สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นกลางชนิด Life-History Discussion

จิตบำบัดชั้นกลางลำดับที่สอง เรียกว่า Life-History Discussion

หมายถึงผู้รักษาศึกษาประวัติคนไข้ แล้วนำมาพูด พิจารณา ชี้แจงกับคนไข้ บางครั้งอาจจะใช้ร่วมกับการระบายอารมณ์และการสารภาพผิดด้วยก็ได้วิธีทำคือ ผู้รักษาจะต้องสัมภาษณ์และศึกษาประวัติของคนไข้อย่างละเอียด บางครั้งอาจจะใช้เวลาหลายชั่วโมง เป้าหมาย ของผู้รักษาก็คือ ต้องศึกษาการพัฒนาของบุคลิกภาพ ความสัมพันธ์ในวัยเด็ก หรือ Object Relations  วิธีที่ผู้ป่วยแก้ปัญหา หรือ Defense Mechanism ฯลฯ

ตามธรรมดา ผู้ป่วยจิตเวชมักจะเล่าประวัติของตนเอง ให้ผู้รักษาทราบตามสมควร ผู้ป่วยบางคนอาจเข้าใจหรือมองเห็นสถานการณ์ที่ทำให้เขาป่วยได้บ้าง แต่ผู้ป่วยส่วนมากมักจะไม่เล่ารายละเอียด หรือข้อมูลเพียงพอสำหรับที่ผู้รักษาจะเข้าใจ Dynamic ได้อย่างแน่ชัด จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้รักษาจะต้องสัมภาษณ์ผู้ป่วยตามแบบการตรวจผู้ป่วยจิตเวช เช่น อาการสำคัญ ประวัติปัจจุบัน ประวัติอดีต ประวัติครอบครัว ชีวิตและความประทับใจในวัยเด็ก เหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ในวัยเด็ก ฯลฯ

ในขณะที่สัมภาษณ์ผู้ป่วย ผู้รักษาจะอธิบาย ชี้แจง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ป่วย เน้นให้เห็นความสำคัญของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดเจ็บป่วย การที่ผู้รักษา กระทำเช่นนี้ เรียกว่าช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจตามสมควร เรียกว่า Insight เหมือนกัน แต่ว่าเป็นแบบ Intellectual Insight คือคนไข้เข้าใจปัญหาของตนเองในระดับที่ “รู้สึกตัว” ซึ่งถ้าเป็น Insight ที่แท้จริง หรือ Emotional Insight แล้ว คนไข้จะเข้าใจพฤติกรรมของตนเอง ในระดับ “จิตไร้สำนึก” ด้วย ซึ่งจะกระทำได้โดยใช้วิธีแบบจิตบำบัดชั้นสูงเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม Intellectual Insight ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีประโยชน์เสียเลย ในบางครั้ง Insight ชนิดนี้ ช่วยทำให้เกิด Emotional Insight ได้เหมือนกัน ถ้าผู้ป่วย เป็นคนที่เรียกว่า Psychological Minded และผู้รักษาเข้าใจ Dynamic ของผู้ป่วยอย่างดี และมีความสามารถตามสมควร ถึงแม้ในการทำจิตบำบัดชั้นสูง เราพบว่าบ่อยครั้งที่คนไข้มี Intellectual Insight ก่อนแล้วจึงจะมี Emotional Insight ตามมาทีหลัง

ตัวอย่างของ Intellectual Insight ที่อาจก่อประโยชน์แก่ผู้ป่วย เช่น ถ้าผู้ป่วยทราบว่ามักจะเกิดอาการปวดศีรษะ เมื่อต้องทำงานในภาวะที่มีความเครียดทางอารมณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ป่วยก็อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองใหม่ โดยให้หลีกเลี่ยงจากสภาวะดังกล่าวให้มากที่สุด และหาทางออก หรือ “ชดเชย” ความเครียด ด้วยวิธีการที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ฯลฯ

นอกจากนี้ การทำ Life-History Discussion นั้น ผู้รักษาก็อาจใช้จิตบำบัดชนิดนี้ร่วมด้วย เช่น การให้คำแนะนำสั่งสอน การให้กำลังใจ การหาทางออกให้กับอารมณ์ร้ายต่างๆ และการใช้ Non-Condemning Constructive Relationship เป็นต้น

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า