สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การรักษาโรคด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือโฮมีโอพาธี(Homeopathy)

เป็นการรักษาโรคด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีกฎเกณฑ์ในการบำบัดรักษามาก เป็นการกระตุ้นกลไกการป้องกันตัวเองและกระตุ้นกระบวนการเยียวยารักษาตัวเองเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยใช้พืชและแร่ธาตุที่จัดเตรียมหรือปรุงขึ้นมาเป็นพิเศษในปริมาณเล็กน้อย

คำว่า “โฮมีโอพาธี” มาจากคำว่า “โฮมีออส” (homeos) ในภาษากรีก ซึ่งมีความหมายว่า “คล้ายคลึง” รวมกับคำว่า “พาธอส”(pathos) ซึ่งแปลว่า ได้รับความทุกข์ทรมาน ดังนั้นคำว่า โฮมีโอพาธี จึงหมายถึง “การรักษาโดยใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดผลที่คล้ายคลึงกับอาการทุกข์ทรมานที่เป็นอยู่” โดยที่หลักการพื้นฐานของโฮมีโอพาธี มีอยู่ว่า “กฎความคล้ายคลึง” หรือแนวคิดเรื่อง “สิ่งที่คล้ายกันทำให้หายจากสิ่งที่คล้ายกัน” หรือ “สิ่งที่คล้ายกัน หายได้ด้วยสิ่งที่คล้ายกัน”

มุมมองในการพิจารณาโรคภัยไข้เจ็บของแพทย์ที่รักษาโรคด้วยหลักโฮมีโอพาธี จะแตกต่างไปจากการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือการแพทย์ประเภทในระบบ ซึ่งจะมองกันว่าโรคภัยไข้เจ็บเกิดมาจากความปั่นป่วนหรือความไม่สมดุลที่อยู่ลึกลงไปของบุคคลนั้นๆ และอาการแสดงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏออกมาภายนอก อาการต่างๆ นี้ไม่ว่าจะเป็นทางความคิดจิตใจ ทางอารมณ์ หรือทางกาย ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลด้วยกันทั้งสิ้น

ไม่มีการรักษาเพื่อบรรเทาหรือกำจัดอาการในหลักของโฮมีโอพาธี เพราะอาการป่วยเป็นเพียงสัญญาณที่บอกถึงความพยายามที่จะรักษาตัวเองของร่างกาย แต่การบำบัดรักษาโรคตามหลักโฮมีโอพาธีจะคำนึงที่ร่างกายและตัวบุคคลผู้ที่ป่วยทั้งหมดเป็นสำคัญ ซึ่งมีความพิเศษเฉพาะตัว มิใช่รักษาเฉพาะที่ตัวโรคหรือเฉพาะที่อาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า โฮมีโอพาธีเป็นการรักษาที่ตัวคน มิใช่รักษาที่ตัวโรค ซึ่งในแง่นี้ก็มีความคล้ายคลึงกับการแพทย์แผนองค์รวม หรือโฮลิสติค เม็ดดิซีน(Holistic Medicine)

ในการแพทย์แผนปัจจุบันจะมองกันว่าหากไม่มีอะไรผิดปกติหรือปราศจากโรคก็ถือว่ามีสุขภาพดีแล้ว แต่โฮมีโอพาธี จะมองว่าคนที่มีสุขภาพดีจริงๆ นั้น จะต้องเป็นคนที่ปลอดจากปัญหาในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นทางกาย อารมณ์ หรือทางจิตใจ

ตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล ฮิปโปเครตีสได้เคยประกาศเอาไว้เป็นคนแรก ถึงหลักการที่สำคัญของแนวโฮมีโอพาธี ว่า หากตัวยาตัวใดตัวหนึ่งก่อให้เกิดอาการบางอย่างขึ้นกับคนที่มีสุขภาพดี ตัวยานั้นจะรักษาคนที่ป่วยด้วยอาการอย่างเดียวกันนั้นได้ สมัยศตวรรษที่ 15 พาราเซลซัส(Paracelsus) แพทย์และนักแปรธาตุ(alchemist) ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้เคยกล่าวถึงกฎของสิ่งที่คล้ายคลึงกันเอาไว้ในข้อเขียนของเขา และได้นำเอากฎนี้มาใช้กันอย่างกว้างขวางในการรักษาผู้ป่วย วัฒนธรรมอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งจีน กรีก อินเดีย มายา และชนพื้นเมืองเดิมของอเมริกา ต่างก็เคยนำเอากฎของสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้มาใช้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน

