สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไข้หวัด

(Common cold/Upper respiratory tract infection/URI)
ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โรคที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ไข้หวัด โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนบางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง เฉลี่ยประมาณเดือนละครั้ง ทำให้เสียเวลา สูญเสียแรงงาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายปีละมากๆ ไข้หวัด

เชื้อไวรัสสาเหตุของไข้หวัดมีมากกว่า 200 ชนิด  ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น จมูก และคอ

ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดต่างๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น  ระยะเวลาป่วยเป็นไข้หวัดห่างออกไป และมีอาการรุนแรงน้อยลง

โรคนี้ติดต่อกันได้ง่าย แม้เพียงการอยู่ใกล้ชิดกัน พบเป็นกันมากในที่ๆ มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่นตามโรงเรียน หรือโรงงาน

ไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้ทั้งปี หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ฤดูฝน ฤดูหนาว แต่จะพบได้น้อยในฤดูร้อน

สาเหตุ
เกิดจากไวรัส(virus)เชื้อหวัด  จากกลุ่มไวรัส 8 กลุ่ม ซึ่งมีมากกว่า 200 ชนิด กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มไวรัสไรโน(rhinovirus) ซึ่งพบว่ามีมากกว่า 100 ชนิด นอกเหนือจากนี้ก็มีกลุ่มไวรัสโคโรนา (corona virus) กลุ่มไวรัสอะดีโน (adenovirus) กลุ่มอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus/RSV) กลุ่มไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (parainfluenza virus) กลุ่มเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) กลุ่มไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) กลุ่มเชื้อเริม (herpes simplex virus) เป็นต้น การเกิดโรคเกิดได้จากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นไข้จากเชื้อหวัดชนิดนั้นแล้วร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนั้น  เมื่อเกิดเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะหมุนเวียนด้วยเชื้อหวัดชนิดใหม่ไปเรื่อยๆ

เชื้อหวัดติดต่อโดยการสูดหายใจเอาละอองเสมหะที่มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจามรด ในระยะไม่เกิน 1 เมตร ซึ่งเป็นการแพร่กระจายละอองเสมหะที่มีขนาดใหญ่(droplet transmission)

นอกจากนี้ยังอาจติดต่อโดยการสัมผัสมือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่น หนังสือ โทรศัพท์ เหล่านี้เป็นต้น หรือจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อหวัด เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายจนกลายเป็นไช้หวัดได้โดยการใช้มือขยี้ตา หรือแคะจมูก

ระยะฟักตัว
1-3 วัน นับตั้งแต่รับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งมีอาการเกิดขึ้น

อาการ
ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย มีไข้เป็นพักๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง เจ็บคอ ไอมีเสมหะสีขาวเล็กน้อย หรือไอแห้งๆ เวลาไออาจทำให้เจ็บบริเวณลิ้นปี่ อาจมีการอาเจียนเวลาไอ
ในเด็กเล็ก
ในเด็กทารกอาจมีอาการท้องเดินและอาเจียนร่วมด้วย
ในเด็กมักจับไข้ขึ้นทันทีและมีไข้สูงถึงชักได้
ในผู้ใหญ่อาจมีแค่คัดจมูก น้ำมูกใส แต่ไม่มีไข้

ถ้าหากมีไข้เกิน 4 วัน น้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชม. ไอมีเสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียวแสดงว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

สิ่งตรวจพบ
ในเด็กอาจพบทอนซิลโต ไม่แดงและไม่มีหนอง สำหรับผู้ใหญ่มีไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวมแดง คอแดงเล็กน้อย

ภาวะแทรกซ้อน
การอักเสบแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรียสามารถพบได้บ่อย จึงทำให้มีน้ำมูกสีเหลืองหรือสีเขียว อาจทำให้เป็นทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หากมีการลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงนั้น

เด็กเล็กอาจมีอาการชักจากไข้สูง
บางรายเสียงแหบจากกล่องเสียงอักเสบ
บางรายอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นกลางอักเสบ ที่เรียกว่า หลัดลงหู ทำให้เกิดอาการบ้านหมุน

ผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อน ทำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอเช่นจากการขาดอาหาร ในทารกหรือผู้สูงอายุ มักเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง

การรักษา
ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียารักษาโดยเฉพาะจึงต้องรักษาไปตามอาการเท่านั้น คือ
1. การปฏิบัติตัว
-ห้ามออกกำลังกาย หรือทำงานหนักมากเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอ
-อย่าตากฝน อาบน้ำเย็น หรืออากาศเย็นจัด สวมเสื้อผ้าที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น
-ทดแทนน้ำที่เสียไปจากไข้สูง และลดไข้ด้วยการดื่มน้ำมากๆ
-ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น น้ำข้าว เครื่องดื่มร้อนๆ น้ำหวาน น้ำผลไม้ เป็นต้น
-เวลามีไข้สูงควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดา อย่าใช้น้ำแข็งหรือน้ำที่เย็นจัด

2. ยาที่ใช้รักษาตามอาการ
สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต
-ใช้พาราเซตามอลเมื่อมีไข้ ควรเลี่ยงการใช้แอสไพรินในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19ปี เพราะอาจเสี่ยงเกิดโรคเรย์ซินโดรม
-ให้ยาแก้แพ้ เช่น คออร์เฟนิรามี ถ้ามีน้ำมูกไหลมากจนรำคาญ ให้ใช้ใน 2-3 วันแรก และหยุดเมื่ออาการทุเลาลง ไม่จำเป็นต้องใช้ยานี้ในกรณีที่มีอาการไม่มากนัก
-ให้จิบน้ำอุ่นมากๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาวอัตราส่วน น้ำผึ้ง 4 ส่วน น้ำมะนาว 1 ส่วน เมื่อมีอาการไอ แต่ถ้าไอมากแบบไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ควรใช้ยาระงับการไอ

สำหรับเด็กเล็กและทารก
-ให้พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อมเพื่อลดไข้
-ใช้ลูกยางเบอร์ 2 ดูดน้ำมูกออกบ่อยๆ กรณีถ้ามีน้ำมูกมาก
แต่ถ้าน้ำมูกข้นเหนียวควรใช้น้ำเกลือหยอดในจมูกก่อนดูดออก หรือใช้กระดาษทิชชูหรือสำลีชุบน้ำต้มสุกหรือน้ำเกลือพอชุ่ม ก่อนสอดเข้าไปเช็ดในจมูก
-จิบน้ำอุ่น หรือน้ำผึ้งผสมมะนาวบ่อยๆ  ถ้าเกิดอาเจียนเวลาไอควรให้นมและอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้งขึ้นโดยเฉพาะตอนเข้านอน ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน

3. ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะเพราะไม่ได้ผลต่อเชื้อหวัดซึ่งเป็นไวรัส เว้นแต่ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม

ยาปฏิชีวนะที่ใช้มี เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้เพนิซิลลินให้ใช้ร็อกซิโทรไมซิน หรือ อีริโทรไมซิน แทน ควรให้นาน 7-10 วัน

4. ให้งดยากระงับไอ และยาแก้แพ้ถ้าไอมีเสมหะเหนียว ควรดื่มน้ำอุ่นประมาณวันละ 15 แก้ว

5. ถ้ามีอาการหอบ หายใจมากกว่า
60 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 0-2 เดือน
50 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 2 เดือนถึง 1 ปี
40 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 1-5 ปี
ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็วหากผู้ป่วยมีไข้เกิน 7 วัน เพราะอาจเป็นปอดอักเสบ และอาจต้องตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เอกซเรย์ เพื่อตรวจหาภาวะรุนแรงอื่นๆ

6. ถ้ามีอาการชักในเด็กร่วมด้วย

7. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เมื่อสงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดนก เช่น มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายภายใน 7 วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วัน

ข้อแนะนำ
1. ปัจจุบันยังไม่มียารักษาและป้องกันอย่างได้ผล เป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น การรักษาขึ้นอยู่กับการพักผ่อนและปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ อาการเป็นไข้ตัวร้อนถ้าเกิน 4 วัน มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือเกิดจากโรคอย่างอื่น

