สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคแพนิก (Panic disorder)

หรือโรคตื่นตระหนก เป็นภาวะวิตกกังวลหรือมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงเกิดขึ้นฉับพลันทันทีโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน อาการแต่ละครั้งจะเป็นอยู่ไม่นาน มีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย มักเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 17-30 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโรคแพนิก

สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนอื่นๆ โดยทั่วไป และอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านชีวภาพและจิตใจด้วย

ปัจจัยด้านจิตใจ การวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนั้นอาจเกิดจากการเลียนแบบมาจากพ่อแม่ที่มีอาการนี้ หรือผู้ป่วยอาจเคยมีอาการแพนิกในขณะมีสิ่งกระตุ้น ทำให้เกิดอาการกำเริบขึ้นซ้ำอีกเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นนั้นๆ

ปัจจัยด้านชีวภาพ พบว่ามีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อสารส่งผ่านประสาร ได้แก่ นอร์เอพิเนฟรีน ซีโรโทนิน กรดแกมมาอะมิโนบูไทริก หรือระบบประสาทอัตโนมัติส่วนซิมพาเทติกของผู้ป่วยมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ หรือเกิดจากสารเหนี่ยวนำ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น 5-35% โซเดียมแล็กเทต ไบคาร์บอเนต โยฮิมบิน เฟนฟลูรามีน กาเฟอีน เป็นต้น

อาการ
อาการวิตกกังวลหรือรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่มีสิ่งกระตุ้นและไม่ได้คาดคิดมาก่อน และมีอาการกำเริบซ้ำบ่อย มักจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง เหงื่อออก มือสั่น ตัวสั่น หายใจขัด หายใจไม่อิ่ม รู้สึกอึดอัดหรือแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอกหรือไม่สบายบริเวณหน้าอก ปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ เวียนศีรษะ มึนงง โคลงเคลง โหวงเหวง ปวดศีรษะ เป็นลม รู้สึกว่าตนเองและสิ่งรอบตัวแปลกไป กลัวจะเป็นบ้าหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ กลัวตาย รู้สึกมึนชาหรือปวดเสียวตามตัว รู้สึกร้อนวูบวาบไปทั้งตัวหรือหนาวสั่น

อาการที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับโรคทางกายหรือการใช้ยาหรือสารใดๆ หรือไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดๆ อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะไม่ว่าจะอยู่ที่ใด มักจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ความแรงจะเพิ่มสูงสุดภายใน 10 นาที ในแต่ละครั้งจะมีอาการอยู่ประมาณ 20-30 นาที หรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง ในบางรายอาจกลัวสถานที่ที่เคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้กลัวมาแล้วและกลัวว่าจะไม่มีใครช่วยหรือหนีออกมาไม่ได้ร่วมด้วย ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวมักทำให้พฤติกรรมผู้ป่วยเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ไม่กล้าออกจากบ้าน ทำให้การดำเนินชีวิตมีผลกระทบ

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจพบชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หายใจเล็กน้อย มือสั่น หรือมีอาการระบายลมหายใจเกินในขณะที่มีอาการกำเริบ แต่มักจะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์เมื่ออาการทุเลาไปแล้ว

ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น แยกตัวเอง ไม่กล้าออกจากบ้าน ในเด็กอาจมีพัฒนาการช้า มีผลต่อการเรียน หรือการเข้าสังคมในรายที่มีอาการกำเริบบ่อย ภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดกับผู้ป่วย เช่น โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การติดยา สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์ หรืออาจมีโรคย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วยในบางราย

การรักษา
1. หากผู้ป่วยไม่มีโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ คอพอกเป็นพิษ และได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคนี้ ควรให้การรักษาดังนี้
-ให้ยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor(SSRI) ได้แก่ ฟลูออกซีทีน ให้ขนาด 10 มก./วันในระยะแรก และค่อยๆ เพิ่มจนถึงขนาด 20-40 มก./วัน ให้วันละครั้งหลังอาหารเช้าทุกสัปดาห์
-ให้ยากล่อมประสาท ได้แก่ อัลพราโซแลม ขนาด 2-4 มก./วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง

ยา 2 ชนิดนี้ควรให้ร่วมกันตั้งแต่เริ่มแรก ควรให้ติดต่อกันนาน 4-6 สัปดาห์ถ้าอาการดีขึ้น แล้วค่อยๆ ลดยากล่อมประสาทลงจนเหลือแค่ยาแก้ซึมเศร้าอย่างเดียว เพราะยากล่อมประสาทอาจทำให้เสพติดได้ ยังคงให้ยาแก้ซึมเศร้าต่อไปอีกอย่างน้อย 12 เดือน แม้จะควบคุมอาการได้ดีแล้ว แล้วค่อยๆ ลดลงจนหยุดให้ได้ในเวลา 2-6 เดือน

2. หากสงสัยว่าจะมีสาเหตุจากโรคทางกาย หรือผู้ป่วยรู้สึกกังวลหรือกลัวมากแม้จะให้ยาไปแล้ว 2-4 สัปดาห์แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ควรรีบส่งผู้ป่วยเพื่อปรึกษาจิตแพทย์ หากเกิดจากโรคทางกายอาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยการตรวจเลือด เอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น หากเกิดจากโรคแพนิกก็ให้ยาแก้ซึมเศร้า ยากล่อมประสาท เนื่องจากยา 2 กลุ่มนี้มีอยู่หลายชนิดแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย หรืออาจรักษาด้วยการฝึกการผ่อนคลาย การใช้เทคนิคจิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดร่วมด้วย หากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและจริงจังผลการรักษามักจะออกมาดี ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกำเริบได้เมื่อหยุดยา

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้เกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับการคิดมาก และไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน และมักกำเริบได้บ่อยๆ จะสามารถหายจากโรคหรือดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้ถ้าได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผู้ป่วยอาจมีอาการเรื้อรังและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ถ้าขาดการรักษาที่ดี ควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าใจแนวทางการบำบัดรักษาและธรรมชาติของโรคนี้

2. โรคนี้ไม่ใช่โรคหัวใจไม่มีภาวะฉุกเฉินทางร่างกายแต่อย่างใด ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตและออกกำลังกายได้เช่นคนปกติทั่วไป เพราะเมื่อเกิดอาการกำเริบผู้ป่วยมักรีบมาตรวจที่ห้องฉุกเฉินเนื่องจากกลัวว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือกลัวตาย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า