สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคเรื้อน(Leprosy)

เป็นโรคติดต่อเรื้อรังชนิดหนึ่ง หรือที่เรียกกันไปหลายๆ ชื่อว่า ขี้ทูต กุฏฐัง ไทกอ หูหนาตาเล่อ โรคใหญ่ โรคพยาธิ เนื้อตาย โรคผิดเนื้อ โรคเรื้อนแบ่งออกได้หลายชนิดขึ้นอยู่กับระดับความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ได้แก่

1. โรคเรื้อนไม่ทราบชนิด อาการแสดงยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นโรคเรื้อนในระยะเริ่มแรก ภายใน 2-3 เดือนจะหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจมีอาการคงที่อยู่เป็นเวลานาน หรืออาจกลายเป็นโรคเรื้อนชนิดอื่นๆ ได้ในบางราย

2. โรคเรื้อนชนิดทูเบอร์คูลอยด์ พบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ในขนาดปานกลางจึงไม่สามารถขจัดเชื้อให้หมดไปได้ เนื่องจากเชื้อเจริญขึ้นอย่างช้าๆ จนทำให้ผิวหนังชาและมีการทำลายเส้นประสาทตั้งแต่ในระยะแรก พบเป็นกันบ่อยที่สุดในโรคเรื้อนชนิดนี้ แต่จะไม่ติดต่อไปยังผู้อื่นและเมื่อตรวจมักจะไม่ค่อยพบเชื้อ ภายใน 1-3 ปีการอักเสบมักจะบรรเทาไปได้เองแต่อาจมีอาการพิกลพิการได้

3. โรคเรื้อนชนิดก้ำกึ่ง ผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคน้อยลงกว่าชนิดที่ 2 เมื่อตรวจอาจพบเชื้อได้บ้าง สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ลักษณะของอาการและความรุนแรงก็อยู่ก้ำกึ่งระหว่างชนิดทูเบอร์คูลอยด์กับชนิดเลโพรมาตัส

4. โรคเรื้อนชนิดเลโพรมาตัส ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้น้อยหรือไม่มีเลย อาจตรวจพบเชื้อได้ง่าย เนื่องจากเชื้อสามารถแบ่งตัวได้เป็นล้ายๆ ตัว แล้วแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ในระยะท้ายของโรคมักทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย จัดว่าเป็นชนิดที่ร้ายแรงและติดต่อได้ง่ายที่สุด

นอกจากนี้ก็ยังมีชนิดก้ำกึ่ง-ทูเบอร์คูลอยด์ มีความรุนแรงอยู่ระหว่างชนิดที่ 2 และ 3 กับชนิดก้ำกึ่ง-เลโพรมาตัส ซึ่งมีความรุนแรงระหว่างชนิดที่ 3 และ 4 อีกด้วย

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเชื้อของโรคเรื้อน ชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียมเลเพร (Mycobacterium leprae) โรคนี้ติดต่อกันได้ยาก ซึ่งการรับเชื้อเข้าไปในร่างกายจะต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อนติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งเชื่อกันว่าติดต่อได้โดยการสัมผัสทางผิวหนังหรือสูดเข้าทางเดินหายใจ ระยะฟักตัวของโรคเฉลี่ยประมาณ 3-5 ปี และไม่จำเป็นต้องกลายเป็นโรคเรื้อนทุกรายในผู้ที่ได้รับเชื้อโรคเรื้อนไปซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่ร้ายแรงหรือหายไปได้เองถ้ามีภูมิคุ้มกันปกติ แต่ก็อาจเป็นชนิดร้ายแรงได้ถ้าภูมิคุ้มกันต่ำ

อาการ
โรคเรื้อนไม่ทราบชนิด จะมีวงขาวหรือสีจางขอบไม่ชัดที่ผิวหนัง ในบริเวณนี้จะมีขนร่วงและเหงื่อออกน้อยกว่าปกติ แต่เส้นประสาทยังเป็นปกติและยังไม่ค่อยรู้สึกชา อาการอาจหายไปได้เองหรือกลายเป็นโรคเรื้อนชนิดอื่นในระยะนี้ และมักพบเป็นที่บริเวณหลัง ก้น แขนและขา

