สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/Flu)

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี ส่วนมากมักจะระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุจากอาการไข้เฉียบพลัน ตัวร้อนมา 2-3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจน แต่ก็อาจจะวินิจฉัยผิดพลาดได้ในบางครั้งไข้หวัดใหญ่

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา(influenza virus) จัดอยู่ในกลุ่มไวรัส orthomyxovirus
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ เอ บี และซี

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ มักมีอาการรุนแรง สามารถกลายพันธุ์แตกแขนงเป็นสายพันธุ์ย่อยได้ และอาจพบระบาดได้อย่างกว้างขวาง
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบี ความรุนแรงในการระบาด และกลายพันธุ์ของโรคมีน้อยกว่าชนิดเอ
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซี ไม่ค่อยมีการระบาย และมีอาการเพียงเล็กน้อย

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ พบได้ทั้งในคนและสัตว์ ส่วนชนิดบี และซี พบเฉพาะในคนเท่านั้น ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยตามชนิดของโปรตีนบนผิวของเชื้อไวรัส ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin ตัวย่อคือ H) มี 16 ชนิด และนิวรามินิเดส (neuraminidase ตัวย่อคือ N) มีอยู่ 9 ชนิด จึงใช้ตัวอักษรย่อ H ควบคุม N โดยมีตัวเลขตามชนิดโปรตีนกำกับท้ายอักษรแต่ละตัวในการกำหนดชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ

ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เก่า H1N1 ได้เกิดการระบาดคร่าชีวิตผู้คนราว 20-40 ล้านคนทั่วโลกในปี พ.ศ.2461-2462 เกิดในประเทศสเปน จึงมีชื่อว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanishflu) และเกิดระบาดในประเทศรัสเซีย เรียกว่า ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย ซึ่งระบาดในปี พ.ศ.2520

ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 สายพันธุ์ 2009 มีต้นตอจากประเทศเม็กซิโก มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เก่า ซึ่งได้มีการระบาดไปทั่วโลกในปี พ.ศ.2522
-ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H2N2 ในปี พ.ศ.2500-2501เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่เอเชีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนประมาณ 1 ล้านคน
-ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 ในปี พ.ศ. 2511-2512 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 7 แสนคน
-ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 เป็นต้นเหตุของไข้หวัดนก หรือไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก

การแพร่เชื้อ
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองเสมหะเมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม การสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ สิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลายและเสมหะผู้ป่วย

นอกจากนี้ เชื้อยังสามารถแพร่กระจายทางอากาศ (airborne transmission) จากการแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานเมื่อผู้ป่วยไอหรือจามออกมา โรคนี้จึงระบาดได้เร็วโดยไม่จำเป็นต้องไอหรือจามรดใส่กันตรงๆ

ระยะฟักตัวของโรค ประมาณ 1-4 วัน ที่นานเกิน 7 วันอาจมีพบได้บ้างเป็นส่วนน้อย

อาการ
มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะตามกระเบนเหน็บ ต้นแขนต้นขา หนาวๆ ร้อนๆ  ปวดศีรษะ ขมในคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้งๆ จุกและแน่นท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจเป็นหวัดเพียงเล็กน้อย อาการไข้ที่พบบ่อยประมาณ 3-5 วัน หรือ 1-7 วัน จะมีอาการไอ และอ่อนเพลียอยู่ประมาณ 1-4 สัปดาห์ แม้อาการอื่นๆ จะทุเลาลงไปแล้วก็ตาม บางรายเกิดการอักเสบในหูชั้นใน ทำให้เสียการทรงตัวมีอาการบ้านหมุนแม้จะหายจากไข้แล้ว ภาวะแทรกซ้อน เช่น น้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลือง เขียว หายใจหอบเหนื่อย หูอื้อปวดหู อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอาการของโรครุนแรง

สิ่งที่ตรวจพบ
ไข้สูง 38.5-40 องศาเซลเซียส เปลือกตาแดง หน้าแดง น้ำมูกใส่ เจ็บคอ คอแดงเล็กน้อยหรือไม่แดงเลย มักตรวจไม่พบอาการอย่างอื่น เว้นแต่ในรายที่มีอาการแทรกซ้อน เช่น ผู้ที่เป็นหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อยได้แก่ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมพอง ที่สำคัญ คือ ปอดอักเสบ ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียพวกนิวโมค็อกคัส หรือสแตฟีโลค็อกคัส บางรายอาจเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ สแตฟีโลค็อกคัสอาจทำให้ปอดอักเสบรุนแรงถึงขั้นตายได้ ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ หลอดเลือดดำอักเสบร่วมกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น  กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2-3 ผู้สูบบุหรี่จัด คนอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน โรคหืด โรคเรื้อรังทางปอดและหัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

