สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การออกกำลังกายแบบไท้เก๊ก

ไท้เก๊ก(Tai Chi Chuan)
ไท้เก๊กหรือไท่ชีชวน แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้นเป็นระบบสำหรับการป้องกันตัว แต่กลายเป็นระบบการออกกำลังกายหรือยิมนาสติคที่ฝึกกันในประเทศจีนในปัจจุบันนี้ ไท้เก๊กมีหลักการของการเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะการถ่วงดุลของน้ำหนักร่างกายที่ถูกต้อง และการหายใจที่ไม่ต้องออกแรงไท้เก๊ก

ไท้เก๊กมีลักษณะเด่นคือ จะมีการเคลื่อนไหวแบบช้าๆ และต่อเนื่องโดยไม่มีการเกร็งหรือฝืนตลอดการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งการเคลื่อนไหวในแต่ละท่าจะพัฒนามาจากการผสมผสานวิธีการเก่าและมีการวิวัฒนาการเรื่อยมา หรืออาจกล่าวได้ว่า ไท้เก๊กเป็นการออกกำลังกายที่ต้องใช้ความคิดและจิตใจเป็นตัวควบคุมนั่นเอง

มีพระสงฆ์ชาวอินเดียรูปหนึ่ง ชื่อ ธรุมา(Dharuma) ได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนพุทธศาสนาแบบเซนขึ้นในประเทศจีนในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 6 ได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนชกมวยขึ้นตามวัดต่างๆ ในเส้าหลิน ซึ่งการชกต่อยจะถูกมองกันในแง่ของความกล้าหาญและความแข็งแร็งของร่างกายในสมัยนั้น

มีข้อสรุปจากนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ว่า ไท้เก๊ก มีกำเนิดขึ้นตอนใกล้จะสิ้นสุดราชวงศ์ซุง และผู้ให้กำเนิดก็คือ ชาง ซาน-เฟ็ง(Chang San-feng)ผู้เชี่ยวชาญด้านการชกมวยแนวลัทธิเต๋าที่มีชื่อเสียงและมีกำลังมาก เขาได้ประยุกต์ปรับการชกมวยมาจากปรัชญาของจักรพรรดิเหลืองในสมัยศตวรรษที่ 27 ก่อนคริสตกาล และปรัชญาของเล่าจื๊อ

เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกายแทนการพัฒนาแต่เฉพาะพลังของกล้ามเนื้อ ชาง ซาน-เฟ็ง ได้พัฒนาการออกกำลังกายที่มีจังหวะจะโคนขึ้นมาใช้ประกอบควบคู่ไปกับการชกมวยด้วย ซึ่งแตกต่างไปจากการชกมวยแบบดั้งเดิมที่ต้องอาศัยความแข็งแกร่งเป็นหลักในการชกแบบหนักๆ

มีเรื่องเล่ากันว่า ชาง ซาน-เฟ็ง ได้มองเห็นว่าทุกส่วนของร่างกายทำงานพร้อมๆ กัน โดยร่วมมือกับส่วนอื่นๆ อย่างไรในระหว่างที่อยู่ในภาวะกึ่งเข้าฌาณ เขาจึงได้ตระหนักว่าหลักการที่สำคัญที่เป็นตัวชี้แนวในร่างกายนั้นทำงานอย่างไรจึงมีผลกระทบในการเผาผลาญอาหารและเอื้อต่อการหมุนเวียนของโลหิต

จากประสบการณ์หลายๆ ครั้ง เขาได้เข้าใจแล้วว่าการเคลื่อนไหวทุกอย่างของคนเราควรปฏิบัติตามหรือเชื่อฟังธรรมชาติแทนการออกกำลังกายแบบที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ซึ่งวิธีการที่สร้างความมีชีวิตชีวาและความแข็งแกร่งให้กับร่างกายที่เขาพัฒนาขึ้นมานี้ใช่ว่าจะมีประโยชน์เฉพาะบรรดาศิษย์ของเขาเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์กับคนทั่วไปด้วย

ตลอดเวลาหลายร้อยปีระบบดั้งเดิมของ ชาง ซาน-เฟ็ง ได้ถูกขยายออกไปมากและปัจจุบันได้กลายมาเป็นรูปแบบที่มีความซับซ้อนประณีตมากขึ้น และได้มีนักประพันธ์และผู้รู้ไท้เก๊กสมัยใหม่ ชื่อ เชง แมน-ชิง(Cheng Man-Ching)ได้ทำให้ระบบนี้ง่ายขึ้นจากระบบที่สมบูรณ์ที่ประกอบไปด้วยการเคลื่อนไหวต่างๆ 128 ท่าในแบบดั้งเดิม