โรคเรื้อนชนิดทูเบอร์คูลอยด์ มักจะตรวจไม่พบเชื้อในโรคเรื้อนชนิดนี้ พบเป็นบ่อยที่บริเวณหน้า ลำตัวและก้น ส่วนใหญ่จะมีผื่นเป็นวงขาวเพียงวงเดียวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-10 ซม. มีสีจางๆ ขอบชัดเจน หรือเป็นวงขาวมีขอบแดงนูนเล็กน้อย หรือเป็นวงขาวขอบนูนแดงหนาเป็นปื้น ไม่มีสะเก็ดหรืออาจมีเพียงเล็กน้อย ไม่มีขนหรือเหงื่อออกตรงกลางผื่นนี้ และมีความรู้สึกชา

ในบริเวณที่เป็นโรคอาจตรวจพบเส้นประสาทบวมโตที่ใต้ผิวหนังในบางครั้ง หรือที่บริเวณด้านในของข้อศอกอาจคลำได้เส้นประสาทอัลนา(ulnar nerve) หรือตรงบริเวณใต้หัวเข่าด้านนอกคลำได้เส้นประสาทที่ขาพับ(peroneal nerve) หรือตรงด้านข้างของคอคลำได้เส้นประสาทใหญ่ใต้หู เส้นประสาทนี้จะมีลักษณะเป็นเส้นแข็งๆ และอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ส่วนมากมักตรวจพบการบวมโตของเส้นประสาทเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น

โรคเรื้อนชนิดก้ำกึ่ง-ทูเบอร์คูลอยด์ เมื่อตรวจเชื้อจากผิวหนังอาจพบได้บ้างแต่ไม่มากนัก อาการของโรคเรื้อนชนิดนี้คล้ายกับชนิดทูเบอร์คูลอยด์แต่จะมีผื่นจำนวนมากกว่า

โรคเรื้อนชนิดก้ำกึ่ง การตรวจเชื้อจากผิวหนังพบได้บ้างแต่ไม่มากนัก ลักษณะของผิวหนังจะมีผื่นเป็นวงแหวนหรือวงรี มีขอบนูนแดงหนาเป็นมัน ขอบในชัดเจนกว่าขอบนอก ไม่มีขนและไม่มีเหงื่อบริเวณตรงกลางผื่น และอาการชาก็จะมีน้อยกว่าชนิดทูเบอร์คูลอยด์

โรคเรื้อนชนิดก้ำกึ่ง-เลโพรมาตัส และชนิดเลโพรมาตัส ลักษณะของผิวหนังมักจะเป็นผื่นแดงของไม่ชัดเจน และจะหนาเป็นเม็ด เป็นตุ่มหรือเป็นผื่นในเวลาต่อมา ผิวมักแดงเป็นมันเลื่อม ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่ชา ผื่นตุ่มเหล่านี้มักขึ้นกระจายทั้งสองข้างของร่างกาย บริเวณใบหน้า ใบหู ข้อศอก ข้อเข่า ลำตัว และก้น มักพบได้บ่อย ขนคิ้วส่วนนอกมักจะร่วง และขาบวม ซึ่งทั้งสองชนิดนี้จะมีลักษณะคล้ายกัน ต่างกันที่จำนวนและการกระจายของรอยโรค และจำนวนเชื้อที่ตรวจพบจากผิวหนังหรือเยื่อบุจมูก

อาการในระยะท้ายของโรคผู้ป่วยจะมีผิวหนังเห่อหนา มีลักษณะหูหนาตาเล่อ เส้นประสาททั้งสองข้างของร่างกายจะบวมโต ที่พบได้บ่อยคือที่เส้นประสาทอัลนา และเส้นประสาทใหญ่ใต้หู ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชา นิ้วมือนิ้วเท้างอเหยียดไม่ออก มือหงิก เท้าตก นิ้วกุด หรือตาบอด

