สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคอารมณ์แปรปรวน(Mood disorders)

โรคอารมณ์แปรปรวน(Mood disorders)
โรคซึมเศร้า(Major depressive disorder)

โรคอารมณ์แปรปรวน เป็นภาวะผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าหดหู่อย่างรุนแรงเกินปกติ อาจมีอารมณ์ดีผิดปกติสลับกับอารมณ์ซึมเศร้าในบางครั้ง โรคนี้แบ่งออกได้หลายชนิด คือโรคซึมเศร้า

1. โรคซึมเศร้าหลัก หรือเรียกสั้นๆ ว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่พบได้บ่อย และมีความรุนแรงกว่าชนิดอื่น

2. โรคซึมเศร้าชนิดอ่อน เป็นภาวะซึมเศร้าที่มีอาการเรื้อรังอย่างน้อย 2 ปี แต่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยมีศักยภาพลดลงแต่สามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ พบได้ในเด็กโตหรือเด็กวัยรุ่น ให้การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า ในเวลาต่อมาอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลักในบางราย

3. โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นอาการความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักพบในช่วงอายุ 15-24 ปีเป็นครั้งแรก ผู้ป่วยจะมีอาการฟุ้งพล่านสลับกับซึมเศร้า มีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ เมื่อเกิดอาการฟุ้งพล่านผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดี ครื้นเครง ความคิดแล่นเร็ว มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงหรือหลงตัวเอง พูดมาก หงุดหงิดง่าย ทำกิจกรรมมากกว่าปกติ นอนน้อย ให้การรักษาเพื่อควบคุมอาการด้วยยาลิเทียม(lithium)

4. ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากโรคทางกาย โรคทางกายอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย เช่น เอดส์ เอสแอลดี พาร์กินสัน โรคแอดดิสัน โรคคุชชิง ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยเกินไป ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น อาจเกิดภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นชั่วคราวได้ในหญิงหลังคลอดบางราย

5. ภาวะซึมเศร้าจากแอลกอฮอล์ สารเสพติด และยา เช่น รีเซอร์ฟีน เมทิลโดพา โพรพราโนลอล สตีรอยด์ ยาแก้ชัก ยานอนหลับ เมโทโคลพาไมด์ อินโดเมทาซิน เลโวโดพา และยารักษามะเร็งบางชนิด เป็นต้น

6. ภาวะซึมเศร้าจากความเครียดหรือปัญหาชีวิต มักมีอาการไม่รุนแรงและจะค่อยๆ ดีขึ้นในเวลาไม่นานนัก เช่น การหย่าร้าง การสูญเสียคนรัก ความล้มเหลว ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น แต่บางครั้งความเครียดหรือปัญหาชีวิตอาจกระตุ้นให้อาการกำเริบรุนแรงและเรื้อรังได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลัก

โรคซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้าหลัก เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกซึมเศร้ารุนแรงมากกว่าปกติ มีอาการเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีความคิดอยากตาย ทำให้เกิดความผิดปกติทางกาย ใจ และพฤติกรรม มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักเริ่มมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุประมาณ 40 ปี

สาเหตุ
ผู้ป่วยมักมีความผิดปกติของระบบการส่งสารผ่านประสาท เช่น นอร์เอพิเนฟรีน ซีโรโทนิน กรดแกมมาอะมิโนบูไทริกต่ำกว่าปกติ รวมทั้งตัวรับหรือรีเซปเตอร์ที่เกี่ยวข้องก็มีความผิดปกติด้วย มีความผิดปกติของประสาท-ต่อมไร้ท่อเนื่องจากความผิดปกติของเซลล์สมองส่วนที่ควบคุมความคิด อารมณ์ การเคลื่อนไหวของร่างกายและการหลั่งฮอร์โมน ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักพบว่าผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป หรือปัจจัยทางด้านสังคม เช่น การหย่าร้าง การสูญเสียคนรัก และปัจจัยที่เกิดขึ้นในด้านจิตใจ เช่น การมองโลกในแง่ร้าย มองตนเองในแง่ลบ มองเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า อาจช่วยให้อาการของโรคนี้ทุเลาลงได้หากมีคนคอยดูแลช่วยเหลือและให้กำลังใจ

