สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ไข้กาฬหลังแอ่น(Meningococcal meningitis)

เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเมนิงโกค็อกคัส หากเป็นรุนแรงจะผื่นเป็นจุดแดงจ้ำเขียวหรือดำคล้ำ ผู้ป่วยมักมีอาการคอแข็ง คอแอ่น หลังแอ่น จึงเรียกว่า ไข้กาฬนกนางแอ่น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อจากนกนางแอ่นแต่อย่างใดไข้กาฬหลังแอ่น

พบโรคนี้ได้ประปรายตลอดปีและมีการระบาดในบางครั้ง พบเป็นมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จัดเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงโรคหนึ่ง

สาเหตุ
สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มเมนิโกค็อกคัส ที่มีชื่อว่า ไนซีเรียเมนิงไจทิดิส สามารถแบ่งเชื้อนี้ออกเป็น 13 ชนิด แต่ชนิดที่สามารถก่อโรคในคนมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ชนิด A, B, C, Y และ W135 ซึ่งมีอยู่ในลำคอของคนเรา เชื้อจะอาศัยอยู่ในลำคอโดยไม่ก่อโรค หรือที่เรียกว่า เป็นพาหะ สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง

เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด การใช้ของร่วมกัน การสัมผัสถูกน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะของโรค

เมื่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำรับเชื้อเข้าไป เชื้อจะเข้าไปอยู่ในลำคอแล้วเข้าสู่กระแสเลือดไปเยื่อหุ้มสมองทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้ออาจเข้าไปอยู่ในอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดการผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้น และรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในเวลาอันสั้นในบางราย

ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 2-10 วัน หรือ 3-4 วัน โดยเฉลี่ย

อาการ
อาการสำคัญของโรค คือ มีไข้ ผื่นขึ้น และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีอาการทั้ง 3 อย่าง หรือ 2 ใน 3 ซึ่งมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไป ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยมักมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยมากตามหลังและแขนขา มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และจะมีผื่นขึ้นในอีก 2-3 วันต่อมา ผื่นมีลักษณะเป็นจุดแดงจ้ำเขียวแบบไข้เลือดออก มีตั้งแต่ขนาดเท่าปลายเข็มหมุดจนถึงเป็นรอยฟกช้ำขนาดใหญ่มีรูปร่างคล้ายดาวกระจาย ตามขาและเท้า หรือตรงรอยที่มีแรงกดจากขอบกางเกง ของถุงเท้าจะมีรอยฟกช้ำมาก ตามมือ แขนและลำตัว รวมทั้งตามเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตาก็อาจพบรอยฟกช้ำได้เช่นกัน

ในผู้ป่วยที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วยมักมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน คอแข็งก้มคอไม่ลง คอแอ่น หลังแอ่น สับสน เพ้อคลั่ง มีเป็นส่วนน้อยที่มีอาการไม่รู้สึกตัว หรือหมดสติ แต่ในเด็กอาจมีอาการชักร่วมด้วย

ภาวะรุนแรงของโรคนี้มักพบในเด็กเล็ก เด็กนักเรียน และคนหนุ่มสาวจะมีเลือดออกในลำไส้และต่อมหมวกไต เกิดภาวะช็อก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 1-4 วัน

สิ่งตรวจพบ
มีไข้สูง อาจพบมีอาการสับสน ซึม เพ้อคลั่ง และยังพบอาการหมดสติ หรือชักในผู้ป่วยบางราย ตามผิวหนัง เยื่อบุตามักตรวจพบจุดแดงจ้ำเขียว ตามขา เท้า ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า มักพบรอยฟกช้ำรูปดาวกระจาย มักตรวจพบอาการคอแข็งร่วมด้วยในผู้ใหญ่ อาจตรวจไม่พบอาการคอแข็งแต่กระหม่อมจะโป่งตึงได้ในเด็กเล็ก

ภาวะแทรกซ้อน
มักมีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมกับการติดเชื้อในเลือด คือ ภาวะโลหิตเป็นพิษ ภาวะเลือดจับเป็นลิ่มทั่วร่างกาย ทำให้มีเลือดตามอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร ต่อมหมวกไต และเกิดภาวะขาดเลือดและเนื้อตายของปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ผู้ป่วยมักเกิดภาวะช็อกและตายในเวลาอันรวดเร็ว และยังอาจติดเชื้อแทรกซ้อนของอวัยวะต่างๆ เช่น ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น

เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองในระยะเฉียบพลัน เช่น มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง สมองบวม ภาวะเลือดจับเป็นลิ่มในหลอดเลือดดำและสมอง ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ เป็นต้น

อาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมองเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคนี้ และเด็กที่เป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 10 มักกลายเป็นหูหนวก

