สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นกลางชนิด Confession and Ventilation

จิตบำบัดชั้นกลาง
ผู้ที่จะทำจิตบำบัดระดับนี้ได้ ต้องมีความรู้ในวิชา Dynamic Psychiatry และได้รับการฝึกอบรมมาตามสมควร แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในการทำจิตบำบัดชั้นสูง

จิตบำบัดชั้นกลางชนิดที่หนึ่ง เรียกว่า Confession and Ventilation
หมายถึงการสารภาพผิด บาป และพฤติกรรมที่ชั่วร้ายต่างๆ การที่คนไข้สามารถ “พูด” และ “ระบาย” ความรู้สึกเหล่านี้ โดยมีผู้รับฟังด้วยความสนใจ เข้าใจ และไม่ติเตียนว่ากล่าวหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้ป่วยในทางเสียหาย

ความจริงมนุษย์เราได้ใช้วิธีนี้มานานตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เช่น การสารภาพบาปในพิธีศาสนาต่างๆ เป็นต้น แม้ในปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่ และได้ผลตามสมควร

การสารภาพบาปนี้ บางครั้งทำได้ง่ายและแพทย์ฝ่ายกายที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นพิเศษก็สามารถทำได้ถ้าสนใจ แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยากต้องการการฝึกอบรมเป็นพิเศษ ส่วนคำว่า Ventilation หรือการระบายอารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ ฯลฯ เป็นสิ่งที่มักจะใช้คู่กัน หรือไปด้วยกับการสารภาพบาป ในบางครั้งก็ใช้เป็นการระบายความรู้สึก ที่มีอยู่ลึกๆ ภายในจิตใจด้วย

ผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชเป็นจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งคน “ปกติ” นั้น ต้องการพูด ต้องการระบายความวิตกกังวลที่สุมแน่นอยู่ในใจ หรืออาจพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ต้องการระบายความคับอกคับใจเสมอ ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องการจะพูดจะระบายกับแพทย์เป็นพิเศษ และหวังเป็นอย่างมากว่า แพทย์จะช่วยเหลือเขาได้และเก็บความลับของคนไข้ไว้ด้วย การที่ได้พูด ได้ระบายถึงความคับอกคับใจ และสามารถพูดถึงสิ่งที่ต้อง “ปกปิด” ได้นี้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น หรืออาจใช้สำนวนว่า “โล่งอกโล่งใจ” ก็คงจะไม่ผิด เหตุผลที่ทำให้คนไข้สบายใจขึ้นนั้น เนื่องมาจากการที่ผู้ป่วยได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น โดยมีผู้รับฟัง ซึ่งเท่ากับแบ่งเบาความรบผิดชอบไปให้ผู้รับฟัง พร้อมทั้งได้รับการแนะนำและความเห็นอกเห็นใจจากผู้ฟังด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าผู้ป่วยไปพูดกับคนอื่นๆ จะไม่มีใครสนใจและเข้าใจผู้ป่วย รวมทั้งอาจจะถูกตำหนิติเตียนด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลและปัจจัยอย่างอื่นอีกหลายประการ ประการแรก คือ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกทั้งในระดับที่รู้สึกตัว และในระดับจิตไร้สำนึกว่า การสารภาพผิดนั้น ถึงแม้จะไม่ถูก “ลงโทษ” ก็ตาม แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่ดีและถูกต้อง จึงทำให้ลดความรู้สึกที่ได้กระทำผิดลงไป ตัวอย่างที่แสดงถึงเรื่องนี้ คือ การปลงอาบัติของพระสงฆ์ และการ สารภาพบาปในศาสนาคริสเตียน เป็นต้น การปลงอาบัติและการสารภาพบาปนี้ หมายความว่า ผู้กระทำผิดจะได้รับการยกโทษ

