สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Satisfaction of Frustrated Basic Needs

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 22 เรียกว่า Satisfaction of Frustrated Basic Needs
คนเรานั้น มีความต้องการขั้นมูลฐานหลายอย่าง เช่น ต้องการความมั่นคงทางจิตใจ ต้องการรักผู้อื่นและต้องการให้ผู้อื่นรัก ต้องการอิสรภาพ ต้องการทางเพศ ฯลฯ เมื่อผิดหวัง ไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นมูลฐานเหล่านี้มากๆ ย่อมจะทำให้เกิดโรคจิตเวชได้ และจิตบำบัดชั้นต้นชนิดนี้ ก็คือหาทางให้คนไข้ได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นมูลฐานเหล่านี้เท่าที่จะทำได้ โดยไม่เป็นที่เดือดร้อนของผู้ใด

ได้เคยเรียนให้ทราบมาแล้วว่า โรคจิตเวชมักจะมีสาเหตุจาก “สิ่งแวดล้อมภายนอก” เป็นตัวกระตุ้น (Precipitating Factors) รวมกับ “สิ่งแวดล้อมภายใน” ซึ่งได้แก่ บุคลิกภาพ และ Psychic Conflicts ของคนไข้ “สิ่งแวดล้อมภายนอก” ได้แก่ การสูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียบุคคลที่รักหรือของรัก ประสบความล้มเหลวในการงาน การครองชีพ ชีวิตครอบครัว มีความบีบคั้นทางจิตใจอย่างรุนแรง ฯลฯ นอกจากนี้ “สิ่งแวดล้อมภายนอก” ยังสามารถทำให้เกิดความผิดหวัง ไม่ได้รับการตอบสนองของ Basic Needs ต่างๆ อีกด้วย ทำให้เกิดอาการของโรคจิตเวชขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น เด็กวัยรุ่นที่บิดามารดาทอดทิ้ง ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ เด็กก็จะขาดความรัก ความอบอุ่น ความมั่นคงทางจิตใจ นานเข้าก็อาจป่วยได้ ตัวอย่างที่สอง ได้แก่ ผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว บังเอิญโชคไม่ดีที่มีภรรยา ซึ่งเรียกร้องจะเอาทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่เคยทำอะไรตอบแทนให้สามีมีความสุข ความสบายใจเลย และชายคนนี้ก็ไม่สามารถหาสิ่งชดเชยใดๆ ได้ นานเข้าก็อาจจะป่วยได้ เพราะว่าไม่มีผู้ใดจะทนต่อการเป็นผู้ให้ โดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอะไรเลยตลอดเวลา

มนุษย์เราทุกคนนั้น มี Basic Needs ที่สำคัญ คือ ความมั่นคงทางจิตใจ ต้องการให้ผู้อื่นรู้จัก ต้องการได้รับความรัก สามารถรักผู้อื่นได้ ต้องการมีพฤติกรรมที่ตนชอบ ต้องการการพักผ่อน ต้องการความบันเทิงใจ ต้องการทางเพศ บางครั้งต้องการให้ผู้อื่นช่วย หรือพึ่งผู้อื่น ต้องการความเป็นอิสระ และต้องการก้าวร้าวเป็นครั้งคราว ความต้องการเหล่านี้ จะมีอยู่จนตลอดชีวิตของทุกคน แต่บางครั้งบางคราว ความต้องการเหล่านี้อาจจะไม่มาก หรือไม่ปรากฏให้เราเห็นก็ได้ ถ้าในวัยเด็ก เราพบกับความผิดหวังมากๆ จะทำให้เกิด Psychic Conflicts ทั้งในระดับที่รู้สึกตัว และในระดับจิตไร้สำนึก ถ้าพบความผิดหวังมากๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะเป็น Precipitating Factors ที่ทำให้เกิดโรคจิตเวชได้

ถ้าแพทย์พบว่า ผู้ป่วยไม่สบายเพราะมีความผิดหวังใน Basic Needs แพทย์จะต้องช่วยเหลือผู้ป่วย โดยแนะนำผู้ป่วยโดยตรง ถ้าคิดว่าผู้ป่วยมีความสามารถที่จะปรับตัวได้เอง หรือแก้ไขสภาวะภายในครอบครัวของผู้ป่วย โดยให้การศึกษาแนะนำแก่บิดามารดาและญาติใกล้ชิด เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการและท่าทีที่ปฏิบัติต่อผู้ป่วยให้ถูกต้อง