อาการอักเสบของเยื่อบุจมูก เช่น คันจมูก น้ำมูกมีเลือดปน มักเกิดขึ้นตั้งแต่ในระยะแรกๆ ที่เป็น ในเวลาต่อมาที่ผนังกั้นจมูกก็จะมีแผลเปื่อยทำให้จมูกแหว่ง และอาจมีการอักเสบของเยื่อบุในช่องปาก และกระจกตาร่วมด้วย

โรคเรื้อนชนิดนี้มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจตายได้ภายใน 10-20 ปี เนื่องจากมีเชื้อเป็นจำนวนมาก และสามารถแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยอาจมีอาการเส้นประสาทถูกทำลายทำให้มือเท้าชา กล้ามเนื้อมือเท้าอ่อนแรง กล้ามเนื้อฝ่ามือและหลังมือลีบ ข้อมือติด เดินเท้าตก ถ้าไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง

อาจทำให้ตาอักเสบเป็นแผลกระจกตาและตาบอดได้จากการที่เส้นประสาที่หน้าเสียจนหลับตาไม่ได้ หรือเนื่องจากมีอาการชาจึงมักทำให้ผู้ป่วยมีแผลเปื่อยที่มือและเท้าจนอาจทำให้นิ้วมือนิ้วเท้ากุดหายไปได้ หรือเนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำอาจทำให้ติดเชื้อวัณโรคได้ง่ายในรายที่เป็นโรคเรื้อนชนิดเลโพรมาตัส

นอกจากนี้อาจมีการทำลายของกระดูก อัณฑะฝ่อทำให้เป็นหมัน หรือมีอาการทางไตร่วมด้วย

การรักษา
ควรส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลหากสงสัยหรือเมื่อพบวงด่างขาว ซึ่งแทงด้วยเข็มไม่เจ็บ หรือมีผื่นหรือตุ่มขึ้นที่ใบหน้า ใบหู หรือส่วนอื่นๆ มีอาการเรื้อรัง อาการไม่ดีขึ้นแม้จะใช้ยาทาเป็นเดือนแล้วก็ตาม แพทย์มักตรวจวินิจฉัยเช่นเดียวกับการตรวจวัณโรค โดยการขูดผิวหนังใส่บนแผ่นกระจกใส และย้อมด้วยสีแอซิดฟาสต์(acid fast stain) และมักจะพบเชื้อโรคเรื้อนถ้าเป็นชนิดเลโพรมาตัสและชนิดก้ำกึ่ง แต่ก็อาจตรวจแล้วไม่พบเชื้อถ้าเป็นชนิดทูเบอร์คูลอยด์ หรือทำด้วยวิธี การตรวจชิ้นเนื้อ(biopsy) โดยผ่าตัดชิ้นเนื้อของผิวหนังและเส้นประสาทที่บวมโตไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือทดสอบ เลโพรมิน(lepromin test) โดยการทดสอบทางผิวหนัง ในผู้ป่วยที่เป็นชนิดทูเบอร์คูลอยด์มักจะได้เป็นผลบวก และในผู้ป่วยชนิดเลโพรมาตัสมักจะได้เป็นผลลบ

ยาที่ใช้รักษาโรคเรื้อมีอยู่ 3 ชนิดได้แก่ แดปโซน หรือดีดีเอส ไรแฟมพิซิน และ โคลฟาซิมีน มีชื่อทางการค้า เช่น แลมพรีน(Lamprene) ควรเลือกใช้เหมาะกับชนิดแลความรุนแรงของโรค ดังนี้

1. ประเภทที่ตรวจไม่พบเชื้อ หรือเชื้อน้อยมากจนตรวจไม่พบ คือ โรคเรื้อนที่ไม่ทราบชนิด ชนิดทูเบอร์คูลอยด์ และชนิดก้ำกึ่ง-ทูเบอร์คูลอยด์ ผู้ป่วยควรได้รับยา แดปโซน 100 มก. ในเด็กใช้ขนาด 1-2 มก./กก. วันละครั้งทุกวัน ร่วมกับไรแฟมพิซิน 600 มก. ในเด็กใช้ขนาด 10 มก./กก. เดือนละครั้ง นาน 6 เดือน ถ้าพบมีอาการกำเริบหลังจากให้ยามา 6 เดือนแล้ว ก็ให้ต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อรักษา หลังจากนั้นควรตรวจร่างกายและตรวจเชื้อปีละครั้งเป็นอย่างน้อย เป็นเวลา 3 ปี