เหตุผลประการที่สอง คือ การสารภาพผิดหรือบาปนี้ ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ถือว่าเป็นการ “โยน” ความรับผิดชอบไปยังผู้อื่น ในที่นี้ก็ได้แก่นักจิตบำบัดนั่นเอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า ตนไม่ต้องรับผิดชอบกับพฤติกรรมที่ไม่ดีของตนอีกต่อไป

เหตุผลประการที่สาม คือ มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ถือว่าการสารภาพบาปนี้ เป็น “การลงโทษ” ชนิดหนึ่ง เมื่อได้รับ “การลงโทษ” แล้ว ก็เท่ากับว่าได้ชดใช้หนี้กรรมชั่วไปแล้ว จึงไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับการลงโทษอีก

เหตุผลประการที่สี่ คือ ผู้ป่วยบางคน ถือว่าการสารภาพผิด เป็น Exhibitionism ชนิดหนึ่ง จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์พบว่า ผู้ป่วยบางคนมีความรู้สึก (ส่วนมากมักจะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก) ว่าตนเองเป็นคนเลว ประกอบกรรมชั่วไว้มาก ซึ่งความจริงมักจะเป็นจินตนาการมากกว่าที่จะเป็นเรื่องจริงทั้งนี้เพราะว่ามี Superego ที่เกรี้ยวกราด หยาบกระด้าง ผู้ป่วยเหล่านี้ชอบแสวงหา Authority เพื่อสารภาพผิดเสมอ คนไข้ประเภทนี้มี Psychodynamic คล้ายๆ กับพวกที่ชอบโชว์ของลับ หรือ Exhibitionist การสารภาพผิดในคนไข้ประเภทนี้เป็นการตอบสนองความต้องการซึ่งเรียกว่า Exhibitionistic Satisfaction การที่ผู้ป่วยเหล่านี้ได้กระทำดังกล่าว จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ถือว่า ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย

เหตุผลประการที่ห้า คือ ในผู้ป่วยประเภท Masochistic หรืออาจแปลง่ายๆ ว่า พวกที่ชอบลงโทษหรือทำให้คนเองเจ็บปวด ซึ่งพวกนี้มีสาเหตุมาจาก Superego ที่เกรี้ยวกราด หยาบกระด้างเหมือนกัน นักจิตวิเคราะห์บางท่านเชื่อว่า การที่คนไข้ลงโทษ หรือทำให้ตนเองต้องเจ็บปวดนี้ เป็นการตอบสนองความต้องการของ Aggressive Drive ด้วย หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Aggressive Drive นั้นพุ่งกลับเข้ามาสู่ตัวผู้ป่วยเอง สรุปความว่า ผู้ป่วยเหล่านี้ มีความสุขความพอใจ (ในระดับจิตไร้สำนึก) ที่ต้องการลงโทษตัวเอง การที่แพทย์ซึ่งเป็น Authority เท่ากับว่าแพทย์เป็นตัวแทนของ Superego เพราะฉะนั้นการที่ผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้น หรือกำเริบขึ้นนั้น อาจเป็นการแสดงว่าผู้ป่วยเป็นคน “ไม่ดี” (ตามความคิดเห็นของผู้ป่วยเองในระดับจิตไร้สำนึก) เพราะฉะนั้น แพทย์ฝ่ายกายที่จะทำการรักษาโดยวิธีนี้ ต้องทราบไว้ด้วยว่าการที่รักษาแล้วคนไข้ไม่ดีขึ้น อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุชนิดนี้ก็ได้ วิธีแก้ไขก็คือ ต้องทำจิตบำบัดชั้นสูง

จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เราพบว่า มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ที่ต้องการพูดถึงความอัดอั้นตันใจที่มีอยู่ในจิตใจชั้นลึกๆ ผู้ป่วยบางคนที่กล้าหน่อย ก็จะพูดถึงสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่ยากนัก แต่ก็มีผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมากที่อาย ขี้ขลาด กลัวแพทย์จะติเตียน หรือดูถูก ดูหมิ่น ในผู้ป่วยประเภทหลังนี้ แพทย์จะต้องมีวิธีการพูดที่นิ่มนวล และใช้ประสบการณ์ ในผู้ป่วยบางราย ก็ต้องใช้จิตบำบัดชั้นสูง จึงจะได้ผล