แพทย์ชาวเยอรมันผู้ก่อตั้งโฮมีโอพาธี ซามูเอล คริสเตียน ฮาห์เนมานน์(Samuel Hahnemann) เขาเกิดในเมืองไมเซน(Meissen) ในแคว้นแซ็กซอนี่(Saxony) ในปี ค.ศ. 1759 ได้รับปริญญาแพทย์ ในเวียนนา และได้รักษาผู้ป่วยด้วยการแพทย์ในระบบตามสมัยของเขา ท้ายที่สุดก็เริ่มเห็นมายาจากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ซึ่งในสมัยนั้นการแพทย์ในระบบถือเป็นวิธีการรักษาโรคทุกอย่าง เช่น ใช้วิธีการคัดเลือดหรือทำให้เลือดเสียออกไป การทำให้เกิดแผลพุพองเป็นตุ่มขึ้นมา การใช้ปลิงดูดเลือด การถ่ายท้อง การทำให้เหงื่อออก และการแช่น้ำอาบ

ฮาห์เนมานน์ได้สังเกตจากการทดลองว่า สมุนไพรในปริมาณเล็กน้อยมีแนวโน้มที่จะรักษาอาการป่วยที่เกิดจากสมุนไพรอย่างเดียวกันนั้นเมื่อรับประทานมากๆ ได้

หลังจากที่ฮาเนมานน์ได้อ่านตำราชื่อว่า แม็ททีเรีย เมดิก้า(Materia Medica) ที่เขียนขึ้นโดยชาวอังกฤษ ชื่อว่าคัลเลน(Cullen) ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนแปลงไป โดยที่ตำรานั้นเขียนถึงเปลือกไม้ของต้นไม้ชนิดหนึ่ง(คือซินคอน่า cinchona)ในประเทศเปรู เอาไว้หลายหน้า โดยนำเปลือกไม้นั้นมาใช้รักษาเคาน์เตสซินคอน(Countess of Cinchon) ให้หายจากไข้ได้ ฮาห์เนมานน์หาเปลือกไม้นั้นมาได้ก็เอามาดองทานวันละ 4 จอก ก็เกิดเป็นไข้ขึ้นมาและเมื่อเขากินยานั้นต่อไปก็หายจากไข้

ฮาห์เนมานน์ ได้ตรวจสอบสิ่งที่สังเกตพบนี้กับตัวเองและเพื่อนแพทย์อย่างเป็นระบบตลอด 6 ปีหลังจากนั้น ซึ่งเขาพบว่า สารใดๆ ก็ตาม ที่ในระหว่างการทดลองให้คนสุขภาพดีทานแล้วก่อให้เกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา สารนั้นจะสามารถแก้อาการอย่างเดียวกันนั้นได้ เมื่อเอาไปให้คนที่ป่วยรับประทาน

เขาได้เขียนหนังสือขึ้นในปี ค.ศ.1810 มีชื่อว่า The Organon of the Rational Art of Healing หรือหลักฐานพิสูจน์ถึงศิลปะการรักษาเยียวยาอย่างมีเหตุผล ซึ่งเขาได้ประกาศถึงกฎและหลักการการรักษาในระบบใหม่ที่เขาตั้งขึ้นนี้ว่า โฮมีโอพาธี แม้จะถูกโจมตีจากบุคลากรด้านการแพทย์ในสมัยนั้น แต่เขาก็สามารถดึงดูดความสนใจของแพทย์นักคิดให้มาเรียนรู้ศิลปะใหม่นี้จากเขาได้มากมาย จึงได้กำเนิดการแพทย์สำนักโฮมีโอพาธีขึ้น ซึ่งยังคงมีโรงเรียนแพทย์ที่สอนตามหลักวิชาโฮมีโอพาธีในหลักสูตร 4 ปี อยู่ในยุโรปปัจจุบันนี้

ฮาห์เนมานน์เลือกที่จะจ่ายยาเอง เนื่องจากไม่ไว้วางใจคนปรุงและขายยาว่าจะปรุงยาของเขาได้ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในปี ค.ศ.1820 หลังจากที่โดนจับกุมในไลพ์ซิก เขาถูกพิพากษาว่ามีความผิดจริงได้ถูกบังคับให้ย้ายออกไป แต่ได้รับอนุญาตให้รักษาคนไข้ในเยอรมนีต่อไปได้โดยได้รับอนุญาตพิเศษจากทางสำนักพระราชวัง

