สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อารมณ์ความรู้สึกของนักจิตบำบัดที่มีต่อผู้ป่วย

Countertransferences
ในการทำจิตบำบัดชั้นสูงนั้น นักจิตบำบัดกับผู้ป่วยพบกัน “สองต่อสอง ครั้งละประมาณ 45-50 นาที เป็นเวลาแรมเดือนแรมปี เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมจะต้องเกิดอารมณ์และความรู้สึกซึ่งกันและกันขึ้นเป็นธรรมดา เพราะว่า นักจิตบำบัดกับผู้ป่วยนั้น ต่างก็เป็นมนุษยธรรมดานี้เอง นอกจากนี้ บุคลิกภาพของทั้งผู้ป่วยกับนักจิตบำบัดก็จะมีอิทธิพล “ส่ง เสริม หรือ ต่อต้าน ซึ่งกันและกันด้วย โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักจะมีความรู้สึกต่อนักจิตบำบัดดังนี้

1. นักจิตบำบัดเป็น “บิดามารดา” ในอุดมคติ
2. เป็นสัญลักษณ์ของ Authorities
3. เป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อให้คนไข้เลียนแบบ เอาอย่าง และทำตัวให้เหมือน

ทางฝ่ายนักจิตบำบัดเอง ก็มีความรู้สึกต่อผู้ป่วยได้หลายอย่างเหมือนกัน นักจิตบำบัดมักจะมีแนวโน้มที่จะ “project” หรือ “ถ่ายทอด” อคติและค่านิยมของคนไปสู่คนไข้ นอกจากนี้ ยังมีความรู้สึกว่าคนไข้เป็นเสมือนหนึ่งบุคคล ที่นักจิตบำบัดเคยมีประสบการณ์ด้วยในอดีต ซึ่งอาจจะมีควานรู้สึกได้ทั้งทางบวกและทางลบ ความรู้สึกเช่นนี้ มีอิทธิพลต่อผู้ป่วยเป็นอันมาก

ในทางทฤษฎีกล่าวว่า นักจิตบำบัดจะต้องมีอารมณ์เป็นกลาง แต่ในทางปฏิบัตินั้น เป็นไปไม่ได้ตลอดเวลา เพราะว่านักจิตบำบัด หรือแม้กระทั่งนักจิตวิเคราะห์ก็ตาม ไม่อาจจะรักษาความเป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลาการรักษาอันยาวนานได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า “เป็นกลาง” หรือ Empathy นี้ จึงเป็นคำเปรียบเทียบ หมายความว่า ถึงแม้จะมีความหวั่นไหวบ้าง แต่ก็ไม่สูญเสียความสามารถในการรักษา และเรานิยมเรียกความหวั่น ไหวนี้ว่า Countertransference

ความสำคัญของ Countertransferences นี้ก็คือ มีอิทธิพลต่อการรักษา โดยวิธีจิตบำบัดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจิตบำบัดชั้นต้น ชั้นกลาง หรือชั้นสูง อิทธิพลนี้ ส่วนมากจะหมายถึงผลเสียหายต่อการรักษา

ความคิดเห็นของนักจิตวิเคราะห์ และนักจิตบำบัดในเรื่อง Countertransferences นี้ มีผู้กล่าวไว้แตกต่างกันมากพอสมควร ตัวอย่างเช่น Winnicott (1949) กล่าวว่า เป็น Repressed Unresolved Parental Attachment นักจิตวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง คือ Alexander (1949) อธิบายว่าเป็น The Total Range of Attitudes toward the Patient

ในบางครั้ง ความรู้สึกของนักจิตบำบัดที่มีต่อคนไข้ เกิดขึ้นจากบุคลิกภาพของนักจิตบำบัดเอง จึงทำให้เกิดความสับสนว่า อะไรเป็นความรู้สึกตามสภาวะที่เป็นจริง และอะไรเป็น Countertransferences ความสับสนนี้ เกิดขึ้นเพราะการถือเอาความรู้สึกทั้งหมด ที่นักจิตบำบัดมีต่อคนไข้เป็น Countertransferences

