สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไข้รูมาติก(Rheumatic fever) โรคหัวใจรูมาติก(RHD)

เป็นการอักเสบของข้อและหัวใจพร้อมๆ กัน หัวใจอาจมีการอักเสบเรื้อรังจนทำให้ลิ้นหัวใจพิการจากภาวะตีบหรือรั่ว ซึ่งเรียกกันว่า โรคหัวใจรูมาติก หากปล่อยให้มีอาการกำเริบซ้ำบ่อยๆไข้รูมาติก

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย พบมากในเด็กอายุ 5-15 ปีที่มีฐานะยากจน
หรืออยู่กันอย่างแออัด

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ มักเกิดจากเชื้อจากภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคคออักเสบหรือทอนซิลอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

การอักเสบของข้อต่างๆ และหัวใจอักเสบมักเกิดหลังจากคออักเสบหรือทอนซิลอักเสบประมาณ 1-4 สัปดาห์ในไข้รูมาติก เมื่อเกิดการติดเชื้อที่ลำคอ ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคแล้วเข้าไปทำปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเองทำให้เกิดการอักเสบของข้อ หัวใจ ผิวหนัง และส่วนต่างๆ ของร่างกายจากความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาต้านตนเอง

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดบวมแดงร้อนตามข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อศอก โดยไม่ปวดพร้อมกันแต่มักเป็นมากกว่าหนึ่งข้อ ลักษณะการปวดจะปวดจากข้อหนึ่งอยู่นาน 5-10 วันแล้วย้ายไปอีกข้อหนึ่ง ในบางรายอาจเป็นเรื้อรังทำให้ลุกเดินไม่ได้เป็นเดือน แต่อาการปวดบวมตามข้อมักหายได้เองและไม่มีร่องรอยความพิการแต่อย่างใดแม้ไม่ได้รับการรักษา

โดยทั่วไปผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลดร่วมด้วย ถ้าเป็นไม่มากอาจไม่แสดงอาการอักเสบของหัวใจให้เห็นชัดเจน แต่อาจทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย หอบ ใจสั่น และนอนราบไม่ได้เนื่องจากภาวะหัวใจวายในรายที่เป็นรุนแรง

ผู้ป่วยอาจมีประวัติเป็นไข้เจ็บคอนำมาก่อนประมาณ 1-4 สัปดาห์แต่บางรายก็ไม่มี

อาการที่แสดงว่ามีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย เช่น มีผื่นแดงขึ้นแผ่ออกโดยรอบเป็นวงขอบแดง ตรงกลางขาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 ซม. เรียกว่า อีริทีมามาร์จินาตุม จะไม่เจ็บหรือคัน สามารถจางหายได้เองภายในเวลาอันรวดเร็วหรือภายในวันเดียว ซึ่งมักพบผื่นนี้บริเวณแขนขาส่วนต้นหรือก้น หรืออาจมีตุ่มขึ้นใต้ผิวหนังบริเวณข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อศอก ไม่เจ็บ จับให้เคลื่อนใต้ผิวหนังได้ มีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว หรืออาจจะใหญ่ขนาด 2 ซม. อาจกินเวลาหลายสัปดาห์แล้วตุ่มนี้จะค่อยๆ ยุบไปเอง หรือในบางรายผู้ป่วยไม่สามารถบังคับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแขนขาหรือส่วนอื่นๆ ได้ เช่น ปัดแกว่งโดยไม่ตั้งใจ แขนขาขยุกขยิก พูดไม่ชัด หยิบของหรือเขียนหนังสือไม่ถนัด หรือเรียกอาการนี้ว่า โคเรีย เกิดเนื่องจากความผิดปกติในสมอง อาจพบความผิดปกตินี้เพียงอย่างเดียวหรือพบร่วมกับอาการอย่างอื่นก็ได้ ซึ่งมักพบหลังจากมีอาการเจ็บคอ 1-6 เดือน

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบอาการไข้ ตามข้อต่างๆ บวมแดงและร้อน อาจพบผื่นอีริทีมามาร์จินาตุม ตุ่มใต้ผิวหนัง หรืออาการโคเรียได้ บริเวณใต้ราวนมซ้ายอาจตรวจพบความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว หรือใช้เครื่องฟังตรวจมีเสียงฟู่ อาจพบอาการของหัวใจวาย เช่น หอบ บวม นอนราบไม่ได้ ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบในรายที่เป็นแบบรุนแรง

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยไข้รูมาติกที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง และมีการกำเริบซ้ำๆ ทำให้หัวใจอักเสบเรื้อรังจนทำให้ลิ้นหัวใจพิการอย่างถาวรซึ่งจะเกิดภาวะแทรกซ้อนกลายเป็นโรคหัวใจรูมาติกในเวลาต่อมา

ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ ในผู้ป่วยโรคหัวใจรูมาติก โดยอาจตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อตรวจเช็คร่างกายและเมื่อใช้เครื่องตรวจฟังหัวใจบริเวณใต้ราวนมซ้ายมักได้ยินเสียงฟู่