แต่ในบางกรณี การที่จะตัดสินว่า ผู้ป่วยไม่ได้รับการตอบสนองของ Basic Needs นั้น ไม่ใช่ของง่าย แพทย์อาจจะต้องใช้ความรู้ในเรื่อง Psychodynamic ของคนไข้ ในการร่วมพิจารณาด้วย ในกรณีเช่นนี้ อาจจะต้องปรึกษาจิตแพทย์ และผู้ป่วยบางคน อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูง แต่อย่างก็ตาม แพทย์ทั่วไปก็อาจจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ ในหลายกรณี ตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยเด็กที่แพทย์สามารถเห็นเหตุการณ์ได้ง่ายว่า เด็กไม่ได้รับความรัก ความอบอุ่น ความดูแลเอาใจใส่ ความยุติธรรม ถูกทอดทิ้ง ฯลฯ กรณีอย่างนี้ แพทย์หรือผู้รักษา อาจจะต้องให้คำปรึกษาแนะนำแก่บิดามารดา ให้เปลี่ยนแปลงวิธีการและท่าทีต่อเด็กเสียใหม่ ในรายที่ไม่สามารถแก้ไขที่บิดามารดาได้ แพทย์อาจจะต้องหาทางเปลี่ยนแปลงโดยวิธีอื่น เช่น แยกเด็กไปอยู่กับบุคคลที่เหมาะสม ให้อยู่โรงเรียนประจำ หรือญาติ แทน ผู้เขียนมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ตามสมควร ขอยกตัวอย่างจากเรื่องจริงดังนี้

ผู้ป่วยเป็นเด็กหญิง อายุ 14 บี มีอาการซึมเฉย ความสามารถในการเรียนเลวลงเรื่อยๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยเรียนเก่งมาก ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเหล่านี้ หลังจากบิดาถึงแก่กรรม เมื่อศึกษาผู้ป่วยรายนี้พบว่า เดิมผู้ป่วยเป็นคนเรียนเก่ง และรักบิดาของตนมาก บิดาเป็นที่พึ่งทางใจทุกอย่างของผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่ถูกกับมารดา และเคยมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น บิดาจะช่วยปกป้องผู้ป่วยเสมอ ผู้ป่วยมีน้องซึ่งเป็นผู้ชายหนึ่งคน มารดารักน้องคนนี้มาก เพราะว่าเอาใจมารดาเก่ง ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยเข้ากับน้องไม่ได้ โดยมีบิดาถือหางผู้ป่วย และมารดาเข้าข้างน้องชาย นอกจากนี้ บิดามารดาเองก็มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเสมอ โดยผู้ป่วยจะเข้าข้างบิดา โต้เถียงแทนบิดาด้วย ผู้ป่วยนอนห้องเดียวและเตียงเดียวกับบิดา ส่วนน้องชายก็นอนห้องเดียวและเตียงเดียวกับมารดา ถ้าพิจารณาสถานการณ์ดู จะเห็นว่า เป็นผลมาจาก Oedipus Complex ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง

ดลอดเวลาที่บิดายังมีชีวิตอยู่ ผู้ป่วย น้องชาย บิดาและมารดา ก็มีความเป็นอยู่อย่างปกติตามสมควร ครั้นบิดาถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง และหมดที่พึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ป่วยก็มีอาการซึมตลอดเวลา ผลการเรียนเลวลงเรื่อยๆ จนเป็นที่น่าวิตก เมื่อผู้เขียนศึกษาผู้ป่วยและมารดาแล้วเห็นว่าไม่มีทางแก้ไขสถานการณ์ได้ มารดายังโกรธแค้นผู้ป่วยมาก ทั้งในระดับที่รู้สึกตัว และในระดับจิตไร้สำนึก บังเอิญโชคดีที่อาของผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์ได้ดี และรักผู้ป่วยมาก ผู้เขียนจึงแนะนำให้อาของผู้ป่วย รับผู้ป่วยไปเลี้ยงดูแทนมารดา ต่อมาอีกไม่นาน ผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้น

จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์พบว่า การที่เด็กอิจฉาน้องนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจาก การที่บิดามารดาไม่เอาใจใส่หรือเหลียวแลเด็กเท่าที่ควร ทำให้เด็กขาด Basic Needs ที่ควรจะได้รับ เมื่อแพทย์พบปัญหาอย่างนี้ ต้องแนะนำสั่งสอนบิดามารดาให้เอาใจใส่กับเด็กโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่มารดากำลังจะมีน้องใหม่ด้วย การเอาใจใส่ของบิดามารดา หมายถึง การแสดงความรัก ความอบอุ่น ความสนใจ ความมั่นคงทางจิตใจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะต้องกระทำทั้งโดยคำพูด และโดยการกระทำด้วย (verbal and non-verbal)

ในเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว และชอบรังแกผู้อื่นเป็นประจำ เราพบว่าเด็กเหล่านี้เป็นจำนวนไม่น้อยที่มีสาเหตุมาจากการขาด Basic Needs บิดามารดาส่วนมาก มักจะแก้ปัญหานี้โดยวิธีการลงโทษ จิตแพทย์พบว่าการลงโทษเด็กเหล่านี้มักจะไม่ได้ผล คือยิ่งจะทำให้เด็กก้าวร้าวเพิ่มขึ้น และในบางรายอาจจะป่วยด้วยโรคจิตเวช หรือเสียผู้เสียคนไปเลย วิธีรักษาที่ถูกต้อง คือ ต้องให้ความรัก ความอบอุ่น ความมั่นคงทางจิตใจแก่เด็ก โดยแสดงท่าทีเป็นมิตร มั่นคงและจริงใจ จึงจะแก้ปัญหาได้

ตัวอย่างต่อไป ผู้ป่วยเป็นหญิง บังเอิญโชคไม่ดี เพราะไปแต่งงานกับคนที่เป็นโรคประสาท สามีเป็นคนเอาแต่ใจตนเอง กดขี่ข่มแหงอยู่ทุกทาง ทำให้ผู้ป่วยขาด Basic Needs โดยไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่อยากจะเป็นอิสระบ้าง หรือ Independence และอยากจะแสดงความก้าวร้าวบ้าง หรือ Aggressiveness (ตามความเป็นจริงนั้น มนุษย์เราทุกคน จะต้องมีความรู้สึกทั้งสองชนิดอยู่ด้วยเสมอ แต่ว่าความรุนแรงในแต่ละคน อาจจะไม่เท่ากันได้)
สามีของคนไข้คนนี้ ต้องแข่งขันและพยายามเอาชนะคนไข้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูลูกๆ การดูแลบ้าน การเงิน ฯลฯ ในกรณีอย่างนี้แพทย์ผู้รักษาอาจจะมีทางออกได้ดังนี้

ประการแรก ต้องอธิบายให้ทั้งสามีและคนไข้ทราบว่า ได้เกิดอะไรขึ้น และถ้าสามีเป็นคนไม่ดื้อรั้นจนเกินไป แพทย์อาจแนะนำให้สามีเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติตัวต่อภรรยาเสียใหม่ ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้

ประการที่สอง ถ้าสามีเป็นคนดื้อรั้น เห็นแก่ตัวจัด ไม่สามารถปรับปรุงตนเองได้ แพทย์ผู้รักษาก็อาจจะต้องใช้วิธีที่เรียกว่า Replacement Therapy สำหรับภรรยา ซึ่งหมายถึง ให้ภรรยาสามารถได้รับการตอบสนองของ Basic Needs นอกบ้าน เช่น เป็นกรรมการจัดงานการกุศลของสมาคมต่างๆ เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยเป็นคนที่มีความสามารถตาม สมควรแล้ว ก็อาจจะได้รับเลือกให้เป็นประธาน หรือกรรมการบริหารที่มีหน้าที่สำคัญ และรับผิดชอบมาก ซึ่งเป็นการตอบสนอง Basic Needs ที่ผู้ป่วยควรจะได้ แต่ไม่ได้รับภายในบ้านของตน

มีข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ “ยอมทน” อยู่ในสภาพที่ทำให้ตนเองลำบากและขาดการตอบสนองของ Basic Needs ตัวอย่างเช่น สามีหรือภรรยาที่ยอม “ทน” อยู่ด้วยกันทั้งๆ ที่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ตบตีกันเป็นประจำ ถ้าดูอย่างผิวเผิน อาจจะคิดว่าการที่เขายอม “ทน” อยู่ด้วยกันนั้นก็เพื่อลูก บิดามารดา วัฒนธรรม ศาสนา และเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น การเงิน เกียรติยศชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ฯลฯ แต่จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์กลับพบว่า บุคคลเหล่านี้อยู่ร่วมกันได้ เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันในระดับจิตไร้สำนึก ภาษาทางจิตวิเคราะห์ เรียกว่า Symbiotic Neurosis ตัวอย่างเช่น ถ้าสามีเป็นแบบ Sadistic ก็จะสามารถอยู่ร่วมกับภรรยาที่เป็น Masochistic เป็นต้น การรักษาในบุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องใช้จิตบำบัดชั้นสูง

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า