อาการ
ผู้ป่วยมักรู้สึกซึมเศร้าหดหู่ สะเทือนใจและร้องไห้ง่ายเป็นอาการสำคัญ อาจเบื่อหน่ายไปหมดทุกอย่าง จิตใจไม่สดชื่น มักมีอาการติดต่อกันอยู่เกือบทั้งวันและทุกวัน นานเกิน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักอยากอยู่เงียบๆ คนเดียว มีอารมณ์หงุดหงิดทนเสียงดังหรือสิ่งที่เข้ามารบกวนไม่ได้ มักนอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ อาจนอนหลับในช่วงแรกๆ ที่เข้านอนและตื่นขึ้นมาตอนดึกๆแล้วนอนไม่หลับ หรืออาจนอนหลับยากในบางราย ในบางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด น้ำหนักขึ้น หรืออยากอาหารเพิ่มขึ้น หรืออาจมีอาการอ่อนเพลียทั้งวัน เฉื่อยชาเชื่องช้า อยากอยู่เฉยๆ คิดนาน ขาดสมาธิ เหม่อลอย หลงลืมง่าย มีความลังเลในการตัดสินใจ มองโลกในแง่ร้าย ไม่มั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าหรือรู้สึกผิด กล่าวโทษหรือตำหนิตนเอง แต่ในบางรายอาจมีอาการกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข ในช่วงแรกผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่อชีวิตและเมื่อมีอาการมากขึ้นก็จะรู้สึกอยากตายคิดถึงการฆ่าตัวตาย อาจจะวางแผนเพื่อหาวิธีฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไปพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น เวียนศีรษะ ปวดบริเวณศีรษะ หน้าอก หลัง และแขนขา อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผอมลง มีอาการเรื้อรัง ประจำเดือนขาด ไม่มีความรู้สึกทางเพศ เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
มักไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนเมื่อตรวจร่างกาย แต่มักพบความผิดปกติทางด้านจิตใจ เช่น สีหน้าซึมเศร้า พูดช้า พูดน้อย เสียงเบา ใช้เวลาคิดนานเมื่อจะตอบคำถาม ตอบสั้นๆ แบบถามคำตอบคำ ไม่ค่อยสบตา น้ำตาคลอเบ้า มองลงต่ำ เคลื่อนไหวช้าหรือมากกว่าปกติ รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง เบื่อชีวิต หรืออยากตาย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น การประกอบอาชีพ การงาน การเรียน การเข้าสังคม ความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายซึ่งเป็นอาการสำคัญในผู้ที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษา หรือต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติ เช่น การหย่าร้าง การสูญเสียคนรัก การตกงาน ความล้มเหลว เป็นต้น

อาการแสดงของผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตาย เช่น มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ บ่อย หลังจากซึมเศร้ามานานอาจมีอารมณ์ดีขึ้นฉับพลัน อดนอนหลายคืนติดต่อกัน ข่มขู่หรือกระทำการรุนแรง ชอบพูดถึงความตาย ไม่ร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นหรือชอบแยกตัว ชอบพูดบอกลาเพื่อน ยกทรัพย์สมบัติให้ผู้อื่น มีพฤติกรรมเสี่ยงเช่น ซื้อปืน ขับรถเร็ว เสพยา เป็นต้น

การรักษา
1. หากมั่นใจว่าไม่มีโรคทางกายจากสาเหตุอื่น และวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคนี้ก็ให้การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม SSR2 ได้แก่ ฟลูออกซีทีน ขนาด 20 มก. วันละครั้งหลังอาหารในระยะแรก หรือให้ไดอะซีแพม
ขนาด 2 มก. วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหากมีอาการวิตกกังวลหรือกระวนกระวายร่วมด้วย หรือให้กินไดอะซีแพม 2-5 มก.หรืออะมิทริปไทลีน 10 มก.ก่อนนอนหากมีอาการนอนไม่หลับ

ค่อยๆ เพิ่มฟลูออกซีทีนจนถึงขนาด 40-60 มก./วันถ้าอาการยังดีขึ้นไม่มาก และควรให้ยาต่อไปอีก 4-9 เดือนถ้าอาการหายดีแล้ว แล้วค่อยๆ ลดขนาดยาลงทุก 2-3 สัปดาห์จนหยุดการรักษา แต่ถ้ามีอาการกำเริบขึ้นเมื่อลดยาก็ให้เพิ่มยาขึ้นจนหายจากอาการแล้วให้ต่อไป 2-3 เดือน และจึงค่อยลองลดยาใหม่

2. ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากให้ยานาน 4 สัปดาห์ไปแล้ว