ในระยะหลายปีต่อมาผู้ป่วยอาจกลายเป็นคนพิการได้หากไม่ได้รับการรักษา โดยผู้ป่วยอาจเริ่มรู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น และเกิดภาวะหัวใจวายเรื้อรัง

การรักษา
1. ควรแนะนำผู้ป่วยไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงหากสงสัยว่าเป็นไข้รูมาติก แพทย์จะรับไว้รักษาและวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษา เช่น เพนิซิลลินวี หรืออีริโทรไมซิน เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน หรือให้แอสไพริน 2-4 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง อาจให้สตีรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน ในรายที่มีอาการหัวใจอักเสบรุนแรง อาจให้การรักษาแบบภาวะหัวใจวายร่วมด้วยในรายที่เกิดภาวะนี้

ผู้ป่วยควรมาตรวจร่างกายเป็นประจำแม้อาการจะหายดีแล้ว แพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นระยะยาวเพื่อป้องกันการพิการของลิ้นหัวใจจนทำให้กลายเป็นโรคหัวใจรูมาติก ซึ่งเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้

-ฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน 600,000 ยูนิตสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเท่ากับ 27 กก. หรือ 1.2 ล้านยูนิตในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากกว่า 27 กก. ให้ฉีดเข้ากล้ามทุก 4 สัปดาห์ หรือให้ทุก 3 สัปดาห์ในรายที่เป็นซ้ำบ่อยๆ ซึ่งวิธีนี้มักได้ผลดีกว่ายากิน
-ทั้งในผู้ใหญ่และเด็กให้กินเพนิซิลลินวี 250 มก. วันละ 2 ครั้ง
-ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้กินอีริโทรไมซิน 250 มก วันละ 2 ครั้ง
-สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเท่ากับ 27 กก. ให้กินซัลฟาไดอาซีน 500 มก. และผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 27 กก. ให้กิน 1 กรัมวันละครั้งทุกวัน

ระยะเวลาในการให้ยาขึ้นอยู่กับลักษณะของโรคดังนี้
ก. ควรให้อย่างน้อย 10 ปีในผู้ป่วยที่เคยมีการอักเสบของหัวใจและมีลิ้นหัวใจผิดปกติอย่างถาวร นับจากการอักเสบครั้งหลังสุดจนผู้ป่วยอายุอย่างน้อย 40 ปี หรืออาจให้ยาป้องกันไปตลอดชีวิตในบางกรณี

ข. ควรให้นาน 10 ปี หรือจนกระทั่งเข้าวัยผู้ใหญ่ในรายที่เคยมีการอักเสบของหัวใจ แล้วหายไปในเวลาต่อมา

ค. ให้นาน 5 ปี หรือจนกระทั่งอายุ 21 ปีในผู้ป่วยที่ไม่เคยมีการอักเสบของหัวใจ

2. ใช้เครื่องตรวจฟังหัวใจได้ยินเสียงฟู่หรือสงสัยว่าผู้ป่วยจะเป็นโรคหัวใจรูมาติก ควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล อาจต้องกินยาปฏิชีวนะไปตลอดชีวิตถ้าเป็นโรคหัวใจรูมาติกจริง ให้ยารักษาแบบภาวะหัวใจวายในรายที่มีภาวะนี้เกิดขึ้น

ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายรุนแรงจากลิ้นหัวใจที่พิการมาก อาจต้องช่วยให้มีชีวิตยืนยาวไปได้ด้วยการผ่าตัดขยายลิ้นหัวใจที่ตีบ หรือใส่ลิ้นหัวใจเทียม

ควรป้องกันมิให้เกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบแทรกซ้อนด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจพิการ ก่อนการถอนฟันหรือให้แพทย์ตรวจรักษาโดยการสอดใส่เครื่องมือหรือสายสวนในทางเดินหายใจหรือทางเดินปัสสาวะ

ข้อแนะนำ
1. ถ้าเด็กมีอาการปวดข้อหรือสงสัยว่าเป็นไข้รูมาติกควรรีบส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ถ้าพบเป็นโรคนี้ ควรติดตามรักษากับแพทย์ตามนัดเป็นประจำเพื่อมิให้กลายเป็นโรคหัวใจรูมาติกในเวลาต่อมา

2. ควรหาทางส่งเสริมสนับสนุนให้ครูและเจ้าหน้าที่อนามัยที่โรงเรียน มีความรู้ มีบทบาทและส่วนร่วมในการควบคุมและป้องกันโรคนี้ เนื่องจากโรคนี้พบได้มากในเด็กอายุ 5-15 ปี ซึ่งอยู่ในวัยเรียน

การป้องกัน
การรักษาคออักเสบหรือทอนซิลอักเสบจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอด้วยยาปฏิชีวนะให้ได้อย่างน้อย 10 วัน จะสามารถป้องกันโรคนี้ได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า