ตามความเป็นจริงนั้น นักจิตบำบัดซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดา ก็จะต้องมีความรู้สึกอบอุ่น นิยมชมชอบ และ Empathy ได้ กับคนไข้บางคนหรือบางประเภท มากกว่าคนไข้ประเภทอื่น ความรู้สึกอันนี้เกิดขึ้นพอเหมาะกับสภาวะความเป็นจริง นักจิตบำบัดอาจจะรู้สึกไม่ชอบ รังเกียจพฤติกรรมบางอย่างของคนไข้ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้านักจิตบำบัดเป็นหญิงที่ทรงคุณธรรม และจำเป็นจะต้องสัมภาษณ์ หรือรักษาคนไข้ชาย ที่มีพฤติกรรมข่มขืนชำเราเด็กหญิง เป็นต้น ความรู้สึกของนักจิตบำบัดในกรณีนี้ ถือว่าเป็นไปสอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริง และถ้าควบคุมได้ หรือรักษาความเป็น “One-Up” ได้ ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษา

ปฏิกิริยาตอบโต้ของนักจิตบำบัดในลักษณะที่ควร แต่พอเหมาะพอดี อาจจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไข้บางคนหรือบางประเภท ตัวอย่างเช่น คนไข้ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างรุนแรง ถ้าเขาแสดงความก้าวร้าวกับนักจิตบำบัด แต่นักจิตบำบัดกลับไม่ว่าอะไรเลย ผู้ป่วยอาจจะได้รับบทเรียนผิดๆ ว่า ถึงเขาจะก้าวร้าว ก็เป็นสิ่งที่นักจิตบำบัดยอมรับได้ เพราะฉะนั้น คนอื่นก็ “ควร” จะยอมรับได้ เป็นต้น

จากประสบการณ์เราพบว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ นักจิตบำบัดมีอารมณ์และปฏิกิริยาโต้ตอบไม่ได้สัดส่วนอย่างสมเหตุสมผลกับพฤติกรรมของคนไข้ ซึ่งเนื่องมาจากการที่นักจิตบำบัดมี Countertransferences หรืออาจจะเนื่องมาจาก Neurotic Character Structure ของนักจิตบำบัดเอง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาเป็นอย่างยิ่ง

นักจิตบำบัดที่เฝ้าสังเกตอารมณ์ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ มักจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เองเป็นส่วนมาก แต่ถ้าละเลยต่อเรื่องนี้แล้ว นักจิตบำบัดก็จะพบอุปสรรคในการรักษามาก Countertransferences ที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษา อาจเกิดขึ้นได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

สมมตินักจิตบำบัดได้รับการฝึกอบรมมาอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถรักษาผู้ป่วยได้ผลดีเป็นจำนวนมาก นักจิตบำบัดผู้นี้มีปัญหากับภรรยาของตนเองและแก้ไม่ตก ถ้านักจิตบำบัดรักษาคนไข้ที่มีปัญหากับภรรยาของตนแล้ว นักจิตบำบัดก็จะพบอุปสรรคต่อการรักษามาก นักจิตบำบัดก็อาจจะเอาความรู้สึกของตนเอง “ปะปน” กับปัญหาของคนไข้ได้ โดยอาจเข้าข้างผู้ป่วยโจมตีภรรยาและผู้หญิง การกระทำดังกล่าว ในระยะแรก อาจจะได้ผลดี แต่ในที่สุด คนไข้จะจับได้ว่า นักจิตบำบัดเองก็มีปัญหากับภรรยาด้วย คนไข้จะเสื่อมศรัทธา และเลิกไว้วางใจ

จากประสบการณ์เราพบว่า นักจิตบำบัดที่สามารถรักษาคนไข้ได้ทุกชนิดนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นนักจิตวิเคราะห์ที่มีประสบการณ์มากแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ก็เพราะว่า ไม่มีผู้ใด “perfect” ที่เป็นไปได้ก็คือ นักจิตบำบัดจะสามารถรักษาคนไข้ส่วนมากได้ดี และ รักษาคนไข้บางประเภท หรือบางคนไม่ได้!!!