ได้เกิดโรคอหิวาต์ระบาดขึ้นทั่วยุโรปตะวันออกในปี ค.ศ.1831 มีคนตายจากโรคเป็นพันๆ คน ฮาห์เนมานน์ได้ศึกษาอาการต่างๆ แล้วลงความเห็นว่า สามารถรักษาโรคนี้ได้จากการบูร เมื่อคำแนะนำของเขาได้รับการยอมรับ การระบาดของโรคนี้ก็ซาลง และนับเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของเขาครั้งหนึ่ง

ในปี ค.ศ.1840 ตอนที่อหิวาต์ระบาดในอังกฤษ ผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีของโฮมีโอพาธีมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าคนที่รักษาด้วยวิธีการในระบบที่ใช้อยู่ในสมัยนั้นเกือบ 4 เท่าตัว

ในปี ค.ศ.1825 โฮมีโอพาธีได้ถูกนำเข้ามาในสหรัฐฯ พร้อมกับการอพยพมาของแพทย์นักโฮมีโอพาธีชาวเดนมาร์ค ชื่อ ฮันส์ แกรม(Hans Gram) ได้รับความนิยมมาก จนในปีค.ศ.1844 ได้มีการก่อตั้งสถาบันโฮมีโอพาธี(American Institute of Homeopathy)ขึ้น แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งได้ก่อตั้งองค์การที่มีชื่อว่า สมาคมการแพทย์อเมริกัน(American Medical Association) หรือเอเอ็มเอ(AMA)ขึ้นในปี ค.ศ. 1846 องค์การนี้ตั้งใจที่จะชะลอความเติบโตอย่างรวดเร็วของโฮมีโอพาธีให้ช้าลง

หลังจากก่อตั้งเอเอ็มเอขึ้นมา แพทย์ที่ใช้วิธีการโฮมีโอพาธีก็ถูกขับออกจากสมาคมนี้หมด และได้ค้นหาแพทย์ที่รักษาด้วยวิธีเอเอ็มเออย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 ได้ตำหนิติเตียนผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ที่ไปเกี่ยวข้องกับหลักการของโฮมีโอพาธีอย่างไม่เลือกหน้า และด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ จึงทำให้โฮมีโอพาธีตกต่ำลงในตอนปลายศตวรรษที่ 19 และจากที่เคยมีวิทยาลัยสอนโฮมีโอพาธีกว่า 20 แห่งในสหรัฐฯ ก็เหลืออยู่เพียง 2 แห่งในปี 1900 ในปี 1923-1950 วิทยาลัยที่เคยสอนโฮมีโอพาธีก็ปิดหมดหรือที่เปิดก็เลิกสอนวิชาโฮมีโอพาธีไป

โฮมีโอพาธีได้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพแขนงหนึ่งในทศวรรษที่ 1970 และมีคนจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับที่ได้ค้นพบโฮมีโอพาธีขึ้นใหม่อีกครั้งในปัจจุบัน มีนักวิชาชีพด้านการดูแลรักษาสุขภาพนอกระบบมากมายที่นำเอาวิธีการรักษาโรคแบบโฮมีโอพาธีมาใช้ อย่างเช่น หมอฝังเข็ม หมดจับ-ดัดกระดูก นักธรรมชาติบำบัด และอื่นๆ อีกมาก นอกจากนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคกระดูกในแผนปัจจุบันบางคนก็ยังเริ่มใช้ตัวยาในแนวของโฮมีโอพาธีเพื่อรักษาโรคอีกด้วย

มีหลายบริษัทในสหรัฐฯ ที่ผลิตตัวยากระตุ้นอาการเพื่อรักษาแบบโอมีโอพาธีอยู่ในทุกวันนี้ ตัวยานี้ผลิตขึ้นจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ กว่า 1,500 ชนิด ที่ได้เก็บรวบรวมมาจากทุกส่วนของโลก และปรุงขึ้นตามโรงงานเภสัชกรรมตามตำรับเภสัชกรรมโฮมีโอพาธีของสหรัฐ(Homeopathic Pharmacopoeia of the United States) ซึ่งเป็นคู่มือผลิตยาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา(FDA)ของสหรัฐฯ