Dynamic ของการได้พูดได้ระบายความรู้สึกที่ “ไม่ดี” “ไม่ถูกต้อง” ที่อยู่ในจิตใจระดับลึกมากๆ นี้มีหลายประการ ประการแรก คือ การผ่อนคลายความเครียดทางอารมณ์ การที่คนไข้มี Conflicts ต่างๆ ที่ไม่สามารถพูดออกมาได้นั้น เป็นการเพิ่มความตึงเครียดทางอารมณ์ เพราะฉะนั้น การที่ได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้จึงเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดได้โดยตรง ประการที่สอง คือ การได้ฟัง ได้ระบายสารภาพผิดโดยมีแพทย์หรือผู้รักษารับฟังด้วยความเข้าใจไม่ติเตียนว่ากล่าว หรือวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายนั้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนก็ยังมีคนเข้าใจและเห็นใจอยู่ ไม่ได้อยู่อย่าง “โดดเดี่ยว” อีกต่อไป การที่มีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดีขึ้นไปด้วย

ประการที่สามนั้น ต่อเนื่องกับประการที่สอง คือ ผู้ป่วยบางคนที่มี Superego เกรี้ยวกราด หยาบกระด้างมากๆ มักจะลงโทษหรือตำหนิการกระทำของตนเอง “เกิน” ความเป็นจริงเสมอ และยังมีความรู้สึกอยู่ภายในจิตใจว่า การพูดกับ Authority รวมทั้งผู้รักษาด้วยนั้น ย่อมจะถูกติเตียน ลงโทษ และทอดทิ้ง แต่เมื่อผู้รักษาไม่กระทำดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วย ค่อยๆ “เข้าใจ” ตามสภาพความเป็นจริงว่า ผู้ป่วย “คิดมาก” ไปเอง ความจริงความผิดที่ได้กระทำลงไปนั้น หาได้มีความร้ายแรงอย่างที่ผู้ป่วยเคยคิดมาตลอดเวลาไม่ ผู้ป่วยเหล่านี้ มักจะกลัว Authority และรู้สึกว่าตนเองจะต้องถูกลงโทษ หรือทอดทิ้งเสมอ แต่ประสบการณ์ใหม่กับผู้รักษานั้น จะทำให้ผู้ป่วยคิดว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกลัวว่าตนเองจะถูกลงโทษตลอดไป ทุกคนก็เคยทำความผิดมาแล้วทั้งนั้น แต่ว่า ผู้ป่วย “ประเมิน” ค่าของความผิดสูงกว่าที่เป็นจริง

ประการที่สี่ คือ การที่ได้พูด ได้ระบาย และสารภาพผิดอย่างตรงไปตรงมานั้น ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นปัญหา หรือความผิดของตนเอง อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น ภาษาอังกฤษ ใช้สำนวนว่า “To be more objective about one’s problems” หมายความวา การที่ผู้ป่วยคิดหมกมุ่นกับปัญหาของตัวเองตลอดเวลานั้น ทำให้เกิดความคลุมเครือ เลือนลาง มืดมน และสิ่งนี้ทำให้เกิดความน่ากลัว หรือตกใจกลัวเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ ก็เพราะว่า อะไรก็ตามที่เราไม่เข้าใจ หรือคลุมเครือ เลือนลาง ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลและความหวาดกลัวมากกว่าสิ่งที่เราทราบหรือรู้แน่ชัด ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องเดินทางไปในที่ซึ่งเราไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น ย่อมสร้างความวิตกกังวลและหวาดกลัวมากกว่า การที่เราต้องเดินทางไปในที่ซึ่งเราทราบเป้าหมายและคาดคะเนได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น การที่คนไข้ได้พูด ระบาย สารภาพผิดนี้ ทำให้คนไข้สามารถมองเห็นปัญหาของตนเองอย่างแจ่มแจงชัดเจนกว่าตอนที่คิดหมกมุ่นแต่เพียงลำพังผู้เดียว สิ่งนี้เป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ในการที่ทำให้ผู้ป่วยสบายใจขึ้น