การที่จะรักษาคนไข้ให้สำเร็จวัตถุประสงค์นั้น นักจิตบำบัดจะต้องมีความสามารถที่จะรักษา Sensitivity, Flexibility, Objectivity and Empathy ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณสมบัติดังกล่าวนี้จะเสียไป เพราะนักจิตบำบัดไม่ทราบว่าตนเองมี Neurotic Projections ทำให้นักจิตบำบัดไม่สามารถ “อดทน” ต่อพฤติกรรมยั่วยุ และไร้เหตุผลของคนไข้ นักจิตวิเคราะห์นิยมเรียกสิ่งนี้ว่า Infantile Requests หมายความว่า พฤติกรรมเหล่านี้ เป็นความปรารถนาของคนไข้ ตั้งแต่เมื่อยังเป็นเด็กเล็กๆ ซึ่งไม่ได้รับการตอบสนอง คนไข้จึงเรียกร้องให้นักจิตบำบัดตอบสนองความปรารถนาดังกล่าว

Savage (1961) ซึ่งเป็นนักจิตวิเคราะห์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งกล่าวว่า “ถ้านักจิตวิเคราะห์ไม่สามารถ identify กับคนไข้ นักจิตวิเคราะห์ก็จะประสบปัญหายุ่งยากในการรักษา แต่ถ้านักจิตวิเคราะห์สามารถ identify กับคนไข้ ก็จะประสบปัญหาอีกเหมือนกัน แต่เป็นคนละประเภท……. ตัวอย่างเช่น คนไข้วิตกกังวลจัด หวาดกลัว โกรธ โลภ มีความขัดแย้งภายในจิตใจ ฯลฯ นักจิตวิเคราะห์ก็จะมีอารมณ์คล้อยตามไปด้วย ราวกับว่าความรู้สึกของคนไข้ เป็นความรู้สึกของนักจิตวิเคราะห์เสียเอง ซึ่งจะเป็นผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการรักษา…..”

การที่นักจิตบำบัดมีบุคลิกภาพอย่างใดนั้น ย่อมมีผลต่อการรักษาผู้ป่วยเสมอ ตัวอย่างเช่น ถ้านักจิตบำบัดเป็นคน “ตรงไปตรงมา” และชอบการ “ใช้อำนาจ” ก็จะรักษาได้ผลดี ถ้าทำจิตบำบัดชั้นต้นและชั้นกลาง เพราะว่าคนไข้จะต้องพึ่งนักจิตบำบัด แต่นักจิตบำบัดคนเดียวกันนี้ทำการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูง ก็จะมีอุปสรรคมาก เพราะว่าคนไข้ ต้องการพึ่งตนเอง ต้องการอิสระภาพ และความคิดเห็นอย่างเสรี

การเป็นผู้ชอบใช้อำนาจนี้ มีข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้คนไข้ต้องพึ่งนักจิตบำบัดตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ คนไข้จะเกิดความรู้สึก “ต่อต้าน” นักจิตบำบัดด้วย เช่นเดียวกับเด็กเล็กๆ ที่มีความรู้สึกต่อบิดามารดา คือ ทั้งรักทั้งเกลียด ทั้งกลัวทั้งชัง ทั้งเคารพ และฝ่าฝืน ฯลฯ

นักจิตบำบัดที่มีปัญหาบางคน อาจจะใช้ Interpretation เร็ว และลึกเกินไป จนคนไข้ตามไม่ทัน เพราะว่าต้องการให้คนไข้ประทับใจในความ “เก่งกาจ” ของนักจิตบำบัด และในบางครั้ง อาจจะพยายาม “บังคับ” ให้คนไข้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งๆ ที่คนไข้ยังไม่พร้อม