การรักษา
1. รักษาตามอาการ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานหนัก ไม่อาบน้ำเย็น เช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง กินอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก  ดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ และน้ำมากๆ ลดไข้แก้ปวดด้วยยาพาราเซตามอล ผู้อายุต่ำกว่า 19 ปี ควรเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินเพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว หรือยาแก้ไอเมื่อมีอาการไอ

2. โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ จะให้ก็ต่อเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะสีเหลืองหรือเขียว ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ เป็นต้น

ยาปฏิชีวนะที่ใช้มี เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล อีริโทรไมซิน หรือร็อกซิโทรไมซิน

3. หากมีอาการหอบ หรือสงสัยปอดอักเสบ มีไข้เกิน 7 วัน โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุอาจต้องตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เอกซเรย์ ให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดถ้าพบเป็นปอดอักเสบ

4. กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้สูบบุหรี่จัด คนอ้วน ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ควรส่งให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยเพื่อรักษาด้วยยาต้านไวรัส เช่น อะแมนทาดีน ไรแมนทาดีน ไรบาไวริน สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เก่า ส่วนสายพันธุ์ใหม่ใช้ โอเซลทามิเวียร์ ซานิมิเวียร์

5.  หากมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยแล้วตายภายใน 7 วัน หรืออยู่ในพื้นที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วัน ควรพบแพทย์โดยเร็ว

6. ไข้หวัดใหญ่มักพิจารณาจากอาการแสดง หากสงสัยมีการระบาดหรือเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดร้ายแรง จำเป็นต้องให้แพทย์วินิจฉัยให้แน่ชัดทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจนับเม็ดเลือดอาจพบเม็ดเลือดขาวต่ำ การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไข้หวัดใหญ่ ตรวจหาเชื้อไวรัสจากจมูกและคอหอย เพื่อเป็นข้อมูลในการรักษาและป้องกันต่อชนิดของเชื้อก่อโรค

ข้อแนะนำ
1.ให้การรักษาตามอาการ ไข้มักหายได้เองในเวลา 3-5 วัน หรือไม่เกิน 7 วัน ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ไม่อาบน้ำเย็น ควรอาบน้ำอุ่นอีก 3-5 วันถ้าไข้ลดลงแล้ว หลังจากไข้ลดอาจมีอาการไอ มีเสมหะสีขาวเล็กน้อย ประมาณ 7-8 สัปดาห์ เนื่องจากไวต่อสิ่งระคายเคืองจากเยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลายชั่วคราว ให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ อาการจะค่อยๆ ทุเลาไปเอง ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

2. อาการไข้สูงและปวดเมื่อยโดยไม่มีอาการอื่นๆ ชัด อาจเป็นอาการเริ่มแรกจากโรคอื่นก็ได้ เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส ตับอักเสบจากไวรัส ไข้เลือดออก มาลาเรีย เล็ปโตสไปโรซิส เป็นต้น จึงควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีไข้เกิน 7 วัน อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส มาลาเรีย วัณโรคปอด เป็นต้น

3. ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่มีอาการคล้ายกันมาก แต่ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการไข้และปวดเมื่อยมากกว่า แต่การดูแลรักษาเหมือนๆ กัน

การป้องกัน
1. ให้การรักษาเช่นเดียวกับไข้หวัด

2. ควรปรึกษาแพทย์สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส อะแมนทาดีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง (ผู้สูงอายุครั้งละ 50 มก.) หรือ ไรแมนทาดีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง หากสงสัยผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เก่า ควรเริ่มให้ทันทีที่สัมผัสโรค และให้ยานาน 10 วัน

3. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่  ในอดีตมีวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ(H1N1) สายพันธุ์เก่า (H3N2) และชนิดบี ใช้ฉีดในช่วงที่มีการระบาด ส่วนปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ใช้แล้ว

ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนหากไม่มีการระบาด เว้นแต่ผู้ที่เสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง บุคคลกรทางการแพทย์ที่เดินทางไปในถิ่นที่มีการระบาดของโรค ผู้ที่ไม่อาจจะหยุดงานได้ เช่น ตำรวจ นักแสดง นักกีฬา นักเดินทาง หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 ขึ้นไป ผู้มีอายุต่ำกว่า 19 ปีที่ต้องกินแอสไพรินเป็นประจำ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน  ควรฉีดวัคซีนป้องกันปีละครั้งในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า