2. ประเภทเชื้อมาก คือ โรคเรื้อนชนิดก้ำกึ่ง ชนิดก้ำกึ่ง-เลโพรมาตัส และชนิดเลโพรมาตัส ผู้ป่วยควรได้รับยา ไรแฟมพิซิน 600 มก. ในเด็กใช้ขนาด 10 มก./กก. ร่วมกับ โคลฟาซิมีน 300 มก. ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ใช้ขนาด 100 มก. อายุ 6-14 ปีใช้ขนาด 150-200 มก. และ 15 ปีขึ้นไปใช้ขนาด 300 มก. เดือนละครั้ง และให้แดปโซน 100 มก.ในเด็กใช้ขนาด 1-2 มก./กก. ร่วมกับโคลฟาซิมีน 50 มก. ในเด็กใช้ขนาด 1 มก./กก. วันละครั้ง ทุกวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี จนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อหรือไม่มีอาการกำเริบแล้ว หลังจากนั้นปีละครั้งควรตรวจร่างกายและตรวจหาเชื้อ ติดต่อกันนาน 5 ปี

ถ้ามีความสงสัยว่าเกิดผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยควรรีบหยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการแพ้เป็นผื่นคัน ตับอักเสบ หรือเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พีดี อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และอาจทำให้เกิดอาการเห่อ มีผื่นตุ่มขึ้น มีไข้ ปวดตามข้อและกระดูก และปวดประสาทได้ จากการใช้ยา แดปโซน หรือดีดีเอส

ข้อแนะนำ
1. โรคเรื้อนถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะสามารถป้องกันมิให้เกิดความพิการและหายขาดได้

2. ควรป่วยควรกินยาตามแพทย์สั่งเป็นประจำอย่างต่อเนื่องและหยุดยาได้เมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น

3. ควรระวังอย่าถูกของร้อน เช่น บุหรี่ เตาไฟ น้ำร้อน หรือของมีคมถ้ามีอาการชาของมือและเท้า เวลาทำงานควรใช้ผ้าพันมือ หรือสวมรองเท้าเมื่อต้องออกนอกบ้าน และควรรีบหาหมดโดยเร็วเมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น ไม่ควรปล่อยให้ลุกลามจนเกิดความพิการ

4. ผู้ป่วยไม่ควรใช้เสื้อผ้าและของใช้ร่วมกับผู้อื่น และไม่ควรนอนร่วมกับผู้อื่น

5. ควรให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่คนทั่วไปเกี่ยวกับโรคนี้ เช่น

-โรคเรื้อนไม่ใช่โรคติดต่อทางกรรมพันธุ์ ติดต่อได้ยาก ถ้าไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยจนพ้นระยะติดต่อก็จะไม่เป็นโรคนี้

-โรคเรื้อนไม่ได้เกิดจากการกินของแสลง เช่น หูฉลาม เป็ด ห่าน เป็นต้น ไม่ได้ติดต่อทางอาหารและน้ำ ไม่ได้เกิดจากการร่วมประเวณีกับหญิงที่มีประจำเดือน และไม่ได้ติดจากสุนัขขี้เรื้อน

-ความพิการที่เกิดขึ้นก่อนที่จะพ้นระยะติดต่อมักจะเป็นอย่างถาวร ซึ่งอาจแก้ไขตกแต่งได้ด้วยการทำศัลยกรรมหรือวิธีทางกายภาพบำบัดต่างๆ เป็นต้น

การป้องกัน
1. ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ ควรให้ผู้ป่วยนอนแยกต่างหากจากผู้อื่น

2. ไม่ควรใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และของใช้ร่วมกับผู้ป่วย

3. สมาชิกทุกคนในครอบครัวของผู้ป่วยควรตรวจดูอาการทางผิวหนังดูบ่อยๆ และควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลถ้ามีอาการน่าสงสัย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า