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคให้รีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน แพทย์มักจะวินิจฉัยด้วยการเจาะหลังเพื่อตรวจดูว่าความดันน้ำไขสันหลังสูงหรือไม่ น้ำไขสันหลังขุ่นหรือไม่ หรือพบเชื้อเมนิงโกค็อกคัสในน้ำไขสันหลังหรือไม่ หรืออาจตรวจหาเชื้อโดยการย้อมสีหรือเพาะเชื้อจากเลือดและสารน้ำที่เจาะจากรอยจ้ำเขียวที่ผิวหนัง อาจต้องค้นหาความผิดปกติของสมองด้วยการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

แพทย์มักให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่เกิดขึ้น และให้ยาปฏิชีวนะชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้
-เพนิซิลลินจี ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ในผู้ใหญ่ขนาดครั้งละ 4 ล้านหน่วย ทุก 4 ชั่วโมง เด็กให้ขนาด 400,000 หน่วย/กก./วัน แบ่งให้ทุก 4 ชั่วโมง
-เซฟทริอะโซน ผู้ใหญ่ใช้ขนาดครั้งละ 2 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง เด็กใช้ขนาด 100 มก./กก./วัน แบ่งให้ทุก 12 ชั่วโมง
-ใช้คลอแรมเฟนิคอล หากแพ้ยาข้างต้นทั้ง 2 ชนิด ผู้ใหญ่ใช้ครั้งละ 1 กรัม ทุก 6 ชั่วโมง

การให้ยาปฏิชีวนะจะให้ประมาณ 10-14 วัน หรือจนกว่าไข้จะลดลง แล้วจึงให้ต่อไปอีก 5 วัน

หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกและความรุนแรงของโรคยังมีน้อยก็มักจะหายเป็นปกติได้ แต่อาจเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนทางสมองได้หากมีอาการขั้นรุนแรงและได้รับการรักษาล่าช้า

ข้อแนะนำ
1. ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ หากมีอาการไข้ ผื่นขึ้นเป็นจุดแดงจ้ำเขียว ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะและอาเจียน โรคนี้ถึงแม้จะพบเป็นกันน้อยแต่ถ้าเป็นแล้วมักมีความรุนแรง

2. เพื่อความปลอดภัยจากโรคนี้ ควรปฏิบัติตัวตามหลักการป้องกันโรคติดต่อทางระบบหายใจเพราะนอกจากจะติดต่อโรคนี้จากผู้ป่วยโดยตรงแล้ว ก็ยังอาจติดจากเสมหะและน้ำลายของผู้ที่เป็นพาหะได้อีกด้วย

3. ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันและรักษาโรคนี้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ

การป้องกัน
1. สำหรับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคนี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาป้องกันไม่ให้เกิดโรคด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้
-ไรแฟมพิซิน ผู้ใหญ่ให้กินครั้งละ 600 มก. วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือนให้ครั้งละ 5 มก./กก. เด็กอายุมากกว่า 1 เดือน ให้ขนาดครั้งละ 10 มก./กก.
-ไซโพรฟล็อกซาซิน ผู้ใหญ่ให้ขนาด 500 มก. กินครั้งเดียว ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
-เซฟทริอะโซน ใช้ในผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาทั้ง 2 ชนิดข้างต้นได้ ผู้ใหญ่ให้ 250 มก. ฉีดเข้ากล้ามครั้งเดียว เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ 125 มก.

2. สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ หรือไปในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น ตามสถานที่ต่อไปนี้
-สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี
-ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศสนามบินสุวรรณภูมิ
-ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือกรุงเทพคลองเตย
-ฝ่ายควบคุมโรคระหว่างประเทศ ในบริเวณตรวจคนเข้าเมือง ถ.สาธรใต้
-สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้

3. สำหรับคนทั่วไป เนื่องจากโรคนี้พบได้น้อยมีโอกาสเสี่ยงไม่มาก จึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกัน หากสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก็ให้ใช้ยาป้องกันได้ แต่เนื่องจากวัคซีนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันใช้เพื่อป้องกันเชื้อชนิด A, C, Y, W135 ไม่ได้ป้องกันเชื้อชนิด B ซึ่งพบเชื้อชนิดนี้ได้มากในบ้านเรา

สำหรับบุคคลทั่วไปควรปฏิบัติตามหลักการป้องกันโรคติดต่อทางระบบหายใจดังนี้
-หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ๆ มีผู้คนแออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก
-ไม่ไอหรือจามรดผู้อื่น
-ไม่ดื่มน้ำ หรือสูบบุหรี่ร่วมกับผู้อื่น
-เมื่อสัมผัสถูกน้ำมูกน้ำลายของผู้อื่นควรล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า