึงแม้จะมีความผิดปกติทางเพศ แต่ก็ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง ยังสามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยมีความสุขตามอัตภาพและสามารถที่จะพูดกับแพทย์หรือผู้รักษาได้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ต้องหวาดกลัว หรือถูกตำหนิติเตียน และแพทย์ผู้รักษาจะเก็บความลับของผู้ป่วยไว้ด้วยคือ Confidential นอกจากนี้ แพทย์อาจจะต้องคอยหาทางป้องกันพฤติกรรมทางเพศบางอย่าง ที่จะทำให้ผู้ป่วย และสังคมเดือดร้อน เช่น การหลอกเล้าโลมเด็กเล็กๆ การเที่ยวอวดโชว์อวัยวะเพศ หรือ Open Exhibitionism เป็นต้น ส่วนพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและสังคมมาก เช่น รักร่วมเพศ โดยมีความยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย แพทย์จะไม่แตะต้อง

ตัวอย่างที่ 7 ได้แก่ในกรณีที่ Dependency Need สูง และไม่สามารถรับการรักษา โดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูงได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเป็นชาย ต้องพึ่งพี่สาวมาตั้งแต่เล็กๆ ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยลำแข้งของตนเองได้ ต่อมาพี่สาวเกิดถึงแก่กรรมลง ชายคนนี้จึงหมดที่พึ่งและสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ต่อมาจึงเกิดอาการของโรคจิตเวชขึ้น ถ้าไม่สามารถช่วยผู้ป่วยโดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูงได้ แพทย์ผู้รักษาก็จะต้องหาที่พึ่งใหม่ให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งเรียกว่า Replacement Therapy

ขอเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่งว่า จิตบำบัดชนิดนี้ จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถทำจิตบำบัดชั้นสูงได้เท่านั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า Second best Technique นอกจากนี้จิตบำบัดชนิดนี้ ยังเป็นการทำให้คนไข้ไม่สามารถเป็น “อิสระ” จากการที่เขาป่วยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่สามารถทำจิตบำบัดชั้นสูง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จิตบำบัด ชนิดนี้ก็ยังนับว่ามีประโยชน์ และสมควรนำมาใช้เมื่อมีความจำเป็น

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า