สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคเชื้อราแคนดิดา(Candidiasis/Moniliasis)

พบโรคนี้ได้ในบริเวณช่องปาก ช่องคลอด และตามซอกผิวหนังที่มีเหงื่ออับชื้น พบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย มักพบมากในเด็กอ่อน ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน เบาหวาน เอดส์ มะเร็ง และผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะหรือสตีรอยด์นานๆ

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อราที่ชื่อว่า แคนดิดาอัลบิแคนส์ ซึ่งมีอยู่ในร่างกายเป็นปกติวิสัย เช่น ในช่องปาก ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอด ผิวหนัง และสามารถทำให้เชื้อราชนิดนี้เจริญจนเกิดเป็นโรคขึ้นมาได้เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นกรดด่าง

อาการ
ถ้าเกิดที่ช่องปาก มักพบว่าในช่องปากของผู้ป่วยจะมีฝ้าขาวที่ลิ้น หรือตามเยื่อเมือกในช่องปาก

ถ้าเกิดที่ช่องคลอด มีอาการตกขาวและคันในช่องคลอด

ถ้าเกิดที่ผิวหนัง โรคเชื้อราแคนดิดาที่พบบริเวณนี้จะมีชื่อเรียกว่า “Intertriginous candidosis” ผิวบริเวณนั้นจะมีลักษณะรอยแดงแบบหนังถลอก มีขอบเขตชัดเจน รอบๆ จะมีผื่นแดงเล็กๆ กระจายอยู่ อาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งจะพบมากบริเวณซอกผิวหนังที่มีเหงื่ออับชื้น เช่น ซอกรักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม สะดือ ซอกสะโพก ง่ามนิ้ว เป็นต้น

ถ้าเกิดที่เล็บ มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องใช้มือแช่น้ำหรือเปียกน้ำอยู่เสมอ ในระยะแรกที่ขอบเล็บของผู้ป่วยจะมีอาการบวมแดง กดเจ็บ อาจเกิดพร้อมกันหลายนิ้ว และเนื่องจากมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในบางครั้งอาจกดดูแล้วจะมีหนองออกมาจากใต้เล็บ เล็บส่วนปลายจะแยกจากเนื้อเยื่อใต้เล็บ ใต้เล็บจะเห็นเป็นสีขาวหรือเหลือง ต่อมาเล็บจะเสียและเปลี่ยนรูปร่างมีร่องขวางลักษณะขรุขระที่ตัวเล็บเมื่อปล่อยไว้ให้มีอาการเรื้อรัง แต่เล็บจะไม่ผุหรือกร่อนแบบโรคกลากที่เล็บ

ภาวะแทรกซ้อน
ในผู้ป่วยเอดส์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเกิดการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกายได้ เช่น หลอดอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ตับอักเสบ ม้ามอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ จอตาอักเสบ เป็นต้น จากการที่เชื้อราลุกลามจากช่องปากลงไปที่หลอดอาหารและกระเพาะอาหารแล้วมีการแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

การรักษา
1. ให้ทาด้วยยารักษาโรคเชื้อรา วันละ 2 ครั้ง นาน 2 สัปดาห์ ถ้าเป็นที่ซอกผิวหนัง หรือขอบเล็บ และควรรักษาบริเวณนั้นให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ

2. ควรตัดเล็บส่วนนั้นออกถ้าเล็บแยก แล้วใช้ยาทาบริเวณเล็บและเนื้อเยื่อใต้เล็บนั้น

3. ควรให้กิน คีโตโคนาโซล นาน 2 สัปดาห์ หรือไอทราโคนาโซล นาน 2-6 สัปดาห์ หากรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล

4. ควรส่งให้แพทย์ตรวจเพิ่มเติมหากไม่แน่ใจหรือให้การรักษาแล้วไม่ได้ผล แพทย์มักจะขูดเอาผิวหนังหรือเล็บส่วนนั้นใส่ในน้ำยาโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ชนิด 10% แล้วนำไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

อาจมีภาวะผิดปกติอื่นๆ ในรายที่เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง เช่น เอดส์ เบาหวาน จึงควรตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง

ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคโซริอาซิส สำหรับโรคเชื้อราแคนดิดาที่เล็บ และเมื่อให้การรักษาแล้วยังไม่ได้ผล

การป้องกัน
1. หลังอาบน้ำควรซับบริเวณซอกผิวหนังให้แห้งและใช้แป้งโรย อย่าให้มีเหงื่ออับชื้น และทำความสะอาดซอกผิวหนังเสมอๆ

2. ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานานๆ

3. ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติถ้าเป็นเบาหวาน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า