ประการที่ห้า การได้พูด ได้ระบาย ได้สารภาพผิดกับแพทย์หรือผู้รักษา นอกจากจะมีผลทำให้เข้าใจปัญหากระจ่างชัดเจนตามที่กล่าวมาแล้ว แพทย์หรือผู้รักษา ยังเป็นผู้มองอะไรในแง่ของความเป็นจริง และถูกต้องกว่าคนไข้ (ถ้าแพทย์หรือผู้รักษาเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี มีประสบการณ์ และได้รับการฝึกอบรมมาอย่างถูกต้อง) เมื่อแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้มีคุณลักษณะดังกล่าว จะมีผลทำให้ผู้ป่วยสามารถเลียนแบบ เอาอย่าง และทำตัวให้เหมือนผู้รักษาได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความคิดเห็น และทัศนะคติที่ถูกต้องตามไปด้วย

ประการสุดท้าย คือ การที่ผู้ป่วยได้พูด ได้ระบาย ได้สารภาพ กับผู้รักษานี้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถพูดถึงสิ่งที่ไม่อาจจะพูดกับคนอื่นได้ สิ่งนี้เป็นประสบการณ์ใหม่ ทำให้ผู้ป่วย กล้าพูดในลักษณะที่ก่อประโยชน์ ซึ่งแต่ก่อนนี้ ผู้ป่วยไม่กล้าพอที่จะทำได้ สิ่งนี้ทำให้ผู้ป่วยสบายใจขึ้น และมี Spontaneity มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษา

มีผู้ให้ความเห็นว่า การสารภาพผิด และการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พูด ได้ระบายนี้ เปรียบเสมือนการใช้ยาถ่าย หรือ Catharsis ในคนที่ท้องผูกมากๆ ไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้ ย่อมก่อให้เกิดอาการอึดอัดไม่สบายต่างๆ นาๆ เนื่องจากมีของเสียอยู่ในลำไส้มากเกินไป เมื่อคนไข้สามารถถ่ายอุจจาระออกมาได้ก็เท่ากับว่าได้ระบายของเสียที่เป็นพิษเหล่านี้ออกไป ทำให้รู้สึกสบายขึ้น ซึ่งเหมือนกับการที่คนไข้ได้ระบายสิ่งที่คับแค้นเป็นโทษต่างๆ ออกไปจากจิตใจ ย่อมจะทำให้เกิดความสบายใจขึ้น

หลักในการทำ Confession และ Ventilation นั้น คือ อนุญาตให้คนไข้พูดทุกสิ่งทุกอย่าง บางครั้งผู้รักษาอาจจะต้องกระตุ้น ชักชวน ให้กำลังใจ ตามสมควรแก่กรณี วิธีทำ ใช้การนั่งพูดกันตัวต่อตัวระหว่างผู้ป่วยกับผู้รักษา ไม่ใช้วิธีให้คนไข้นอนอย่างการทำจิตวิเคราะห์ สถานที่ หรือห้องที่ใช้รักษา ต้องมีความสะดวกสบายตามสมควร และต้องไม่มี การรบกวน หรือพลุกพล่าน

