สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Bird flu/Avian influenza)

เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่จากสัตว์ปีกมาสู่คน โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โรคมักมีความรุนแรงและมีอัตราการตายเกิดขึ้นสูง

สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ในนกน้ำที่มีการอพยพย้ายถิ่น นกชายทะเล นกป่า ส่วนใหญ่มักจะเป็นพาหะของโรคซึ่งมีเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้อยู่ แต่ก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่สัตว์อื่นในธรรมชาติ นกบ้าน สัตว์ปีกตามฟาร์มหรือบ้านเรือน ได้ด้วยทางน้ำลาย น้ำมูก และมูล ซึ่งจะทำให้มีการระบาดของโรคและตายอย่างรวดเร็วในฝูงสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่ที่เลี้ยงตามบ้านและฟาร์มที่เป็นโรงเรือนเปิด ส่วนเป็ดในทุ่งเมื่อมีการติดเชื้อส่วนหนึ่งอาจจะตายไปแต่อีกส่วนหนึ่งอาจจะไม่มีอาการเจ็บป่วยและเป็นพาหะแพร่เชื้อให้สัตว์ปีกอื่นๆ ต่อไปได้อีก

ส่วนสัตว์ประเภทเสือ สุนัข แมว และหมู ก็ยังพบว่ามีการติดเชื้อชนิดนี้และทำให้ป่วยตายได้ และสามารถติดต่อจากแมวสู่แมวด้วยกันเองได้อีกด้วย

การติดเชื้อจากสัตว์ปีกมาสู่คน ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำตา และมูลของสัตว์ปีกที่ป่วยมักจะมีเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 อยู่ ซึ่งเชื้อมักปนเปื้อนอยู่ตามตัวของสัตว์ปีกและสิ่งแวดล้อม สามารถติดต่อมาสู่คนได้ 2 ทาง คือ

1. การสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ป่วย

2. การสัมผัสถูก ดิน กรง หรือเล้าสัตว์ น้ำหรืออาหารที่ป้อนสัตว์ ที่มีเชื้อปนเปื้อนจากการระบาดของโรคอยู่ในสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น ซึ่งเชื้อมักติดมากับมือและเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุตา และเยื่อบุจมูกจากการเผลอเอานิ้วมือแยงตา แยงจมูก

ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-8 วัน

กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ คือ ผู้ที่คลุกคลีสัมผัสใกล้ชิดกับไก่ที่ป่วย หรืออยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของไข้หวัดนกในฝูงสัตว์ปีก เช่น ผู้ที่เลี้ยงไก่ ทำงานในฟาร์มไก่ ขนย้ายไก่ ชำแหละไก่ เด็กที่เล่นคลุกคลีกับไก่ หรือผู้ที่ทำหน้าที่ทำลายสัตว์ปีก เป็นต้น

การติดเชื้อจากคนสู่คน มักเกิดขึ้นได้ยาก หากมีการติดเชื้อมักจะต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น แม่ดูแลลูกที่ป่วย สัมผัสน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย และการติดต่อจะสิ้นสุดที่ผู้ติดเชื้อคนที่ 2 ไม่ติดต่อไปสู่คนที่ 3 ต่อไป แต่หากเกิดการกลายพันธุ์จากการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างไวรัสไข้หวัดนกกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ของคน ก็สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย และอาจมีการระบาดรุนแรงได้

อาการ
แรกเริ่มผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ แบบอาการไข้หวัดใหญ่ หรืออาจมีอาการตาแดง ปวดท้อง อาเจียน หรือท้องเดินร่วมด้วยได้ในบางราย

และต่อมาหลังจากมีไข้ได้ 1-16 วันผู้ป่วยมักจะมีอาการหายใจหอบเนื่องจากปอดอักเสบ หรือบางรายหลังจากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน จึงจะมีอาการของปอดอักเสบขึ้น และอาจไม่มีอาการเจ็บคอ เป็นหวัด หรือไอก็ได้

บางรายอาจมีอาการนำมาก่อนด้วยอาการท้องเดินรุนแรง และต่อมาเนื่องจากภาวะสมองอักเสบก็อาจทำให้มีอาการชัก หมดสติ และตายได้

อาการที่รุนแรงของโรคนี้มักพบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ ส่วนในรายที่เป็นไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภายใน 2-7 วันก็มักจะหายได้เอง หรือบางรายอาจติดเชื้อโดยไม่มีอาการแสดงก็ได้

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรืออาจพบอาการน้ำมูกไหล หรืออาจพบอาการหายใจหอบ ใช้เครื่องตรวจฟังปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบในรายที่มีปอดอักเสบร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน
หลังมีไข้ 4-13 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการปอดอักเสบ และกลุ่ม
อาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตหลังจากมีไข้ได้ประมาณ 9-30 วัน

ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ด้วย เช่น หัวใจวาย ไตวาย ตับอักเสบ เลือดออกในปอด ปอดทะลุ ภาวะพร่องเม็ดเลือดทุกชนิด โรคเรย์ซินโดรม กลุ่มอาการโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น