ในยุคแรกได้มีการลดการเคลื่อนไหวเหลือ 13 กระบวนท่า แต่ในปัจจุบันได้ปรับปรุงใหม่เป็น 37 กระบวนท่า และได้อนุรักษ์ปัจจัยพื้นฐานและความต่อเนื่องในการเคลื่อนไหวแบบดั้งเดิมใน 128 กระบวนท่าเอาไว้ด้วย

สุขภาพและความสงบในขณะที่พัฒนาความคิดจิตใจและร่างกายโดยผ่านการเคลื่อนไหวเป็นวัตถุประสงค์ของไท้เก๊ก ทำให้คนเรารู้วิธีควบคุมระบบประสาทเพื่อให้ร่างกายได้พัก ซึ่งเป็นการรักษาสุขภาพอนามัยที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง

การออกกำลังกายแบบไท้เก๊กเหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย ทุกสภาวะของสุขภาพ เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ต้องใช้แรงกายในตอนแรก ซึ่งการออกกำลังกายนี้จะเริ่มด้วยการคลายกล้ามเนื้อเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายเสียก่อน แล้วจึงระบายเอาความตึงเครียดที่เก็บสั่งสมไว้ออกไปซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ

การรักษาดุลที่สมบูรณ์ของร่างกายเอาไว้เสมอทุกเมื่อถือเป็นสาระสำคัญของไท้เก๊ก และเพื่อรักษาความมั่นคงเอาไว้ให้มากที่สุดการเคลื่อนไหวแบบไท้เก๊กส่วนใหญ่จึงต้องทำในท่ากึ่งคุดคู้ ไท้เก๊กดูเหมือนกับการร่ายรำในรูปแบบหนึ่งแม้ว่าจะไม่ได้มุ่งเพื่อการนำเสนอต่อผู้ชม แต่จะมีรูปแบบและหน้าที่อยู่ในตัวเองอย่างสมบูรณ์ไม่ได้มีรากมาจากศิลปะการร่ายรำแบบใด

คุณลักษณะ 5 ประการที่สำคัญของไท้เก๊ก คือ
ความช้า ซึ่งช่วยพัฒนาความรับรู้
ความเบา ช่วยให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างต่อเนื่องราบรื่น
ความสมดุล ทำให้ร่างกายอยู่ในท่าที่ไม่ต้องเครียดเกร็ง
ความสงบ ได้มาจากความต่อเนื่องที่มีการเคลื่อนไหวแบบไหลเรื่อยเสมอกัน
ความชัดเจน คือการชำระจิตใจให้สะอาดปราศจากความคิดที่เข้ามาบุกรุก

ไท้เก๊กมีปัจจัยสำคัญอยู่สองประการคือ ความอ่อนนุ่มและการเคลื่อนไหวเป็นวงกลม เนื่องจากการไหลอย่างต่อเนื่องจากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่งจึงทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ ดูนุ่มนวล โดยระหว่างปฏิบัติจะไม่มีความตึงเกร็ง มีการเคลื่อนไหวเป็นวงกลมด้วยรูปแบบทางเรขาคณิต เช่น วงกลม วงโค้ง เป็นเกลียว เว้าโค้ง ในขนาดและทิศทางต่างๆ มากมาย ซึ่งการเคลื่อนไหวแบบวงกลมจะช่วยสร้างความสม่ำเสมอ กระตุ้นให้เกิดความสงบและสร้างพลังงาน

การฝึกไท้เก๊กมีประโยชน์ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ช่วยให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น เพิ่มการหมุนเวียนของโลหิตเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ กระตุ้นระบบประสาทและกิจกรรมของต่อมต่างๆ ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ต้องเพิ่มการทำงานของหัวใจหรือเปลี่ยนจังหวะการหายใจเนื่องจากมีความสมดุลอยู่แล้ว ทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการทรงตัวที่ดีด้วยเมื่อฝึกไท้เก๊ก

ไท้เก๊กเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเยียวยาภาวะความดันโลหิตสูง โลหิตจาง ความผิดปกติที่ข้อต่อ และความผิดปกติที่ระบบการย่อย ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการเยียวยารักษาโรคได้ด้วย

มีคนนับล้านๆ ในประเทศจีน ที่ออกมาฝึกไท้เก๊กทุกวันตามถนน ตามจัตุรัสสวนสาธารณะและแม้กระทั่งบนหลังคาบ้านในยามรุ่งสาง

สำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับไท้เก๊ก มีหนังสือที่ดีเยี่ยมอยู่คือ หนังสือเรื่อง Tai Chi Chuan: A Simplified Method of Calisthenics for Health & Self Defense ของเชง แมน-ชิง(Cheng Man-Ching)

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า