นักจิตบำบัดที่มีลักษณะยินยอมเกินไป (Submissiveness) และเฉื่อยชาเกินไป (Passivity) ก็อาจสร้างปัญหาในการรักษาได้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคนไข้ได้รับ “ความรู้ใหม่” หรือ Insight จากนักจิตบำบัดแล้ว คนไข้เกิดท้อถอย ไม่กล้านำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ ในกรณีเช่นนี้ นักจิตบำบัดจะต้องกล้าแสดงความมั่นคงและเด็ดเดี่ยว จึงจะ ประสบความสำเร็จ แต่ถ้านักจิตบำบัดแสดงความ “ยินยอม” และ “เฉื่อยชา” แล้ว คนไข้ ก็จะไม่ปฏิบัติตาม ทำให้การรักษาไม่ก้าวหน้า

นอกจากนี้ นักจิตบำบัดที่ “ยินยอม” และ “เฉื่อยชา” เกินไป มักจะทำให้ คนไข้เกิดความรู้สึก Sadistic และเป็นศัตรูกับนักจิตบำบัดอีกด้วย

ในบางครั้ง นักจิตบำบัดอาจจะเกิดความรู้สึก “เบื่อหน่าย” และ “ไม่อยากรักษา” คนไข้เป็นบางคนได้ หมายความว่า นักจิตบำบัดใช้ Defenses ป้องกันไม่ให้ใกล้ชิดคนไข้บางคน ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นอันตรายต่อการรักษามาก เพราะว่าคนไข้จะไม่สามารถเกิดความรู้สึก “อบอุ่น” และ “ไว้วางใจ” นักจิตบำบัด ที่ “เบื่อหน้า” ตนได้ ถ้านักจิตบำบัดมีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้น จนไม่สามารถควบคุมได้ วิธีแก้ไขนั้นมีอยู่ทางเดียว คือ ส่งคนไข้ไปให้นักจิตบำบัดคนอื่นรักษาแทน

นักจิตบำบัดที่แก้ไขปัญหาของตนเองไม่ตกนั้น อาจจะแสดงออกกับคนไข้ในลักษณะต่างๆ ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้านักจิตบำบัดมีปัญหาเรื่องเงิน และจะต้องรักษาคนไข้ที่มีฐานะการเงินดีกว่า นักจิตบำบัดอาจจะมีความอิจฉาริษยาคนไข้ในระดับจิตไร้สำนึก เมื่อถูกคนไข้โจมตี ก็จะแสดงความโกรธก้าวร้าวออกมา ในลักษณะที่ไม่สมเหตุสมผล นักจิตบำบัดที่มีปัญหากับภริยา ถ้ารักษาคนไข้ที่มีปัญหาในเรื่องเดียวกัน นักจิตบำบัดอาจจะสนใจเรื่องนี้มากเป็น “พิเศษ” จน “ลืม” เรื่องอื่นๆ ที่มีความสำคัญไปเสียหมด สำนวนภาษาอังกฤษ เรียกกรณีเช่นนี้ว่า นักจิตบำบัด Loss of Perspective ซึ่งเป็นผลมาจากมี Overidentification กับคนไข้

นักจิตบำบัดที่มีความพากเพียรสูงเกินไป (Neurotic Ambitiousness) อาจจะเร่งรีบรักษาจนคนไข้ตามไม่ทัน ตัวอย่างเช่น ในระยะเริ่มต้นการรักษาก็จะรีบหาข้อมูล โดยไม่คำนึงถึง Resistances คนไข้ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็จะรีบ “แปลความหมาย” อย่างรวดเร็ว จนคนไข้สับสน ในบางครั้ง คนไข้มี Resistances ที่ต้องใช้เวลานานในการแก้ไข นักจิตบำบัดประเภทนี้ จะรอไม่ได้ แล้วพาลโกรธเคืองคนไข้ โดยอาจจะกล่าวหาว่าคนไข้ไม่ร่วมมือ เป็นต้น

