สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ เกิดขึ้นบ่อยพบได้ทั่วโลก เป็นได้ทุกเพศทุกวัย เพราะไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย สามารถระบาดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วจากท้องที่หนึ่งไปอีกท้องที่หนึ่ง มักระบาดในฤดูฝน ไข้หวัดใหญ่มีหลายชนิด บางชนิดรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว

 

สาเหตุ

เชื้อไข้หวัดใหญ่จะเจริญอยู่ในลำคอและเยื่อบุจมูกของผู้ป่วย เชื้อนี้จึงปะปนอยู่ในลมหายใจ เสมหะ นํ้าลาย นํ้ามูกของผู้ป่วย เมื่อคลุกคลีกับผู้ป่วยหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

เชื้อที่ทำให้เกิดโรค คือ เชื้อไวรัสของไข้หวัดใหญ่ ที่มีชื่อว่า อินฟลูเอนซ่าไวรัส (Influenza Virus) มีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ A B และ C แต่ละชนิดยังแบ่งย่อยลงไปได้อีก บางครั้งใช้ชื่อย่อยไปตามชื่อเมืองที่ระบาดมาก เช่น ไข้หวัดฮ่องกง ไข้หวัดรัสเซีย ไข้หวัดสิงคโปร์ เป็นต้น เชื้อไวรัสทั้ง 3 ชนิดเป็นไวรัสของกลุ่มออร์โธมิกโซไวรัส (Orthomyxovirus group) เชื้อชนิด A เป็นเหตุของการระบาดใหญ่ (เพราะกลายพันธุ์ได้มาก) ชนิด B พบระบาดน้อยกว่าชนิด A และชนิด C มีระบาดประปรายมักระบาดเฉพาะในท้องถิ่น

 

แหล่งของโรค

ได้แก่ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อโรคแพร่กระจายออกจากร่างกายทางนํ้ามูก นํ้าลาย และเสมหะ ฯลฯ เช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดา แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่ อาจจะมาจากสัตว์เช่น หมู ม้า และนก ด้วยก็ได้

 

การติดต่อ

ไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นเดียวกับไข้หวัด ธรรมดา โดยผู้ป่วยเป็นผู้แพร่เชื้อ

 

การติดต่อทางตรง

โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย มีการไอ จามหรือหายใจรดกัน

 

การติดต่อทางอ้อม

โดยการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หรือรับเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศ โดยเฉพาะในชุมชนที่หนาแน่นแออัด

 

ระยะฟักตัวของโรค

ประมาณ1-4 วันนับตั้งแต่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จนเริ่มมีอาการปรากฏให้เห็น หรือโดยปกติอาจใช้เวลาฟักตัวประมาณ 24-72 ชั่วโมง แล้วเริ่มมีอาการอักเสบ ของเยื่อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก และคอ

ระยะติดต่อ

 เริ่มตั้งแต่มีอาการจนถึงวันที่ 3 ของโรค

ความไวต่อโรคและความต้านทาน คนทั่วไปจะมีความไวต่อไข้หวัดใหญ่เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจึงสามารถเจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อหายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะโรคเกิดขึ้นและอยู่ได้นาน ประมาณ 3-4 เดือนหรืออาจถึง 1 ปี แต่เมื่อได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่พันธุอื่นๆ ก็สามารถเจ็บ ป่วยได้อีก

อาการ

มักเกิดขึ้นทันทีทันใด ด้วยอาการไข้สูง หนาวๆร้อนๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก ปวด ศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บคอ คัดจมูก นํ้ามูกไหล ไอแห้งๆ จุก แน่นท้อง แต่ในบางรายอาจไม่เป็นหวัดเลยก็ได้

ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่มักมีอาการของหวัดเพียงเล็กน้อย แต่จะมีไข้สูง และปวดเมื่อยมากกว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ผู้ที่เป็นไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการของหวัด คือ ตัดจมูก น้ำมูกไหล มากกว่าผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่

 

การรักษาพยาบาล

ไข้หวัดใหญ่ไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดา แพทย์จะให้ยารักษา ตามอาการของโรคและป้องกันโรคแทรกซ้อน

 

ยาที่ใชัรักษาไข้หวัดตามอาการ ได้แก่ พาราเซตามอล (Paracetamol) ใช้กินแก้ปวด ลดไข้ ยาแก้ไอ ยาคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) แก้แพ้ ลดนํ้ามูก และยาปฏิชีวนะ

 

วัคซีน

ในปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แต่เนื่องจากจะมีผลอยู่เพียงไม่นาน การเกิดไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า และที่สำคัญเชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่หลายพันธุ์ย่อย วัคซีนไม่สามารถใช้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากต่างเชื้อต่างพันธุ์กัน อีกทั้งยังมีราคาแพง จึงไม่เป็นที่นิยม (ชื่อวัคซีน คือ แวกซิกริพ Vaxigrip)

 

วิธีป้องกันตัวเองดีที่สุด

คือพยายามอยู่ห่างจากจากคนที่เป็น และไม่เข้าไปในแหล่ง ที่เกิดการระบาด

โรคแทรกซ้อน

ปกติโรคนี้จะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้ามีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งหากได้รับการ รักษาล่าช้าอาจทำให้ถึงตายได้ ฉะนั้นเมื่อเป็นไข้ควรไปพบแพทย์

 

โรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เมื่อมีไข้สูง นอกจากมีสาเหตุจากไข้หวัดใหญ่ แล้ว ยังอาจเกิดจากโรคอื่นๆ เช่น

1.หัด

2.ทอนซิลอักเสบ

3.ไข้เลือดออก

4.ปอดอักเสบ หรือปอดบวม

5.ไข้มาลาเรีย

6.ตับอักเสบจากไวรัส

7.ไข้รากสาดน้อย หรือ ไทฟอยด์

 

การปฏิบัติตน เหมือนไข้หวัดธรรมดา ถ้ามีอาการเรื้อรังหรือเจ็บป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

 

การป้องกันและควบคุมโรค เหมือนไข้หวัดธรรมดา

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า