3. ถ้าผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้ควรส่งให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น ไม่กินอาหาร ผอม กระวนกระวาย มีอาการทางจิตประสาท หรือหลงผิด ประสาทหลอน มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย มีความคิดฆ่าตัวตายบ่อย หรือพยายามฆ่าตัวตาย มีอาการรุนแรงเช่น การกินอาหาร การแต่งตัวที่กระทบต่อกิจวัตรประจำวัน มีประวัติเคยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว

จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เพื่อแพทย์จะได้ปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมและอาจจำเป็นต้องให้ยารักษาอย่างต่อเนื่องนาน 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย

ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง หรือทนต่ออาการข้างเคียงของยาไม่ได้ หรือให้ยารักษาแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจทำการรักษาด้วยไฟฟ้า(electroconvulsive therapy/ECT) วิธีนี้ไม่ได้ป้องกันไม่ให้อาการกำเริบซ้ำเพียงแต่ช่วยให้อาการดีขึ้นเท่านั้น แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ต้องให้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง และให้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น จิตบำบัด และในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลด้วยวิธีแสงบำบัด

การใช้ยารักษามักได้ผลดีในระยะประมาณ 3 เดือน แต่อาจใช้เวลานานถึง 9 เดือนถ้าไม่มีการรักษาแต่จะทุเลาไปได้เอง แต่ในเวลาต่อมาประมาณ 6 เดือนอาจมีอาการกำเริบขึ้นได้อีก

สำหรับอาการป่วยครั้งแรกหลังหยุดยาอาจมีอาการกำเริบขึ้นใหม่ได้บ่อยกว่า ผู้ที่ป่วยเป็นครั้งที่สองหรือที่สามตามลำดับ

ข้อแนะนำ
1. ในบางครั้งอาจเกิดจากโรคทางกาย แอลกอฮอล์ ยา สารเสพติด ความเครียด หรือปัญหาชีวิต หรือเป็นอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคซึมเศร้าชนิดอ่อน ซึ่งไม่ใช่โรคนี้ จึงควรซักประวัติและตรวจดูอาการอย่างละเอียดเพื่อแยกแยะหาสาเหตุที่แท้จริงในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า หดหู่ หรือรู้สึกเบื่อหน่าย ในบางรายอาจพบโรคนี้ร่วมกับโรคกังวลซึ่งมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป ส่วนโรคซึมเศร้าจะวินิจฉัยเมื่อมีอาการครบถ้วนตามเกณฑ์เท่านั้น

2. โรคซึมเศร้ามักมีอาการต่อเนื่องนาน 9 เดือนแล้วจะทุเลาไปเองหากไม่ได้ให้ยารักษา แต่ถ้าให้ยารักษาจะมีอาการอยู่แค่เพียง 3 เดือนก็ทุเลาลงแล้ว อาจเป็นโรคนี้เพียงครั้งเดียวหรือกำเริบซ้ำ หรือเรื้อรังตลอดชีวิตได้อีกในบางราย ผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตัวดังนี้

-พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ กินยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ปรับยาหรือหยุดยาเองโดยไม่ได้รับการพิจารณาจากแพทย์ อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะได้ผลในการรักษาด้วยยา
-ไม่แยกตัวออกจากผู้อื่น อาการจะทุเลาลงได้ถ้าได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากญาติพี่น้องหรือเพื่อน ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้
-กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง
-หลีกเลี่ยงสารเสพติด หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

3. โรคนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองทำให้สมองบางส่วนทำหน้าที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นการถ่ายทอดมาทางกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยอาจมีอาการกำเริบขึ้นมาได้โดยไม่ต้องมีปัญหาด้านจิตใจและสังคมเป็นเหตุกระตุ้น จึงควรอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจและยอมรับถึงธรรมชาติของโรคนี้ ให้การรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ควบคุมอาการและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

4. ญาติและคนใกล้ชิดควรให้กำลังใจดูแลช่วยเหลือเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบอาการที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือรุนแรงอื่นๆ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีและหาทางป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยคิดฆ่าตัวตายอีก

5. ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการไม่สบายทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกายเรื้อรัง อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย ผอมลง เป็นต้น ควรซักถามอาการของโรคซึมเศร้าอย่างละเอียดหากให้ยารักษาตามอาการแล้วไม่ดีขึ้น เพื่อจะได้วินิจฉัยและรักษาให้ตรงกับสาเหตุของโรคที่เกิดขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า