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการรักษา สารแต่ละอย่างจะถูกนำมาบด โม่ หรือทำให้เป็นผงละเอียด โดยใช้วิธีการที่ประณีตเชื่องช้า ทำให้เป็นตัวยาที่สามารถละลายและดูดซึมเข้าร่างกายได้ง่าย เช่น เมื่อนำสารจากพืชที่บดละเอียดแล้วไปผสมกับแอลกอฮอล์หรือน้ำ ก็จะได้สารละลายขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง นำสารละลายนี้ 1 หยดไปผสมกับแอลกอฮอล์หรือน้ำ 99 หยดเพื่อให้ได้อัตราส่วน 1:100 ส่วนผสมนี้จะถูกนำไปเขย่าแรงตามกระบวนการที่เรียกว่า ซัคคัสชั่น(succession) แล้วติดป้ายไว้ว่า “1C” หนึ่งหยดของ 1C จะถูกนำไปผสมกับแอลกอฮอล์หรือน้ำ 100 หยด แล้วนำไปผ่านกระบวนการอย่างเก่าซ้ำอีก ทำให้ได้เป็น 2C เมื่อไปถึงขั้นตอนของ 3C ความเจือจางก็จะกลายเป็น 1 ส่วนต่อ 1,000,000 ส่วน

กระบวนการพิเศษนี้ จะได้ตัวยาที่มีความเจือจางมาก จึงไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงแต่อย่างใดและยังมีความปลอดภัยมาก ซึ่งตัวยาแนวโฮมีโอพาธีจะทำงานเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและระบบฟื้นฟูอย่างอื่นๆ ในร่างกาย ไม่เพียงแต่จะเพิ่มคุณสมบัติทางยาเท่านั้น

ทุกวันนี้มีบุคคลสำคัญๆ ให้การสนับสนุนโฮมีโอพาธีอย่างหนักแน่น อย่างเช่น พระราชินีอลิซาเบธแห่งอังกฤษ และดาราเพลงร็อค ทิน่า เทอร์เนอร์ เป็นต้น

มีองค์การหลายแห่งในสหรัฐ เช่น ศูนย์โฮมีโอพาธีแห่งชาติ(National Center for Homeopathy) มูลนิธิโฮมีโอพาธีนานาชาติ(International Foundation for Homeopathy) หน่วยบริการให้การศึกษาด้านโฮมีโอพาธี(Homeopathic Educational Services) และสมาคมแพทย์แนวธรรมชาติบำบัดโดยใช้โฮมีโอพาธี(Homeopathic Association of Naturopatic Physicians) ที่สามารถให้ข้อมูลและส่งเสริมการใช้โฮมีโอพาธีอีกด้วย

เกี่ยวกับโฮมีโอพาธียังมีสิ่งที่น่ารับรู้อีกประการหนึ่ง คือ ทัศนะแนวคัดค้านว่าเป็นการรักษาที่ไม่ได้ผลในปัจจุบัน และหลักการที่ดูว่าจะขัดกับเหตุผล คือ “ตัวยาน้อยกว่า จะส่งผลรุนแรงกว่า” ผู้ซึ่งสนับสนุนการแพทย์ทางเลือกนอกระบบ และได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 10 ของบุคคลที่มีอิทธิพลต่อสังคมอเมริกันมาที่สุด คือ นายแพทย์แอนดรูว ไวส์(Andrew Weiss M.D.) ได้ให้ความเห็นในนิตยสารไทม์ไว้ว่า การแพทย์นอกระบบบางวิธีการอาจจะเหมาะสมกับบางคนและใช้ไม่ได้ผลกับบางคน และยังตั้งข้อสังเกตว่า การรักษาด้วยวิธีการนี้ของผู้เป็นต้นตำรับมักจะได้ผลดีอย่างน่าทึ่ง แต่ประสิทธิผลมักจะด้อยลงไปเมื่อมาถึงรุ่นลูกศิษย์ และยิ่งถึงระดับลูกศิษย์ของลูกศิษย์ด้วยแล้ว อัตราการหายจากโรคจริงๆ จะน้อยลงมากจนแทบไม่มีความหมาย ซึ่งบางครั้งก็ทำให้รู้สึกว่า การรักษาด้วยวิธีการนี้ไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

เมื่อเทียบกับวิธีการรักษาโรคนอกระบบวิธีอื่นๆ โฮมีโอพาธีได้รับการยอมรับค่อนข้างสูง แต่นักวิชาการบางคนได้ระบุว่า หลักฐานที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายจากโรคเป็นเพียงคำบอกเล่าต่อๆ กันมา มิได้บันทึกไว้ตามหลักวิชาการเกี่ยวกับการติดตามผลในช่วงระยะเวลาที่นับได้ว่า หายขาด และไม่มีการยืนยันสัดส่วนของผู้ป่วยที่หายและไม่หายจากโรค

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า