สิ่งที่จะต้องสังวรไว้คือ การสารภาพบาป และการได้พูดได้ระบายนี้ จะทำได้ เฉพาะความคิดและความรู้สึกในระดับที่รู้สึกตัว หรือ Conscious เท่านั้น ส่วนความคิดความรู้สึกที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึกนั้น ผู้ป่วยไม่สามารถนำมาพูดหรือระบายได้ และถ้าท่านผู้อ่านมีความรู้เรื่องทฤษฎีจิตวิเคราะห์พอสมควร ก็จะทราบว่าความคิด ความรู้สึก รวมทั้ง Mental Conflicts ส่วนมากนั้น จะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก การที่จะนำสิ่งเหล่านี้ออกมาพูดระบายได้ ต้องใช้วิธีแบบจิตบำบัดชั้นสูงเท่านั้น และนี่คือ ข้อบกพร่อง หรือข้อจำกัดของการทำจิตบำบัดชนิดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม จิตบำบัดชนิดนี้ ก็ยังมีประโยชน์มากมาย

สำหรับหน้าที่ของผู้รักษา เมื่อคนไข้พูดระบาย หรือสารภาพผิด ส่วนใหญ่จะรับฟังอย่างตั้งอกตั้งใจเฉยๆ ไม่ต้องแสดงความคิดเห็นอะไร แต่ในบางครั้งผู้รักษาก็อาจจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบได้ ถ้าเห็นสมควร ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้รักษารู้สึกว่า ผู้ป่วยมีความรู้สึกผิดหรือบาปมากเกินไป ผู้รักษาก็อาจจะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่า ความรู้สึกที่ผู้ป่วยมีอยู่นั้นมากเกินไป คนทุกคนย่อมเคยทำความผิดมาแล้วทั้งนั้น แต่ผู้ป่วยประเมินค่าของความผิดสูงมากเกินไป หรือในกรณีผู้ป่วยรู้สึกผิด หรือเป็นบาปที่มีความคิดไม่ดีบางอย่างอยู่ แต่ผู้ป่วย ยังไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้นเลย ผู้รักษาก็อาจจะต้องชี้ให้เห็นว่า ความคิดหรือความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านี้เป็นของธรรมดาที่ทุกคนจะต้องมีบ้าง แต่ถ้ายังไม่ได้กระทำลงไป ก็ไม่จำเป็นจะต้องกลัว ผิดหรือเป็นบาป (ข้อนี้แตกต่างจากศีลธรรม และศาสนาตรงที่ว่า แม้มีความคิดไม่ดี หรือ ความรู้สึกไม่ดีเท่านั้น ยังไม่ได้มีการกระทำลงไปเลย ก็ถือว่าเป็นบาป หรือมีความผิดแล้ว ส่วนจิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ถือว่า การที่มีเพียงความคิด ความรู้สึกเท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นความผิดหรือบาป)

ในการที่ผู้รักษาจะอธิบายเรื่องนี้แก่คนไข้นั้น ผู้รักษาจะต้องไม่แสดงความคิดเห็น ในทำนองว่า “ยุ” ให้คนไข้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ตามอำเภอใจ การที่คนไข้มีความรู้สึกดังกล่าวนั้น เป็นของธรรมดา “แต่” จะทำทุกอย่างตามความต้องการนั้น “ไม่ถูกต้อง” ผู้รักษาจะเน้นแค่เพียงว่า การที่มีความคิด ความรู้สึก แต่ยังไม่ได้กระทำลงไปนั้น ไม่เป็นความผิด หรือเป็นบาป เพราะมนุษย์เราทุกคนนั้น ย่อมจะมีความคิด ความรู้สึกที่ไม่ดีได้ แต่มนุษย์เราส่วนใหญ่ จะไม่กระทำตามความคิดความรู้สึกดังกล่าว

ในบางครั้ง คนไข้จะสารภาพเรื่องการกระทำความผิดด้วย การที่คนไข้ “คิดว่า” ได้กระทำความผิดนี้ ก็คล้ายกับการสารภาพความรู้สึก และความขัดแย้งภายในจิตใจ คือ ส่วนมากจะไม่ใช่ “ความผิด” ที่ร้ายแรง อย่างที่คนไข้ “ประเมิน” การกระทำเอาไว้ และในบางครั้ง คนไข้ได้กระทำผิดเพียงเล็กน้อย ซึ่งคนทั่วไปก็ไม่ถือสาอะไร

