สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไวตามินบำบัดเพื่อเยียวยารักษาโรค

เป็นการใช้ไวตามิน แร่ธาตุ เพื่อป้องกัน รักษาอาการป่วย และแก้ไขปัญหาทางสรีระและทางจิตอื่นๆ ได้อีกด้วย

โดยทั่วไปมักจะให้รับประทานไวตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่มากกว่ามาตรฐานที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดสำหรับการรักษาอาการป่วย

ปริมาณที่แนะนำ ที่เรียกย่อๆ ว่า อาร์ดีเอ(RDA) ย่อมาจาก recommended daily allowance นี้ รัฐบาลอเมริกันจะกำหนดเอาไว้เพื่อใช้เป็นมาตรฐานว่าในวันหนึ่งๆ ควรได้รับสารอาหารอย่างไหนเข้าไปในร่างกาย และมีปริมาณเท่าไร มีอยู่หลายประเทศที่ใช้ตัวเลยของรัฐบาลอเมริกันเป็นมาตรฐาน แต่ก็อาจจะใช้ไม่เหมือนกันได้ในบางประเทศ

ในการรับประทานไวตามินในปริมาณมากๆ เช่นนี้ ในบางครั้งก็เรียกว่า เมกะไวตามิน(megavitamin therapy) หรือออร์โธโมเลคูลาร์ เธราพี(Orthomolecular Therapy)

สำหรับโภชนาการของมนุษย์ ไวตามินเป็นสารอินทรีย์พวกที่มีความจำเป็นอย่างหนึ่ง ไวตามินที่ได้รับการรับรองว่าจำเป็นในปัจจุบันมีอยู่ 13 ชนิด ร่างกายจำเป็นต้องใช้ไวตามินในปริมาณเล็กน้อยเพื่อสร้างกระบวนการแปรอาหารไปเป็นเนื้อหนังและพลังงาน แม้ว่าจะไม่ได้ให้พลังงานแก่ร่างกายก็ตาม

อาหารที่มีไวตามินและแร่ธาตุได้ถูกนำมาใช้เป็นวิธีป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา อย่างเช่นในประวัติศาสตร์ที่ฮิปโปเครตีสได้เคยกล่าวไว้ว่า อาการของโรคลักปิดลักเปิดซึ่งมีเลือดออกที่เหงือก มักพบในกองทัพที่กินแต่เสบียงที่เป็นอาหารแห้งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ

ในสมัยศตวรรษที่ 15 และ 16 การขาดอาหารสดของกลาสีเรือชาวสเปนและปอร์ตุเกส ก็ทำให้ป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิดเช่นกัน และในปี ค.ศ.1747 เจมส์ ลินด์(James Lind) ศัลยแพทย์ประจำกองทัพเรือของอังกฤษ ได้ใช้อาหารและเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคลักปิดลักเปิด และพบว่าผู้ป่วยได้หายจากอาการของโรคนี้เร็วที่สุดเมื่อกินส้มสองผลและมะนาวหนึ่งผลทุกวัน แม้จะยังไม่ได้ค้นพบไวตามินซีในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าผลไม้ตระกูลส้มมีไวตามินซีช่วยป้องกันโรคลักปิดลักเปิดได้ ซึ่งชาวอังกฤษเรียกว่า ไลมี่(Limey มาจากคำว่า lime หรือผลไม้จำพวกมะนาวนั่นเอง)

ในย่านที่กินข้าวจ้าวเป็นอาหารหลักอย่างอินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โรคเหน็บชาก็ได้ปรากฏขึ้นมาให้เห็น ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ระคายเคืองกระเพาะอาหาร อ่อนเปลี้ยไม่มีแรง อาการประสาทเสื่อม ทำให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดมากและในที่สุดก็ถึงแก่ความตาย

ในเวลาต่อมาจึงได้ทราบว่า เยื่อสีน้ำตาลที่หุ้มเมล็ดข้าวไว้จะช่วยป้องกันโรคเหน็บชา ซึ่งในเยื่อนี้จะมีสารชื่อ ไธอามินหรือไวตามินบี 1 อยู่ จึงไม่ควรขัดข้าวจนขาวก่อนรับประทาน

การขาดวิตามินดี เป็นสาเหตุของการเกิดโรคกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้คนมาตั้งแต่ยุคกลาง และเข้ามาถึงในศตวรรษที่ 2 โรคนี้เป็นตัวการให้เกิดสภาพแขนขาบิด กระดูกสันหลังคด ข้อต่อบวม

ส่วนสาเหตุจากการขาดไวตามินบี 3 หรือไนอาซิน ก็จะทำให้เกิดเป็นโรค เพลลากรา(Pellagra) ขึ้น ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้มีอาการผิวเป็นเกร็ด ท้องเสียและเสียสติ(อาการจะคล้ายกับโรคจิตเภทหรือสคีโซเฟรเนีย)

แม้แพทย์บางคนในอดีตจะเชื่อว่าการรับประทานไวตามินเข้าไปก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะหมด แต่ทัศนะดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไป มีงานวิจัยมากมายหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ให้กำลังใจ และเชื่อแล้วว่าการแพทย์แบบเก่าเคร่งครัดเกินไป และปัจจุบันได้ตระหนักถึงศักยภาพของไวตามินในทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาโรคกันมากขึ้น