การรักษา
ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วหากพบผู้ป่วยมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส มีไข้หวัดหรือไข้ร่วมกับหายใจหอบ และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายภายใน 7 วันก่อนป่วย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วันก่อนป่วย หรือพบผู้ป่วยที่สงสัยเป็นไข้หวัดนก

แพทย์มักจะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการนำสิ่งคัดหลั่งบริเวณคอหอย โพรงหลังจมูกหรือหลอดลมไปตรวจหาเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 ด้วยวิธีต่างๆ เช่น immunofluorescent assay (IFA), reverse transcriptase-polymerase chain reaction (RT-PCR), real time PCR การแยกเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยง เป็นต้น และตรวจพิเศษด้วยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด หากตรวจพบหรือสงสัยว่าเป็นไขหวัดนก มักจะต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล

แพทย์มักให้การรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัส ได้แก่ โอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ชื่อทางการค้า คือ ทามิฟลู ผู้ใหญ่ให้ขนาด 75 มก. วันละ 2 ครั้ง เด็กน้ำหนัก 15 กก. หรือน้อยกว่าให้ครั้งละ 30 มก. น้ำหนัก 16-23 กก. ให้ครั้งละ 45 มก. น้ำหนัก 24-40 กก. ให้ครั้งละ 60 มก. น้ำหนักมากกว่า 40 กก. ให้ครั้งละ 75 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน ควรให้ยานี้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการซึ่งมักจะได้ผลดี

แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า นาน 7-10 วันในรายที่มีอาการรุนแรง และให้การรักษาตามอาการที่พบร่วมด้วย เช่น ใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้ออกซิเจนถ้าผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบ หรืออาจให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่สงสัยถ้าสงสัยมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรืออาจพิจารณาให้สตีรอยด์ในรายที่มีภาวะการหายใจล้มเหลว แต่ยังไม่สรุปแน่ชัดถึงประโยชน์จากการใช้สตีรอยด์

ผลการรักษามักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งมักมีอัตราตายสูง และตายภายใน 6-30 วันหลังจากมีอาการในรายที่มีการติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน แต่มักจะรักษาให้หายขาดได้ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้แม้จะมีอาการคล้ายไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่แต่จะมีอันตรายร้ายแรงกว่ากันมาก เนื่องจากเชื้อเกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งยังไม่มีภูมิคุ้มกันเชื้อชนิดนี้ ดังนั้น จึงควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วถ้าพบผู้ป่วยมีอาการไข้หรือเป็นไข้หวัด และมีประวัติว่ามีการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรือผู้ป่วยไข้หวัดนก ภายใน 7 วันก่อนไม่สบาย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ภายใน 14 วันก่อนไม่สบาย และควรให้ยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการหากพบว่าเป็นโรคนี้ ซึ่งอาจช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้

2. ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในผุ้ที่สัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรือผู้ป่วยไข้หวัดนก ควรทำการวัดไข้ด้วยปรอทวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรคถ้าเป็นไปได้

3. เพื่อความปลอดภัยของแพทย์ บุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วย จะต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อจากผู้ป่วย แม้ว่าในปัจจุบันการติดเชื้อจากคนที่เป็นไข้หวัดนกโดยตรงนั้นยังเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอยู่สัมผัสกันอย่างใกล้ชิดก็ตาม

การป้องกัน
1. ไม่ควรสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย และไม่นำสัตว์นั้นมาเป็นอาหาร

2. ให้สวมหน้ากากอนามัย และถุงมือ หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดนก

3. หลังจากสัมผัสสัตว์ปีก น้ำลาย น้ำมูก และมูลของสัตว์ปีกควรล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง

4. ควรปรุงเนื้อสัตว์ปีก หรือไข่ ให้สุกเสียก่อน ก่อนที่จะรับประทาน

5. ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัดเมื่อมีสมาชิกในบ้านเป็นไข้หรือไข้หวัด และให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วหากสงสัยเป็นไข้หวัดนก และควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้กินยาต้านไวรัส คือ โอเซลทามิเวียร์ เพื่อป้องกันหากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยผู้ใหญ่ให้กินขนาด 75 มก. เด็กใช้ขนาดครึ่งหนึ่งของที่ใช้ในการรักษา วันละครั้ง นาน 7-10 วัน

6. สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข
-ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันในกรณีที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย

-ควรสวมหน้ากากอนามัย แว่นตาป้องกันการติดเชื้อ และเสื้อกาวน์ รวมทั้งหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ทุกครั้งที่ให้การดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนก

-ควรกินยาต้านไวรัส โอเซลทามิเวียร์ ขนาด 75 มก. วันละครั้ง นาน 7-10 วัน ถ้ามีการสัมผัสผู้ป่วยไข้หวัดนก โดยไม่ได้ทำตามมาตรการการป้องกันที่วางไว้

-ควรเฝ้าระวังสังเกตอาการและวัดไข้ทุกวันจนพ้นระยะฟักตัวของโรคเมื่อมีการสัมผัสผู้ป่วยไข้หวัดนก และควรรีบทำการตรวจวินิจฉัยและอาจจำเป็นต้องให้ยารักษาแต่เนิ่นๆ หากมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเกิดโรคนี้ขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า