แต่อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง คนไข้กระทำความผิดที่ร้ายแรงจริง เช่น กระทำอาชญากรรม โจรกรรม ข่มขืนกระทำชำเรา ฯลฯ เมื่อผู้รักษาได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ อาจเกิดความรู้สึกเกลียดคนไข้ ไม่สามารถทำใจให้สงบหรือเป็นกลางได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเกิดผลเสียหายทั้งแก่ผู้รักษาเองและคนไข้ด้วย เพราะฉะนั้น จึงขอเตือนว่า ผู้รักษาจะต้องควบคุม อารมณ์ของตนเอง และความมีท่าทีแบบนักวิชาการให้ได้ ศึกษาเรื่องราวอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อหาสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้ ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีบุคลิกภาพแบบ Sociopathic Personalityหรือเป็นแบบ Seriously Immature ผู้รักษาอาจจะต้องแนะนำให้ผู้ป่วยรับการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูง (ถ้าสามารถทำได้) ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ต้องให้คำแนะนำในลักษณะที่ว่า ให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงต่อสิ่งเย้ายวน หรือปลีกตัวจากสถานการณ์ที่อาจชักจูงให้กระทำผิดอีก

คนไข้อันธพาลเหล่านี้ ตามธรรมดาจะไม่มาพบจิตแพทย์หรือผู้รักษา บุคคลเหล่านี้จะไม่มีความรู้สึกว่าตนได้กระทำผิด คนไข้ประเภทนี้ จะมาพบผู้รักษาก็เพราะศาล ตำรวจ หรือญาติพี่น้อง “สั่ง” ให้มาพบแพทย์

แต่อย่างไรก็ตาม เราพบว่าคนไข้ที่กระทำความผิดดังกล่าว ส่วนมากเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ใช่อันธพาล ผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้ มักจะกระทำความผิดเพียงเล็กน้อย แต่มีความรู้สึกว่าตนได้ทำผิด หรือทำบาปอย่างร้ายแรงเกินความเป็นจริง และในหลายกรณีได้กระทำผิดเพียงครั้งเดียว หรือสองครั้ง ในระยะเวลาตั้ง 20 ปี หรือนานกว่านั้น

ตัวอย่างเช่น สมมติว่า ผู้ป่วยได้เคยขโมยเงินเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อผู้ป่วยมาสารภาพผิดกับผู้รักษา เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้รักษาจะต้องเห็นด้วยกับผู้ป่วยว่า การกระทำเช่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและน่าเสียใจ และควรหาทางหลีกเลี่ยง เพื่อที่จะไม่ทำผิดอีก แต่ผู้รักษา อาจแสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่า การกระทำผิดของผู้ป่วยนั้นไม่ได้ร้ายแรงหรือเป็นบาปหนักอย่างที่ผู้ป่วยหวาดกลัว คนทั่วไปนั้น ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจับผิดคนอื่น และคนมักให้อภัยและลืมเรื่องดังกล่าว ถ้าไม่ใช่เป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรง

นอกจากนี้ ผู้รักษาจะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่า มนุษย์เรานั้น มักจะกระทำผิดเพราะมีแรงกระตุ้นมาจากภายในจิตใจที่เราไม่รู้สึกตัว และในหลายกรณี ผู้กระทำความผิด “ไม่มีเจตนา” ในระดับที่รู้สึกตัว และไม่ต้องการทำผิดด้วย การที่ผู้ป่วยได้กระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งคราวนั้น ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะเป็นคนเลวตลอดไป เราทุกคนก็เคย ทำผิดมาแล้วทั้งนั้น ความผิดเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งที่อภัยให้กันได้ ยิ่งผู้ป่วยเป็นคนสำนึกบาป หรือความผิด และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เป็นสิ่งที่ดีและน่าชมเชยมากกว่าที่จะถูกติเตียน