นักเคมีผู้ได้รับรางวัลโนเบล อย่างเช่น ไลนัส พอลลิ่ง(Linus Pauling) ก็เป็นผู้สนับสนุกการใช้ไวตามิน และในต้นทศวรรษที่ 1970 ก็ได้กระตุ้นให้เกิดการโต้เถียงเรื่องไวตามินกันขึ้นมา และทำให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับไวตามินกันมากขึ้นเมื่อเขาได้สนับสนุนให้ใช้ไวตามินซีเพื่อรักษาโรคต่างๆ หลายชนิด รวมทั้งประโยชน์อื่นๆ ในการรักษาอาการป่วย และเมื่อผลลัพธ์ทางบวกมีมากขึ้น ไวตามินก็ได้กลายเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคที่ผู้ป่วยสามารถนำมาช่วยเหลือตัวเองได้

ในปลายทศวรรษที่ 1970 การใช้ไวตามินและแร่ธาตุได้เป็นส่วนสำคัญของขบวนการยืดอายุขัย และมีชื่อเสียงโดยผ่านงานของเดิร์ก เพียร์สัน(Durk Pearson) และแซนดี้ ชอว์(Sandy Shaw) ซึ่งได้มีการกำหนดให้ใช้ไวตามินและแร่ธาตุกันอย่างกว้างขวาง

ทุกวันนี้ประชาชนทั่วไปมีความรู้เกี่ยวกับไวตามินมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีนิตยสารบางเล่มแสดงให้เห็นว่า ระดับต่ำๆ ของไวตามินและแร่ธาตุบางอย่างในร่างกาย มีส่วนสัมพันธ์กับโรคบางอย่างหรือเป็นสภาพอาการก่อนที่จะเกิดโรคขึ้นมา และจากการศึกษาของวิทยาลัยแพทย์ของมหาวิทยาลัยอลาบามาได้แสดงให้เห็นว่า ในสตรีที่มีระดับกรดฟอลิค(Folic acid) ในโลหิตต่ำ เมื่อได้รับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่คอมดลูกแล้วจะมีโอกาสเกิดแผลในสภาพก่อนเป็นมะเร็งมากขึ้น 5 เท่า และการใช้ไวตามินบี 3 ไวตามินซีและไวตามินบี 6 ประกอบกันรักษาอย่างได้ผลในผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทหรือจิตแตก ที่สับสนว่าอะไรจริงกับอะไรเป็นสภาพของประสาทหลอน ที่เรียกว่า สคีโซเฟรเนีย(Schizophrenia)

จากการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยชายที่มีสภาพตาบอดกลางคืนสามารถแก้ไขได้ด้วยธาตุสังกะสี และยังมีอาการดีขึ้นในรายที่มีอาการของต่อมลูกหมากโต

คนที่อยู่ในที่ที่มีมลภาวะในอากาศรุนแรง สามารถลดผลกระทบที่เป็นอันตรายจากสภาพอากาศเป็นพิษลงได้มากด้วยการรับประทานไวตามินเอเสริม และจำเป็นต้องได้รับแพนโทเธเนต(pantothenate) ซึ่งเป็นไวตามินบีชนิดหนึ่งที่หมดเปลืองไปจากร่างกายอย่างรวดเร็วในผู้ที่ต้องประสบกับความเครียดมากเป็นประจำทุกวัน

ไวตามินและแร่ธาตุ สามารถส่งอิทธิพลถึงอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างไร สารอาหารจำพวกกรดอะมิโนกับไวตามินเสริมสามารถใช้เป็นวิธีการทางโภชนาการ ซึ่งจะส่งผลในทางบวกอย่างสำคัญยิ่งต่อสภาพอาการหดหู่ซึมเซา อารมณ์ห่อเหี่ยวเบื่อหน่าย และต่อสุขภาพโดยทั่วๆ ไปได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการบรรยายของแพทย์หญิงพริสซิลลา สเลเกิล(Priscilla Slagle) ในหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า The Way Up From Down

ยังมีการดำเนินการวิจัยต่อไปเกี่ยวกับประโยชน์ที่เป็นได้ของไวตามินและแร่ธาตุ เพราะเป็นผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพและอายุขัยของมนุษย์ในอนาคต

ผู้ป่วยควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะใช้ไวตามินในการรักษาโรค แม้ว่าจะมีหนังสืออยู่มากมายให้ศึกษาค้นคว้าก็ตาม

อาจเป็นผลเสียต่อสุขภาพจนถึงขั้นเป็นอันตรายได้หากรับประทานไวตามินและแร่ธาตุบางชนิดมากเกินไป และจากการศึกษายังได้บ่งชี้ถึงอันตรายของไวตามิน จากที่เคยเชื่อกันว่ามีประโยชน์ เช่น ทดลองให้ผู้ที่สูบบุหรี่รับประทานสารเบตาคาโรทีนกับเรตินอล ผลปรากฏว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่ปอดและเสียชีวิตด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้น จึงต้องยุติการทดลองลงกลางคัน ซึ่งการทดลองนี้ค้านกับความคิดและผลการศึกษาชิ้นอื่นๆ ในคนกลุ่มย่อย ที่พบว่า เบตาเคโรทีนและไวตามินเอ มีสรรพคุณในการป้องกันโรคมะเร็งได้

และมีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารหลายแห่งไม่ส่งเสริมให้รับประทานไวตามินสังเคราะห์หรือที่ได้จากการสกัด หากได้รับไวตามินตามธรรมชาติจากการรับประทานอาหารที่ครบรูปแล้ว

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า