ผู้ป่วยบางรายอาจมีน้ำมูกและไอต่อไปแม้จะหายตัวร้อนแล้ว บางรายอาจนานถึง 7-8 สัปดาห์ เนื่องจากเยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลายชั่วคราว ทำให้ไวต่อสิ่งระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควัน ลักษณะคือไอแห้งๆ มีเสมหะเล็กน้อยสีขาว ดื่มน้ำอุ่นมากๆ งดน้ำเย็นถ้าทำให้ไอมากขึ้น ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยก็ไม่จำเป็นต้องให้ยา

2. ผู้ป่วยไข้หวัดทุกรายไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน

3. ผู้ที่เป็นไข้หวัดเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ อาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น โรคทาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางอะพลาสติก โรคหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด โรคขาดอาหาร เป็นต้น ควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาล

4. เด็กเล็กอาจเป็นไข้หวัดได้บ่อย เพราะติดเชื้อหลายชนิดจากเด็กคนอื่นๆ จากสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียน ควรตรวจร่างกายให้ถี่ถ้วน พ่อแม่จึงควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ควรมียาลดไข้พาราเซตามอลไว้ประจำบ้าน ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เพราะอาจเกิดโทษต่อร่างกาย เช่น ทำให้โรคดื้อยา ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ควรใส่ใจเรื่องอาหารการกิน  น้ำหนักตัว เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดมากชนิดแล้วอาการก็จะเป็นห่างไปเอง

5. ผู้ที่ไม่มีไข้แต่เป็นหวัดและจามบ่อยๆ มักเกิดจากการแพ้ละอองเกสร แพ้ฝุ่น หรือแพ้อากาศมากกว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส

6. ควรตรวจดูอาการของโรคเหล่านี้อย่างละเอียด เช่น หัด ปอดอักเสบ ทอลซิลอักเสบ หากผู้ป่วยมีไข้สูง มีน้ำมูก อาการไข้ไม่ทุเลาลงแม้จะได้รับยาลดไข้แล้ว

โรคติดเชื้ออื่นๆ ที่มีอาการแสดงคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้เลือดออก ไอกรน คอตีบ โปลิโอ ตับอักเสบจากไวรัส ไทฟอยด์ สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น ถ้าพบมีไข้นานเกิน 7 วัน และมีอาการผิดไปจากไข้หวัดธรรมดา ควรแนะนำไปโรงพยาบาล

7. อย่าซื้อยาชุดแก้หวัดที่มีคลอแรมเฟนิคอล เตตราไซคลีน เพร็ดนิโซโลน ผสมอยู่ เพราะอันตรายและไม่มีความจำเป็น

8. ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกเมื่อเป็นหวัด  เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบแทรกซ้อนจากการที่เชื้อลุกลามเข้าหูและโพรงไซนัส

9. อย่าซื้อยาแก้หวัดแก้ไอสูตรผสม แม้แต่ยาแก้แพ้ แก้หวัดให้เด็กเล็กกินเอง อาจเกิดพิษเพราะมีตัวยาเกินความจำเป็น จะทำให้เกิดมีผลข้างเคียงและอาจเป็นอันตรายได้ ควรใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลรักษาเบื้องต้นจะปลอดภัยกว่า

การป้องกัน

1. หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น การออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ  ไม่ทำงานหนักเกินไป รักษาร่างกายให้อบอุ่นเสมอ โดยเฉพาะเวลาอากาศเย็นไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำเย็นมากจนเกินไป

2. ในช่วงที่โรคระบาด หากมีคนใกล้ชิดป่วยควรปฏิบัติดังนี้
-หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่มีผู้คนแออัด ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยสบู่ และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์บ่อยๆเพื่อกำจัดโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะผู้ป่วย อย่าใช้นิ้วขยี้ตาหรือแคะจมูก
-อย่านอนหรือใกล้ชิดผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ หากจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
-ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย และอย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย
-ผู้ป่วยไม่ควรคลุกคลีหรือใกล้ชิดผู้อื่น  เวลาไอ หรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก หรือหากจำเป็นต้องอยู่ในหมู่คนมากๆ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า