ในกรณีที่ผู้ป่วยได้กระทำผิดร้ายแรงจริง ผู้รักษาต้องมีท่าทีเป็นกลาง หมายความว่า ถึงแม้ผู้รักษาจะตำหนิการกระทำของผู้ป่วยก็จริง แต่ผู้รักษายังเต็มใจช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไปและผู้รักษาจะต้องศึกษาหาสาเหตุของการกระทำดังกล่าว พร้อมทั้งหาทางป้องกันไม่ให้กระทำผิดอีก

นอกจากนี้ ผู้รักษาจะต้องชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบว่า การที่ผู้ป่วยเสียเวลาหมกมุ่น ตำหนิติเตียนหรือลงโทษตัวเองตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ควรใช้เวลาหาทางแก้ตัวหรือแก้ไขความผิด ถ้าเป็นสิ่งที่ทำได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยขโมยเงินเขามา แพทย์หรือผู้รักษาก็ควรแนะนำให้เอาไปคืนเจ้าของ แต่ในบางครั้งการคืนเจ้าของอาจมีปัญหา เพราะว่าเจ้าของเองก็ไม่ทราบว่าถูกขโมยเงิน การจะนำเงินไปคืนเป็นเรื่องอื้อฉาว อาจสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยได้ ผู้รักษาก็อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบริจาคเงินดังกล่าวกับองค์การกุศลต่างๆ แทน ในกรณีที่ผู้ป่วยกระทำผิดอย่างอื่น และไม่สามารถลบล้างความผิดได้ กรณีเช่นนี้ผู้รักษาอาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยกระทำความดี เพื่อชดเชยพฤติกรรมดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ให้ทำบุญรักษาศีล ฯลฯ

ในการที่คนไข้สารภาพผิดกับแพทย์หรือผู้รักษานี้ ถ้าแพทย์หรือผู้รักษามีความจริงใจ สนใจ ยินดีที่จะทำงานหนักเพื่อช่วยคนไข้ เคารพในความเป็นมนุษย์ของคนไข้ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เกิด “บรรยากาศของการรักษา” ที่ได้อธิบายมาแล้ว และในบางครั้งอาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Transference ขึ้น ถ้าแพทย์หรือผู้รักษาไม่ทราบ ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อการรักษาหรือผู้รักษาก็ได้ เรื่องราวของ Transference และการแก้ไขนั้น จะได้กล่าวถึงอย่างละเอียด เมื่อพูดถึงการทำจิตบำบัดชั้นสูง ในที่นี้จะกล่าวถึงพอเป็นแนวทาง ให้ผู้รักษาที่ไม่สามารถทำจิตบำบัดชั้นสูงทราบไว้ตามสมควร ดังนี้

Transference ในความหมายทั่วไปนั้น หมายถึงการที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกต่อผู้รักษา (ส่วนความหมายเดิมตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ หมายถึง การที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกต่อผู้รักษาเสมือนหนึ่งว่า ผู้รักษาเป็นบุคคลสำคัญต่อจิตใจของคนไข้ในวัยเด็ก คือ บิดา มารดา พี่น้อง ญาติใกล้ชิด ฯลฯ)