นักจิตบำบัดที่วิตกกังวลจัด และมีความรู้สึกว่าได้กระทำผิด อาจจะวางตัวลำบากในการรักษา เพราะว่า ถ้าคนไข้มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน นักจิตบำบัดอาจจะ “ห้าม” ไม่ให้ คนไข้แสดงความรู้สึกดังกล่าว (โดยที่นักจิตบำบัดเองก็ไม่รู้สึกตัวว่าตนทำอะไรลงไป) สาเหตุของความวิตกกังวล และความรู้สึกว่าได้กระทำผิดนี้ มักจะเป็นเรื่องเพศ และเรื่องก้าวร้าวรุกรานที่พบบ่อยก็คือ เมื่อคนไข้นำเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูด นักจิตบำบัดก็จะไม่สนใจ และมักจะเปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นๆ แทน (โดยนักจิตบำบัดเองก็มักจะไม่รู้สึกตัว)

สมมติว่า นักจิตบำบัดมีความโกรธแค้น และแก้ไม่ตก เมื่อคนไข้นำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด นักจิตบำบัดจะให้กำลังใจซ้ำและซ้ำอีกว่า ความรู้สึกอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว หรือเปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นแทน

นักจิตบำบัดที่หวาดกลัวความก้าวร้าว เมื่อคนไข้พูดหรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับนักจิตบำบัด จะทำให้นักจิตบำบัดหวาดกลัว จนทำอะไรไม่ถูก

นักจิตบำบัดที่มีปัญหาเรื่องเงิน ก็จะพิถีพิถันในเรื่องค่ารักษามาก จนไม่สามารถอดทนต่อการที่คนไข้มีพฤติกรรมแบบ Acting-Out ได้ นักจิตบำบัดที่ขาดความมั่นใจในตนเอง มักจะเรียกร้องให้คนไข้ชื่นชม ประทับใจและแสดงความจงรักภักดีต่อนักจิตบำบัด ในกรณีที่นักจิตบำบัดมี Perfectionistic Impulse มากเกินไป อาจจะผลักดันให้คนไข้ดำเนินการรักษาไปสู่เป้าหมายที่สูงเกินกว่าความสามารถของคนไข้

ในบางครั้ง นักจิตบำบัดที่มี Neurotic Drives สูงเกินไป อาจจะสร้าง “สถานการณ์” ให้การรักษามีลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์ในวัยเด็กของคนไข้ เมื่อเป็นเช่นนี้ Transferences ที่เกิดขึ้น ก็จะรุนแรงมากเกินกว่าที่จะแก้ไขได้

นักจิตบำบัดที่มีปัญหาเรื่อง Narcissism มักจะแสดงความ “เก่งกาจ” ต่างๆ นาๆ เช่น ใช้ Interpretation มากมายจนสับสน ในที่สุดการรักษาก็จะกลายเป็น Intellectualization ไปเสีย

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นักจิตบำบัดมีความบกพร่องของบุคลิกภาพบ้างนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะมีผลเสียต่อการรักษาเสมอไป ถ้าความบกพร่องของนักจิตบำบัด เผอิญ “เข้ากันได้” กับความต้องการของผู้ป่วย ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น นักจิตบำบัดมีบุคลิกภาพแบบ Sadistic อาจจะทำให้ผู้ป่วยที่มีบุคลิกภาพแบบ Masochistic มีอาการทุเลาขึ้นอย่างรวดเร็วได้ นักจิตบำบัดที่มีบุคลิกภาพแบบ Authoritarian and Domineering อาจจะตอบสนองความต้องการของคนไข้ซึมเศร้า และ Dependent ได้ดี ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ป่วยดีขึ้นนี้ มักจะเป็นของชั่วคราว เพราะว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพในทางสร้างสรรค์

จากประสบการณ์เราพบว่า นักจิตบำบัดที่มีความ “บกพร่อง” เหล่านี้ อาจจะสามารถรักษาคนไข้ได้เหมือนกัน เพราะว่า ผู้ป่วยบางคนมีความสามารถที่จะ “เลือก” เอา เฉพาะส่วนที่ “ดี” ของนักจิตบำบัดได้ ส่วนที่บกพร่องนั้น ผู้ป่วยจะไม่สนใจ และไม่นำไปใช้เลย

