สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดMedical Treatment as Psychotherapy

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 3 เรียกว่า Medical Treatment as Psychotherapy

ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า การให้ยาแก่คนไข้ เป็นการทำจิตบำบัดชนิดหนึ่งไปด้วยในตัว การใช้ยานี้มีผล 2 ประการ คือ เป็นผลต่อจิตใจโดยตรง ที่แพทย์เรียกว่า Placebo Effect และยาหลายชนิดในปัจจุบันสามารถรักษาอาการวิตกกังวล วิกลจริต และซึมเศร้าได้

สำหรับผลต่อจิตใจโดยตรงนั้น อธิบายได้ดังต่อไปนี้ คนไข้ที่มาพบแพทย์ส่วนมากนั้น มักจะคิดว่าแพทย์เป็น Authority ที่คนไข้จะยึดถือเอาเป็นสรณะ คือที่พึ่งได้ นอกจากนี้ คนไข้ยังมีความต้องการที่จะให้แพทย์รักษาโดยวิธีที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Magic and Omnipo¬tence คือ เข้าใจว่าแพทย์เป็นผู้วิเศษ สามารถบันดาลให้คนไข้หายจากโรคได้ เหมือนกับเด็กๆ ที่มีความรู้สึกต่อบิดามารดาว่า บิดามารดามีอำนาจมาก สามารถจะทำอะไรก็ได้ การที่แพทย์ให้ยาแก่ผู้ป่วย มีความหมายในระดับจิตไร้สำนึกของผู้ป่วยว่า การให้ยา คือการให้ ความรัก ความอบอุ่น ความคุ้มครอง เป็นต้น เหมือนกับเด็กๆ ที่บิดามารดาแสดงความรัก ความอบอุ่นแก่ตัวเด็ก สิ่งนี้ทำให้ลดความรู้สึกวิตกกังวลและความซึมเศร้าได้ นอกจากนี้การที่คนไข้มีศรัทธาในแพทย์ผู้รักษานั้น เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง แพทย์หลายท่านคงจะมีประสบการณ์มาแล้วว่า “คนไข้ไม่ยอมเปลี่ยนหมอ” แพทย์ผู้ใดที่แสดงความสนใจเอาใจใส่คนไข้ ให้ โอกาสคนไข้พูดระบายความรู้สึกกับแพทย์ได้ แพทย์ผู้นั้นมักจะเป็นที่นิยมเคารพนับถือ และมีคนไข้มาก ซึ่งแพทย์ทุกคนทราบความจริงเหล่านี้ดี

สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ แพทย์ “อย่าหลอก” คนไข้ คือ อย่าให้ยาที่ไม่มีผลต่อจิตใจ เช่น วิตามิน แล้วหลอกคนไข้ว่าเป็นยาดี จากประสบการณ์เราพบว่า คนไข้นั้น มีความสามารถในการจับ “โกหก” ของแพทย์ได้มากกว่าที่แพทย์คิดไว้ เมื่อคนไข้จับได้ว่า แพทย์โกหก จะเป็นผลเสียหายอย่างยิ่งต่อการรักษา

ในผูป่วยบางคนที่รู้สึกตัวว่าเป็นคนเลว หยาบคาย ประกอบกรรมชั่วไว้มาก บุคคลเหล่านี้มักจะหวาดกลัว Authority เสมอ ครั้นมาพบแพทย์ปรากฏว่าแพทย์มีความเมตตา กรุณา มีไมตรีจิต จะทำให้บุคคลเหล่านี้รู้สึกอบอุ่นใจ และสบายใจขึ้นทันที เพราะว่าในระดับจิตไร้สำนึกของเขา คิดว่าแพทย์จะต้องลงโทษ เมื่อพบว่าแพทย์ไม่ได้ลงโทษ จะทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ มีกำลังใจและอบอุ่นใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญทำให้หายวิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้

สำหรับการรักษาทางยานี้ก็มีผลเสียในคนไข้บางประเภทเหมือนกัน เช่น ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะต้องพึ่งคนอื่นเป็นประจำ เป็นต้น การใช้ยานานเกินไปอาจจะทำให้ผู้ป่วยติดยาได้ แพทย์จะต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย

สำหรับยาที่มีฤทธิในการรักษาโรคจิตเวชนั้น จะไม่ขอกล่าวอย่างละเอียด แต่อยากจะสรุปให้สั้นๆ ว่า ในปัจจุบนมียาซึ่งแบ่งง่ายๆ ออกเป็น 3 ชนิด คือ ยาลดความวิตกกังวล ยาแก้อาการวิกลจริต และยาแก้อาการซึมเศร้า

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า