ความรู้สึกของคนไข้ที่มีต่อผู้รักษา ที่กล่าวถึงนี้ อาจจะเป็นไปได้ทั้งทางบวกและทางลบ ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงความรู้สึกในทางบวกก่อน คือ คนไข้อาจจะชอบผู้รักษา รัก ผู้รักษา และในรายที่รุนแรงมากๆ อาจจะต้องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้รักษา ความรู้สึกของคนไข้ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดเพราะผู้รักษาเป็นคนหล่อหรือสวย หรือมีบุคลิกภาพน่าประทับใจ ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะความใกล้ชิด และคุณลักษณะของผู้รักษาที่สามารถสร้าง “บรรยากาศของการรักษา” ถ้าความรู้สึกของคนไข้ที่กล่าวมานี้ไม่มากและไม่ส่อถึงพฤติกรรมทางเพศที่เกินขอบเขตแล้ว ผู้รักษาไม่จำเป็นต้องสนใจเลยก็ได้ ความจริงความรู้สึกของคนไข้ ในทางบวกที่สามารถควบคุมได้นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษามาก เพราะจะทำให้คนไข้มีความรู้สึกอบอุ่น มั่นคง และปลอดภัย แต่ในกรณีที่ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมาก และอาจเป็นอันตรายได้นั้น เป็นเพราะว่าผู้รักษาที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และมักจะกระทำในสองอย่าง คือ ทอดทิ้งหรือละทิ้งคนไข้ หรือมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับคนไข้ ซึ่งเป็นอันตรายทั้งสองอย่าง ขอเรียนให้ทราบว่า หน้าที่ของผู้รักษา คือ ให้การรักษาคนไข้ “ไม่ใช่” เป็นคู่รัก ของคนไข้

วิธีแก้ไขสำหรับแพทย์ผู้รักษาที่ไม่สามารถทำจิตบำบัดชั้นสูงได้ ขอเรียนแนะนำดังนี้ ผู้รักษาจะต้องไม่ทอดทิ้งคนไข้ ไม่ทำให้คนไข้เสียใจ หรืออับอายขายหน้า แต่ให้ลดความใกล้ชิดลง เช่น พบคนไข้น้อยลง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ให้หลีกเลี่ยงการพูดจา หรือสนทนากับคนไข้ในเรื่อง “ส่วนตัว” ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษา ถ้าผู้รักษาเป็นแพทย์ฝ่ายกาย ขอเรียน แนะนำว่า ให้ตรวจร่างกายคนไข้น้อยลง หรือเท่าที่จำเป็น ไม่ควรตรวจร่างกาย หรือ “แตะต้อง” ตัวคนไข้โดยไม่จำเป็น อยากจะเรียนให้ทราบว่า ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกผูกพันกับแพทย์เช่นนี้มักจะมี “วิธีการ” เรียกร้องให้แพทย์ตรวจร่างกายบ่อยๆ ถ้าแพทย์ทราบความจริง ก็ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด แต่ให้ใช้การปฏิเสธที่นิ่มนวล โดยไม่ให้คนไข้เสียใจมากนัก หรือคิดว่าแพทย์ได้ทอดทิ้งตน สำหรับแพทย์บางท่านที่มักจะแต่งตัวดี และมี “เสน่ห์” หรือ น่าประทับใจ ถ้าจะพบคนไข้ประเภทนี้ ก็ควรจะแต่งตัวให้สุภาพ แต่ให้ลดความมี “เสน่ห์” หรือน่าประทับใจลงไปด้วย

มีข้อที่น่าสังเกตว่า Transference ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยที่มีเพศตรงข้ามกันเสมอไป อาจจะเกิดขึ้นระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเพศเดียวกันก็ได้ ตัวอย่างเช่น คนไข้ชายรักแพทย์ชาย หรือคนไข้หญิงรักแพท์หญิง เป็นต้น ส่วนวิธีแก้ไข ก็ใช้วิธีเดียวกันที่ได้อธิมายมาแล้ว

ในกรณี Transference ที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นไปในทางลบนั้น มีได้ดังนี้ คือ ผู้ป่วยจะโกรธ เกลียด อิจฉาริษยา ระแวงสงสัย ต่อต้าน ชวนทะเลาะวิวาทกับผู้รักษา ถ้าแพทย์ไม่สามารถทำจิตบำบัดชั้นสูงได้ ก็ควรโอนคนไข้ไปให้แพทย์คนอื่น หรือผู้รักษาคนอื่นตามความเหมาะสม

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า