ตามความเป็นจริงแล้ว นักจิตบำบัดทุกคน ย่อมจะมีข้อบกพร่องบ้างเป็นธรรมดา เพราะไม่มีผู้ใด “perfect” ผู้ป่วยเองก็สามารถเรียนรู้ได้ว่า นักจิตบำบัดมีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ ความรุนแรง หรือ Degree ของความบกพร่องต่างหาก หมายความว่า ถ้านักจิตบำบัดมีความ “บกพร่อง” ไม่มากนัก ก็จะไม่มีผลเสียต่อการรักษา

ในขณะรักษาซึ่งใช้เวลายาวนานนั้น จะมีเวลาใดเวลาหนึ่งที่ความ “บกพร่อง” ของนักจิตบำบัดจะรบกวนการรักษามากเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่น ในระยะที่ผู้ป่วยมี Resistances มาก นักจิตบำบัดอาจมีอารมณ์ขุ่นมัว โกรธแค้น หัวเสีย อยากทอดทิ้งคนไข้ ฯลฯ

ในบางครั้ง พฤติกรรมบางอย่างของคนไข้ ก็อาจจะกระตุ้น Countertransferences ได้ ตัวอย่างเช่น คนไข้มีพฤติกรรมยั่วยวนทางเพศอย่างเปิดเผย อาจกระตุ้นให้นักจิตบำบัด เกิดอารมณ์ทางเพศ คนไข้ที่ก้าวร้าวมากๆ อาจจะทำให้นักจิตบำบัดรู้สึกก้าวร้าวตามไปด้วย ฯลฯ

การที่นักจิตบำบัดมี Countertransferences และไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง อาจจะทำให้การรักษาประสบกับความล้มเหลวได้ สิ่งที่สำคัญยิงก็คือ นักจิตบำบัดจะต้องรู้สึกตัวว่า ตนมีความรู้สึกดังกล่าวเสียก่อน

จากประสบการณ์เราพบว่า มีนักจิตบำบัดเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ได้รับการทำ Personal Psychoanalysis แต่กลับมีความสามารถในการสังเกตอารมณ์ และความรู้สึกของตนเอง และสามารถเอาชนะ Countertransferences ของตนเองได้ แต่ก็มีนักจิตบำบัดเป็นจำนวน ไม่น้อย ที่ได้รับการทำ Personal Psychoanalysis แล้ว แต่กลับไม่สามารถแก้ไข Counter¬transferences ของตนได้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ ในขณะที่ได้รับการฝึกอบรมอยู่นั้น นักจิตบำบัดที่ดีทุกคนจะต้องเรียนรู้อารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ และพฤติกรรมของตนเอง และปรึกษาอาจารย์ผู้สอนด้วยความจริงใจ ไม่ปิดบัง “ความผิด” ของตนเอง เมื่อเรียนจบแล้วก็ต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ และพฤติกรรมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ จึงจะสามารถทำจิตบำบัดได้ดี และประสบความสำเร็จ

นักจิตวิเคราะห์บางท่าน เช่น Alger (1964) ให้ความเห็นว่า นักจิตบำบัดควรจะ “ยอมรับ” Countertransferences ของตนเอง และนำมา “วิเคราะห์” ต่อหน้าคนไข้ด้วย โดยเขียนไว้ว่า
“….The therapist should deal with these feelings in no way different than he deals with other of his reactions. By this is meant that he be willing to include all the reactions he has while he is with his patient as part of the analytic data of that particular situation.
…. In this view, the analysis then becomes a joint activity in which two participants attempt by mutual effort to assemble and openly share with each other their perceptions, their concepts, and most importantly their own feelings.

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่า นักจิตบำบัดที่จะกระทำเช่นนี้ได้ จะต้อง มีความรู้และประสบการณ์มากแล้ว สำหรับนักจิดบำบัดหัดใหม่นั้น ผู้เขียนไม่แนะนำให้กระทำ เพราะว่านักจิตบำบัดหัดใหม่มักจะยังไม่ทราบว่า ความรู้สึกของตนเอง อันไหนเป็น Counter transferences และอันไหนเป็นไปตามสภาวะความเป็นจริง

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า